xs
xsm
sm
md
lg

มหาเถรสมาคมพม่าส่งสัญญาณแตกหัก ประณามกองทัพรุนแรงสังหารพลเรือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - มหาเถรสมาคมพม่าเรียกร้องรัฐบาลทหารยุติการใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วง และกล่าวหา “ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ” ทรมานและสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์นับจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ บ่งชี้สัญญาณการแตกหักระหว่างคณะสงฆ์ทรงอิทธิพลที่สุดกับกองทัพพม่า

วันพุธ (17 มี.ค.) นอกจากข้อความประณามอย่างตรงไปตรงมาที่สุดดังกล่าวแล้ว มหาเถรสมาคมพม่าซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล ยังระบุในร่างแถลงการณ์ว่า สมาชิกของสมาคมฯ ต้องการระงับกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการต่อต้านการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงของกองทัพอย่างชัดเจน

สำนักข่าวเมียนมาร์ นาว รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของพระสงฆ์รูปหนึ่งที่ร่วมประชุมว่า คณะกรรมการสังฆมหานายกแห่งรัฐเตรียมออกแถลงการณ์สุดท้ายหลังจากหารือกับรัฐมนตรีกิจการศาสนาในวันพฤหัสบดี (18 มี.ค.)

พระสงฆ์ในพม่ามีประวัติยาวนานในการเคลื่อนไหวทางการเมืองและเป็นแนวหน้าใน “การปฏิวัติชายจีวร” ต่อต้านการปกครองของทหารเมื่อปี 2007 การลุกฮือดังกล่าวแม้ถูกปราบปรามแต่ถือเป็นการแผ้วทางสู่การปฏิรูปประชาธิปไตยในเวลาต่อมา

แม้สมาชิกคณะกรรมการสังฆมหานายกฯ ไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้ แต่ท่าทีที่มีการเปิดเผยออกมาส่งสัญญาณการแตกหักระหว่างรัฐบาลทหารกับมหาเถรสมาคมที่ปกติแล้วจะทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาล

พม่าเข้าสู่กลียุคนับจากกองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ รวมทั้งควบคุมตัวซูจีและสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ทำให้ทั่วโลกออกแถลงการณ์ประณาม และประชาชนลุกฮือประท้วงทั่วประเทศไม่เว้นแต่ละวัน

สมาชิกรัฐสภาที่ถูกปลด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีของซูจี ผลักดันให้ประชาชนในประเทศที่มีความหลากหลายด้านชาติพันธุ์รวมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร โดยประกาศว่า จะยกเลิกสถานะผู้ก่อการร้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและการปกครองตนเอง

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) เผยว่า มีผู้ประท้วงกว่า 180 คนเสียชีวิตจากน้ำมือกองกำลังความมั่นคงนับจากการยึดอำนาจ

คืนวันอังคาร (16 มี.ค.) ผู้ประท้วงคนหนึ่งในย่างกุ้งถูกกองกำลังความมั่นคงสังหาร

อย่างไรก็ดี ขณะที่กองกำลังความมั่นคงมุ่งจัดการกับผู้ประท้วงในย่างกุ้ง กลับปรากฏการเคลื่อนไหวต่อต้านในหลายเมืองทั่วประเทศ ทั้งมัณฑะเลย์ ทวาย ดีมอโซ โมนยวา เป็นต้น

คณะผู้ตรวจสอบสถานการณ์ในพม่าของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องให้ชาวพม่าเก็บหลักฐานการก่ออาชญากรรมของกองทัพเพื่อฟ้องร้องเอาผิดต่อผู้นำทหาร

ทั้งนี้ หลายพื้นที่ในย่างกุ้งอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ทำให้ประชาชนหลายพันคนพากันหนีออกจากเขตฮเลงตายาร์ที่กองกำลังความมั่นคงสังหารผู้ประท้วงถึง 40 คนเมื่อวันอาทิตย์ (14 มี.ค.) และโรงงานของจีนกว่า 30 แห่งถูกเผา

คนงานเล่าว่า เมื่อวันอังคาร มีการโต้เถียงเรื่องค่าแรงระหว่างคนงานกับโรงงานของจีนในเขตอุตสาหกรรมดังกล่าวและลุกลามกลายเป็นความรุนแรง หลังจากกองกำลังความมั่นคงที่เจ้าของโรงงานเรียกเข้าไป ยิงผู้นำแรงงานเสียชีวิต 1 คน ก่อนยิงคนอื่นๆ ตายอีกอย่างน้อย 4 คน

เมียนมาร์ นาวรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว 6 คน ขณะที่แพทย์สองคนเผยว่า ยังมีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุแต่กองทัพปิดกั้นพื้นที่ดังกล่าวไว้

ทางด้านสื่อของทางการจีนเตือนว่า ปักกิ่งจะดำเนินการบางอย่างซึ่งไม่ได้ระบุว่าคืออะไร หากมีการโจมตีธุรกิจของจีนในพม่าอีก

ชาวพม่าจำนวนมากเชื่อว่า ปักกิ่งหนุนหลังกองทัพ เนื่องจากจีนไม่เคยประณามการรัฐประหารเหมือนมหาอำนาจตะวันตก แถมยังรวมหัวกับรัสเซียยับยั้งไม่ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็นออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของกองทัพพม่า

ตรงข้ามกับฝรั่งเศสที่เปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (อียู) จะอนุมัติมาตรการแซงก์ชันผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารในพม่าในวันจันทร์หน้า (22 มี.ค.)
กำลังโหลดความคิดเห็น