xs
xsm
sm
md
lg

นานาชาติวอนอีกรอบขออดทนอดกลั้น ยอดตายประท้วงต้านรัฐประหารพม่าพุ่ง 138 ศพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประชาคมนานาชาติออกมาวิงวอนอีกรอบในวันจันทร์ (15 มี.ค.) ขออดทนอดกลั้น หลังมีผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในพม่า เสียชีวิตเพิ่มอีกนับสิบราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่การประท้วงปะทุขึ้นพุ่งเป็นอย่างต่ำ 138 ศพ ในขณะที่บรรดาผู้ชุมนุมยังคงไหลบ่าสู่ท้องถนน เรียกร้องคืนสู่ประชาธิปไตย แม้กองทัพยกระดับปราบปรามนองเลือดหนักหน่วงขึ้น

สหประชาชาติ สหรัฐฯ จีน และสหราชอาณาจักร ต่างออกมาประณามความรุนแรงที่ทางสหประชาชาติอ้างว่าคร่าชีวิตผู้ประท้วงอย่างสันติไปแล้วอย่างน้อย 138 ราย ในนั้นมีทั้งสตรีและเด็ก นับตั้งแต่บรรดานายพลก่อรัฐประหารยึดอำนาจนางอองซานซูจี ผู้นำพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 11 ราย ในวันจันทร์ (15 มี.ค.) แต่ทางสมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองของพม่า ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตในวันดังกล่าวอย่างต่ำๆ 20 คน

จนถึงตอนนี้บรรดานายพลของพม่าไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะทำตามเสียงเรียกร้องขออดทนอดกลั้นแต่อย่างใด

วันที่มีการเสียเลือดเสียเนื้อมากที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (14 มี.ค.) โดยมีผู้ชุมนุมหลายสิบคนเสียชีวิตระหว่างที่กองกำลังด้านความมั่นคงปราบปรามการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย

การเข่นฆ่าดังกล่าวไม่อาจหยุดยั้งผู้ประท้วง โดยพวกเขาไหลบ่าสู่ท้องถนนอีกครั้งในวันจันทร์ (15 มี.ค.) แต่ผู้เห็นเหตุการณ์บอกว่า เป็นอีกครั้งที่บรรดาผู้ชุมนุมต้องเจอกับการใช้กำลังถึงตายของกองกำลังด้านความมั่นคง

บรรดาผู้เสียชีวิตในวันจันทร์นั้น ถูกยิงตายในหลายจุดในเขตต่างๆ ทางภาคกลางของประเทศ “ชาย 2 คนเสียชีวิต เพราะกระสุนปืน และอีก 6 คนได้รับบาดเจ็บ” ผู้เห็นเหตุการณ์รายหนึ่งในเมืองอ่องลาน เขตมะกเว บอกกับเอเอฟพี พร้อมเผยว่า หนึ่งในผู้เสียชีวิตถูกยิงบริเวณหน้าอก “เขาอยู่ข้างๆ ผม ส่วนอีกคนถูกยิงบริเวณศีรษะ”


จาบินา พอร์เตอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกกับผู้สื่อข่าวในวันจันทร์ (15 มี.ค.) ว่า “คณะรัฐประหารตอบสนองเสียงเรียกร้องคืนสู่ประชาธิปไตยในพม่าด้วยกระสุนปืน นี่คือจุดต่ำรอบอีกรอบ สหรัฐฯ ยังคงเรียกร้องให้ทุกประเทศดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อต่อต้านรัฐประหารและความรุนแรงที่กำลังลุกลามบานปลาย”

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ เรียกร้องประชาคมนานาชาติเช่นกัน ในนั้นรวมถึงตัวแสดงต่างๆ ในภูมิภาค “ให้ร่วมกันแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับประชาชนชาวพม่า และแรงบันดาลใจประชาธิปไตยของพวกเขา” โฆษกส่วนตัวของเขาระบุในวันจันทร์ (15 มี.ค.)

คริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษของสหประชาชาติประจำพม่า ก็ประณามเหตุนองเลือดเมื่อวันอาทิตย์ (14 มี.ค.) ส่วน สหราชอาณาจักร อดีตเจ้าอาณานิคมของพม่า บอกว่า รู้สึกตกใจต่อการใช้กำลังถึงตายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ของกองกำลังด้านความมั่นคงพม่า

กลุ่มผู้ประท้วงออกไปชุมนุมบนท้องถนนทุกวันอย่างต่อเนื่องนานถึง 6 สัปดาห์แล้วในขณะนี้ เพื่อต่อต้านการรัฐประหารของฝ่ายทหารและเรียกร้องให้ปล่อยซูจี แม้ว่าคณะรัฐประหารยกระดับใช้กำลังปราบปรามผู้เห็นต่าง และสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยในวันอาทิตย์ (14 มี.ค.) มีผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งร้อย ถือเป็นวันที่นองเลือดที่สุดนับจากที่กองทัพยึดอำนาจในวันที่ 1 กุมภาพันธ์

ในบรรดาผู้เสียชีวิตในวันอาทิตย์ (14 มี.ค.) ส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังเหตุปะทะกันในย่านอุตสาหกรรมหล่ายตายา ในเมืองย่างกุ้ง โรงงานหลายแห่งที่มีจีนเป็นเจ้าของถูกเผา เนื่องจากพวกผู้ชุมนุมเชื่อว่าปักกิ่งให้การสนับสนุนรัฐประหาร

เหตุการณ์โจมตีโรงงานของจีนนับสิบแห่งเมื่อวันอาทิตย์ ยังส่งผลให้ปักกิ่งออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างแข็งกร้าวที่สุด โดยสถานเอกอัครราชทูตจีนเรียกร้องให้รัฐบาลทหารยุติความรุนแรง และรับประกันความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของจีน

หนังสือพิมพ์โกลบัลไทมส์ของจีน ระบุว่า โรงงานของจีน 32 แห่งถูกโจมตี และทำให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่าถึง 37 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งยังมีคนงานจีน 2 คน ได้รับบาดเจ็บ ส่วนไต้หวันแนะนำให้บริษัทต่างๆ ของเกาะในพม่า ประดับธงไต้หวัน เพื่อหลีกเลี่ยงตกเป็นเป้าหมายการโจมตี


ในตอนแรก ฝ่ายทหารพม่าได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกใน 2 อำเภอของเมืองย่างกุ้ง ตั้งแต่เมื่อวันอาทิตย์ ภายหลังเกิดเหตุเผาโรงงานของคนจีน ต่อมาในวันจันทร์ ได้มีการขยายพื้นที่ใช้กฎอัยการศึกไปในอีกหลายอำเภอของย่างกุ้ง รวมทั้งในหลายพื้นที่ของเมืองมัณฑะเลย์ด้วย การใช้กฎอัยการศึกหมายความว่า ผู้ที่ถูกจับกุมในพื้นที่เหล่านั้น จะถูกดำเนินคดีในศาลทหาร โดยมีโทษตั้งแต่ใช้แรงงานสถานหนัก 3 ปี จนถึงประหารชีวิต

สำนักข่าวเมียนมา นาว รายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 6 คน ในเมืองมยินจาน และอีก 2 คน ในเมืองอองลาน 1 คน ในเมืองโมนยวา ขณะที่นักหนังสือพิมพ์ผู้หนึ่งในมัณฑะเลย์ บอกว่า มีผู้ถูกยิงตายไป 2 คนที่นั่น ภายหลังมีการประท้วงใหญ่ซึ่งผ่านพ้นไปอย่างสันติ

สถานีทีวีของทางการรายงานเมื่อวันจันทร์ ว่า มีตำรวจ 1 นาย เสียชีวิตในเมืองพะโค ระหว่างเหตุการณ์การประท้วง

ข่าวคราวของเหตุความรุนแรงถูกเผยแพร่ออกมาในช่วงบ่าย เนื่องจากมีการปิดกั้นเครือข่ายข้อมูลโทรศัพท์มือถือทั่วพม่า ซึ่งก่อปัญหาต่อการขึ้นศาลผ่านวิดีโอของนางซูจีเช่นกัน

การระงับบริการอินเทอร์เน็ต ก็ทำให้ต้องเลื่อนการพิจารณาคดีของซูจี ซึ่งจากที่เดิมกำหนดไว้ในวันจันทร์นี้ ไปเป็นวันพุธสัปดาห์หน้า (24)

ซูจีถูกควบคุมตัวนับจากการรัฐประหารและถูกตั้งข้อหาอย่างน้อย 4 ข้อหา มีทั้งข้อหาลักลอบนำเข้าวิทยุสื่อสาร และละเมิดมาตรการป้องกันโควิด-19 แล้วล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซูจียังถูกกล่าวหาว่า แอบรับเงิน 600,000 ดอลลาร์ และทองคำจำนวนมาก ระหว่างที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของเธอบริหารประเทศในสมัยที่แล้ว ข้อกล่าวหาที่ทนายความของเธอระบุว่า “ไร้หลักฐานใดๆ”

(ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น