xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายมุ่งปิดล้อมจีนของ ‘ไบเดน’ อยู่ในอาการ ‘ตุปัดตุเป๋’ ทางยุทธศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร


การประชุมซัมมิตไตรภาคี จีน-ฝรั่งเศส-เยอรมนี แบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ซึ่งทั้งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน, ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส, และนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี เข้าร่วมกันพร้อมหน้า
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Biden’s China policy at a strategic inflection point
by MK Bhadrakumar
19/04/2021

การที่จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี จัดประชุมซัมมิตกันเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่ายุทธศาสตร์มุ่งปิดล้อมจีนของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กำลังอยู่ในอาการโซซัดโซเซไปไหนไม่ถูกเสียแล้ว

เมื่อพิจารณาจากการที่สื่อมวลชนสหรัฐฯพยายามออกข่าวให้ความสำคัญ ขณะที่ จอห์น เคร์รี (John Kerry) ผู้แทนพิเศษด้านภูมิอากาศของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังจะออกเดินทางไปยังประเทศจีน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.axios.com/kerry-china-visit-climate-talks-f8da325f-7598-4129-b5ad-f03ddf2d7207.html) สิ่งที่ปรากฏออกมาจริงๆ จากการเยือนเป็นเวลา 4 วันคราวนี้ย่อมต้องถือว่าเป็นแค่เหตุการณ์ธรรมดาไม่เห็นน่าตื่นเต้นอะไร บางทีโอกาสที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเข้าร่วมงานใหญ่ระดับซิกเนเจอร์ในกรุงวอชิงตัน –ซึ่งก็คือ การประชุมซัมมิตผู้นำว่าด้วยภูมิอากาศ (Leaders Summit on Climate) ที่จัดแบบการประชุมทางไกลระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน โดยมีตัว ไบเดน เองเป็นเจ้าภาพ -- อาจจะเพิ่มขึ้นมาสักนิดหน่อย

คำแถลงร่วมที่ออกมาภายหลังการหารือในนครเซี่ยงไฮ้ระหว่าง เคร์รี กับ เซี่ย เจิ้นหัว (Xie Zhenhua) ผู้ดำรงตำแหน่งเดียวกันของฝ่ายจีน ระบุว่า ทั้งสองประเทศ “ตั้งตารอ” งานประชุมดังกล่าว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.globaltimes.cn/page/202104/1221310.shtml) ตลอดการเยือนเที่ยวนี้ เคร์รีมีปฏิสัมพันธ์กับทางคณะผู้นำจีนเพียงครั้งเดียวผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้บังคับบัญชาของ เซี่ย ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งได้แก่ รองนายกรัฐมนตรี หาน เจิ้ง ที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะกรรมการประจำกรมการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีน

ความย้อนแย้งอยู่ตรงที่ให้บังเอิญ หานยังเป็นผู้รับผิดชอบกิจการฮ่องกงอีกด้วย โดยที่เรื่องฮ่องกงคือประเด็นปัญหาหนึ่งที่คอยระคายเคืองคณะบริหารไบเดน กระทั่งขณะที่เคร์รีลงจากเครื่องบินอยู่ในเซี่ยงไฮ้แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ของสหรัฐฯ ก็ยังออกำคำแถลงยั่วโมโหฝ่ายปักกิ่งอีกฉบับหนึ่ง โดยมีเนื้อหาประณาม “การที่ปักกิ่งโจมตีเล่นงาน” ต่อ “เสรีภาพและการปกครองตนเอง” ในฮ่องกง (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.state.gov/sentencing-of-hong-kong-pro-democracy-activists-for-unlawful-assembly/)

ปักกิ่งนั้นเพิ่งค้นพบ “รอยเท้า” ของกลุ่ม “ไฟฟ์อายส์” (Five Eyes กลุ่มพันธมิตรแลกเปลี่ยนแบ่งปันข่าวกรองของ 5 ชาติแองโกล-แซกซอน ได้แก่ สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, แคนาดา, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์ ดูเพิ่มเติมได้ที่https://en.wikipedia.org/wiki/Five_Eyes -ผู้แปล) ในฮ่องกง ซึ่งทำให้ฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯตกอยู่ในอาการลังเลไม่แน่ใจ (ออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร, และแคนาดา ก็ตกเป็นเป้าหมายถูกเล็งยิงตอบโต้จากฝ่ายจีนด้วยเช่นกัน) ทั้งนี้ในวันพฤหัสบดีที่แล้ว (15 เม.ย.) ฝ่ายข่าวกรองของจีนได้ระบุเตือนภัยว่า “การปฏิวัติสี” (color revolution) คือภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.globaltimes.cn/page/202104/1221182.shtml) [1]

อันที่จริง หานได้ออกมาแถลงอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่าการที่ปักกิ่งดำเนินการปฏิรูประบบการเลือกตั้งในฮ่องกงนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ว่าระบบการเมืองในเขตบริหารพิเศษของจีนแห่งนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่อีกต่อไปแล้ว หากแต่เป็นเรื่องของการป้องกันการล้มล้างบ่อนทำลาย

ตามรายงานข่าว หานได้กล่าวถึงการยกเครื่องระบบการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในฮ่องกงครั้งนี้ว่า เป็น “สงครามต่อสู้คัดค้านการล้มล้างบ่อนทำลาย” และบอกอีกว่า ปักกิ่งไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้อง “ลงมือปฏิบัติการอย่างเฉียบขาด” เพื่อพิทักษ์ปกป้องความมั่นคงแห่งชาติและอธิปไตยของจีน (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://news.rthk.hk/rthk/en/component/k2/1579228-20210307.htm?) เราสามารถที่จะพูดได้ว่า บลิงเคนทำให้งานปาร์ตี้สังสันทน์ของเคร์รีต้องกร่อยไปเลย ด้วยคำแถลงที่เหมือนกำลังมึนเมาได้ที่จนขาดความยับยั้งชั่งใจของเขา

แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็ยังคงมีความจำเป็นที่เราจะต้องมาสรุปใจความสำคัญรวมทั้งอธิบายขยายความจากบริบทของการไปเยือนจีนของเคร์รี ทั้งนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง

เรื่องแรก ถึงแม้ เคร์รี ได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงปักกิ่ง –ตั้งแต่การที่เขาเป็นนักเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนาม, นักการทูตและรัฐบรุษผู้มีความมุ่งมั่นผูกพันกับการมีไมตรีจิตมิตรภาพกับจีน— แต่ความเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่กำลังบานปลายขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ก็ยังคงสร้างเงาดำทะมึนบดบังการไปเยือนของเขาอยู่ดี ปักกิ่งนั้นทราบดีว่า เคร์รีเป็นนักการทูตที่ออกเดินทางปฏิบัติภารกิจไปทั่วแต่มีฐานะเทียบเท่ากับสมาชิกคนหนึ่งในคณะรัฐมนตรี รวมทั้งยังเป็นสมาชิกประจำคนหนึ่งของสภาความมั่นคงแห่งชาติของไบเดนอีกด้วย กระนั้นการเยือนครั้งนี้ก็ยังคงออกมาในอาการไปกันไม่ถึงที่สุดอยู่ดี

ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า การเยือนของเคร์รี พอดีอยู่ในจังหวะเวลาเดียวกับที่ฝ่ายจีนมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ภายหลังการเจรจาระดับสูงสหรัฐฯ-จีนในเดือนที่แล้วที่เมืองแองเคอเรส (รัฐอะแลสกา ระหว่างผู้แทนฝ่ายจีน นำโดย หยาง เจียฉือ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกิจการต่างประเทศส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ และ หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศ กับผู้แทนฝ่ายสหรัฐฯ นำโดย แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ และ เจค ซุลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ -ผู้แปล) ทั้งนี้ ฝ่ายจีนซึ่งมีความพร้อมที่จะตอบโต้อย่างเด็ดเดี่ยวแข็งกร้าวยิ่งขึ้น กำลังผลักไสให้ฝ่ายสหรัฐฯต้องถอยกลับไป เวลาเดียวกัน ฝ่ายจีนยังกำลังขีดเส้นสีแดงให้เห็นกันชัดๆ ถึงสิ่งที่ตนถือว่าสหรัฐฯจะมาล่วงละเมิดล้ำเส้นไม่ได้

น่าทึ่งมากทีเดียวที่การซ้อมรบขนาดใหญ่ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในบริเวณใกล้ๆ กับไต้หวัน ได้ถูกทางปักกิ่งระบุพูดถึงกันอย่างเปิดเผยว่า เป็น “การฝึกซ้อมการปฏิบัติการรวมชาติโดยวิธีใช้กำลัง” และเป็น “การส่งสัญญาณเตือนอย่างชัดเจน” ไปยังสหรัฐฯไม่ให้เคลื่อนไหวยั่วยุท้าทายเพิ่มมากขึ้นอีก (ดูเพิ่มเติมได้ https://www.globaltimes.cn/page/202104/1220962.shtml#:~:text=The%20Chinese%20People's%20Liberation%20Army,that%20have%20been%20making%20provocative)

เรื่องที่สอง การที่ไบเดนกำลังพยายามแย่งชิงความเป็นผู้นำภายในฝ่ายสหรัฐฯ-ยุโรป (ความเป็นผู้นำในสองฟากฝั่งแอตแลนติก) ในประเด็นว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อาจกำลังกลายเป็นการสร้างความขุ่นเคืองไม่
พอใจให้แก่ฝรั่งเศส แท้ที่จริงแล้วข้อตกลงปารีสเพื่อต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนสำเร็จออกมาได้ ต้องถือเป็นความพยายามผลักดันอย่างสุดๆ ของการทูตระหว่างประเทศของฝรั่งเศสในช่วงเวลาหลังๆ มานี้ โดยที่ฝ่ายอเมริกันนำโดย โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศก่อนหน้าไบเดน เอาแต่คอยแสดงท่าทีดูหมิ่นเหยียดหยัน แล้วมาถึงตอนนี้ ไบเดนกลับกำลังพยายามขโมยผลงานนี้อย่างไม่มีความเคารพยำเกรงกันเลย ทั้งๆ ที่พระราชวังเอลิเซ่ ก็มีการเตรียมการของตนเองอยู่

อย่างที่ หัว ชุนอิง (Hua Chunying) โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศจีนทวิตข้อความเหน็บแนมแสบๆ คันๆ เอาไว้เมื่อวันศุกร์ (16 เม.ย.) นั่นแหละ เธอบอกว่า “สหรัฐฯ นั่นแหละคือผู้ประกาศถอนตัวออกไปจากข้อตกลงปารีสในปี 2017, ยุติการปฏิบัติตามNDCs ของตน (NDCs ย่อมาจากnationally determined contributions คำมั่นสัญญาที่แต่ละประเทศประกาศออกมาว่าตนเองจะทำอะไรบ้างเพื่อให้ทั่วโลกบรรลุเป้าหมายในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ), แถมยังขัดขวางหน่วงเหนี่ยวความพยายามของทั่วโลกในการบรรลุเป้าหมายต่างๆ ของข้อตกลงปารีส ดังนั้น การหวนกลับเข้ามาอีกของสหรัฐฯจึงไม่ได้เป็นการกลับมาอย่างมีเกียรติอะไรเลย หากแต่อยู่ในลักษณะเด็กเกเรหนีโรงเรียนที่กำลังกลับมาเข้าชั้นเรียนใหม่มากกว่า”

เหล่านักการทูตฝรั่งเศสทราบดีว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะกลายเป็นธีมยิ่งใหญ่ของการทูตระหว่างประเทศตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 21 และวอชิงตันก็กำลังหลงใหลได้ปลื้มอยากจะแสดงบทบาทนำในธีมนี้กับเขาบ้าง อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจู่ๆ ไอเดียซึ่งชวนน้ำลายหกของการประชุมซัมมิต 3 ฝ่ายว่าด้วยภูมิอากาศ ที่มีผู้เข้าร่วมเพียงแค่ ฝรั่งเศส, เยอรมนี และจีนเท่านั้น ก็ปรากฏขึ้นมา โดยที่ทั้งสามประเทศนี้ต่างพากันเต็มอกเต็มใจเห็นดีเห็นงามกับข้อเสนอนี้

การประชุมซัมมิตไตรภาคีครั้งนี้ได้เกิดขึ้นมาเมื่อวันศุกร์ (16 เม.ย.) หรือ 6 วันก่อนงานประชุมซึ่งมุ่งหวังให้ยิ่งใหญ่มีผู้นำโลกระดับบิ๊กเบิ้มเข้าร่วมอย่างพรักพร้อมตามที่ไบเดน วางแผนเอาไว้จะมีขึ้น ความหมายเชิงสัญลักษณ์ซึ่งเกิดขึ้นมานับว่าชวนให้เกิดความตื่นตะลึง

เรื่องที่สาม ทั้งหมดที่ว่ามาเหล่านี้ ถึงยังไงก็ไปไกลเกินกว่าแค่ความหมายเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น และเรียกร้องให้เราต้องใส่ใจกับรอยเลื่อนรอยแยกบางอันในการเมืองระหว่างประเทศที่แตกออกมาให้เห็นจากการที่จีนก้าวผงาดขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจรายหนึ่งของโลก พูดกันโดยสรุปก็คือ การเยือนของเคร์รีคราวนี้กลายเป็นการเร่งรัดให้เกิดช่วงจังหวะอย่างหนึ่งซึ่งพวกนักบินตรวจการณ์ผู้ชำนาญทั้งหลายต่างพยายามเพ่งมองหากันอยู่ มันเหมือนกับว่าพวกสถานีเรดาร์ที่มีความสามารถตรวจจับในระดับสูงทั้งหลายซึ่งติดตั้งอยู่ในตลอดทั่วทั้งโลกตะวันตกและในเอเชีย-แปซิฟิก ได้ถูกเปิดสวิตซ์ขึ้นมาอย่างฉับพลัน ซึ่งเป็นการเปิดเผยให้ทราบถึงที่ตั้งปิดลับซ่อนเร้นของพวกมัน หลังจากช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่แล้วได้แต่คาดเดากันเท่านั้น

มันเริ่มต้นขึ้นมาแบบค่อนข้างเหมือนกับไม่อันตรายน่ากลัวอะไร ในวันที่ 7 เมษายน เมื่อประธานาธิบดีสี ต่อโทรศัพท์ไปถึงนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี โดยสิ่งที่ปรากฏให้เห็นภายนอกก็คือ ปักกิ่งมุ่งประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งปรากฏให้เห็นระยะหลังๆ นี้ในความร่วมมือกันระหว่างจีนกับอียู สืบเนื่องจากบรัสเซลส์กำลังจับมือกับสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, และแคนาดา ในการประกาศมาตรการแซงก์ชั่นอย่างพอเป็นพิธีต่อเจ้าหน้าที่จีน 4 คนในซินเจียง แล้วปักกิ่งก็ตอบโต้แบบไม่รีรอโดยประกาศการแซงก์ชั่นของตนเองเล่นงานเจ้าหน้าที่ 10 คนและหน่วยงานต่างๆ 4 แห่งในยุโรป ผู้ซึ่ง “สร้างความเสียหายร้ายแรงให้แก่อธิปไตยและผลประโยชน์ต่างๆ ของจีน และเที่ยวกระจายคำโกหกและข้อมูลข่าวสารผิดๆ อย่างประสงค์ร้าย”

พูดกันโดยสรุป หลังการพูดจากันทางโทรศัพท์ครั้งนั้นแล้ว ทั้ง สี และ แมร์เคิล ก็เกิดความตระหนักว่าความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับจีนที่กำลังขยายตัวออกไปนั้น ได้กลายเป็นสิ่งอุจาดขัดตาสำหรับคณะบริหารไบเดน และดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำเอากำแพง "ไฟร์วอลล์” มาติดตั้งรอบๆ ความเป็นหุ้นส่วนกันนี้เอาไว้ เพื่อแยกมันให้ห่างออกมาจากตาปีศาจร้าย

รายงานของสำนักข่าวซินหัวเกี่ยวกับการสนทนาของผู้นำทั้งสอง ได้อ้างอิงแมร์เคิลพูดเน้นย้ำถึงความสำคัญของการที่สหภาพยุโรป “ยึดมั่นในความเป็นอิสระในการดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศของตน” แมร์เคิลยังเสนอที่จะ “แสดงบทบาทในทางบวก” ในการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่การสนทนาและการร่วมมือระหว่างอียูกับจีน ซึ่ง “ไม่เพียงเป็นผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น แต่ยังเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่โลกอีกด้วย” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.xinhuanet.com/english/2021-04/07/c_139864970.htm)

นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ แมร์เคิล ก้าวเข้ามาเพื่อปัดเป่าแก้ไขความพยายามแบบจ้องตะครุบเหยื่อของวอชิงตันในการบ่อนทำลายความสัมพันธ์อียู-จีน จากนั้นอีกแค่ 9 วันต่อมา การผลักดันของฝ่ายเยอรมันนี้ก็บังเกิดดอกผลออกมาให้เห็นเป็น การประชุมซัมมิตฝรั่งเศส-เยอรมนี-จีน

ถึงแม้กล่าวได้เช่นนี้ แต่ว่าทั้ง สี, แมร์เคิล, และประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ต่างก็มีความสำนึกอย่างเต็มที่ว่า พวกเขากำลังปรับเปลี่ยนความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างยุโรปกับจีนเสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคหลังโรคระบาดใหญ่ ภายใต้แรงกดดันบีบบังคับอย่างใหม่ๆ และการปรับปรุงจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนในระดับชาติกันเสียใหม่ --โดยที่แน่นอนล่ะ ทั้งหมดเหล่านี้ต้องกระทำภายใต้ฉากหลังของการที่คณะบริหารไบเดนมุ่งใช้ยุทธศาสตร์ปิดล้อมมาเล่นงานต่อต้านจีน

การอภิปรายหารือกันในการประชุมไตรภาคีเมื่อวันที่ 16 เมษายนคราวนี้ ปรากฏว่าได้เกินล้ำไปจากแค่เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยครอบคลุมไปถึงแถบสเปกตรัมต่างๆ ทั้งหมดของการเมืองโลก – ทั้งเรื่องความสัมพันธ์จีน-ยุโรปเมื่อมอง “จากจุดสูงทางยุทธศาสตร์”, การร่วมมือประสานงานกันในการต่อต้านโรคระบาดใหญ่, “ลัทธิชาตินิยมในเรื่องวัคซีน”, การผ่อนปรนหนี้ให้แก่แอฟริกา, แนวความคิดพหุภาคีนิยมกับการค้าเสรี, และ “ประเด็นปัญหาใหญ่ในระดับนานาชาติและในระดับภูมิภาค” และอื่นๆ นอกจากนั้นแล้วยังมีเรื่อง “การเปิดกว้างในระดับสูง และการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ถูกต้อง เป็นธรรม และปราศจากการกีดกันแบ่งแยก สำหรับบรรดาวิสาหกิจที่ลงทุนโดยต่างประเทศ รวมทั้งบริษัทฝรั่งเศสและบริษัทเยอรมัน” ในประเทศจีน (ดูเพิ่มเติมได้ที่http://www.xinhuanet.com/english/2021-04/17/c_139885734.htm)

รายงานข่าวของซินหัวได้อ้างอิงแมร์เคิลกล่าวว่า ยุโรปมีความปรารถนา “ที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่การติดต่อสื่อสารนโยบายและการจับมือรวมกลุ่มกัน” กับประเทศจีน เวลาเดียวกันนั้นก็มองเห็นว่า “เศรษฐกิจของจีนได้ฟื้นตัวกลับคืนสู่การเติบโตได้แล้วจริงๆ เป็นอันดับแรกสุด ซึ่งถือเป็น “ข่าวดีสำหรับโลก” (ดูเพิ่มเติมได้ที่http://www.xinhuanet.com/english/2021-04/17/c_139885734.htm)

เธอย้ำว่า เยอรมนี “ให้คุณค่าความสำคัญแก่โอกาสต่างๆ” ซึ่งความร่วมมือระหว่างเยอรมนี-จีน และระหว่างยุโรป-จีนนำเสนอออกมา และ “กำลังมีความปรารถนาที่จะทำให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทางการค้ากับจีนซึ่งเอื้ออำนวยผลประโยชน์ให้แก่กันและกัน มีความลึกซึ้งมากขึ้นไปอีก, เพิ่มความเข้มแข็งให้แก่การติดต่อสื่อสารกันในประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างเช่นเรื่องเศรษฐกิจดิจิตอล และความมั่นคงปลอดภัยด้านเครือข่าย, และปฏิบัติต่อวิสาหกิจจากทุกๆ ประเทศอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน และหลีกเลี่ยงการตั้งกำแพงกีดกันการค้า”

แมร์เคิลยังชี้ด้วยว่า ข้อตกลงการลงทุนอียู-จีน จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้แล้ว

สามารถที่จะกล่าวได้ว่า การประชุมซัมมิตฝรั่งเศส-เยอรมนี-จีนคราวนี้เป็นการป่าวประกาศด้วยเสียงดังๆ อย่างชัดเจนไม่มีคลุมเครือว่า ยุโรปนั้นมีวาระที่จะใช้กับจีนซึ่งแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงจากสิ่งที่ไบเดนและทีมงานของเขากำลังจะนำเอามาใช้ พูดง่ายๆ ก็คือว่า ในด้านความสัมพันธ์กับภายนอก ยุโรปมุ่งมั่นให้ความสำคัญที่สุดกับการทำให้เศรษฐกิจของตนฟื้นตัวภายหลังผ่านพ้นโรคระบาดใหญ่ ซึ่งในเรื่องนี้ความร่วมมือกับจีนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

กล่าวโดยเนื้อหาสาระแล้ว การประชุมสุดยอดไตรภาคีคราวนี้เป็นการเปิดโปงให้เห็นว่า แนวคิดอินโด-แปซิฟิกของคณะบริหารไบเดน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการปิดล้อมจีนนั้น ไม่ได้รับความสนับสนุนอะไรในเมืองหลวงสำคัญทั้งสองของยุโรป นั่นคือ เบอร์ลินและปารีส รอยเลื่อนรอยแยกเหล่านี้เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์มุ่งปิดล้อมของสหรัฐฯได้มาถึงจุดบิดเบี้ยวในทางยุทธศาสตร์เสียแล้ว

เมื่อสองพันธมิตรใกล้ชิดของวอชิงตัน ซึ่งยังเป็นมหาอำนาจสำคัญภายในสหภาพยุโรปอีกด้วย เริ่มต้นแผ้วถางเส้นทางอิสระของพวกเขาเองไปสู่ปักกิ่ง มันก็เป็นการส่งข้อความตัวโตๆในระดับระหว่างประเทศว่า เรื่องที่คณะบริหารไบเดนคุยโวว่าจะสามารถรักษาฐานะความเป็นผู้นำในสองฟากฝั่งแอตแลนติกของตนเองเอาไว้ได้ และใช้เป็นตัวยึดตรึงอันหนักแน่นไม่คลอนแคลนในนโยบายว่าด้วยจีนของอเมริกานั้น แท้ที่จริงแล้วมันไม่ได้ยึดแน่นมั่นคงอะไรเลย ตรงกันข้ามกลับกำลังล่องลอยไปอย่างตุปัดตุเป๋ไร้ทิศทางต่างหาก

ถ้อยคำโวหารที่กรีดร้องด้วยเสียงแหลมโหยหวนของ บลิงเคน จึงเป็นทั้งหมดของสิ่งที่เหลืออยู่ของนโยบาย ภายหลังผ่านพ้นระยะเวลา 100 วันแห่งสมัยการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯของ โจ ไบเดน

ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับGlobetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์

เอ็ม เค ภัทรกุมาร
เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย


บรรยากาศงานวันการศึกษาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Education Day) ประจำปีของจีน เมื่อวันที่ 15 เม.ย.
หมายเหตุผู้แปล

[1] รายงานข่าวของโกลบอลไทมส์ เรื่องฝ่ายข่าวกรองจีนเตือนภัยว่า “การปฏิวัติสี” เป็นภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน มีเนื้อหาที่น่าสนใจมาก ขณะที่ โกลบอลไทมส์เป็นสื่อในเครือเหรินหมินรึเป้า (พีเพิลส์เดลี่) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ข้อเขียนนี้จึงย่อมเป็นการสะท้อนความคิดเห็น อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่งของทางการจีนในปัจจุบัน ดังนั้นจึงขอเก็บความนำมาเสนอเอาไว้ในที่นี้:


‘การปฏิวัติสี’ที่หนุนหลังโดยตะวันตก คือ‘ภัยคุกคามสำคัญที่สุด’ต่อความมั่นคงแห่งชาติของจีนในเวลานี้
โดย โกลบอลไทมส์


West-backed color revolution a ‘top threat’ to China's national, political security
ByYang Sheng and Chen Qingqing ,Global Times
16/04/2021

ในวาระวันการศึกษาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Education Day) ครั้งที่ 6 ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี (15 เม.ย.) หน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติของจีนกำลังเผยแพร่กรณีต่างๆ ชุดหนึ่งซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางการเมืองของประเทศจีน ทั้งนี้พวกผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองระหว่างประเทศและความมั่นคงชี้ว่า จากการที่ จีน-สหรัฐฯมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ พวกพลังปรปักษ์ของต่างชาติก็ได้เพิ่มความพยายามในการพุ่งเป้าหมายเล่นงานความมั่นคงทางการเมืองของจีนด้วยเช่นกัน แทนที่จะเพียงแค่ดำเนินกิจกรรมจารกรรมตามปกติ

กรณีการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ซึ่งพวกหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง กำลังเผยแพร่ออกมาในปีนี้ มีความแตกต่างจากอดีต ตรงที่มีการโฟกัสเจาะจงไปยังประเด็นความมั่นคงทางการเมือง โดยครอบคลุมถึงพวกผู้ต้องสงสัยที่สมคบร่วมมือกับพวกพลังต่อต้านจีนของต่างชาติซึ่งพยายามบ่อนทำลายอำนาจรัฐด้วย ผู้ต้องสงสัยเหล่านี้บางส่วนมีความเกี่ยวข้องพัวพันกับความปั่นป่วนวุ่นวายของฮ่องกงในปี 2019 โดยที่ความวุ่นวายดังกล่าวมีความพยายามที่จะขยายการปฏิวัติสี (color revolution) ซึ่งฝ่ายตะวันตกหนุนหลังอยู่ ให้แผ่ลามจากเขตบริหารพิเศษแห่งนั้นมายังแผ่นดินใหญ่อีกด้วย

“เมื่อเราพูดกันเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ปกติแล้วประชาชนมักคิดถึงพวกกิจกรรมจารกรรมของต่างชาติที่พุ่งเป้าหมายมายังข่าวกรองทางการทหารและทางเศรษฐกิจของประเทศจีน แต่เวลานี้จากกรณีเมื่อไม่นานมานี้เป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า กลุ่มพลังต่อต้านจีนทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกกำลังมีการสมคบร่วมมือกัน” หลี่ เว่ย (Li Wei) ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงแห่งชาติและการต่อต้านการก่อการร้าย ณ สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยของจีน (China Institute of Contemporary International Relations) บอกกับ โกลบอลไทมส์

“นี่แสดงให้เห็นว่า พวกพลังปรปักษ์ของต่างชาติกำลังเพิ่มความพยายามของพวกตนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นอีก ในการส่งเสริมสนับสนุน‘การปฏิวัติสี’ เพื่อสร้างความสียหายให้แก่ความมั่นคงทางการเมืองของประเทศเรา” หลี่ กล่าว โดยย้ำว่าเรื่องนี้ได้กลายเป็นความท้าทายสำคัญที่สุดในด้านความมั่นคงแห่งชาติที่จีนกำลังเผชิญอยู่ในชั่วขณะนี้

กิจกรรมจารกรรมตามปกตินั้น มีเป้าหมายอยู่ที่ข่าวกรองทางการทหารและทางเศรษฐกิจ ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือประดาประเทศที่เกี่ยวข้อง ในการเจรจาหรือในการแข่งขันของพวกเขากับประเทศจีน “แต่การปฏิวัติสีซึ่งมีเป้าหมายโดยตรงอยู่ที่ความมั่นคงของเรานั้น คือความพยายามที่จะทำอันตรายต่อเสถียรภาพและความสงบเรียบร้อยในประเทศของเรา ดังนั้นมันจึงมีความร้ายแรงและสร้างความเสียหายสาหัสกว่ากันมากมายนัก” ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนในเรื่องข่าวกรองระหว่างประเทศรายหนึ่งบอกโดยขอให้สงวนนาม

ในทางเทคนิคแล้ว การปฏิวัติสีเป็น “มาตรการที่เฉลียวฉลาดมากขึ้น” ซึ่งช่วยเหลือพวกประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ในการสั่นคลอนเสถียรภาพหรือโค่นล้มประเทศหนึ่งๆ ผู้เชี่ยวชาญรายนี้อธิบายต่อ “หลังจากสงครามอิรักแล้ว สหรัฐฯและพวกพันธมิตรของเขาก็มีความลังเลใจมากขึ้นที่จะส่งกองทหารภาคพื้นดินไปยังที่ต่างๆ เนื่องจากการปฏิบัติการทางทหารโดยตรงนั้นจะเป็นเหตุให้ทหารของพวกเขาเกิดเกิดการบาดเจ็บล้มตาย รวมทั้งเกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถคาดการณ์ทำนายล่วงหน้าได้อย่างอื่นๆ ขึ้นมา แต่ด้วยการใช้พวกเครือข่ายสื่อสังคม, กลุ่มเอ็นจีโอ, และ‘พวกนักการทูต’ เพื่อระดมคัดสรรบุคลากร, ฝึกอบรม, ให้เงินทุนสนับสนุน, และจัดองค์กรพวกประชาชนในท้องถิ่นขึ้นมาต่อต้านคัดค้านรัฐบาล อย่างนี้จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยกว่าและเป็นวิธีง่ายกว่ามากในการสร้างความวุ่นวายอลหม่านขึ้นมา”

“เราสามารถเห็นกรณีทำนองนี้ได้เยอะแยะมากมาย ทั้งในซีเรีย, ลิเบีย, เวเนซุเอลา, ยูเครน, และ เบลารุส พวกตัวแสดงหลักในประเทศเหล่านี้คือคนท้องถิ่นที่ถูกชี้นำโดยเหล่าตัวแทนของฝ่ายตะวันตก และกองทหารฝ่ายตะวันตกปกติแล้วรับหน้าที่แสดงบทบาทเป็นผู้สนับสนุน โดยที่บางครั้งพวกเขาไม่ออกมาแสดงตัวให้เห็นเลยด้วยซ้ำไป” เขาบอก

พวกนักวิเคราะห์ชาวจีนกล่าวว่า สหรัฐฯและเหล่าพันธมิตรของเขาไม่กล้าเปิดฉากการปฏิบัติการทางทหารโดยตรงต่อชาติมหาอำนาจใหญ่ที่มีอาวุธนิวเคลียร์ อย่างเช่น จีนและรัสเซีย หรือพวกประเทศเพื่อนบ้านของชาติเหล่านี้ ดังนั้น หลังจากได้ใช้แบบแผนวิธีการอย่างต่อเนื่องเป็นชุดที่ปรากฏว่าไร้ประสิทธิภาพ อย่างเช่น สงครามการค้า, การกดดันทางการทหาร, และการโฆษณาชวนเชื่อที่มุ่งใส่ร้ายป้ายสีประทับตราบาปให้แก่จีน การปฏิวัติสีจึงกำลังถูกใช้ในฐานะเป็นยุทธวิธีสำคัญอย่างหนึ่งเพื่อก่อกวนขัดขวางการพัฒนาของจีน และมันดูเหมือนเป็นไพ่ใบสุดท้ายแล้วที่สหรัฐฯสามารถนำมาเล่นได้ เพื่อหยุดยั้งไม่ให้จีนดำเนินการฟื้นฟูชาติจีนขึ้นมาใหม่อย่างยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ

มีการแทรกซึมเพิ่มมากขึ้น

ในบรรดากรณีการบังคับใช้กฎหมายที่ถูกนำออกมาเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาตินั้น มีอยู่กรณีหนึ่งเป็นเรื่องราวของนักศึกษาแซ่ เถียน (Tian) ซึ่งศึกษาวิชาวารสารศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในมณฑลเหอเป่ย ทางภาคเหนือของจีน เขาเข้าเป็น “นักข่าวหนุ่มไร้ประสบการณ์” ในจีน โดยทำงานให้แก่สื่อมวลชนกระแสหลักของฝ่ายตะวันตกรายหนึ่ง เถียนได้จัดตั้งเว็บไซต์ต่อต้านจีนแห่งหนึ่งขึ้นมาในปี 2018 และดำเนินการกุข่าวเต้าข่าว รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ ตลอดจนกระจายข่าวลือซุบซิบทางการเมืองเป็นปริมาณมหาศาล

เดือนเมษายน 2019 เถียนได้รับเชิญให้ไปเยือนประเทศตะวันตกรายหนึ่ง และได้เข้ามีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มปรปักษ์ต่างชาติกว่า 20 กลุ่ม ตลอดจนเจ้าหน้าที่สิบกว่ารายของประเทศเจ้าภาพ เพื่อรับการแนะนำอบรมโดยตรง ซึ่งกำหนดเรียกร้องให้เถียนต้องจัดหา “หลักฐาน” ที่สาามารถใช้ในการให้ร้ายป้ายสีตีตราประทับใส่ประเทศจีนได้ พฤติการณ์ต่างๆ ของ เถียน เป็นอันตรายร้ายแรงต่อความมั่นคงทางการเมืองของจีน และเขาถูกจับกุมในเดือนมิถุนายน 2019 ทั้งนี้ตามข้อมูลข่าวสารที่จัดเตรียมให้โดยพวกหน่วยงานความมั่นคงแห่งรัฐ

หลี่ แห่งสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยของจีน ชี้ว่า นี่เป็นกรณีตัวอย่างของการที่กลุ่มพลังต่อต้านจีนของสหรัฐฯและฝ่ายตะวันตก กำลังดำเนินการแทรกซึมและกำลังยุยงพวกนักศึกษาชาวจีน ตลอดจนใช้พวกเขามารับใช้การทำสงครามด้านแนวความคิดอุดมการณ์เพื่อมุ่งต่อต้านคัดค้านจีน

“การทำงานให้แก่องค์กรสื่อฝ่ายตะวันตกไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แต่ถ้ามีการใช้ฐานะวิชาชีพแห่งการเป็นนักหนังสือพิมพ์ มาปิดบังอำพรางการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อทำอันตรายต่อความมั่นคงแห่งชาติแล้ว นั่นเป็นอาชญากรรม” หลี่ บอก พร้อมกับชี้ว่าลูกจ้างพนักงานของพวกองค์กรสื่อฝ่ายตะวันตกนั้นไม่ใช่ว่าทุกคนเป็นสปายสายลับ แต่ว่ามีนักหนังสือพิมพ์ตะวันตกบางรายซึ่งได้รับการหนุนหลังจากพวกนักการเมืองและหน่วยข่าวกรองตะวันตก

ในการกุข่าวปั้นแต่งข่าวลืออันเป็นเท็จเกี่ยวกับ “การล้างเผ่าพันธุ์” และ “การบังคับใช้แรงงาน” ในซินเจียงของจีน สื่อมวลชนตะวันตกกำลังแสดงบทบาทสำคัญมาก หลี่ตั้งข้อสังเกต "ทำนองเดียวกับกรณีนี้แหละ พวกที่ถูกเรียกว่า‘นักหนังสือพิมพ์’ เหล่านี้กำลังได้รับเงินทุน และการฝึกอบรมในประเทศอื่นๆ และกำลังปฏิบัติตามยุทธวิธีของเหล่านักการเมืองต่อต้านจีนเพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพของประเทศจีน”

เมื่อวันพุธ (14 เม.ย.) เจ้า หลี่เจียน (Zhao Lijian) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้กล่าวในการแถลงข่าวตามปกติว่า ในปี 2020 เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำตุรกี ได้พบปะหารือกับหัวหน้าสาขาในท้องถิ่นของ ETIM (ย่อมาจากEast Turkestan Islamic Movement ขบวนการอิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก ทั้งนี้ “เตอร์กิสถานตะวันออก” เป็นวลีที่พวกแบ่งแยกดินแดนชาวอุยกูร์นิยมใช้ โดยต้องการให้หมายถึงดินแดนซินเจียงทั้งหมด หรือหมายถึงรัฐเอกราชในอนาคตที่พวกเขาจะก่อตั้งขึ้นในเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์แห่งซินเจียงในปัจจุบัน ดูเพิ่มเติมได้ที่https://en.wikipedia.org/wiki/East_Turkestan -ผู้แปล)

ETIM หรือTurkistan Islamic Party(พรรคอิสลามเตอร์กิสถาน) เป็นองค์การของพวกสุดโต่ง, พวกก่อการร้าย, และพวกแบ่งแยกดินแดน ที่ท้าทายอำนาจอธิปไตยของจีนและเสถียรภาพในซินเจียง คณะกรรมการแซงก์ชั่นอัลกออิดะห์แห่งคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ (UN Security Council Al-Qaida Sanctions Committee) ได้ขึ้นบัญชี ETIM เอาไว้ในฐานะเป็นองค์การของผู้ก่อการร้ายมาตั้งแต่ปี 2002

กระทรวงการต่างประเทศจีนยังได้ฉายวิดีโอระหว่างการแถลงข่าวในวันนั้น ซึ่งแสดงให้เห็น ซิเบล เอดมุนด์ส (Sibel Edmonds) อดีตล่ามแปลภาษาของเอฟบีไอ กำลังเปิดเผยในการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2015 ว่า “ผู้คนเหล่านี้จำนวนมากถูกนำออกมา (จากซินเจียง) โดยพวกมือปฏิบัติการ แกลดิโอ (Gladio operatives) ... พวกเขาได้รับการอบรม, พวกเขาได้รับการติดอาวุธ, แล้วจากนั้นพวกเขาก็ถูกส่งกลับไป”

“เมื่อประมวลเอาสิ่งต่างๆ เข้ามารวมกัน ใครๆ ย่อมอดที่จะเกิดความพิศวงขึ้นมาไม่ได้ว่า เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำตุรกีไปพูดจาอะไรกับหัวหน้าของกองกำลังต่อต้านจีน? การปฏิบัติการแกลดิโอคืออะไร? สหรัฐฯมีเจตนารมณ์ที่จะก่อความยุ่งยากวุ่นวายขึ้นในซินเจียงใช่หรือไม่?” โฆษกเจ้า ตั้งคำถาม

ตามข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ออกมาในวาระวันการศึกษาความมั่นคงแห่งชาติปีนี้นั้น ในอดีตที่ผ่านมา มีอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสบางรายในซินเจียงที่ถูกจับกุม บอกว่าพวกเขากระทั่งเคยสมรู้ร่วมคิดกับพวกกองกำลังแบ่งแยกดินแดนของต่างชาติ ในการดำเนินการ (หรือทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ให้แก่การ )โจมตีแบบผู้ก่อการร้ายในภูมิภาคนี้ และใช้หนังสือแบบเรียนที่มีเนื้อหาของพวกแนวคิดสุดโต่งในโรงเรียนต่างๆ ของท้องถิ่น ซึ่งได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้แก่ความสามัคคีแห่งชาติและความมั่นคงทางการเมือง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.globaltimes.cn/page/202103/1219527.shtml)

แนวรบด้านฮ่องกง

แนวรบในด้านความมั่นคงแห่งชาติและความมั่นคงทางการเมืองของประเทศจีนอีกด้านหนึ่ง ได้แก่ ฮ่องกง ตั้งแต่ที่กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติสำหรับฮ่องกง (national security law for Hong Kong) มีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 2020 พวกกลุ่มพลังต่างชาติที่อยู่เบื้องหลังการจลาจลต่อต้านรัฐบาลในนครแห่งนี้ซึ่งเกิดขึ้นอยู่เป็นเวลาหลายเดือนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2019 ก็เริ่มระส่ำระสาย เมื่อคำนึงถึงการถูกลงโทษอย่างรุนแรงที่ผู้กระทำความผิดละเมิดกฎหมายฉบับนี้จะต้องประสบ –โดยบทลงโทษสูงสุดถึงขั้นถูกจำคุกตลอดชีวิตทีเดียว กฎหมายฉบับนี้ยังตัด “พวกมือที่มองไม่เห็น” เบื้องหลังความปั่นป่วนอลหม่านคราวนั้น ซึ่งก่อขึ้นโดยพวกมุ่งสร้างความวุ่นวายชาวต่างชาติ ผู้เชี่ยวชาญหลายรายระบุ

สำหรับผู้คนจำนวนมากแล้ว มันไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรหรอกในการที่พวกกลุ่มพลังฝ่ายตะวันตกใช้สถานะการเป็นนครเปิดของฮ่องกงไปในการยุยงให้เกิดการปฏิวัติสีขึ้นมาโดยผ่านช่องทางต่างๆ หลายหลาก เป็นต้นว่า องค์กรสื่อ, องค์การนักศึกษา, พรรคการเมือง, และสหภาพแรงงาน ด้วยการให้เงินทุน, การฝึกอบรม, การให้คำแนะนำพวกเขา หรือการจัดตั้งองค์กรสำหรับการชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย, การประท้วง, ตลอดจนการก่อจลาจล ยุทธวิธีทั้งหลายทั้งปวงซึ่งสามารถพบเห็นได้ในความชุลมุนวุ่นวายเมื่อปี 2019

การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติช่วยให้ฮ่องกงสามารถฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยในสังคม, อุดรูโหว่ต่างๆ ในกฎหมายความมั่นคงฉบับต่างๆ ของท้องถิ่น คริส ถัง พิง-กวง (Chris Tang Ping-keung) ผู้บัญชาการของกองกำลังตำรวจฮ่องกง (Hong Kong Police Force หรือ HKPF) บอกกับ โกลบอลไทมส์ในวันพุธ (14 เม.ย.) พร้อมกับกล่าวอีกว่า กฎหมายฉบับนี้กำลังทำหน้าที่เป็นเครื่องป้องปรามอันทรงประสิทธิภาพต่อพวกละเมิดกฎหมายที่เป็นอันตรายสำหรับความมั่นคงแห่งชาติ

ตั้งแต่บังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติสำหรับฮ่องกงเป็นต้นมา ทางตำรวจฮ่องกงได้จับกุมผู้ต้องสงสัยว่ามีพฤติการณ์เป็นอันตรายต่อความมั่นคงแห่งชาติไปแล้ว 100 คน ถัง กล่าว

การปกป้องความมั่นคงแห่งชาติถือเป็นเรื่องลำดับความสำคัญสูงสุดสำหรับผู้บัญชาการตำรวจในปี 2021 และก็เป็น 1 ใน 4 ภารกิจลำดับสูงสุดสำหรับ HKPF เช่นกัน ทีมงานตำรวจจะดำเนินการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข่าวกรองที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ, สืบสวนสอบสวนคดีอาญาที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ, และดำเนินปฏิบัติการต่างๆ ที่อิงอยู่กับข่าวกรอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดพฤติการณ์ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงแห่งชาติ ถัง ระบุ

พฤติการณ์ที่น่ารังเกียจจะเจอผลย้อนกลับตามสนอง

นอกจากวางเป้าหมายไปที่ซินเจียงและฮ่องกง ซึ่งถือเป็นจุดร้อนทางภูมิรัฐศาสตร์มาแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว พวกกลุ่มพลังปรปักษ์ของต่างชาติยังมีความกระตือรือล้นที่จะใช้ประเด็นปัญหาอย่างเช่น LGBT, การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี, และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งง่ายแก่การปลุกปั่นให้เกิดการอภิปรายถกเถียงอย่างดุเดือดรุนแรงขึ้นบนสื่อสังคม โดยอาศัยข้อมูลข่าวสารผิดๆ และข่าวลือต่างๆ เพื่อสร้างปัญหาด้วยการยุแยงให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเฉพาะต่างๆ ภายในประเทศจีนขึ้นมา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข่าวกรองระหว่างประเทศที่ขอสงวนนามผู้นั้น กล่าว

ถือว่าบุญยังรักษา การประพฤติปฏิบัติชนิดนี้ไม่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญ หรือเกิดการบานปลายจนไปสู่การปฏิวัติสีขนาดใหญ่โตมหึมาขึ้นมาได้ เนื่องจากการก้าวสู่ความทันสมัยและการพัฒนาของประเทศจีนในเวลานี้ ประชากรชาวเน็ตจีนส่วนข้างมากจึงสามารถที่จะถกเถียงอภิปรายประเด็นเหล่านี้ได้ด้วยทัศนคติที่เป็นผู้ใหญ่และมีเหตุมีผล และพวกองค์การว่าด้วยLGBTและว่าด้วยการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งประพฤติปฏิบัติตามกฎหมาย ก็จะวางตัวเองให้ห่างออกมาจากการแทรกแซงอย่างเป็นปรปักษ์ของต่างชาติ ผู้เชี่ยวชาญรายนี้บอก

“พวกสุดโต่งเหล่านี้ซึ่งหนุนหลังโดยกลุ่มพลังต่างๆ ของตะวันตก ได้ถูกลดความสำคัญลงไปแล้วในสังคมของเรา และกิจกรรมผิดกฎหมายของพวกเขาทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ก็จะถูกจัดการและถูกควบคุมอย่างทรงประสิทธิภาพโดยบรรดาหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง” เขาชี้

ความย้อนแย้งก็คือ สหรัฐฯที่เป็นผู้ก่อตั้งแบบแผนวิธีบางอย่างบางประการในการผลักดันการปฏิวัติสีไปตลอดทั่วโลกนั้น อาจจะกำลังเผชิญกับผลสะท้อนกลับของมันเสียแล้ว ขณะเดียวกัน การเติบโตรุ่งเรืองขึ้นมาได้ของลัทธิทรัมป์, ขบวนการ “แบล็ก ไลฟ์ส แมตเทอร์” ที่ต่อสู้อย่างดุเดือดเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ, ตลอดจนเหตุจลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯ เหล่านี้ต่างส่งผลเป็นการบ่อนทำลายอย่างร้ายแรงต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ในเวลาที่พวกเขาพยายามโปรโมตส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติสีขึ้นในประเทศอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้กล่าวต่อ

ความร่วมมือระหว่างประเทศ

การปฏิวัติสีที่หนุนหลังโดยะวันตก ถือเป็นภัยคุกคามร่วมสำหรับจีนและประเทศจำนวนมากอย่างเช่นรัสเซีย รวมทั้งประเทศต่างๆ ในเอเชียกลาง, ตะวันออกกลาง, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ยุโรปตะวันออก, และละตินอเมริกา ดังนั้นการพิทักษ์ปกป้องความมั่นคงทางการเมืองในเวลานี้ จึงเรียกร้องต้องการให้มีการร่วมมือกันในระดับระหว่างประเทศขึ้นมา พวกนักวิเคราะห์หลายรายชี้

รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน กล่าวในการประชุมแถลงข่าวภายหลังพบปะหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เก ลาฟรอฟ ของรัสเซียในเดือนมีนาคมว่า ประเทศทั้งสองจะร่วมกันคัดค้านต่อต้านการปฏิวัติสี และพิทักษ์คุ้มครองอธิปไตยแห่งชาติและความมั่นคงทางการเมืองของพวกตน (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.globaltimes.cn/page/202103/1219009.shtml)

“การต่อสู้คัดค้านการปฏิวัติสี คือภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับจีนและรัสเซีย โดยไม่เพียงเป็นการป้องกันพวกเราเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการพิทักษ์สันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคอีกด้วย ทั้งสองประเทศสามารถที่จะร่วมมือกันในด้านการแลกเปลี่ยนข่าวกรอง, การปฏิบัติการร่วมกันเพื่อต่อต้านคัดค้านพวกกลุ่มเอ็นจีโอผิดกฎหมายที่จะสร้างข้อมูลข่าวสารผิดๆ ขึ้นมาเพื่อปลุกปั่นให้เกิดความไร้เสถียรภาพและคุกคามความมั่นคงทางไซเบอร์” หยาง จิน (Yang Jin) ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งของสถาบันรัสเซีย, ยุโรปตะวันออก, และเอเชียกลางศึกษา (Institute of Russian,Eastern European and Central Asian Studies) ซึ่งสังกัดอยู่กับบัณฑิตยสภาทางสังคมศาสตร์ของจีน (Chinese Academy of Social Sciences) บอกกับโกลบอลไทมส์
กำลังโหลดความคิดเห็น