การทูต “นักรบหมาป่า” จีนคืนชีพอีกครั้ง หลังการเผชิญหน้าสุดตึงเครียดที่อะแลสกากับคณะผู้แทนของอเมริกา แถมมีเรื่องฝ้ายอุยกูร์ช่วยเติมเชื้อไฟให้คุกรุ่นยิ่งขึ้น ทีมปักกิ่งชี้พร้อมเป็นนักรบหมาป่าตามที่ถูกเรียกขานเพื่อไล่ขย้ำ “หมาบ้า” ที่โจมตีจีนอย่างเกรี้ยวกราดโดยใช้นักวิชาการและสื่อบังหน้า
หลังจากเงียบหายไปช่วงสั้นๆ เหล่านักการทูตจีนเริ่มอยู่ไม่สุขมากขึ้นเมื่อโลกตะวันตกกดดันปักกิ่งเรื่องการปฏิบัติต่อมุสลิมอุยกูร์ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในมณฑลซินเจียง และต่อไปนี้คือบางสิ่งที่ควรรู้ขณะที่นักรบหมาป่ากลับมาแยกเขี้ยวพร้อมฟัดศัตรูอีกครั้ง
กำเนิด “หมาป่า”
“การทูตนักรบหมาป่า” กลายเป็นคำพูดที่ได้ยินทั่วไปในปี 2019 เมื่อนักการทูตจีน ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ เจ้า ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ หันมาใช้กลยุทธ์ปกป้องประเทศผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ที่ยังถูกปิดกั้นในจีน
ทั้งนี้ คำว่า “นักรบหมาป่า” มาจากภาพยนตร์เกี่ยวกับทหารกองกำลังพิเศษของจีนสไตล์เดียวกับแรมโบ้ของฮอลลีวูด
จีนยืนยันว่า ถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนมาใช้ท่าทีแข็งกร้าวขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ ครองทำเนียบขาว
เจ้า ที่โด่งดังจากการทวิตดุเดือดขณะประจำอยู่ที่ปากีสถานเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนในปีต่อมา
เขาเป็นผู้เผยแพร่ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดมากมาย ซึ่งรวมถึงทฤษฎีที่ว่า กองทัพอเมริกาอาจแอบเอาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เข้าไปปล่อยในจีน ต่อมาเขาทวิตโจมตีแคนเบอร์ราโดยกล่าวหาว่า ทหารออสเตรเลียสังหารโหดพลเมืองและนักโทษอัฟกานิสถาน
โพสต์ดังกล่าวมีภาพประกอบของทหารนายหนึ่งกำลังถือมีดเปื้อนเลือดจ่อคอเด็ก ทำให้นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียออกมาประณามและความสัมพันธ์ของสองประเทศซึ่งเลวร้ายอยู่แล้ว ก็ยิ่งปีนเกลียวกันจนถึงบัดนี้
การที่ทรัมป์ตีตราไวรัสโคโรนาเป็น “ไวรัสจีน” ทำให้นักการทูตปักกิ่งต้องเพิ่มเดิมพันขณะที่โควิด-19 ระบาดหนักทั่วโลก
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การปรับเข้าสู่โหมดโจมตีส่วนหนึ่งนั้นสะท้อนจีนยุคสมัยปัจจุบันที่มีความแน่วแน่ยืนกรานและกล้าแสดงออกมากขึ้นภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
หมาป่ากลับมาแล้ว!!
ตอนที่โจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช่วงปลายเดือนมกราคม บรรดานักการทูตจีนพากันคาดหวังว่า ความสัมพันธ์จีน-อเมริกาจะเริ่มต้นใหม่ด้วยดี
แต่ข้อตกลงสงบศึกมีอันล่มลงระหว่างการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสองชาติที่ เมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกาเมื่อวันที่ 18-19 มีนาคม ที่หยาง เจียฉือ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกิจการต่างประเทศส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และที่ปรึกษาของสี จิ้นผิง ขู่ตอบโต้การแทรกแซงของอเมริกา
แมทธิว ดูคาเทล ผู้อำนวยการโครงการเอเชียของแองสติตุต มองแตญ กลุ่มคลังสมองในปารีส มองว่า ท่าทีแข็งกร้าวของนักการทูตรุ่นใหญ่อย่างหยางในแองเคอเรจ ดูเหมือนกลายเป็นการกระตุ้นให้นักการทูตจีนปล่อยวาทะดุเดือดโจมตีตะวันตกอีกครั้ง
เริ่มจากหลี่ หยาง กงสุลใหญ่ประจำริโอ เดอ จาเนโร ที่เรียกนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโดของแคนาดาว่า “เด็กน้อย” และบอกว่า แคนาดาคือ “สุนัขรับใช้” ของอเมริกา
ปลายเดือนที่แล้ว ขณะที่สหภาพยุโรป อังกฤษ แคนาดา และอเมริกา ประกาศแซงก์ชันจีนกรณีซินเจียง หัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสวนกลับว่า หน่วยงานข่าวกรองกลางของอเมริกา (ซีไอเอ) อาจเป็นคนกุเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อบ่อนทำลายความมั่นคงของจีน
นอกจากนั้น หลังจากแบรนด์ดังทั้งเอชแอนด์เอ็มและไนกี้แสดงความกังวลว่า จีนอาจบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์เก็บฝ้าย แถมยืนยันว่า ไม่ได้ใช้ฝ้ายของซินเจียง หัวได้ออกมาตอบโต้ด้วยการโชว์ภาพทาสผิวดำในไร่ฝ้ายอเมริกา และสำทับในเวลาต่อมาว่า คนนอกไม่มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์จีน
โหมดโจมตี
นักการทูตจีนยืนยันว่า ถูกบีบบังคับให้ต้องตอบโต้ศัตรู โดยเฉพาะชาติตะวันตกที่รวมหัวกันสกัดกั้นอิทธิพลจีน
ทัศนคติดังกล่าวภายใต้การนำของ สี แตกต่างอย่างชัดเจนกับปรัชญาของอดีตผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง ที่แนะนำให้ “ซ่อนความเข้มแข็งและรอโอกาสที่เหมาะสม”
สถานเอกอัครราชทูตจีนอย่างน้อยใน 7 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เยอรมนี และเดนมาร์ก ขึ้นชื่อเรื่องการตอบโต้อย่างแข็งกร้าวกับประเทศเจ้าบ้าน
ตัวอย่างเช่น เมื่อปลายเดือนที่แล้ว หลังจากอียูและตะวันตกอีกหลายชาติแซงก์ชันจีนจากข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงไม่นาน อู๋ เขิ่น เอกอัครราชทูตจีนในเยอรมนี แถลงบนเว็บไซต์สถานทูตว่า จีนไม่เคยยั่วยุ และจะไม่ยอมหลงกลการยั่วยุ พร้อมเรียกร้องให้ยุโรปแก้ไขความผิดพลาดซึ่งจะบ่อนทำลายความไว้วางใจและการร่วมมือระหว่างกัน
คู่เจรจาที่เท่าเทียม
จง จาลัน จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ มองว่า การส่งสัญญาณความเข้มแข็งและข่มขู่เกี่ยวกับต้นทุนที่ต้องจ่ายจากการไม่ปฏิบัติตาม อาจทำให้เกิดการต่อต้านในบางประเทศ แต่บางประเทศอาจยอมจำนนเพราะความกลัว โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพิงการค้าขายกับจีน
เขาสำทับว่า ประเทศที่มีประสบการณ์ในการรับมือการกดดันของจีนอาจอดทนกับความกราดเกรี้ยวของพญามังกรได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
กระนั้น ดูคาเทลเตือนว่า หากต้องการเตือนถึงผลลัพธ์จากการต่อต้าน ปักกิ่งอาจเลือกใช้วิธีแสดงแสนยานุภาพและความเด็ดเดี่ยวในการทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้นทุกครั้งที่มีการเผชิญหน้า
สื่อต่างชาติบางแห่งนิยาม “การทูตนักรบหมาป่า” ว่าหมายถึงทัศนคติที่เด็ดขาดและชัดเจนในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ แต่ในจีนเอง คำนี้ได้รับการยอมรับอย่างจริงใจ คนจีนยังยินดีที่ได้เห็นความเชื่อมั่นและกล้าหาญแบบที่นักการทูตชาติมหาอำนาจพึงมี
นานาชาติยังมองว่า การทูตนักรบหมาป่าที่อะแลสกาเมื่อกลางเดือนที่แล้วเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง
มาร์ติน ฌาคส์ นักวิชาการอาวุโสคณะการเมืองและรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในอังกฤษ ชี้ว่า โลกตะวันตกที่หยิ่งผยองโดยมีอเมริกาเป็นผู้นำไม่สามารถอวดดีกับจีน ประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ได้อีกต่อไป และการเจรจาที่อะแลสกาสะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า อเมริกากำลังอยู่ในกระบวนการอันเจ็บปวดในการตระหนักและยอมรับว่า ตอนนี้จีนคือคู่เจรจาที่เท่าเทียม
ลู่ เซียง นักวิจัยของสถาบันสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ของทางการจีน ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนที่แล้วว่า คณะผู้แทนจีนเดินทางไปอะแลสกาด้วยความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับอเมริกาอย่างสันติ แต่สิ่งที่พบคือความหยาบคายและการใส่ร้ายป้ายสีจากแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จีนจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากตอกกลับ และสำทับว่า ท่าทีแข็งกร้าวดังกล่าวไม่ควรถูกเหมาว่า เป็นสไตล์ “นักรบหมาป่า” เพราะเป็นปฏิกิริยาปกติที่มหาอำนาจควรทำ
ผู้สังเกตการณ์หลายคนประสานเสียงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นที่อะแลสกาสะท้อนว่า ตะวันตกกำลังสูญเสียบทบาทผู้นำ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาผงาดแกร่งกล้าขึ้นเรื่อยๆ
วอชิงตันโพสต์เสียดสีว่า คณะบริหารของไบเดนได้ลิ้มรสการทูต “นักรบหมาป่า” ของจีนเป็นครั้งแรกระหว่างการประชุมที่อะแลสกา
หลี ไห่ตง ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยการต่างประเทศของจีน เปิดเผยกับโกลบอลไทมส์เมื่อปลายเดือนมีนาคมว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ตะวันตกไม่สบายใจกับการทูตนักรบหมาป่าคือ จีนไม่ยอมกัดฟันและยอมจำนนต่อการอวดตนของตะวันตกว่าดีกว่าเหนือกว่าทั้งด้านอารยธรรม เชื้อชาติ และการปกครองเหมือนเดิม แต่กลับยืนหยัดปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองอย่างแน่วแน่และชัดเจน
นักการทูตจีนยังต่อสู้ถึงพริกถึงขิงกับการโจมตีและการกล่าวหาโดยไม่มีมูลของมหาอำนาจตะวันตก วันที่ 21 มีนาคม สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำฝรั่งเศสได้เผยแพร่บทความชิ้นหนึ่งที่มีเนื้อหาว่า การทูตคือการปกป้องผลประโยชน์และภาพลักษณ์ของประเทศ และหากผลประโยชน์และภาพลักษณ์ของจีนถูกคุกคามหรือทำลาย ย่อมเป็นเรื่องปกติที่นักการทูตจีนจะต่อสู้จนถึงที่สุด
“ถ้าใครขนานนามเราว่า “นักรบหมาป่า” เราก็จะเป็นนักรบหมาป่าที่ไล่ขย้ำ “หมาบ้า” ที่โจมตีจีนอย่างเกรี้ยวกราดโดยใช้นักวิชาการและสื่อบังหน้า”
(ที่มา: เอเอฟพี, เอเจนซีส์)