xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ-จีน 2 ชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด จับมือร่วมจัดการวิกฤตโลกร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - อเมริกา-จีนตกลงร่วมมือจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนที่ไบเดนจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดกับผู้นำโลกเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวในช่วงปลายสัปดาห์นี้

แถลงการณ์ร่วมภายหลังการประชุม 2 วันที่เซี่ยงไฮ้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วระหว่างจอห์น เคร์รี และเซี่ย เจิ้นหัว ผู้แทนพิเศษของอเมริกาและจีนตามลำดับ ระบุว่า ทั้งสองประเทศตกลงร่วมมือกันและร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เพื่อรับมือวิกฤตโลกร้อนซึ่งต้องได้รับการจัดการอย่างจริงจังและเร่งด่วน

จีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก รองลงมาคืออเมริกา โดยสองประเทศนี้ปล่อยหมอกควันจากเชื้อเพลิงฟอสซิลรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของทั่วโลก การร่วมมือระหว่างสองชาตินี้จึงมีความสำคัญต่อความสำเร็จของความพยายามของทั่วโลกในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทว่า ความสัมพันธ์ตึงเครียดของทั้งคู่ในปะเด็นสิทธิมนุษยชน การค้า และการอ้างสิทธิอธิปไตยของจีนเหนือไต้หวันและทะเลจีนใต้ บ่อนทำลายความพยายามดังกล่าว

ในวันอาทิตย์ (18 เม.ย.) เคร์รีให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในกรุงโซลของเกาหลีใต้ว่า ถ้อยคำในแถลงการณ์ร่วมมีความชัดเจน และสองประเทศเห็นพ้องในองค์ประกอบสำคัญของสิ่งที่ต้องดำเนินการ อย่างไรก็ดี การกระทำเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าคำพูด ดังนั้น จึงต้องรอดูต่อไปว่า จะเกิดอะไรขึ้น

เคร์รีเสริมว่า ได้บอกกับจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ถ่านหินมากที่สุดในโลกว่า สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือการลดการใช้ถ่านหิน

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เชิญผู้นำ 40 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ประชุมสุดยอดเสมือนในวันที่ 22-23 ที่จะถึง ซึ่งคาดว่า จะมีการประกาศยกระดับเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนของแต่ละประเทศก่อนหรือระหว่างการประชุม รวมถึงการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศยากจนในการแก้ปัญหาโลกร้อน

อย่างไรก็ดี เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 เม.ย.) ระหว่างที่เคร์รียังอยู่ในเซี่ยงไฮ้ เล่อ ยูเฉิง รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของจีน ส่งสัญญาณว่า ปักกิ่งอาจไม่ประกาศเป้าหมายใหม่ในการประชุมสุดยอดปลายสัปดาห์นี้ และในฐานะที่จีนเป็นประเทศที่มีประชากรถึง 1,400 ล้านคน การเรียกร้องของบางประเทศให้จีนบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อนกำหนดจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีแนวโน้มเป็นไปได้

วันเดียวกันนั้น สียังกล่าวระหว่างการประชุมทางไกลผ่านจอภาพกับผู้นำเยอรมนีและฝรั่งเศสว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ควรกลายเป็นหมากทางการเมือง หรือเป้าหมายสำหรับการโจมตีประเทศอื่น หรือข้ออ้างในการสร้างกำแพงกีดกันการค้า

นอกจากนี้ยังไม่แน่นอนว่า สีจะร่วมการประชุมสุดยอดที่ไบเดนเป็นเจ้าภาพหรือไม่ โดยเล่อแบ่งรับแบ่งสู้ว่า จีนกำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ ขณะที่แถลงการณ์ร่วมระบุว่า ทั้งสองประเทศตั้งตารอซัมมิตปลายสัปดาห์นี้ และเคร์รีกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า อเมริกาหวังว่า สีจะเข้าร่วมประชุมด้วย

ตามแถลงการณ์ร่วมนั้น สองประเทศตกลงจะส่งเสริมการดำเนินการและการร่วมมือในกระบวนการพหุภาคี ซึ่งรวมถึงกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และข้อตกลงปารีสปี 2015 ที่ไบเดนนำอเมริกากลับเข้าร่วมเป็นภาคีอีกครั้ง หลังจากถอนตัวออกไปในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

แถลงการณ์ร่วมยังระบุว่า จีนและอเมริกาจะพัฒนากลยุทธ์ระยะยาวก่อนการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) จะจัดขึ้นที่กลาสโกว์ในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมถึงการดำเนินการมาตรการที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มการลงทุนและการสนับสนุนทางการเงินของนานาชาติสำหรับการเปลี่ยนไปใช้พลังงานที่สะอาดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา

ปีที่แล้ว สีประกาศว่า จีนจะมีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2060 และเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนให้สัญญาว่า จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อหน่วยผลผลิตทางเศรษฐกิจลง 18% ภายใน 5 ปีหน้า สอดคล้องกับเป้าหมายระยะ 5 ปีก่อนหน้านี้ ทว่า นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลับมองว่า จีนยังต้องพยายามมากกว่านั้น

ด้านไบเดนให้คำมั่นว่า อเมริกาจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใน 14 ปี และปลอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสิ้นเชิงภายในปี 2050 ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียวกับที่เคร์รีต้องการให้อเมริกาเป็นกลางทางคาร์บอน
กำลังโหลดความคิดเห็น