จากที่ห้ำหั่นกันชนิดไม่มีใครยอมใครตั้งแต่ประเด็นการค้า เทคโนโลยี จนถึงตลาดทุน ผู้เชี่ยวชาญคาดศึกชิงความเป็นหนึ่งทางเศรษฐกิจระหว่างอเมริกากับจีนกำลังจะย้ายไปที่อุตสาหกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเดิมพันสูงมาก และเป็นหัวใจสำคัญด้านเศรษฐกิจและการเมืองของทศวรรษหน้า
จากข้อมูลของบีเอ็นอีเอฟที่ทีมอีเอสจี รีเสิร์ชของแบงก์ ออฟ อเมริกาอ้างอิงในรายงานเมื่อเดือนที่แล้ว ระหว่างปี 2010-2020 จีนลงทุนเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานมากกว่าอเมริกาเกือบ 2 ต่อ 1
นักวิเคราะห์ของแบงก์ ออฟ อเมริการะบุว่า ประเด็นสำคัญคือ การเป็นผู้นำห่วงโซ่อุปทาน นโยบายการผลิตที่มุ่งเน้นตลาดภายในประเทศ กฎหมายสิทธิมนุษยชน ภาษีศุลกากรเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ฮาอิม อิสราเอล กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัยของแบงก์ ออฟ อเมริกา ชี้ว่า “สงครามสภาพภูมิอากาศ” ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งจะเกิดขึ้นหลังจากสงครามไฮเทคและสงครามการค้า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นหัวใจสำคัญด้านเศรษฐกิจและการเมืองของทศวรรษหน้า
เขาแจงว่า นี่ไม่ใช่แค่การปกป้องโลก แต่ยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศจะปูทางสู่ความเป็นผู้นำโลก เนื่องจากมีเดิมพันสูงรออยู่ ซึ่งหมายถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจสูงถึง 69 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้ต้องมีการลงทุนในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 4 ล้านล้านดอลลาร์
เขาเสริมว่า การเป็นอิสระด้านพลังงานและการควบคุมห่วงโซ่อุปทานขึ้นอยู่กับดุลอำนาจด้านภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับจุดผลิตน้ำมันดิบในอัตราสูงสุดของปี 2030 ด้วย
อิสราเอลให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซีว่า อเมริกาควรจะต้องออกกฎหมายเพิ่ม ส่งเสริมนวัตกรรมและอัดฉีดเงินทุนเข้าสู่พลังงานทดแทน ช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์ แบตเตอรี่ และไฮโดรเจน
เขาสำทับว่า การผลิตรถไฟฟ้า (อีวี) จะเติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน และจากข้อเท็จจริงที่ว่า ผลผลิตน้ำมันครึ่งหนึ่งของโลกถูกจัดสรรให้กับตลาดการเดินทางขนส่ง ซึ่งรถยนต์เป็นตัวละครที่สำคัญมาก จึงอาจประเมินได้ว่า ผู้ที่สามารถควบคุมอีวีและเทคโนโลยีอีวีจะได้เปรียบในการแข่งขัน
ภายใต้คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับจีนยังคงเครียดขมึง ดังจะเห็นได้จากบรรยากาศตึงเครียดในการเจรจาระหว่างแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กับคณะผู้แทนจีนที่อะแลสกาเมื่อเดือนที่แล้ว
แฮร์รี บรอดแมน กรรมการผู้จัดการและประธานด้านเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ของคณะกรรมการการลงทุนต่างชาติในสหรัฐฯ ของเบิร์กเลย์ รีเสิร์ช กรุ๊ป กล่าวกับซีเอ็นบีซีเมื่อปลายเดือนมีนาคมว่า ความสามารถของประเทศพัฒนาแล้วในการสร้าง ดำเนินการ และขายผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมวาระด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยไม่ส่งผลลบต่อตลาดแรงงานจะเป็นตัวกำหนดภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจในช่วงหลายปีนับจากนี้
บรอดแมนที่เคยรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ในคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน ยังบอกอีกว่า กลุ่มจี7 ซึ่งจะจัดการประชุมสุดยอดในสหราชอาณาจักรในเดือนมิถุนายนที่จะถึง จะต้องยกระดับการค้นคว้าวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อแข่งกับจีน
เขาสนับสนุนให้จี7 รวม “อาร์แอนด์ดี7” ในวาระการประชุม โดยมีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปโครงสร้างที่รองรับการเจรจาและการดำเนินการข้อตกลงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหมู่ชาติสมาชิก นอกจากนั้นยังรวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานอิสระที่รับผิดชอบในการทำให้ข้อตกลงเหล่านั้นส่งเสริมและปรับปรุงการร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาภายในจี7
บรอดแมนเตือนว่า ประเทศประชาธิปไตยร่วมมือกันอย่างดีในการลงทุนและการค้า แต่กลับมีผลงานต่ำกว่ามาตรฐานในการร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นส่วนที่จีนได้เปรียบในการแข่งขันอย่างมาก ไม่รวมถึงการเป็นภัยคุกคามสำคัญด้านเศรษฐกิจและอาจรวมถึงภูมิรัฐศาสตร์
ปักกิ่งประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2060 ทั้งนี้ จากรายงานของโกลด์แมน แซคส์เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า ประเทศต่างๆ ที่กำลังดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณรวมทั่วโลก และ 2 ใน 3 มาจากจีน
อย่างไรก็ตาม นี่อาจไม่ใช่งานง่ายนัก เพราะจีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดในโลกคือ 30% ของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก มากกว่าอเมริกาเกิน 2 เท่าตัว และถูกไคลเมต แอ็กชัน แทร็กเกอร์ตีตราว่า การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของจีน “ไม่เพียงพออย่างชัดเจน” ภายใต้หลักการการแบ่งความรับผิดชอบอย่างเท่าเทียมเพื่อต่อสู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ที่นำโดยหัวหน้าหน่วยธุรกิจหลักทรัพย์ มิเคล เดลลา วิเนีย คาดการณ์แนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของจีนตามภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี และสรุปว่า จีนจะต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสะอาดถึง 16 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2060
การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยสร้างงาน 40 ล้านตำแหน่งและผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกทั้งจะส่งเสริมเทคโนโลยีที่ปรับขนาดได้และเชื่อมโยงกัน 3 แขนง ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า ไฮโดรเจนสีเขียว และการดักจับคาร์บอน
ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของอเมริการะบุว่า การใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของจีนเพิ่มขึ้น 10.3% เป็น 378,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2020
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา ระบุว่า ยุโรปเป็นที่ตั้งบริษัท “เทคโนโลยีสะอาด” ใหญ่ที่สุดของโลก 8 ใน 10 แห่ง ที่มีศักยภาพในการเพิ่มการผลิตพลังงานสะอาด 4 เท่าภายในปี 2030
นักลงทุนแสดงความสนใจในบริษัทเหล่านี้มากขึ้น เนื่องจากมองว่า เป็นผู้บุกเบิกกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากรถไฟฟ้าสู่พลังงานสะอาด
บรอดแมนสำทับว่า การที่จีนพบว่า ตัวเองถูกอเมริกาและสมาชิกที่เหลือในกลุ่มจี7 กีดกันไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีหลายแขนงมากขึ้น จะนำไปสู่การสร้าง “วงโคจรรอบจีน” และ “วงโคจรรอบจี7” ที่ไม่ยั่งยืน
เขาทิ้งท้ายว่า ในมุมมองทางเศรษฐกิจ วงโคจรดังกล่าวจะมีได้เพียงหนึ่งเดียว ดังนั้น เขาจึงคิดว่า ใครก็ตามที่ชนะในการแข่งขันนี้จะได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก และขณะนี้ การแข่งขันได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว