อิหร่านฟันธง อิสราเอล ศัตรูตัวฉกาจของตน คือ ผู้ก่อวินาศกรรมเล่นงานโรงงานนิวเคลียร์ในเมืองนาตันซ์ เนื่องจากไม่พอใจที่ความพยายามเพื่อให้อเมริกายกเลิกมาตรการแซงก์ชันกำลังมีความคืบหน้า ลั่นจะตอบโต้เอาคืน และขณะเดียวกัน จะไม่ยอมให้เหตุการณ์นี้บ่อนทำลายกระบวนการเจรจาเพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์
อิหร่านระบุว่า บุคคลซึ่งเป็นผู้ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าดับในโรงผลิตโรงหนึ่งที่สถานเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียมใต้ดินของตนในเมืองนาตันซ์ ได้ถูกระบุตัวออกมาอย่างชัดเจนแล้ว และ “กำลังมีการดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จำป็นเพื่อจับกุมบุคคลผู้นี้” สื่อภาครัฐของอิหร่านรายงาน โดยไม่ให้รายละเอียดมากกว่านี้
ขณะที่องค์การพลังงานปรมาณูอิหร่าน (ไอเออีโอ) แถลงว่า เกิด “การระเบิดขนาดเล็ก” ขึ้นมาครั้งหนึ่ง ซึ่งเล่นงานศูนย์จ่ายไฟฟ้าของโรงงานที่นาตันซ์
พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของอิหร่านหลายรายกล่าวเมื่อวันจันทร์ (12 เม.ย.) ถึงเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ (11) คราวนี้ว่า เป็น “การก่อการร้ายทางนิวเคลียร์” และบอกด้วยว่า เตหะรานสงวนสิทธิที่จะปฏิบัติการเล่นงานพวกผู้ก่อเหตุ
เป็นต้นว่า สถานีทีวีของรัฐบาลอิหร่านรายงานโดยอ้างคำพูดของ โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ระบุว่า “ขบวนการไซออนนิสต์” ซึ่งหมายถึงพวกยิวที่ต้องการฟื้นชาติอิสราเอล ต้องการแก้แค้นการที่อิหร่านดำเนินการอย่างมีความคืบหน้า ในการพยายามให้สหรัฐฯยกเลิกมาตรการแซงก์ชัน โดยก่อนหน้านี้อิสราเอลเคยประกาศขัดขวางอย่างโจ่งแจ้ง พร้อมกันนั้นซารีฟสำทับด้วยว่า เตหะรานมีสิทธิ์ตอบโต้ผู้โจมตี
อย่างไรก็ดี เขาย้ำว่า เตหะรานจะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์นี้ส่งผลต่อการเจรจาเพื่อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 หรือผ่อนคลายจุดยืนของฝ่ายตนในการเจรจานี้
อิสราเอลไม่ได้ออกมาอ้างตัวเป็นผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์คราวนี้ แต่รายงานข่าวของสื่ออิสราเอลหลายกระแสที่ไม่มีการอ้างแหล่งข่าวชัดเจนบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นผลงานของหน่วยงานความมั่นคงอิสราเอลในการดำเนิน “ปฏิบัติการทางไซเบอร์”
ด้านนิวยอร์กไทมส์ ซึ่งอ้างเจ้าหน้าที่ข่าวกรองทั้งของสหรัฐฯและของอิสราเอลโดยไม่ระบุชื่อ ก็พูดเช่นกันว่า อิสราเอลมีบทบาทในการโจมตีครั้งนี้ ซึ่งเกิดการระบิดที่ “ทำลายย่อยยับ” ระบบไฟฟ้าที่ป้อนให้แก่ “เครื่องปั่นเพื่อเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียมซึ่งตั้งอยู่ชั้นใต้ดิน” ของโรงงานที่เมืองนาตันซ์แห่งนี้
ยังมีสื่อท้องถิ่นของอิสราเอลหลายสำนัก รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อในแวดวงข่าวกรองว่า หน่วยข่าวกรอง “มอสสาด” ของอิสราเอลประสบความสำเร็จในการก่อวินาศกรรมโรงงานนิวเคลียร์อิหร่านในเมืองนาตันซ์ โดยอาจทำให้ปฏิบัติการเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียมต้องล่าช้าออกไปอีกหลายเดือน
สถานีวิทยุแคน เรดิโอของอิสราเอล รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในแวดวงข่าวกรองว่า โรงงานดังกล่าวได้รับความเสียหายมากกว่าที่อิหร่านเปิดเผย
ทั้งนี้ โรงงานที่ถูกโจมตีคราวนี้เป็นโรงงานเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียม และเป็นหนึ่งในโรงงานนิวเคลียร์หลายแห่งของอิหร่านที่ถูกตรวจสอบและติดตามโดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ในสังกัดสหประชาชาติ
เจ้าหน้าที่อิหร่านกลับลำมาระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือ “ผู้ก่อการร้ายนิวเคลียร์” หลังจากที่แถลงก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมงว่า “เกิดอุบัติเหตุ” ซึ่งทำให้ไฟฟ้าในโรงงานดังกล่าวดับ แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บและไม่มีกัมมันตรังสีรั่วไหล
เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้น 1 วันหลังจากที่อิหร่านประกาศว่า ได้เริ่มเดินเครื่องอุปกรณ์หมุนเหวี่ยงเสริมสมรรถนะยูเรเนียมขั้นสูงในโรงงานในนาตันซ์ ซึ่งถือเป็นการละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์ 2015 กับชาติมหาอำนาจที่หยุดชะงักอยู่ในขณะนี้ และเห็นกันว่าเป็นกลเม็ดอีกอย่างหนึ่งในการสร้างแรงกดดันเพิ่มอำนาจต่อรองของฝ่ายเตหะราน
อาลี อัคบาร์ ซาเลฮี ผู้อำนวยการองค์การพลังงานปรมาณูอิหร่าน (ไอเออีโอ) ประณามการวินาศกรรมคราวนี้ว่า เป็นการกระทำที่ “ไร้ประโยชน์” และเรียกร้องให้นานาชาติเผชิญหน้าผู้ก่อการร้ายรายนี้ที่ต้องการขัดขวางการพัฒนาอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน แต่เขาไม่ได้ระบุชื่อประเทศหรือองค์กรที่อาจอยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมเมื่อวันอาทิตย์
ด้าน มาเล็ค ชาเรียติ โฆษกคณะกรรมาธิการพลังงานของรัฐสภาอิหร่าน ทวีตว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังวันจากวันเสาร์ (10) ซึ่งเป็นวันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติของอิหร่าน ขณะที่เตหะรานพยายามกดดันให้ตะวันตกยกเลิกการแซงก์ชัน จึงน่าสงสัยมากว่า เป็นการก่อวินาศกรรมหรือการแทรกซึม
ขณะที่นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล กล่าวเมื่อเย็นวันอาทิตย์ระหว่างพิธีฉลองวันประกาศเอกราชที่จัดขึ้นร่วมกับกองทัพและหน่วยมอสสาดว่า การต่อสู้กับอิหร่านและเหล่าตัวแทน รวมทั้งความพยายามในการปลดอาวุธเตหะราน ถือเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่
อย่างไรก็ดี ผู้นำยิวไม่ได้กล่าวถึงเหตุไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านแต่อย่างใด
พวกสถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของอิหร่านได้เคยถูกก่อวินาศกรรมหรือเกิดไฟฟ้าดับอยู่เป็นระยะๆ มาตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยที่เตหะรานประณามว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล รวมทั้งในเหตุไฟไหม้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วที่โรงงานนิวเคลียร์เมืองนาตันซ์แห่งนี้
ย้อนไปถึงปี 2010 อิหร่านระบุว่าค้นพบไวรัสคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อว่า “สตุกซ์เน็ต” (Stuxnet) หลังจากมันถูกนำมาใช้โจมตีนาตันซ์ ซึ่งสร้างความเสียหายถึงขั้นทำให้พวกเครื่องเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียมที่จัดวางเรียงเป็นแถวๆ เป็นชั้นๆ เกิดการแตกหักพัง โดยที่ไวรัสตัวนี้เป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าพัฒนาโดยสหรัฐฯกับอิสราเอล
นอกจากนั้น กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่านยังระบุว่า อิสราเอลเป็นผู้บงการการลอบสังหารโมห์เซน ฟาคริซาเดห์ นักวิจัยนิวเคลียร์ชั้นนำของอิหร่าน ระหว่างเดินทางอยู่บนทางหลวงนอกกรุงเตหะรานเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยใช้ปืนที่ควบคุมด้วยระบบดาวเทียมพร้อมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
เหตุการณ์ล่าสุดยังเกิดขึ้นขณะที่เตหะรานและวอชิงตันพยายามฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศยกเลิกเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยที่ในคราวนั้นทรัมป์ยังฟื้นมาตรการแซงก์ชันมาลงโทษอิหร่านรอบใหม่อีกด้วย
ในวันจันทร์ (12) ทำเนียบขาวแถลงว่า สหรัฐฯไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไฟฟ้าดับที่สถานที่ทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน
“สหรัฐฯไม่ได้เกี่ยวข้องไม่ว่าในลักษณะใดๆ” เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวตอบเมื่อถูกผู้สื่อข่าวสอบถาม เธอบอกอีกว่า “เราไม่มีอะไรที่จะเพิ่มเติมการคาดเดาเกี่ยวกับสาเหตุหรือผลกระทบต่างๆ” จากเหตุไฟฟ้าดับดังกล่าว
ในการเจรจาหารือเกี่ยวกับการรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 ขึ้นมาใหม่ ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรก ที่กรุงเวียนนาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปรากฏว่าทั้งสหรัฐฯและอิหร่าน ยังมีท่าทีแข็งกร้าวใส่กันเกี่ยวกับวิธีฟื้นการบังคับใช้และปฏิบัติตามข้อตกลงนี้อย่างสมบูรณ์ ถึงแม้ต่างแสดงท่าทีมองการณ์ในแง่ดี
คาดหมายกันว่าจะมีการเจรจาต่ออีกที่เวียนนาในวันพุธ (14) นี้ และเมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องนี้ ซากีตอบว่า เธอคาดหมายว่าการเจรจาจะเป็นไป “อย่างยากลำบากและยาวนาน”
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)