จีน-อิหร่านเซ็นข้อตกลงการค้าช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศสองชาติระบุว่า คือการจับมือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่จะยืนยาวไป 25 ปี
แม้ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด แต่สันนิษฐานกันว่า ปักกิ่งจะสั่งซื้อน้ำมันเตหะรานโดยไม่สนใจมาตรการแซงก์ชั่นของวอชิงตัน นอกจากนั้น จีนยังจะเข้าไปลงทุนจำนวนหนึ่งในอิหร่าน ซึ่งมีความกระหายการลงทุนจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากถูกลงโทษคว่ำบาตรมายาวนาน
ความเคลื่อนไหวนี้ยังเป็นส่วนขยายล่าสุดของอภิมหาโปรเจ็กต์โครงสร้างพื้นฐานของจีน ที่เรียกกันว่าเส้นทางสายไหมใหม่ หรือชื่ออย่างเป็นทางการหน่อยก็คือ แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ต่างๆ ที่ปักกิ่งต้องการ เพื่อให้ตนเองขยายตัวอย่างต่อเนื่องในฐานะที่เป็นมหาอำนาจระดับโลก
แม้ชาวอิหร่านบางคนยังสงสัยในแรงจูงใจของจีน ตอนที่ร่างข้อตกลงความร่วมมือนี้รั่วไหลออกไปเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากโครงการเส้นทางสายไหมใหม่เอื้อประโยชน์ให้จีนมากที่สุด และสิ่งล่อตาล่อใจบางอย่างกลับสร้างความเสียหายให้ประเทศยากจนที่มีขนาดเล็กกว่าจีน
แต่สำหรับอิหร่าน ถึงแม้มีขนาดเล็กกว่าจีน ก็ยังคงถือว่าเป็นประเทศขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ขณะที่มีนโยบายการต่างประเทศแบบนักเคลื่อนไหวซึ่งมุ่งดำเนินการเพื่อตอบสนองจุดประสงค์ทางแนวคิดอุดมการณ์ของตน ดังนั้น จึงมีข้อพิจารณาที่แตกต่างออกไป
ข้อตกลงนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับอิหร่านในการเผชิญหน้ากับอเมริกา
ทั้งอิหร่านและคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต่างประกาศว่า ต้องการให้อเมริกากลับเข้าร่วมข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านที่เรียกว่า แผนปฏิบัติการร่วมฉบับสมบูรณ์ (เจซีพีโอเอ) ที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวออกไปเมื่อปี 2018 และพยายามทำลายข้อตกลงนี้โดยอ้างว่า ไม่สามารถหยุดยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเตหะราน แต่ไม่สำเร็จ
เตหะรานและวอชิงตันต่างกำลังเล่นเกมยื้อว่า ใครจะเป็นฝ่ายอดรนทนไม่ได้ก่อนและชวนรื้อฟื้นการเจรจา
ตอนนี้เมื่ออิหร่านลงนามในข้อตกลงทางยุทธศาสตร์กับจีน ซึ่งก็เป็นภาคีรายหนึ่งของเจซีพีโอเอ เตหะรานจึงไม่ได้หวังแค่ว่ามันจะช่วยเพิ่มยอดขายน้ำมันซึ่งสำคัญต่อการฟื้นเศรษฐกิจที่เสียหายหนักจากการแซงก์ชั่นเท่านั้น แต่มองว่า ข้อตกลงนี้จะทำให้ตนมีอะไรในมือมากขึ้นในการต่อรองกับอเมริกา
ขณะเดียวกัน แม้ไบเดนพยายามถอยห่างจากตะวันออกกลางเช่นเดียวกับผู้นำสหรัฐฯ 2 คนก่อนหน้า เพื่อไปปักหมุดเน้นหนักในเอเชีย-แปซิฟิกที่มีความสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ แต่ในทางปฏิบัติดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมีหลายสิ่งที่สำคัญมากต่อผลประโยชน์ของอเมริกา เช่น อิหร่านและความทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์ ถึงแม้เตหะรานพยายามปฏิเสธว่าตนไม่มีความมุ่งมาดปรารถนาในเรื่องนี้ก็ตามที
อเมริกาจึงไม่ได้เหินห่างออกไปจากตะวันออกกลาง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มุ่งมั่นเดินหน้าต่อไปเหมือนกัน การที่วอชิงตันลังเลใจที่จะพาตัวเองให้ติดอยู่ในหล่มตะวันออกกลางลึกลงไปอีกเช่นนี้ กำลังกลายเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ศัตรูคู่แข่งขันของตน
ก่อนหน้านี้ รัสเซียมองเห็นช่องว่างตรงนี้ที่จะทำให้ตนสามารถฟื้นบทบาทเดิมของสหภาพโซเวียตได้ ด้วยการเข้าไปแทรกแซงในซีเรีย
ส่วนจีนนั้นเชื่อว่า อเมริกาอยู่ในช่วงเสื่อมทรุดระยะยาวโดยจะไม่สามารถกลับมาผงาดเหมือนเดิมได้อีกแล้ว ขณะมองตัวเองเป็นมหาอำนาจที่กำลังผงาดขึ้นมาของโลกแห่งยุคศตวรรษที่ 21 และหลังจากนั้นไปอีก มหาอำนาจเช่นนั้นย่อมไม่สามารถเพิกเฉยต่อตะวันออกกลางได้
การสร้างความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ในอ่าวเปอร์เซียจึงมีความสำคัญต่อความทะเยอะทะยานระยะยาวของจีน มากกว่าแค่ผลประโยชน์สั้นๆ ที่ได้จากอิหร่าน
ไชน่า เดลี่ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของทางการจีน รายงานว่า นอกจากลงนามข้อตกลงกับอิหร่านแล้ว หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ยังประกาศแผนการ 5 ข้อเพื่อสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพในตะวันออกกลางโดยการเสนอส่งเสริมการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล ฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ และสร้างกรอบโครงความมั่นคงในภูมิภาคดังกล่าว
แผนการเหล่านั้นอาจไม่ต่างจากสิ่งที่พวกนักการทูตตะวันตกพูดจากันอยู่ เพียงแต่ว่านับจากสิ้นสุดสงครามเย็น อเมริกาก็มองตะวันออกกลางเป็นพื้นที่สงวนของตนเอง และไม่ยอมให้พันธมิตรในสหภาพยุโรปเข้าไปมีบทบาทอะไรมากไปกว่าการเซ็นเช็คค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่สหรัฐฯต้องการให้ช่วยแบกรับ
ขณะนี้ กองทัพปลดแอกประชาชนจีนสร้างฐานทัพนอกประเทศแห่งแรกขึ้นแล้วในทะเลแดงที่จิบูตี ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในหนึ่งในเส้นทางขนส่งสินค้าที่พลุกพล่านที่สุดของโลก และอยู่ห่างจากที่ตั้งกองบัญชาการทหารภาคแอฟริกาของอเมริกาเพียง 10 กิโลเมตร
หลายคนสงสัยว่า จีนอาจกำลังวางแผนทำแบบเดียวกันนี้แถวๆ ชายฝั่งของอิหร่าน อันจะทำให้ปักกิ่งมีที่มั่นทางนาวีในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งกองทัพทัพอเมริกันถือเสมือนเป็นทะเลสาบของตนเองเรื่อยมา
และแน่นอนว่า คณะบริหารของไบเดนคงไม่สบายใจนักกับสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ปักกิ่งกำลังแผ่อิทธิพลในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ไร้เสถียรภาพที่สุดของโลก
(ที่มา: บีบีซี, เอเจนซีส์)