(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
China shows it too can play rough in the Middle East
By SPENGLER (DAVID P. GOLDMAN)
27/03/2021
จีนกำลังเพิ่มบทบาทอย่างแข็งขันในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน, ตุรกี, หรือกระทั่งอิสราเอล และปาเลสไตน์ ขณะที่คณะบริหารประธานาธิบดีโจ ไบเดน กลับแสดงอาการวางโตอย่างเลอะเทอะในการเริ่มติดต่อมีปฏิสัมพันธ์ครั้งแรกสุดกับภูมิภาคนี้
อิทธิพลของอเมริกันในจุดสำคัญหลักๆ ของมหาทวีปยูเรเชียเป็นจำนวนมากทีเดียวอยู่ในภาวะที่เปราะบางอ่อนแอ และจีนก็มีศักยภาพที่จะสร้างความเจ็บปวดยากลำบากให้แก่สหรัฐฯ เพื่อเป็นการตอบโต้ความพยายามของอเมริกันที่จะสร้างกลุ่มพันธมิตรขึ้นมาปิดล้อมแดนมังกร
ถ้อยคำวาจาที่จีนใช้มีความแข็งกร้าวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในระยะไม่กี่สัปดาห์หลังๆ มานี้ แถมยังดูเหมือนพรักพร้อมที่จะหนุนหลังคำพูดโวหารเหล่านั้นด้วยการลงมือกระทำอะไรต่างๆ อย่างหนักแน่นขึงขังอีกด้วย
เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา จีนกับอิหร่านได้ร่วมลงนามอย่างเป็นทางการในข้อตกลง “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) ฉบับหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหามุ่งวางกรอบความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายทั้งในทางเศรษฐกิจ, การเมือง, และการค้า ในช่วงระยะเวลา 25 ปีจากนี้ไป ทั้งนี้ตามรายงานของสื่อทางการอิหร่าน
“เอกสารฉบับนี้สามารถที่จะยกระดับความผูกพันทวิภาคีให้ขึ้นสู่ระดับทางยุทธศาสตร์ระดับใหม่” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ซาอีด คาติบซาเดห์ (Saeed Khatibzadeh) กล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ ข้อตกลงคราวนี้ ซึ่งมีการเจรจาจัดทำกันมาตั้งแต่ปี 2016 และเกิดขึ้นขณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างเผชิญการแซงก์ชั่นจากสหรัฐฯ จะเพิ่มพูนสายสัมพันธ์ต่างๆ ของภาคเอกชน ซึ่งรวมไปถึงความสัมพันธ์ผ่านแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีนด้วย โฆษกผู้นี้กล่าว
เมื่อตอนที่มีข่าวเรื่องทั้งสองประเทศตกลงทำดีลฉบับนี้กันได้ในเดือนสิงหาคม 2020 นั้น ผมได้เขียนเอาไว้ว่า “ลู่ทางอนาคตของดีลที่จะทำกับอิหร่านนี้ คือการเดินหมากตาหนึ่งบนเกมหมากกระดานระดับโลก เพื่อเป็นการตอบโต้ความพยายามต่างๆ นานาของฝ่ายอเมริกันที่จะหน่วงรั้งไม่ให้จีนฟันฝ่าขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจทางเทคโนโลยีรายหนึ่งได้สำเร็จ” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/08/pax-sinica-in-the-middle-east-revisited/)
มีข่าวลือมาเป็นเวลานานแล้วเกี่ยวกับข้อตกลงการลงทุนฉบับสำคัญระหว่างจีนกับอิหร่าน และบางทีมันน่าจะไม่ใช่เหตุบังเอิญเลยในการที่รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน เดินทางไปกรุงเตหะรานเพื่อลงนามดีลนี้ในห้วงเวลา 1 สัปดาห์หลังจากเกิดการปะทะคารมกันอย่างเผ็ดร้อนในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีระหว่างสหรัฐฯกับจีน ณ เมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกา
จีนกำลังส่งสัญญาณที่ชัดเจนมาถึงคณะบริหารประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่า แผนการทั้งหลายของทางฝ่ายไบเดนสำหรับการรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านขึ้นมาใหม่ ตลอดจนความสามารถของสหรัฐฯในการออกแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านนั้น มันขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายจีนจะให้ความร่วมมือมากน้อยแค่ไหน
อย่างที่ผมเขียนเอาไว้ในข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (ดูได้ที่ https://asiatimes.com/2021/02/a-pax-sinica-takes-shape-in-the-middle-east/) พวกนักวิเคราะห์ชาวจีนพากันเชียร์การพบปะหารือกันในวันที่ 13 มกราคมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของปากีสถานกับรัฐมนตรีต่างประเทศของตุรกี โดยยกย่องว่าเป็นการเริ่มต้นของการทำข้อตกลงเพื่อความเข้าใจกันในระดับภูมิภาค (regional
entente)) พร้อมกับเสริมด้วยว่า “อิหร่านไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องหาทางเข้าร่วมในค่ายตุรกี-ปากีสถานนี้”
ในข้อเขียนแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อของทางการหลายๆ ชิ้น พวกนักวิเคราะห์ด้านการทหารชาวจีนได้วาดภาพคาดการณ์ว่าจะมีข้อตกลงระหว่างตุรกี-อิหร่าน-ปากีสถานภายใต้อิทธิพลผลักดันของจีน โดยที่ 3 ประเทศนี้รวมกันแล้วจะมีประชากรราวๆ 300 ล้านคน และเป็นเกือบทั้งหมดของกำลังแรงงานมีคุณภาพทางเทคนิคของโลกมุสลิม
จีนยังมีวัตถุประสงค์สำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่การบั่นทอนกำลังใจของอินเดียในการเข้าร่วมมือกับกลุ่ม “คว็อด” (Quad) ที่มีอเมริกาเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ (และมีออสเตรเลียกับญี่ปุ่นอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย) ในการปิดล้อมจีน ถ้าหากอิหร่านเห็นดีเห็นงามกับข้อตกลงเพื่อความเข้าใจกันตุรกี-ปากีสถาน ตามที่พวกนักยุทธศาสตร์ชาวจีนคาดการณ์แล้ว อินเดียก็จะตกอยู่ในภาวะถูกโดดเดี่ยว ทั้งนี้ที่ผ่านมาอินเดียพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์กับอิหร่านซึ่งเป็นมุสลิมชีอะห์ เพื่อใช้คานอำนาจกับปากีสถานที่เป็นมุสลิมสุหนี่
จีนนั้นได้เพิ่มการนำเข้าน้ำมันอิหร่านอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังไปเรียบร้อยแล้ว โดยใช้วิธีเปลี่ยนให้กลายเป็นสินค้าที่ขนส่งมาจากมาเลเซียตลอดจนจากประเทศนำเข้าอื่นๆ ทั้งนี้ตามรายงานข่าวหลายกระแส เมื่อปีที่แล้วจีนนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านหล่นลงมาอยู่ที่ใกล้ๆ เป็นศูนย์ เห็นได้ชัดว่าปักกิ่งตัดสินใจที่จะปรับปรุงสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับเตหะรานในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
เวลาเดียวกันนั้น ตุรกีก็อยู่ในสภาพต้องพึ่งพาอาศัยจีนมากขึ้น ขณะที่ค่าเงินตราของตนอ่อนลงอย่างฮวบฮาบ และประเทศกำลังขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ
ประธานาธิบดีเรเจป ตอยยิบ แอร์โดอัน ของประเทศนี้ ซึ่งอารมณ์ปรวนแปรขึ้นลงรวดเร็ว ได้ปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติไปตอนกลางเดือนมีนาคม ส่งผลให้ค่าเงินลีราตุรกีหดหายไปราวๆ 10% ทีเดียว
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม สำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่า กิจการซึ่งเกิดจากการรวมตัวของพวกแบงก์จีนเตรียมที่จะปล่อยกู้เป็นจำนวน 2,300 ล้านดอลลาร์ให้แก่ตุรกี เพื่อเดินหน้าโครงการสร้างสะพานและทางด่วนพิเศษในเมืองอิสตันบุลที่ชะงักงันอยู่ ถือเป็นสัญญาทางการเงินรายใหญ่ที่สุดเท่าที่จีนปล่อยออกไปในตุรกีเวลานี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-03-26/chinese-banks-are-said-to-back-turkey-deal-disrupted-by-pandemic)
ลู่ทางโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากจีนเช่นนี้ ปรากฏออกมาขณะที่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ตุรกีอยู่ในจังหวะเวลาที่บอบบางละเอียดอ่อนอย่างสุดๆ คณะบริหารไบเดนได้โยกย้ายสถานที่ใช้เจรจาสันติภาพกับกลุ่มตอลิบานของอัฟกานิสถาน จากกรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ มาที่อังการา เมืองหลวงของตุรกี ด้วยความหวังว่าระบอบปกครองซึ่งพวกอิสลามิสต์ครองอำนาจอยู่ของตุรกีจะให้ความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น
คณะบริหารไบเดนนั้นกำลังถูกกดดันหนักให้ถอนกำลังทหารเมริกันออกจากอัฟกานิสถาน โดยที่คณะบริหารทรัมป์ได้ให้สัญญาเอาไว้แล้วด้วยซ้ำในการทำดีลกับกลุ่มตอลิบาน
ว่าจะมีการถอนออกมาทั้งหมดภายในเดือนพฤษภาคมนี้
แดร์ ชปิเกล (Der Spiegel) เว็บไซต์ข่าวใหญ่ที่สุดของเยอรมนี รายงานว่า เบอร์ลิน ซึ่งมีกำลังทหารขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในกองทหารองค์การนาโต้ที่ประจำอยู่ที่อัฟกานิสถานเวลานี้ รู้สึกโกรธกริ้วกับความเคลื่อนไหวของอเมริกันในการย้ายที่เจรจาจากกาตาร์มายังตุรกี โดยไม่ได้แจ้งให้รับรู้กันก่อน และพวกเจ้าหน้าที่เยอรมันเพิ่งทราบเรื่องทีแรกสุดจากข่าวของสื่อมวลชน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.spiegel.de/politik/antony-blinken-bei-der-nato-ende-des-honeymoons-a-ca3ff4fe-d6ca-4faf-8aa8-a0e20d6011c5)
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การหารือกันเป็นครั้งแรกระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศ โทนี บลิงเคน ของสหรัฐฯ กับรัฐมนตรีต่างประเทศ เมฟลุต คาวูโซกลู (Mevlut Cavusoglu) ของตุรกี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ปรากฏว่าดำเนินไปอย่างย่ำแย่ ดังที่ อัมเบริน ซามาน (Amberin Zaman) รายงานเอาไว้ใน อัล-มอนิเตอร์ (Al-Monitor) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.al-monitor.com/originals/2021/03/blinkens-first-meeting-turkish-counterpart-yields-little)
ตุรกีเวลานี้ต้องการให้เลื่อนการเจรจาครั้งแรกระหว่างรัฐบาลอัฟกันกับกลุ่มตอลิบานจากเดือนเมษายนไปเป็นเดือนพฤษภาคม ซึ่งดูเหมือนว่าเพื่อเป็นการเพิ่มแรงกดดันแก่วอชิงตัน ตุรกีนั้นมีข้อเรียกร้องจำนวนหนึ่งต่อวอชิงตัน ไล่ตั้งแต่เรื่องที่ฝ่ายอเมริกันคัดค้านการที่ตุรกีซื้อระบบป้องกันทางอากาศแบบ เอส-400 จากรัสเซีย ไปจนถึงการที่สหรัฐฯฟ้องร้องกล่าวโทษธนาคารฮัลค์แบงก์ (Halkbank) ของตุรกี ด้วยข้อหาละเมิดมาตรการแซงก์ชั่นอิหร่าน
ยังมีพัฒนาการแยกต่างหากออกไปซึ่งน่าสนใจจับตามองอีกประการหนึ่ง ได้แก่การที่จีนเสนอจะจัดการประชุมขึ้นที่ปักกิ่ง โดยเชิญคณะผู้แทนจากอิสราเอลและจากปาเลสไตน์เข้าร่วม อันเป็นการยืนกรานว่าจีนจะมีบทบาทในการเจรจาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ที่ผ่านมาปักกิ่งใช้ท่าทีเก็บเนื้อเก็บตัวในประเด็นปัญหานี้ ดังนั้นข้อเสนอจะจัดการประชุมเช่นนี้ขึ้นมาจึงเป็นการชี้ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นยืนกรานที่เกิดขึ้นใหม่
การที่จีนกำลังเริ่มใช้ท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นในตะวันออกกลางเช่นนี้ โดยภาพรวมแล้วอาจจะสร้างความเสียหายให้ยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อพิจารณาถึงท่าทีวางโตอย่างเลอะเทอะของทีมไบเดน
ในการติดต่อมีปฏิสัมพันธ์ครั้งแรกสุดของคณะบริหารใหม่นี้กับอินเดีย ออกมาในรูปแบบที่มีการข่มขู่จะแซงก์ชั่นแดนภารตะ จากการที่นิวเดลีเสนอขอซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซีย การข่มขู่ดังกล่าวนี้กระทำเมื่อวันที่ 19 มีนาคม โดยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน (Lloyd Austin) ผู้กำลังเดินทางไปเยือนอินเดีย ทั้งนี้รัฐมนตรีผู้นี้เอง ที่ประธานาธิบดีไบเดนได้บอกกล่าวเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของเขาขณะพูดแนะนำต่อสาธารณชนว่า “คนที่ดูแลหน่วยงานนั่นตรงโน้น” (“the guy who runs that outfit over there,”) [1]
เวลาใกล้เคียงกัน ไบเดนยังได้ประณามประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ว่าเป็น “ฆาตกรที่ปราศจากวิญญาณ” ซึ่งเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามกันต่อหน้าสาธารณชนอย่างเลวร้ายที่สุดที่ประมุขแห่งรัฐรายหนึ่งกระทำกับอีกรายหนึ่งนอกช่วงเวลาสงคราม เวลานี้จีนกับรัสเซียกำลังร่วมมือกันทางด้านนโยบายเพื่อต่อต้านสหรัฐฯ
อย่างที่รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง ของจีน กล่าวกับทางคณะผู้เข้าเจรจาฝ่ายอเมริกันของเขาที่เมืองแองเคอเรจนั่นแหละ เมื่อสหรัฐฯพูดขึ้นมาเกี่ยวกับระเบียบระหว่างประเทศซึ่งยึดโยงอยู่กับกฎระเบียบ สิ่งที่จีนได้ยินคือการอ้างเหตุผลสร้างความชอบธรรมสำหรับการใช้อำนาจบังคับให้เป็นไปตามที่สหรัฐฯปรารถนาโดยอาศัยกำลังทหารอเมริกัน
“เราไม่เชื่อในเรื่องการรุกรานด้วยการใช้กำลังทหาร, หรือการโค่นล้มระบอบปกครองอื่นๆโดยใช้วิธีการหลายหลากนานา, หรือการเข้าสังหารหมู่ประชาชนของประเทศอื่นๆ เนื่องจากทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้รังแต่จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายและความไร้เสถียรภาพขึ้นมาในโลกนี้เท่านั้น และพิจารณาอย่างถึงที่สุดแล้ว ทั้งหมดเหล่านี้จะไม่ให้ผลดีอะไรแก่สหรัฐฯหรอก” หวัง กล่าว
จีนก็สามารถเล่นบทป่วนบทก่อกวนได้เหมือนกัน
หมายเหตุผู้แปล
[1] เรื่องที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถูกสื่อมวลชนล้อเลียนว่า พูดถึงรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ต่อสาธารณชนว่าเป็น “คนที่ดูแลหน่วยงานนั่นตรงโน้น” (“the guy who runs that outfit over there,”) เกิดขึ้นในงานแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวเพื่อแนะนำตัวนายพลหญิง 2 คน ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารของกองบัญชาการทหารหน่วยสู้รบของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม
ตามรายงานข่าวของเครือข่ายฟ็อกซ์นิวส์ ไบเดนที่เป็นประธานในงานดูเหมือนจะหลงลืมชื่อและตำแหน่งของออสติน
“และผมขอขอบคุณท่านรัฐ—ท่าน, ท่าน, เอ้อ อดีตพลเอก ผมคอยเรียกท่านว่าท่านนายพล อยู่เรื่อย แต่ ท่าน, ท่าน—คนที่ดูแลหน่วยงานนั่นตรงโน้น” ไบเดนบอก ("And I want to thank the sec — the, the, ah former general. I keep calling him general, but my, my — the guy who runs that outfit over there," Biden said.) ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.foxnews.com/politics/biden-seems-to-forget-defense-secretarys-name-calls-him-the-guy-who-runs-that-outfit