หลังจากฉากการปะทะทางคารมด้วยวาจาเชือดเฉือน และนำเอาประวัติศาสตร์มาเป็นเหตุผลในการฟาดฟันกันในประเด็น “สิทธิมนุษยชน” ระหว่างทีมต่างประเทศและความมั่นคงที่เมืองแองเคอเรจ ระหว่างทีมจีนที่นำโดยมุขมนตรีหยาง เจียฉือ และรมต.ต่างประเทศ หวัง อี้ กับทีมอเมริกาที่นำโดยแอนโทนี บลิงเคน และเจค ซัลลิแวน แล้ว
บลิงเคนเดินทางไปประชุมต่อกับพันธมิตรนาโตระดับรมต.ต่างประเทศ
ทันทีที่รมต.หวัง อี้ เดินทางกลับจีน โดยยังไม่ถึง 24 ชม. ก็มีนัดสำคัญพบกับรมต.ต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ ที่เมืองกุ้ยหลิน มณฑลกวางสี
ทั้งคู่คือจีนและรัสเซียเพิ่งโดนประกาศคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และอียูเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และได้แถลงการณ์ร่วมว่า ยอมรับไม่ได้ต่อการแทรกแซงกิจการภายในของทั้งจีนและรัสเซียจากฝ่ายตะวันตก
วารสาร The Diplomat ตั้งข้อสังเกตว่า การพบกันของรมต.ต่างประเทศจีนและรัสเซียทันที, หลังการประชุมที่แองเคอเรจ น่าจะมีการเตรียมการมาก่อนอย่างดี เพื่อสวนกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่แองเคอเรจ ซึ่งเป็นการประชุมที่เครียดและดูไม่เป็นมิตร ขนาดหลายคนที่แอบลุ้นว่า อาจมีการเริ่มปูทางสำหรับการเจรจาการค้า (ที่ได้กลายเป็นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในช่วงทรัมป์) ต้องแห้วกันไปจากความคาดหวังของคนทั้งโลก
บรรยากาศระหว่างหวัง อี้ และเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ กลับตรงข้ามกับที่แองเคอเรจคือ ชื่นมื่นอบอุ่น
เป็นวาระครบรอบ 20 ปีที่ได้ลงนาม (ระหว่างอดีตปธน.เจียง เจ๋อหมิน และปธน.ปูติน) ในสนธิสัญญา 2 มิตรประเทศเพื่อนบ้าน และความร่วมมือฉันมิตร ซึ่งได้เพิ่มพูนความสัมพันธ์แนบแน่นยิ่งขึ้นมาตลอด
หวัง อี้ อ้าแขนต้อนรับเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ กล่าวว่า การพบกันครั้งนี้นับเป็นการเดินทางมาจีนของลาฟรอฟครั้งที่ 8 และเป็นการพบกันทั้งคู่ (ในเวทีต่างๆ) ครั้งที่ 51 ตั้งแต่ลาฟรอฟได้รับตำแหน่งรมต.ต่างประเทศ...นับเป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นจริงๆ โดยทั้งคู่ได้สรุปให้อีกฝ่ายทราบถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศกับสหรัฐฯ และแสดงจุดยืนแข็งกร้าวต่อต้านความพยายามแทรกแซงกิจการภายในของทั้งรัสเซียและจีนจากสหรัฐฯ ตลอดจนบทบาทของสหรัฐฯ ในหลายปีที่ผ่านมา ที่สร้างความเสียหายต่อสันติภาพ และการพัฒนาของโลก และทั้งรัสเซียและจีนต้องการให้สหรัฐฯ หยุดการข่มขู่บีบบังคับรังแกประเทศอื่นๆ ซึ่งสหรัฐฯ เป็นฝ่ายกระทำฝ่ายเดียว... โดยขอให้เคารพต่อบทบัญญัติของสหประชาชาติด้วย
ทั้งคู่ยังหารือประเด็นนิวเคลียร์อิหร่าน โดยเห็นร่วมกันว่า สหรัฐฯ ควรกลับเข้าสู่ข้อตกลง JCPOA (Joint Comprehensive Plan of Action) อย่างไม่มีเงื่อนไขอย่างรวดเร็วที่สุด โดยจะต้องหยุดการคว่ำบาตรต่ออิหร่านที่สหรัฐฯ ทำอยู่ฝ่ายเดียว และเสนอให้จัดตั้ง “เวทีความมั่นคงแห่งภูมิภาค” (A Regional Security Dialogue Platform) เพื่อให้ประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจาเรื่องความมั่นคงของภูมิภาค
ทั้งคู่ยังแสดงความห่วงใยเรื่องอัฟกานิสถาน และพม่า โดยเฉพาะที่พม่า (หรือเมียนมา) ทั้งคู่สนับสนุนให้ทุกฝ่ายในพม่าหาทางออกทางการเมือง (Political Solution) ต่อวิกฤตที่เกิดขึ้น ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเพื่อพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และเสียเลือดเนื้อ โดยเฉพาะเพื่อป้องกันไม่ให้กองกำลังต่างชาติเข้ามาฉวยโอกาสจากวิกฤตครั้งนี้ และเพื่อให้พม่าเดินหน้าการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย
ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่หารือร่วมกันเช่น โลกร้อน, การปฏิรูปยูเอ็น, ซีเรีย เป็นต้น
ทันทีที่จบการประชุมครั้งสำคัญกับลาฟรอฟ รมต.ต่างประเทศ หวัง อี้ ก็เดินทางไปเยือน 6 ประเทศในตะวันออกกลางคือ ซาอุดีอาระเบีย, ตุรกี, อิหร่าน, ยูเออี, บาห์เรน และโอมาน ซึ่ง 5 ใน 6 ประเทศ (ยกเว้นตุรกี) มีจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อน้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ ดังนั้นหวัง อี้ ย่อมได้รับการต้อนรับอย่างชื่นมื่นแน่นอน
ความร่วมมือมีหลายด้าน ทั้งเรื่องวัคซีนที่จีนได้เริ่มมอบให้แก่หลายประเทศ (ทั้งๆ ที่การระดมฉีดวัคซีนในประเทศจีนมีจำนวนแค่ 10% ของที่จีนส่งไปมอบ หรือขายถูกๆ ให้แก่ประเทศต่างๆ) รวมทั้งรับหน้าที่เป็นคนเจรจา (Broker) เรื่องอิหร่านด้วย ตลอดจนเรื่องโลกร้อนและความร่วมมือ Belt and Road Initiative กับจีน โดยจีนพร้อมเข้ามาลงทุน...ที่สำคัญคือ การระดมเสียงสนับสนุนต่อต้านการแทรกแซงจากสหรัฐฯ และตะวันตกต่อกิจการภายในของทั้งจีน และทั้ง 6 ประเทศ (ที่ส่วนใหญ่ยังเป็นราชาธิปไตย...หรือไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย-เช่นตุรกี)
แน่นอนว่า ทั้ง 6 ประเทศนี้ เป็นประเทศมุสลิมซึ่งจีนต้องการแสดงให้ทั้งโลกเห็นว่า จีนได้รับการสนับสนุนจากเหล่าประเทศมุสลิม ที่ไม่ได้มองว่าจีนกำลังทำร้ายและทำลายชาวอุยกูร์ที่ซินเจียง อย่างที่ตะวันตกได้ลงมติคว่ำบาตรจีนในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวมุสลิมที่นั่น ถึงขนาดกล่าวหาว่า เป็นการกระทำระดับ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ทีเดียว
พ้องกับ Cui Tiankai เอกอัครราชทูตจีนประจำวอชิงตัน ดี.ซี. (ซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาของรมต.หวัง อี้) ได้ไปให้สัมภาษณ์แก่คริสติน อมันพู ของซีเอ็นเอ็น (ช่วงที่หวัง อี้ กำลังเดินทางในตะวันออกกลาง) ว่า ข้อมูลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ตะวันตกกล่าวหารัฐบาลจีนกระทำกับชาวมุสลิมอุยกูร์นั้น เป็นเรื่องเสกสรรปั้นแต่งเช่นเดียวกับข้อมูลเท็จที่กล่าวหาซัดดัม ฮุสเซน เรื่องสะสมอาวุธมหาประลัยนิวเคลียร์ เพื่ออ้างเป็นเหตุผลที่จะบุกอิรัก ทั้งๆ ที่เป็นข้อกล่าวหาที่โกหกทั้งสิ้น
และล่าสุดรมต.หวัง อี้ ได้เชิญรมต.ต่างประเทศของ 4 ประเทศในอาเซียนคือ ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ไปพบกันที่ปักกิ่งช่วง 31 มี.ค.-2 เม.ย.นี้
ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดเนื้อหาการเจรจา แต่จีนย้ำว่า เพื่อสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับอาเซียน ในโอกาสครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์จีน-อาเซียน...ที่แปลกคือ สมาชิกของอาเซียนมีอยู่ 10 ประเทศ แต่ทำไมเชิญแค่ 4 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศหัวหอกที่ได้ร่วมกันตำหนิการกระทำฆ่าหมู่ประชาชนชาวพม่าที่ประท้วงด้วยมือเปล่าต่อการทำรัฐประหารของนายพลพม่า
ถ้าเนื้อหาการพบกันที่ปักกิ่งครั้งนี้ จะเป็นเรื่องการที่จีนถมเกาะทางตะวันตกของฟิลิปปินส์ ก็น่าจะได้เชิญคู่กรณีเช่น บรูไนเข้าร่วมด้วย โดยเฉพาะบรูไนเป็นประธานอาเซียนในขณะนี้ด้วย
หรือถ้าจะเป็นเนื้อหาเรื่องบริเวณหมู่เกาะพาราเซลทางตะวันออกของเวียดนาม...จีนก็น่าจะเชิญรมต.ต่างประเทศของเวียดนามเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งครั้งนี้ไม่มีเวียดนาม
ที่สำคัญคือ ไม่มีรมต.ต่างประเทศของไทยเข้าร่วมด้วย!
อาจเป็นการเพิ่มบทบาทของจีนในฐานะประเทศที่กำลังมีบทบาทสำคัญต่อโลก(Global Power) อย่างยิ่ง ที่จะทำหน้าที่ผู้เจรจาประสานข้อพิพาทในประเทศพม่า ก็อาจเป็นได้! โดยทางตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ และอียูได้พยายามส่งเสริมให้จีนเล่นบทบาทสำคัญ เพื่อหยุดยั้งการฆ่าหมู่ประชาชนชาวพม่าขณะนี้ และเพื่อปูทางไปสู่การมีส่วนร่วมแบ่งสรรอำนาจทางการเมืองก็เป็นได้