xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: พม่าตึงเครียด! ม็อบบุกเผา ‘โรงงานจีน’ แค้นหนุนรัฐประหาร รัฐประกาศกฎอัยการศึก-ดับพุ่งกว่า 200 ศพ UN หวั่นศก.เป็นอัมพาต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานแห่งหนึ่งในเขต Hlaing Thar Yar ที่นครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา
คณะปกครองทหารพม่าสั่งบล็อกอินเทอร์เน็ต พร้อมประกาศกฎอัยการศึกในหลายเขตของนครย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ หลังจากที่ผู้ประท้วงซึ่งเชื่อว่าปักกิ่งให้การสนับสนุนรัฐประหารพากันระบายความแค้นด้วยการบุกเผาโรงงานจีนวอดไปหลายสิบแห่งเมื่อวันอาทิตย์ (14 มี.ค.) ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุจลาจลทางการเมืองพุ่งเกินกว่า 200 ศพ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากนานาชาติให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้น และมีคำเตือนจากองค์การสหประชาชาติว่าวิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อและทวีความรุนแรงอาจบ่อนทำลายเศรษฐกิจ และก่อภาวะข้าวยากหมากแพงที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวชาวพม่าที่มีฐานะยากจน

พม่าเริ่มเข้าสู่กลียุคนับตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหารปลด “อองซานซูจี” ผู้นำพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 1 ก.พ. กระตุ้นให้ประชาชนนับแสนคนในหลายเมืองทั่วประเทศออกมาประท้วงเรียกร้องให้ทหารคืนประชาธิปไตย ขณะที่ตำรวจและทหารเริ่มเปลี่ยนจากแก๊สน้ำตาและกระสุนยางมาใช้กระสุนจริงบ่อยครั้งขึ้น

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (14) กลายเป็นวันแห่งการนองเลือดที่สุดนับตั้งแต่กองทัพพม่าประกาศยึดอำนาจ โดยกลุ่มสังเกตการณ์ท้องถิ่นรายงานว่า มีประชาชนถูกสังหารในวันเดียวไม่ต่ำกว่า 70 คน ส่วนใหญ่อยู่ที่เขต Hlaing Tharyar ย่านอุตสาหกรรมในนครย่างกุ้ง ซึ่งเวลานี้มีสภาพไม่ต่างจากพื้นที่สงคราม

โรงงานสิ่งทอที่ส่วนใหญ่เป็นของนักลงทุนจีนกว่า 30 แห่งถูกเผาวอดในวันดังกล่าว ขณะที่ ฟาสต์ รีเทลลิง บริษัทแม่ของยูนิโคล (Uniqlo) เชนร้านเสื้อผ้าชื่อดังของญี่ปุ่น ยืนยันเมื่อวันอังคาร (16) ว่าโรงงาน 2 แห่งของซัพพลายเออร์ตกเป็นเหยื่อกระแสต่อต้านในพม่า และถูกเผาเช่นเดียวกับโรงงานของจีน

เหตุรุนแรงเมื่อวันอาทิตย์ทำให้กองทัพพม่าตัดสินใจประกาศใช้กฎอัยการศึกที่ Hlaing Tharyar รวมถึงเขตอื่นๆ ที่เป็นศูนย์กลางการประท้วง ส่งผลให้ประชาชนเกือบ 2 ล้านคนตกอยู่ภายใต้การควบคุมโดยเหล่าผู้บัญชาการทหาร ขณะที่กลุ่มแรงงานอพยพต่างใช้รถบรรทุกและมอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะขนข้าวของและครอบครัวหนีตายจากย่างกุ้งกลับไปยังบ้านเกิดของตน

กลุ่มสมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมือง หรือ Assistance Association for Political Prisoners ระบุในวันพุธ (17) ว่ามีผู้ประท้วงชาวพม่าถูกสังหารไปแล้วไม่ต่ำกว่า 200 คน ขณะที่องค์การสหประชาชาติแถลงประณามการเข่นฆ่าผู้ชุมนุมในพม่าเมื่อวันอังคาร (16) และยอมรับว่ามีความกังวล หลังจากได้รับข้อมูลว่ามีผู้ที่ถูกจับกุมเสียชีวิตหรือตกเป็นเหยื่อการทรมาน


ด้านโครงการอาหารโลก (WFP) ในสังกัดสหประชาชาติก็ออกมาเตือนเมื่อวันอังคาร (16) ว่า เหตุจลาจลทางการเมืองกำลังทำให้ราคาอาหารและเชื้อเพลิงในพม่าปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันปาล์มในนครย่างกุ้งและพื้นที่โดยรอบแพงขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงต้นเดือน ก.พ. ส่วนราคาข้าวสารโดยเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่มขึ้นระหว่าง 3-4% ระหว่างกลางเดือน ม.ค. จนถึงกลางเดือน ก.พ. และมีบางพื้นที่ที่ราคาปรับขึ้นแรง 20-35%

“สัญญาณเริ่มต้นเหล่านี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกลุ่มประชากรเปราะบางที่ต้องหาเช้ากินค่ำอยู่แล้วเป็นทุนเดิม” สตีเฟน แอนเดอร์สัน ผู้อำนวยการ WFP ประจำพม่า ระบุ

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์ โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของทหารมานานหลายปีก็รายงานว่า ทางการได้ควบคุมตัวเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของ Open Society Myanmar ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยได้รับความช่วยเหลือจาก จอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีและนักลงทุนชื่อดัง และขณะนี้กำลังติดตามตัวพนักงานอีก 11 คนของมูลนิธินี้ เนื่องจากต้องสงสัยว่าจัดหาเงินสนับสนุนให้ผู้ประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร

สื่อฉบับนี้ยังตีพิมพ์ภาพ ซูจี ขณะพบกับ โซรอส ที่นิวยอร์กเมื่อปี 2016 แต่ไม่ได้กล่าวหาตรงๆ ว่าสตรีเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพหรือมูลนิธิ Open Society ของ โซรอส ให้เงินสนับสนุนผู้ประท้วง

ล่าสุด คณะกรรมาธิการสังฆมหานายก (State Sangha Maha Nayaka Committee) ซึ่งเป็นองค์กรคณะสงฆ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดของพม่า ออกมาเรียกร้องเมื่อวันพุธ (17) ให้รัฐบาลทหารยุติการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม พร้อมกล่าวหา “ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ” ว่าทรมานและสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์ นับเป็นการประณามอย่างตรงไปตรงมาที่สุดของฝ่ายสงฆ์พม่า ซึ่งขู่จะระงับกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการประท้วงกองทัพด้วย

พระสงฆ์พม่านั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนานเกี่ยวกับกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมือง และยังเป็นแนวหน้าของการปฏิวัติผ้าเหลืองเมื่อปี พ.ศ. 2550 เพื่อต่อต้านการปกครองของทหาร ซึ่งแม้จะถูกรัฐปราบปราม แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็เป็นตัวกระตุ้นให้พม่าก้าวสู่เส้นทางแห่งการปฏิรูปประชาธิปไตย


‘จีน’ กับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในพม่า

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “จีน” กำลังถูกดึงให้เข้าไปพัวพันกับสถานการณ์ความวุ่นวายในพม่า หนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านที่ปักกิ่งพยายามสานสัมพันธ์แนบแน่นเพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์ของจีนในเอเชีย

ระหว่างไปเยือนพม่าเมื่อเดือน ม.ค. ปี 2020 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ยกสถานะพม่าขึ้นเป็น ‘country of shared destiny’ ซึ่งเป็นการมอบเกียรติสูงสุดในทางการทูต เป้าหมายก็เพื่อดึงพม่าให้ถอยห่างจากสหรัฐฯ และหันเข้าสู่วงล้อมของจีน ทั้งยังเสริมแรงกระตุ้นด้วยเม็ดเงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ภายใต้โครงการแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ซึ่งครอบคลุมทั้งท่อส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน รวมถึงท่าเรือในฝั่งมหาสมุทรอินเดีย

ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยพม่าซึ่งเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังการรัฐประหารเชื่อว่าจีนจงใจทำ “เอาหูไปนา-เอาตาไปไร่” ปล่อยให้พวกนายพลทหารยึดอำนาจตามอำเภอใจ และยอมแลกเสรีภาพของคนพม่ากับผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ที่จีนเองจะได้รับ

ในขณะที่ผู้ประท้วงพม่ายังคงบาดเจ็บล้มตายไม่เว้นแต่ละวัน ปักกิ่งเองก็ต้องเผชิญกับทางเลือกที่น่าหนักใจว่าจะหนุนหลังฝ่ายทหารที่มีปืนในมือ หรือจะเข้าข้างฝ่ายประชาชนซึ่งก็มีทัศนคติต่อต้านจีนมากขึ้นเรื่อยๆ

“จีนไม่ได้แคร์สักเท่าไหร่ว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้นำพม่า พวกเขาเพียงต้องการรัฐบาลที่จะปกป้องโครงการและผลประโยชน์ของจีนเท่านั้น” ริชาร์ด ฮอร์ซีย์ นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองพม่า ระบุ

“แต่จีนเองก็ไม่มั่นใจว่ากองทัพพม่าจะนำประเทศกลับสู่ความมีเสถียรภาพได้ และยิ่งจีนผูกสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารมากขึ้นเท่าไหร่ ก็เท่ากับผลักไสประชาชนชาวพม่าออกไปไกลขึ้นเท่านั้น”

บรรยากาศภายในพม่าตอนนี้นับว่าอันตรายอย่างยิ่งต่อผลประโยชน์ของจีน สื่อรัฐบาลปักกิ่งรายงานว่ามีโรงงานสิ่งทอของจีนอย่างน้อย 32 แห่งในนครย่างกุ้งถูกวางเพลิงเมื่อวันอาทิตย์ (14) สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,137 ล้านบาท)

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าปกป้องสถาบันและบุคลากรของจีน ขณะที่บริษัทห้างร้านจีนซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ชุมนุมปิดให้บริการในวันอังคาร (16) ทำให้พนักงานชาวจีนต้อง “เก็บตัวอยู่ในโรงงาน ท่ามกลางกฎอัยการศึกและสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยศัตรู”

ขณะเดียวกัน องค์กรฝ่ายประชาธิปไตยในพม่าก็ออกมาอ้างโดยไม่มีหลักฐานยืนยันว่า กองทัพพม่าเป็นฝ่าย “สร้างสถานการณ์” โจมตีโรงงานจีน เพื่อหาเหตุอันชอบธรรมในการปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย


ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตือนว่ากระแสการเคลื่อนไหวต่อต้านจีนอาจแพร่กระจายต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่จีนเข้าไปมีบทบาทสูง และทำให้ประชาชนหวั่นเกรงว่าบ้านเมืองของตนจะตกเป็นเหยื่อนโยบายการทูตแบบกับดักหนี้สิน (debt-trap diplomacy) ไม่แตกต่างจากพม่า

“การเคลื่อนไหวของมวลชนแบบฐานกว้างเพื่อต่อต้านผลประโยชน์ของจีนอาจระบาดต่อไปยังที่อื่นๆ และกระพือความรู้สึกเกลียดชังจีนในกัมพูชา, ลาว หรือประเทศอื่นๆ ก็เป็นไปได้” ดร.ฐิตินันท์ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

ก่อนหน้านี้ กระแสต่อต้านจากพลเมืองเคยทำให้จีนต้องพับโปรเจ็กต์ใหญ่ในพม่ามาแล้ว ตัวอย่างเช่น โครงการสร้างเขื่อนมยิตโซน (Myitsone) ในรัฐคะฉิ่น วงเงิน 3,600 ล้านดอลลาร์ ที่ถูกล้มเลิกไปเมื่อ 10 ปีก่อน เนื่องจากคนในพื้นที่ไม่เอาด้วย ขณะที่ความต้องการไม้หายาก, หยก และทับทิมไปป้องตลาดจีนก็มักถูกโทษว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการช่วงชิงทรัพยากรในพม่า

อย่างไรก็ดี ดร.ฐิตินันท์ มองว่า นอกจากผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจแล้ว จีนก็ยังแสวงหาความเป็นผู้นำที่ทั่วโลกยอมรับด้วย “และคงไม่สามารถนิ่งเฉยกับระบอบเผด็จการอันป่าเถื่อนซึ่งอยู่ชิดประตูบ้านของตัวเองได้”

จีนเป็นทั้งผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุด และเป็นซัพพลายเออร์อาวุธให้แก่กองทัพพม่า แต่ถึงแม้จะมีอำนาจต่อรองสูงขนาดนี้ ปักกิ่งก็ยังไม่เคยออกมาประณามการกระทำของผู้นำทหารพม่าว่าเป็นการก่อ “รัฐประหาร”

ผู้สังเกตการณ์ส่วนหนึ่งยังเชื่อว่าปักกิ่งมีสายสัมพันธ์กับกองกำลังชนกลุ่มน้อยตามแนวตะเข็บชายแดน ซึ่งจับอาวุธต่อสู้กับกองทัพพม่ามานานหลายสิบปี

รัฐบาลจีนยืนยันว่าไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะมีการทำรัฐประหารในพม่าเมื่อวันที่ 1 ก.พ. และจุดยืนที่จีนแสดงออกอย่างเป็นทางการเรื่อยมาก็คือ การเรียกร้องให้กองทัพหลีกเลี่ยงความรุนแรง และยืนยันว่าพร้อมจะสนับสนุน “ทุกฝ่าย” ในพม่า

โซ มยินต์ อ่อง นักวิเคราะห์จาก Yangon Center for Independent Research เชื่อว่าจีนสามารถรับบท “คนกลาง” ไกล่เกลี่ยให้สถานการณ์ในพม่าคลายความตึงเครียดลงได้ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม แต่สิ่งสำคัญประการแรกก็คือจีนจะต้องลดความโกรธแค้นและความรู้สึกหวาดระแวงจีนในใจชาวพม่าให้ได้เสียก่อน




กำลังโหลดความคิดเห็น