xs
xsm
sm
md
lg

ผู้แทน UN เตือนสถานการณ์พม่าใกล้นองเลือด อาเซียนหลายชาติหารือ รมว.ต่างประเทศจีน ส่วนที่ ‘ย่างกุ้ง’ ศูนย์การค้าของทหาร 2 แห่งถูกเผา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สภาพของอาคารศูนย์การค้า รูบี้ มาร์ต ในนครย่างกุ้ง เมื่อตอนเช้าวันพฤหัสบดี (1 เม.ย.) ภายหลังถูกพระเพลิงเผาผลาญในช่วงกลางดึก  ศูนย์การค้าแห่งนี้เป็นที่ทราบกันว่าอยู่ในความควบคุมของฝ่ายทหารพม่า
ผู้แทนพิเศษของยูเอ็นเร่งคณะมนตรีความมั่นคงดำเนินการเพื่อหยุดยั้งการนองเลือดที่เชื่อว่ากำลังจะเกิดขึ้น ด้านอเมริกาขอให้จีนใช้อิทธิพลจัดการผู้รับผิดชอบก่อรัฐประหารยึดอำนาจในพม่า เจอปักกิ่งตอบนิ่มๆ ว่าไม่ใช่วิธีที่ดี ขณะที่อาเซียนหลายชาติหารือรัฐมนตรีต่างประเทศแดนมังกรภายในสัปดาห์นี้

ชาวพม่าออกมาประท้วงนับตั้งแต่กองทัพล้มรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้ง พร้อมควบคุมตัวอองซาน ซูจี และสมาชิกอีกหลายคนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

รัฐบาลทหารกล่าวหาซูจีทำผิดคดีอาญาหลายข้อหา ซึ่งรวมถึงการลักลอบนำเข้าวิทยุสื่อสารและการทุจริต วันพุธ (31 มี.ค.) สื่อท้องถิ่นแห่งหนึ่งยังรายงานว่า ซูจีอาจถูกตั้งข้อหากบฏด้วย ซึ่งอาจมีโทษประหารชีวิต

ทว่า มิน มิน โซ หนึ่งในทีมทนายความยืนยันว่า ไม่มีการตั้งข้อหาใหม่กับซูจีระหว่างการไต่สวนเมื่อวันพฤหัสฯ (1)

รายงานจากสื่อและภาพที่เผยแพร่บนเครือข่ายโซเชียลฯ เผยให้เห็นประชาชนในหลายเมืองออกไปชุมนุมและจุดเทียนเมื่อคืนวันพุธ และเดินขบวนตั้งแต่เช้าตรู่วันพฤหัสฯ และมีรายงานว่า ประชาชน 2 คนได้รับบาดเจ็บจากการที่ตำรวจยิงใส่ฝูงชนในเมืองโมนยวา

ขณะเดียวกัน สมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรคเอ็นแอลดีที่ถูกปลด ประกาศแผนตั้งรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ภายในสัปดาห์แรกของเดือนนี้ รวมทั้งยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2008 ที่กองทัพร่างขึ้นเพื่อผูกขาดอำนาจควบคุมทางการเมือง และกลุ่มผู้ประท้วงได้พากันเผาสำเนารัฐธรรมนูญบนถนน

นอกจากนั้นยังมีข่าวว่า ศูนย์การค้าของกองทัพ 2 แห่งในย่างกุ้งถูกลอบวางเพลิงเมื่อคืนวันพุธ ได้แก่ รูบี้ มาร์ต (Ruby Mart) และ ศูนย์ค้าส่ง กันดามาร์ (Gandamar Wholesale Shopping Center) ทั้งสองแห่งต่างเป็นที่ทราบกันดีว่าอยู่ในความควบคุมของกองทัพ เนื่องจากธุรกิจต่างๆ ซึ่งเข้าไปถือหุ้นต่างเป็นกิจการของทหาร

การเข่นฆ่าประชาชนยังทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธหลายกลุ่มออกมาตอบโต้กองทัพพม่า สำนักข่าวดีวีบีรายงานเมื่อวันพฤหัสฯ ว่า ทหารพม่าอย่างน้อย 20 นายถูกสังหาร และรถบรรทุกทหาร 4 ลำถูกทำลายระหว่างปะทะกับกองกำลังเอกราชกะฉิ่น (เคไอเอ) หนึ่งในกลุ่มกบฏทรงอิทธิพลที่สุดในพม่า

คริสติน ชราเนอร์ เบอร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แถลงในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็นเมื่อวันพุธว่า กองทัพพม่าไม่สามารถบริหารจัดการประเทศได้ พร้อมเตือนสถานการณ์อาจเลวร้ายลง และเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีเพื่อออกมาตรการร่วมกันของนานาชาติ และป้องกันการนองเลือดที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นเร็วๆ นี้

ทว่า คณะมนตรีความมั่นคงทำได้แค่เพียงแสดงความกังวลและประณามการใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วง แต่ต้องตัดทิ้งข้อความที่ระบุถึงการรัฐประหาร รวมทั้งการขู่ดำเนินการเพิ่มเติมออก เนื่องจากถูกคัดค้านจากจีน รัสเซีย อินเดีย และเวียดนาม

ทั้งนี้ สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) ระบุว่า มีพลเรือนถูกสังหารระหว่างการประท้วงอย่างน้อย 536 คน ในจำนวนนี้รวมถึง 141 คนที่เสียชีวิตในวันเสาร์ที่ผ่านมา (27 มี.ค.) ซึ่งเป็นวันกองทัพและเป็นวันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดนับจากการยึดอำนาจ

ทางด้านอเมริกาเรียกร้องเมื่อวันพุธให้จีน ซึ่งมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและกลยุทธ์มากมายในพม่า ใช้อิทธิพลเพื่อนำตัวผู้ที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารมาลงโทษ

“แน่นอน เรายังคงเรียกร้องจีน เรียกร้องรัฐบาลในปักกิ่ง ใช้อิทธิพลของพวกเขาจัดการกับพวกซึ่งต้องรับผิดชอบสำหรับการทำรัฐประหารครั้งนี้” เนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวระหว่างแถลงข่าวประจำวันในวันพุธ “สิ่งที่คณะรัฐประหารทำในพม่า ไม่เป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ ไม่เป็นประโยชน์กับหุ้นส่วนและพันธมิตรของเรา และไม่เป็นประโยชน์กับปักกิ่งเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนั้น จีนบอกว่าพวกเขาก็ต้องการเห็นการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในประเทศพม่าที่เวลานี้ปกครองโดยทหาร แต่ยืนยันระหว่างประชุมวาระพิเศษของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ปฏิเสธไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรการคว่ำบาตร

“จีนหวังว่าพม่าจะคืนสู่สันติภาพ เสถียรภาพ และระบอบรัฐธรรมนูญ อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และสานต่อความก้าวหน้าในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างมั่นคง” จาง จีว์น เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำยูเอ็นของจีนกล่าวในที่ประชุมลับของคณะมนตรีความมั่นคง ทั้งนี้ตามข้อความในคำแถลงที่ถูกนำมาเปิดเผย

“การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในพม่า คือผลประโยชน์ร่วมของประชาคมนานาชาติ หากพม่าดำดิ่งสู่ความยุ่งเหยิงยืดเยื้อ มันจะเป็นหายนะสำหรับพม่าและเป็นหายนะของทั้งภูมิภาค”

“แรงกดดันฝ่ายเดียวและเสียงเรียกร้องให้คว่ำบาตร หรือใช้มาตรการบีบบังคับอื่นๆ รังแต่จะซ้ำเติมความตึงเครียดและการเผชิญหน้า ขณะเดียวกันมันยังจะก่อความซับซ้อนแก่สถานการณ์เพิ่มเติม ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่สร้างสรรค์” เอกอัครราชทูตจีนบอก

จาง ยังแสดงความชื่นชมต่อความพยายามของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทั้งนี้จีนสนับสนุนความคิดของกลุ่มในการจัดประชุมซัมมิตพิเศษ และความพยายามของกลุ่มที่กำลังดำเนินการไกล่เกลี่ยประนีประนอมในแบบของอาเซียน และมีบทบาทในทางบวกในการคลี่คลายสถานการณ์ในพม่า

ทางด้าน หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศแดนมังกร ก็กล่าวระหว่างการหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ วิเวียน บาลากริชนัน ที่มณฑลฝู่เจี้ยนของจีนเมื่อวันพุธว่า ปักกิ่งยินดีและสนับสนุนหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกันของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) แม้ช่วงหลายสัปดาห์นี้มีสัญญาณว่า สมาชิกหลายชาติเริ่มละเลยหลักการนี้มากขึ้นก็ตาม

นอกเหนือจากสิงคโปร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของชาติอาเซียนอีก 3 ราย ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ก็มีกำหนดหารือกับหวัง ที่ฝู่เจี้ยนในสัปดาห์นี้ ในลักษณะพบปะพูดคุยกันทีละรายเช่นกัน ทั้งนี้หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวหลายแหล่งระบุว่า รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ฮิชัมมุดดีน ฮุสเซน จะพบกับ หวัง ในวันพฤหัสบดี ส่วน เรตโน มาร์ซูดี ของอินโดนีเซีย มีคิวในตอนเช้าวันศุกร์ สำหรับ เท็ดดี้ ล็อกซิน ของฟิลิปปินส์ เป็นตอนบ่ายวันศุกร์

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี, เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์, เอเจนซีส์)

อาคารศูนย์การค้า รูบี้ มาร์ต ในนครย่างกุ้ง ขณะเกิดไฟไหม้ตอนกลางดึกคืนวันพุธ (31 มี.ค.)  ทั้งนี้สามารถมองเห็นมหาเจดีย์ชเวดากองซึ่งเปิดไฟสว่างอยู่ด้านหลังไกลออกไป

ควันโขมงลอยออกมาจากอาคารศูนย์ค้าส่งกันดามาร์ ในเมืองย่างกุ้ง ขณะถูกพระเพลิงเผาผลาญ เมื่อคืนวันพุธ (31 มี.ค.) กิจการแห่งนี้ก็เป็นที่ทราบกันว่ามีธุรกิจต่างๆ ของทหารเข้าไปถือหุ้น (ภาพนิ่งถ่ายจากคลิปวิดีโอเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ได้มา)

สำเนารัฐธรรมนูญปี 2008 ของพม่าซึ่งร่างขึ้นโดยฝ่ายทหาร ถูกผู้ประท้วงนำมาเผา ที่เขตโอกกาลาปาใต้ ในเมืองย่างกุ้ง วันพฤหัสบดี (1 เม.ย.)

ผู้ประท้วงยังคงออกมาต่อต้านการยึดอำนาจของฝ่ายทหารพม่า แม้ถูกปราบปรามอย่างเหี้ยมโหด ภาพนี้เอเอฟพีระบุว่าได้รับจากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม บอกว่าเป็นภาพซึ่งถ่ายที่เมืองมัณฑะเลย์ วันพฤหัสบดี (1 เม.ย.)


กำลังโหลดความคิดเห็น