พวกนักเคลื่อนไหวฝักใฝ่ประชาธิปไตยของพม่า มีแผนคืนสู่การชุมนุมบนท้องถนนในวันพฤหัสบดี (25 มี.ค.) หนึ่งวันหลังจากชักชวนประชาชน “สไตรก์เงียบ” งดค้าขาย ไม่ทำงาน และไม่ออกจากบ้าน 1 วัน ในการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร
ในสัญญาณนานาชาติเตรียมยกระดับกดดันตอบโต้การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ สหรัฐฯ มีแผนกำหนดมาตรการคว่ำบาตรกลุ่มบริษัท 2 แห่งที่ควบคุมของกองทัพพม่า ตามรายงานของรอยเตอร์ที่อ้างแหล่งข่าวใกล้ชิด
เมื่อวันพุธ (24 มี.ค.) พวกผู้ประท้วงเปลี่ยนยุทธศาสตร์การชุมนุม ชักชวนประชาชน “สไตรก์เงียบ” งดค้าขาย ไม่ทำงาน และไม่ออกจากบ้าน 1 วัน ส่งผลให้ศูนย์กลางทางการค้าต่างๆ ที่ปกติแล้วจะพลุกพล่านอย่างมาก เช่น ในเมืองย่างกุ้ง ทางภาคใต้ของประเทศ และในเมืองโมนยวา ทางภาคกลาง กลายสภาพเป็นดินแดนแห่งความอ้างว้าง
หลังจากขนาดของการประท้วงบนท้องถนนดูอ่อนแรงลงไปในช่วงหลายวันที่ผ่านมา บรรดานักเคลื่อนไหวประกาศนัดชุมนุมใหญ่ในวันพฤหัสบดี (25 มี.ค.) “พายุรุนแรงที่สุดมักเกิดขึ้นหลังความเงียบสงบ” เอีย ทินซาร์ หม่อง แกนนำการชุมนุมโพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์
ภาพถ่ายที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ พบเห็นมีการจุดเทียนทั่วพม่าอีกครั้งเมื่อคืนที่ผ่านมา และการประท้วงกลุ่มเล็กๆ ได้เริ่มขึ้นไปบ้างแล้วในตอนเช้าวันพฤหัสบดี (25 มี.ค.) โดยในเมืองตันลยิน ชานเมืองย่างกุ้ง พวกผู้ประท้วงชูป้ายข้อความว่า “เราไม่ยอมรับรัฐประหาร” ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์สวมชุดกาวน์เดินขบวนกันในช่วงรุ่งสางที่เมืองมัณฑะเลย์
สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองบอกว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 286 ราย จากการที่กองกำลังด้านความมั่นคงใช้กำลังถึงตายปราบปรามความไม่สงบ ส่วนทางโฆษกของกองทัพ ระบุในวันอังคาร (23 มี.ค.) มีผู้ประท้วงเสียชีวิต 164 คน
สำนักข่าวเมียนมาร์ นาว รายงานว่ามีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเสียชีวิตอย่างน่าสลดในในมัณฑะเลย์ โดยทหารตั้งใจยิงพ่อของเด็ก 7 ขวบรายนี้ แต่กระสุนถูกเด็กที่กำลังนั่งอยู่บนตักของพ่อภายในบ้านของตัวเองเมื่อวันอังคาร (23 มี.ค.) และในวันพุธ (24 มี.ค.) ได้มีการประกอบพิธีศพหนูน้อยคนดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
คณะรัฐประหารในวันพุธ (24 มี.ค.) ได้ปล่อยตัวประชาชนหลายร้อยคนที่ถูกจับกุมระหว่างปฏิบัติการปราบปรามการประท้วงต่อต้านรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางอองซานซูจี
เจ้าหน้าที่ไม่เปิดเผยว่า มีประชาชนมากน้อยแค่ไหนที่ได้รับการปล่อยตัวออกมา แต่ทางสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองระบุว่าจากมากกว่า 2,900 คนที่ถูกจับกัมตั้งแต่รัฐประหาร มีคนได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว 628 ราย
คณะรัฐประหารต้องเผชิญเสียงประณามจากนานาชาติต่อการเข้ายึดอำนาจที่ชะลอกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของพม่า และต่อเหตุปราบปรามนองเลือดผู้เห็นต่าง
พวกเขาพยายามอ้างความชอบธรรมของการเข้ายึดอำนาจ โดยบอกว่าศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางซูจี ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย มีการโกงอย่างกว้างขวาง ข้อกล่าวหาที่ทางคณะกรรมการเลือกตั้งปฏิเสธ ทั้งนี้ พวกผู้นำกองทัพสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ไม่ได้กำหนดเวลาที่แน่ชัดและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมในวันจันทร์ (22 มี.ค.) เล่นงานบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารและการปราบปรามผู้ประท้วง ขณะที่เพื่อนบ้านของพม่าบางประเทศก็ได้ออกมาพูดถึงสถานการณ์ความรุนแรงเช่นกัน
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวเปิดเผยว่าทางกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เตรียมมีความเคลื่อนไหวขึ้นบัญชีดำ 2 กลุ่มบริษัทที่ควบคุมโดยกองทัพพม่า ประกอบด้วยเมียนมาร์ อีโคโนมิก คอร์ปอเรชัน (MEC) และเมียนมาร์ ฮีโคโนมิก โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด (MEHL) และการอายุดทรัพย์สินใดๆ ของพวกเขาในสหรัฐฯ อาจเกิดขึ้นเร็วที่สุดในวันพฤหัสบดี (25 มี.ค.)
(ที่มา : รอยเตอร์)