กองทัพพม่ากล่าวหาผู้ประท้วงลอบวางเพลิงและก่อความรุนแรง พร้อมโจมตีสื่อปล่อย “ข่าวปลอม” และปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ พร้อมยืนยัน มิน อ่อง หล่าย ยังต้องการเป็นมิตรกับนานาชาติต่อไป ด้านอียูและอเมริกาพร้อมใจประกาศมาตรการแซงก์ชั่นผู้เกี่ยวข้องในการรัฐประหารและการปราบปรามผู้ประท้วงด้วยความรุนแรง
วันอังคาร (23 มี.ค.) พลจัตวา ซอ มิน ตุน โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐ ของคณะปกครองทหารพม่า แถลงว่า มีผู้ประท้วงเสียชีวิตทั้งสิ้น 164 คน พร้อมกับบอกว่าขอแสดงความเสียใจกับความสูญเสียเหล่านั้น ขณะที่สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) ระบุว่า กองกำลังความมั่นคงได้สังหารผู้ประท้วงไปอย่างน้อย 261 คนนับจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
ผู้เห็นเหตุการณ์และสื่อระบุว่า ในวันจันทร์ (22) มีผู้เสียชีวิต 3 คนในเมืองมัณฑะเลย์ ในจำนวนนี้เป็นเด็กชายวัยรุ่นอายุ 15 ปีคนหนึ่ง
ตามรายงานของสื่อ เมียนมาร์ นาว พี่สาวของตุน ตุน อ่อง เด็กวัยรุ่นผู้นี้เล่าว่า พวกเธออาศัยอยู่ที่ย่านสลัมในเขต เมีย ยี นานดาร์ น้องชายของเธอถูกกระสุนที่พวกตำรวจทหารเปิดฉากยิงเข้ามาขณะเขากำลังนั่งอยู่ในบ้านติดกับหน้าต่าง ทั้งนี้บ้านของพวกเธอเป็นกระท่อมซึ่งไม่แข็งแรงพอที่จะทานกระสุนได้
โฆษก ซอ มิน ตุนกล่าวหาผู้ประท้วงก่อความรุนแรงและลอบวางเพลิง และสำทับว่ามีสมาชิกกองกำลังความมั่นคงเสียชีวิต 9 นาย อีกทั้งกล่าวหาสื่อปล่อย “ข่าวปลอม” และปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ พร้อมขู่ดำเนินคดีผู้สื่อข่าวที่ติดต่อกับสมาชิกรัฐบาลของอองซานซูจี ซึ่งกองทัพประกาศว่า เป็นองค์กรผิดกฎหมาย
โฆษกผู้นี้ยังเล่าละเอียดยิบเกี่ยวกับวิธีการที่ฝ่ายทหารอ้างว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจีโกงเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยบอกว่ามีทั้งการทำบัตรเลือกตั้งปลอมหลายร้อยหรือกระทั่งหลายพันใบ รวมถึงในเขตเลือกตั้งของซูจีเอง พร้อมกับเปิดวิดีโอคำสารภาพของผู้ที่บอกว่าเคยได้รับเงินจากผู้แทนของเอ็นแอลดี
ในการแถลงข่าวนี้ยังมีการเปิดวิดีโอที่ พิว มิ้น เต็ง อดีตมุขมนตรีนครย่างกุ้ง สารภาพว่า เคยเข้าพบซูจีหลายครั้งและมอบเงินให้ “ทุกเมื่อที่ต้องการ”
ขณะนี้ ซูจี ยังถูกทหารควบคุมตัว และถูกตั้งข้อกล่าวหาหลายกระทง
ซอ มิน ตุนสำทับว่า รัฐบาลยังไม่มีแผนยกเลิกการจำกัดการใช้อินเทอร์เน็ตในขณะนี้ เนื่องจากเป็นช่องทางที่ผู้ประท้วงใช้เพื่อปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรง
สุดท้าย โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐของคณะปกครองทหารระบุว่า พม่ากำลังร่วมมือกับเพื่อนบ้าน 5 ประเทศที่มีพรมแดนติดกับพม่า ซึ่งได้แก่ บังกลาเทศ จีน อินเดีย ลาว และไทย และตระหนักถึงคุณค่าและเคารพคำพูดของประเทศเหล่านั้น รวมถึงประเทศที่เคารพเสถียรภาพของพม่า พร้อมย้ำว่า จีนเป็นมิตรของพม่า แต่ไม่ได้ระบุถึงเพื่อนบ้านอื่นๆ รวมถึงขอบเขตความร่วมมือ แต่ทิ้งท้ายว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและหัวหน้ารัฐบาลทหาร ยังต้องการเป็นมิตรกับนานาชาติต่อไป
ในอีกด้านหนึ่ง ชาวพม่าขณะนี้ได้เปลี่ยนวิธีประท้วงต่อต้านการรัฐประหารเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นเป้าโจมตีของกองกำลังความมั่นคง โดยเปลี่ยนไปใช้สิ่งของสัญลักษณ์แทน เช่น การปล่อยลูกโป่งสวรรค์ที่มีข้อความเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ และการนำรถของเล่นหรือตุ๊กตาไปวางบนถนนแทนการชุมนุมของผู้ประท้วง
เมื่อวันจันทร์ (22) สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ต่างออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อแซงก์ชั่นผู้มีส่วนร่วมในการรัฐประหารและการปราบปรามผู้ประท้วงด้วยความรุนแรง
มาตรการลงโทษของอียูถือเป็นการตอบโต้ที่ชัดเจนที่สุดนับจากที่รัฐบาลพลเรือนของซูจีถูกโค่นล้มเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีผู้ถูกแบน 11 คน รวมถึงมิน อ่อง หล่าย
ก่อนหน้านี้บรัสเซลส์คว่ำบาตรการส่งอาวุธให้พม่าอยู่แล้ว รวมถึงการแบนนายทหารอาวุโสบางคนนับจากปี 2018 สืบเนื่องจากกรณีการปราบปรามชาวโรฮิงญา
ไฮโก มาส รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี กล่าวก่อนการประชุมของอียูว่า การกวาดล้างผู้ประท้วงของกองทัพพม่าถึงระดับที่รับไม่ได้อีกต่อไป
นักการทูตหลายคนในอียูยังคาดว่า บรัสเซลส์จะออกมาตรการที่เข้มข้นขึ้นกับธุรกิจของกองทัพพม่าในเร็วๆ นี้
ด้านวอชิงตันที่แซงก์ชันมิน อ่อง หล่าย และลูกๆ ของเขาอยู่แล้ว ประกาศเพิ่มรายชื่อผู้ถูกลงโทษเพิ่มเติมเมื่อวันจันทร์ ซึ่งรวมถึง ตาน หล่าย ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจหลังรัฐประหาร และ พลโท อ่อง โช ผู้บัญชาการทหารปฏิบัติการพิเศษรับผิดชอบปราบปรามการชุมนุม ซึ่งก็รวมไปถึงกองพลทหารราบเบาที่ 77 และกองพลทหารราบเบาที่ 33 ที่ถูกส่งไปปราบปรามผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารในย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ด้วยอาวุธหนัก
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)