ชาวพม่าชวนกันบีบแตรรถในวันจันทร์ (22 มี.ค.) เป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 1 เดือน การประท้วงใหญ่ต่อต้านการยึดอำนาจ ขณะที่เพื่อนบ้านอาเซียนพยายามผลักดันมาตรการทางการทูตเพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์อีกครั้ง ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ระบุจำนวนผู้ประท้วงที่ถูกกองทัพพม่าเข่นฆ่าถึงระดับที่ยอมรับไม่ได้ และอียูเตรียมประกาศแซงก์ชัน 11 คน ที่เกี่ยวข้องในการยึดอำนาจเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์
ผู้คนในย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าที่เป็นเมืองใหญ่ที่สุดในพม่า ออกมาชุมนุมประท้วงกันในย่านธุรกิจตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่วันจันทร์ (22) เช่นเดียวกับฝูงชนนับร้อยคนในมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ซึ่งในนี้ประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก
พม่าเผชิญวิกฤตนับจากที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซาน ซูจี ถูกทหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยที่เริ่มมีการชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่ตามเมืองต่างๆ ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ และนับจากนั้นมีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามของคณะปกครองทหารอย่างน้อย 250 คนแล้ว
ทั้งนี้ เฉพาะวันอาทิตย์ (21) ที่ผ่านมาวันเดียว มีผู้เสียชีวิต 8 คน ขณะที่จำนวนผู้ที่ถูกจับกุมทั้งหมดมีกว่า 2,600 คน ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี)
เพื่อรับมือกับการปราบปรามด้วยความรุนแรงเหี้ยมโหดของกองทัพ พวกผู้ประท้วงได้ค้นคิดวิธีใหม่ๆ เพื่อแสดงการคัดค้านการปกครองของทหาร เช่น ในย่านธุรกิจใจกลางเมืองย่างกุ้ง ผู้ขับขี่ยวดยานพากันบีบแตรตามที่มีการนัดหมายผ่านโซเชียลมีเดีย เนื่องในวาระครบ 1 เดือน การประท้วงใหญ่ที่สุดนับจากการรัฐประหาร
ส่วนที่เมืองมี่นดะ ในรัฐชินทางภาคตะวันตกของประเทศ ผู้ประท้วงพากันติดป้ายจำนวนมากที่จัตุรัสหน้าตลาดใหญ่ มีข้อความว่า “เผด็จการทหารจงพินาศ”
คณะปกครองทหารอ้างว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจีชนะถล่มทลาย มีการโกงกันอย่างมโหฬาร และให้สัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ไม่ได้ระบุกรอบเวลา
ชาติตะวันตกต่างพากันประณามการยึดอำนาจและการใช้ความรุนแรง ขณะที่พวกเพื่อนบ้านในเอเชียที่พยายามหลีกเลี่ยงการวิจารณ์และแทรกแซงกิจการภายในของกันและกันมาโดยตลอด เริ่มมีการออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่ามากขึ้นเรื่อยๆ
หลายชาติสมาชิกของสมาคมอาเซียน พยายามผลักดันมาตรการทางการทูตอีกครั้ง โดยในวันจันทร์ วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ เดินทางเยือนบรูไน ซึ่งเป็นประธานอาเซียนวาระปัจจุบัน ก่อนเดินทางต่อไปยังมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ขณะเดียวกัน มาเลเซียและอินโดนีเซียพยายามจัดประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอาเซียนเป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อหาทางคลี่คลายวิกฤตในพม่า ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติสมาชิก หลังจากการประชุมรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ที่ผ่านมา ไม่ประสบความคืบหน้าใดๆ
เฮง สวี เกียต รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวในระหว่างการประชุมนักลงทุนเมื่อวันจันทร์ ว่า การปราบปรามพลเรือนในพม่าดำเนินไปอย่างน่าตกใจมาก และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันหาทางแก้ปัญหาอย่างสันติในระยะยาว รวมทั้งกลับคืนเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปเป็นประชาธิปไตย
ก่อนหน้านี้ สิงคโปร์ ซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นทางเศรษฐกิจกับพม่า วิจารณ์การกระทำของกองทัพพม่า ว่า เป็นความอัปยศของประเทศ
ในอีกด้านหนึ่ง ไฮโก มาส รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า จำนวนผู้คนที่ถูกกองทัพพม่าสังหารสูงจนถึงระดับที่ไม่อาจยอมรับได้ และทำให้สหภาพยุโรป จำเป็นต้องประกาศมาตรการแซงก์ชัน ซึ่งจะพุ่งเป้าที่ผู้อยู่เบื้องหลังการใช้ความรุนแรงกับประชาชนเท่านั้น
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของโจเซฟ บอร์เรลล์ กรรมาธิการด้านนโยบายต่างประเทศของอียู บรัสเซลส์จะประกาศแซงก์ชันบุคคล 11 คน ที่มีส่วนร่วมในการรัฐประหารพม่าในวันจันทร์
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)