xs
xsm
sm
md
lg

‘ม็อบหนุนทหาร’ งัดมีดไม้ทำร้ายผู้ประท้วง เฟซบุ๊ก-ไอจีแบนบัญชี ‘กองทัพพม่า’ มีผลทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พวกผู้สนับสนุนฝ่ายทหาร รวมทั้งคนหนึ่ง (ซ้าย) ซึ่งถือมีดอยู่ในมือ ยืนค้ำชาวบ้านคนหนึ่ง (คนที่ล้มลงกับพื้น กลางภาพ) ภายหลังเข้าทุบตีเขา  ในเหตุการณ์ม็อบกลุ่มหนุนทหารออกมาทำร้ายพวกผู้ประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจ ในเมืองย่างกุ้ง วันพฤหัสบดี (25 ก.พ.)
ม็อบสนับสนุนกองทัพพม่าพร้อมมีด ไม้กระบอง หนังสติ๊ก และก้อนหิน เข้าทำร้ายกลุ่มต่อต้านการรัฐประหารในเมืองย่างกุ้งวันพฤหัสบดี (25 ก.พ.) ขณะที่สื่อรายงานว่ารัฐบาลญี่ปุ่นกำลังเตรียมตัดความช่วยเหลือพม่า ด้านเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมประกาศแบนบัญชีรัฐบาลทหารและธุรกิจของกองทัพหม่อง โดยมีผลทันที

พม่าเผชิญสถานการณ์วุ่นวายยุ่งเหยิง นับจากที่กองทัพทำรัฐประหารเข้ายึดอำนาจและควบคุมตัวอองซานซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือน ตลอดจนสมาชิกคนสำคัญของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของเธอเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ที่ผ่านมา โดยกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ที่ NLD มีชัยชนะอย่างมโหฬาร

ตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวพม่าตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ลงท้องถนนชุมนุมประท้วงไม่เว้นแต่ละวัน นอกจากนั้นยังมี “ขบวนการอารยะขัดขืน” นัดหยุดงานทั้งในภาคเอกชนและราชการ โดยที่วันพฤหัสฯ (25) พวกนักศึกษาและแพทย์นัดแสดงพลังอีกครั้งในย่านธุรกิจของย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าและเมืองใหญ่ที่สุดของพม่า

ทว่า ขณะที่กลุ่มต่อต้านยังมารวมตัวกันไม่มากนัก ได้มีฝ่ายสนับสนุนกองทัพราว 1,000 คนชุมนุมกันกลางเมืองย่างกุ้ง บางคนข่มขู่ช่างภาพและนักข่าว และเกิดการตะลุมบอนที่บานปลายเป็นความรุนแรงในหลายจุด

ผู้เห็นเหตุการณ์ถ่ายภาพผู้สนับสนุนกองทัพบางคนมีไม้กระบองและมีด บางคนขว้างก้อนหินและยิงหนังสติ๊กใส่กลุ่มต่อต้านรัฐประหาร และมีหลายคนถูกกลุ่มชายฉกรรจ์รุมทำร้าย นอกจากนั้นยังมีคลิปม็อบหนุนทหารใช้มีดแทงชายคนหนึ่งหน้าโรงแรมกลางเมือง

ก่อนหน้านี้ ตำรวจได้ปิดกั้นประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยหลักของย่างกุ้งเพื่อไม่ให้นักศึกษาที่อยู่ในมหาวิทยาลัยออกไปร่วมประท้วง

ไม่เฉพาะที่ย่างกุ้ง ในรัฐชาน ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของพม่า ได้มีกลุ่มสนับสนุนทหารปรากฏตัวในหลายพื้นที่ เป็นต้นว่า ในวันพุธ (24) มีผู้คนราว 350 คนออกมาเดินขบวนชูภาพ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่เมืองขาก จังหวัดเชียงตุง ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของรัฐ และในวันพฤหัสบดี มีผู้สนับสนุนกองทัพประมาณ 200 คนเดินขบวนที่เมืองตองจี ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐ การเดินขบวนเหล่านี้ดำเนินไปโดยไม่มีเหตุรุนแรง

สำหรับนานาชาตินั้น เวลานี้คอยจับตาสถานการณ์ในพม่าด้วยความกังวล สัปดาห์นี้พวกประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) นำโดยอินโดนีเซีย มีความเคลื่อนไหวพยายามหาทางยุติวิกฤตการณ์นี้

เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวภายหลังหารือกับวันนะ หม่อง ละวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่า และรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ของไทย ที่กรุงเทพฯเมื่อวันพุธ (24) ว่า ตนเองได้พูดคุยอย่างจริงจังกับทั้งกองทัพพม่าและตัวแทนรัฐบาลพลเรือนที่ถูกโค่นล้ม โดยมีเป้าหมายสำคัญอันดับแรกคือความผาสุกของประชาชนชาวพม่า รวมทั้งขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้นและงดใช้ความรุนแรง

เร็ตโนไม่ได้เอ่ยถึงประเด็นเรื่องการเลือกตั้ง แต่กล่าวว่า อินโดนีเซียขอเน้นย้ำถึง “ความสำคัญของกระบวนการเปลี่ยนผ่านแบบประชาธิปไตยที่ต้อนรับฝ่ายต่างๆ ให้เข้ามีส่วนร่วม”

“เราจำเป็นต้องมีเงื่อนไขที่จะมีส่วนช่วย ... ในรูปแบบของการสนทนากัน, การปรองดอง, และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ” เธอบอก พร้อมกับย้ำว่า “อินโดนีเซียจะอยู่กับประชาชนชาวพม่า”

อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงของอินโดนีเซีย โดยมีน้ำเสียงเหมือนกับหนุนพวกยึดอำนาจที่ให้สัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเวลาต่อมา แต่ยังไม่กำหนดเวลาแน่นอนชัดเจน กำลังทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารในพม่าบางกลุ่มมองว่า เป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่คณะทหาร และยอมรับการล้มล้างผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน

ดังเห็นได้จากปฏิกิริยาของพวกผู้ประท้วงซึ่งไปชุมนุมกันที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตของอินโดนีเซีย และของไทย ในเมืองย่างกุ้ง เมื่อวันพุธ (24) ที่ยืนยันไม่ยอมรับเผด็จการทหาร และเรียกร้องให้เคารพเสียงโหวตของพวกเขา

ในอีกด้านหนึ่ง นานาชาติโดยเฉพาะฝ่ายตะวันตก ซึ่งออกมาประณามการทำรัฐประหารคราวนี้ รวมทั้งประกาศมาตรการในการแซงก์ชั่นฝ่ายทหารพม่าไปบ้างแล้วนั้น มีรายงานว่าหลายประเทศเตรียมที่จะออกมาตรการเพิ่มเติม

หนังสือพิมพ์อาซาฮี ชิมบุงและสำนักข่าวเกียวโดรายงานวันพฤหัสฯ โดยอ้างแหล่งข่าวหลายคนในรัฐบาลญี่ปุ่นว่า รัฐบาลใกล้บรรลุแผนการระงับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาใหม่ๆ ที่ให้พม่า โดยพยายามไม่เรียกการดำเนินการนี้ว่า เป็นการแซงก์ชั่น และจะพยายามโน้มน้าวให้รัฐบาลทหารพม่าหาทางออกด้วยการเจรจา

ด้าน คัตสึโนบุ คาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น แม้ปฏิเสธว่ารายงานดังกล่าวไม่เป็นความจริง แต่ก็สำทับว่า เป็นไปได้ที่รัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงนโยบายความช่วยเหลือที่ให้แก่พม่า

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นผู้บริจาครายสำคัญให้แก่พม่า ขณะที่พวกบริษัทใหญ่ที่สุดหลายแห่งของญี่ปุ่นขยายธุรกิจอย่างกว้างขวางในพม่าในช่วงหลายปีมานี้ เนื่องจากมองว่าเป็นตลาดสำคัญ รวมทั้งโตเกียว ตลอดจนชาติตะวันตกอื่นๆ ก็ส่งเสริม เพื่อป้องกันไม่ให้พม่าใกล้ชิดกับจีนมากเกินไป

ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก สื่อสังคมยักษ์ใหญ่ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันกว้างขวางในพม่า ประกาศแบนบัญชีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่าบนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม โดยมีผลทันที ด้วยเหตุผลว่าเป็นเพราะรัฐบาลทหารพม่าใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วง

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)

ผู้สนับสนุนฝ่ายทหารคนหนึ่ง ชูของมีคมทำท่าขู่จะแทง ขณะเผชิญหน้าพวกผู้ประท้วง  ในเหตุการณ์ม็อบกลุ่มหนุนทหารออกมาทำร้ายพวกผู้ประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจ ในเมืองย่างกุ้ง วันพฤหัสบดี (25 ก.พ.)



พวกผู้สนับสนุนฝ่ายทหาร ขว้างท่อนไม้และแผ่นกระเบื้องเข้าใส่ผู้ประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจ
กำลังโหลดความคิดเห็น