รอยเตอร์ - ในพื้นที่ป่าแห่งหนึ่งในรัฐมอญ ทางตะวันตกของพม่า ต้นไม้หลายต้นถูกประดับตกแต่งด้วยถุงยางอนามัยและรูปภาพของผู้นำรัฐบาลทหาร พร้อมป้ายที่เขียนว่า “พ่อมินอ่องหล่ายควรใช้ถุงยาง”
ในเมืองเมาะลำใย ตุ๊กตาของเล่นถือป้ายสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาลทหารถูกนำมาวางเรียงเป็นแถวบนถนนสายหนึ่งคล้ายกับการชุมนุมประท้วง
ส่วนที่อื่นๆ มีการปล่อยลูกโป่งพร้อมข้อความเรียกร้องความช่วยเหลือจากนานาชาติ ขณะที่ผู้ชุมนุมบนท้องถนนถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ของเล่นหรือตุ๊กตาโดยมีป้ายกระดาษแข็งหรือหุ่นจำลองสวมเสื้อผ้าเป็นผู้นำการชุมนุม
ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งใช้เครื่องครัวแทนที่ฝูงชน ทั้งหม้อ กระทะ จานชาม โดยที่เครื่องครัวแต่ละชิ้นมีข้อความวางอยู่ เช่น “อธิษฐานให้ประชาธิปไตยของพม่า” และ “ปล่อยตัวผู้นำของเรา” เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการต่อต้านของประชาชนในพม่า เพื่อหลีกเลี่ยงการกลายเป็นเหยื่อรายต่อไปของการปราบปรามอย่างไม่ลดละของกองกำลังความมั่นคง ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและจับกุมผู้ชุมนุมประท้วงเป็นประจำทุกวัน
นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 250 คน ตามการระบุของนักเคลื่อนไหวที่กล่าวหาว่ารัฐบาลทหารใช้ความตายเป็นเครื่องขัดขวางและไม่ยี่หระต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ
ลูกโป่งสีแดงหลายร้อยลูกถูกปล่อยลอยขึ้นฟ้าเรียกร้องการแทรกแซงจากภายนอก โดยลูกโป่งแต่ละลูกติดป้ายที่เขียนว่า “R2P” ที่หมายถึงหลักการความรับผิดชอบในการปกป้อง บางลูกติดโลโก้สหประชาชาติ และข้อความว่า “ต้องมีอีกกี่ศพเพื่อลงมือดำเนินการ?”
เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าบนท้องถนนที่อาจทำให้ถึงแก่ชีวิต คนขับรถขับไปตามถนนในย่างกุ้ง บีบแตรรถพร้อมชูสามนิ้วออกมาจากหน้าต่างรถของพวกเขา ส่วนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในเมืองมัณฑะเลย์รวมตัวเดินขบวนตั้งแต่เช้าตรู่ ก่อนที่กองกำลังความมั่นคงออกลาดตระเวน
ผู้ชุมนุมประท้วงหลายร้อยคนรวมตัวกันนั่งขัดสมาธิบนพื้นในเมืองฮาคา รัฐชิน ในคืนวันอาทิตย์ พร้อมกับจุดเทียนไว้อาลัย และกล่าวประณามเผด็จการ ห่างออกไปราว 150 กิโลเมตร ในเมืองมิ่นดะ ป้ายประท้วงต่อต้านการรัฐประหารจำนวนมากถูกตั้งไว้ที่จตุรัสหน้าตลาดใหญ่ของเมือง โดยแต่ละป้ายเขียนว่า “เผด็จการทหารต้องล้มเหลว”
“พวกเขาประท้วงกันทุกทางที่พวกเขาสามารถทำได้ ในแต่ละวันผู้คนมาพร้อมกับวิธีที่สร้างสรรค์เพื่อประท้วง” ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์คนหนึ่งกล่าวกับรอยเตอร์.