xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพพม่าเล็งยัดข้อหาเพิ่ม ‘ซูจี’ คอร์รัปชัน ทหาร-ตำรวจออกคุกคามคนย่างกุ้งช่วงค่ำคืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชาวบ้านในเมืองย่างกุ้งยืนอยู่หลังแนวเครื่องกีดขวางในวันพฤหัสบดี (18 มี.ค.) เฝ้าดูทหาร-ตำรวจทำลายโยกย้ายเครื่องกีดขวางต่างๆ ซึ่งพวกผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารและชาวบ้านสร้างกันขึ้นเพื่อปกป้องย่านอาศัยของพวกเขาไม่ให้กองกำลังความมั่นคงบุกเข้ามา
“อองซานซูจี” ถูกยัดข้อกล่าวหาใหม่ว่าทุจริตคอร์รัปชัน ทนายส่วนตัวยันถูกปรักปรำ ขณะที่ชาวพม่าถูกตัดขาดจากโลกภายนอกมากขึ้น จากมาตรการจำกัดบริการอินเทอร์เน็ตของคณะปกครองทหาร

การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่โค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของซูจี ได้จุดชนวนการประท้วงของประชาชนพม่าทั่วประเทศ และกองทัพได้เลือกใช้วิธีปราบปรามอย่างเหี้ยมโหด จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 210 คน จนถึงวันนี้ ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี)

นับจากถูกควบคุมตัวพร้อมกับพันธมิตรการเมืองจำนวนมาก คณะปกครองทหารตั้งข้อหาอาญาซูจีหลายกระทง โดยเริ่มต้นที่การครอบครองวิทยุสื่อสารผิดกฎหมายไม่มีใบอนุญาต และการละเมิดมาตรการจำกัดเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ระหว่างไปรณรงค์หาเสียงปลายปีที่แล้ว

เมื่อคืนวันพุธ (17 มี.ค.) สถานีทีวีเมียวดีของกองทัพพม่า ได้แพร่ภาพวิดีโอคำรับสารภาพของหม่อง เวะ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ท้องถิ่น ที่บอกว่า เคยให้เงินซูจีหลายครั้งๆ ละ 50,000-250,000 ดอลลาร์ ระหว่างปี 2018-2020 ที่ซูจีเป็นผู้นำในทางพฤตินัยของรัฐบาลพลเรือนชุดแรกของพม่าในรอบระยะเวลาหลายสิบปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 550,000 ดอลลาร์

ผู้ประกาศของสถานีระบุว่า ซูจีทุจริตและทางการกำลังเตรียมตั้งข้อหาใหม่ตามกฎหมายป้องกันการทุจริต

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฝ่ายทหารพยายามยัดเยียดข้อหาทุจริตให้แก่ซูจี โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โฆษกรัฐบาลทหารแถลงว่า มุขมนตรีของรัฐ ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในขณะนี้ ได้ยอมรับว่า เคยให้เงินซูจี 600,000 ดอลลาร์ และทองคำกว่า 10 กิโลกรัม

ขิ่น หม่อง ซอ ทนายความของซูจี ยืนยันว่า ข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่เป็นความจริง เนื่องจากแม้ลูกความของตนอาจมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ไม่เคยรับสินบนหรือคอร์รัปชัน พร้อมสำทับว่า ประชาชนส่วนใหญ่จะไม่เชื่อข้อกล่าวหาเหล่านี้

อย่างไรก็ดี เขาชี้ว่า หากถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานทุจริต ซูจีจะถูกห้ามไม่ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองอีก

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อคืนวันพุธเช่นกัน ตำรวจและทหารได้ออกมาข่มขู่คุกคามประชาชนในหลายย่านของย่างกุ้ง พร้อมกับปิดกั้นข้อมูลมือถือและอินเทอร์เน็ต ที่สร้างความวิตกให้ผู้อยู่อาศัยมากขึ้นเกี่ยวกับการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร

กองกำลังความมั่นคงยังขู่ว่าจะยิงผู้อยู่อาศัยหากพวกเขาไม่ย้ายสิ่งกีดขวางออกจากพื้นที่ที่ผู้ชุมนุมนำมาตั้งไว้ทั่วเมือง เพื่อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ตามการระบุของแพทย์จากเขตโอกกาลาปาใต้ และกองกำลังความมั่นคงยังบุกบ้านและจับกุมผู้คนไปอีกอย่างน้อย 10 คน

ที่ย่านตินกานจูน ชายคนหนึ่งกล่าวว่า เขาได้ยินเสียงปืนดังต่อเนื่องราว 30 นาที ก่อนเที่ยงคืน ซึ่งเขาต้องใช้สำลีอุดหูให้ลูกชาย 2 คน เพื่อให้พวกเขานอนหลับ

แม้แต่การออกไปหาซื้ออาหารก็กลายเป็นเรื่องน่าหวาดกลัว ชายคนเดิมกล่าว โดยระบุว่า ประชาชนจำต้องเดินทางไปมาอย่างรวดเร็ว เพื่อเลี่ยงเผชิญหน้ากับกองกำลังความมั่นคงที่ออกลาดตระเวน

“มันทำให้ผมทั้งเศร้าและโมโห มันเหมือนกับความฝันเรื่องประชาธิปไตยของเราได้หายไปแล้ว แต่ความเกลียดชังของเราต่อการปกครองของทหารมีมากกว่าความกลัว” ชายคนเดิม กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้ประท้วงยังคงกลับสู่ท้องถนนอีกครั้งในวันพฤหัสบดี (18) ทั้งในย่างกุ้งและเมืองต่างๆ ทั่วพม่า บางคนได้ทดสอบหนังสติ๊กยักษ์ เพื่อใช้ตอบโต้กองกำลังความมั่นคง

เศรษฐกิจพม่าที่บอบช้ำหนักเป็นทุนเดิมจากวิกฤตโรคระบาดใหญ่โควิด-19 อยู่แล้ว กลายเป็นอัมพาตจากการประท้วงและการต่อสู้ด้วยวิธีอารยะขัดขืน เพื่อต่อต้านการปกครองของทหาร ขณะที่นักลงทุนต่างชาติจำนวนมากกำลังทบทวนแผนการลงทุนในพม่า

สัปดาห์นี้ องค์การด้านอาหารของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เตือนว่า ราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นอาจบ่อนทำลายความสามารถในการหาเลี้ยงตัวเองของครอบครัวที่ยากจน

ถั่น มิน อู นักประวัติศาสตร์และนักเขียน ทวีตว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพม่าในช่วงหลายเดือนข้างหน้านี้ เศรษฐกิจจะล่มสลายและทำให้คนหลายสิบล้านเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องได้รับการปกป้องโดยเร่งด่วน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลทหารได้จำกัดการให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ผู้ประท้วงใช้ในการนัดชุมนุม โดยช่องทางการเข้าถึงสัญญาณ Wi-Fi ในที่สาธารณะถูกระงับเป็นส่วนใหญ่ ประชาชนในบางเมือง เช่น ทวาย ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้โดยสิ้นเชิง

วันพฤหัสฯ สำนักข่าวท่าขี้เหล็ก เผยแพร่ภาพคนงานกำลังตัดสายเคเบิลที่ถูกระบุว่า เชื่อมโยงกับสายเคเบิลของไทย อย่างไรก็ดี รอยเตอร์ระบุว่า ไม่สามารถยืนยันว่า เป็นเรื่องจริงหรือไม่

นอกจากนั้น ขณะที่ทางการพม่าสั่งปิดหนังสือพิมพ์บางฉบับ แต่อีกหลายฉบับถูกบังคับให้ต้องปิดตัวเอง เนื่องจากปัญหาด้านโลจิสติกส์ และหนังสือพิมพ์เอกชนฉบับสุดท้ายยุติการตีพิมพ์ไปเมื่อวันพุธ

(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)

แนวเครื่องกีดขวางที่พวกผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารสร้างขึ้นปิดกั้นถนนสายสำคัญสายหนึ่งในเมืองย่างกุ้ง วันพฤหัสบดี (18 มี.ค.)

ทหาร-ตำรวจพม่าใช้รถบุลโดเซอร์รื้อเครื่องกีดขวางที่พวกผู้ประท้วงและชาวบ้านสร้างขึ้นมาป้องกันย่านอาศัยของพวกเขาในเมืองย่างกุ้ง เมื่อวันพฤหัสบดี (18 มี.ค.)

ไม่เฉพาะที่ย่างกุ้ง  ที่เมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของพม่า ก็มีภาพทหารใช้รถบุลโดเซอร์รื้อแนวเครื่องกีดขวางที่ทำจากกระสอบทรายของพวกผู้ประท้วงเมื่อวันพฤหัสบดี (18 มี.ค.)

ประชาชนเข้าแถวเพื่อกดเงินจากเครื่องเอทีเอ็ม ในเมืองย่างกุ้ง วันพฤหัสบดี (18 มี.ค.) การประท้วงของผู้คนและการปราบปรามของตำรวจทหารซึ่งมีการสั่งปิดอินเทอร์เน็ตและการติดต่อสื่อสารอยู่เป็นระยะๆ ทำให้การปฏิบัติงานของภาคธนาคารเป็นไปด้วยความลำบาก
กำลังโหลดความคิดเห็น