ชาวบ้านที่อยู่ในย่านที่มีการประท้วงในเมืองย่างกุ้งอพยพหนีตายโดยใช้รถบรรทุกและมอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะในวันอังคาร (16 มี.ค.) หลังกองกำลังความมั่นคงพม่าระดมอาวุธหนักกวาดล้างม็อบโดยไม่ฟังเสียงประณามจากนานาชาติ ขณะเดียวกัน บริษัทแม่ยูนิโคล่เผยโรงงานของซัปพลายเออร์ 2 แห่งในพม่าถูกเผาเมื่อวันอาทิตย์ (14) พร้อมกับโรงงานหลายสิบแห่งของจีน นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า ทางการพม่าจับกุมเจ้าหน้าที่มูลนิธิของโซรอสและกำลังติดตามตัวพนักงานอีกกว่า 10 คนมาสอบสวน เชื่อมีส่วนสนับสนุนการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร
พม่าเข้าสู่กลียุคนับจากกองทัพทำรัฐประหารปลดอองซานซูจี ผู้นำพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และประชาชนนับแสนในหลายเมืองทั่วประเทศออกมาประท้วงเรียกร้องให้ทหารคืนประชาธิปไตย
จากแก๊สน้ำตาและกระสุนยางในระยะแรก ตำรวจและทหารพม่าเปลี่ยนมาใช้กระสุนจริงบ่อยครั้งขึ้น สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) เผยว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 20 คนเมื่อวันจันทร์ (15) หลังจากในวันอาทิตย์ (14) ได้กลายเป็นวันนองเลือดที่สุดในรอบ 6 สัปดาห์ที่มีผู้ถูกเข่นฆ่าถึง 74 คน รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 180 คนนับจากการรัฐประหาร
แอนโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า รู้สึกช็อกกับการใช้ความรุนแรงของทหารพม่า พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติร่วมมือกันเพื่อให้การปราบปรามผู้ประท้วงอย่างโหดเหี้ยมยุติลง
ในวันอังคาร (16) แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่อยู่ระหว่างเยือนเอเชีย ออกมาประณามคณะปกครองทหารของพม่าอีกครั้งที่ใช้อาวุธร้ายแรงปราบปรามผู้ประท้วง
ผู้เสียชีวิตจำนวนมากเมื่อวันอาทิตย์ อยู่ในเขตหล่ายตายาในย่างกุ้ง ย่านโรงงานสิ่งทอที่ส่วนใหญ่เป็นของนักลงทุนจีน และโรงงานเหล่านั้นกว่า 30 แห่งถูกเผาวอดในวันดังกล่าว
ฟาสต์ รีเทลลิ่ง บริษัทแม่ของยูนิโคล่ เชนร้านเสื้อผ้าชื่อดังของญี่ปุ่น ยืนยันเมื่อวันอังคารว่า โรงงาน 2 แห่งของซัปพลายเออร์ของบริษัท ตกเป็นเหยื่อกระแสต่อต้านในพม่าและถูกเผาเช่นเดียวกับโรงงานจีน
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลทหารประกาศกฎอัยการศึกในหล่ายตายา และอีกหลายเขตในย่างกุ้ง รวมถึงหลายพื้นที่ในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของพม่า
ตอนเช้าวันอังคาร สื่อท้องถิ่น ดิ อิรวดี เผยแพร่ภาพชาวบ้านแห่หนีออกจากย่างกุ้งกันตั้งแต่เช้ามืด เนื่องจากกลุ่มผู้ประท้วงยอมเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางเฉพาะในช่วงเช้าเท่านั้นและกลับมาปิดกั้นถนนเหมือนเดิมหลังเวลา 09.00 น.
วันเดียวกันนั้น ยังมีการจัดงานศพให้ผู้เสียชีวิต เฉพาะในย่างกุ้งมีงานศพ 31 งาน และบางครอบครัวเปิดเผยกับสื่อว่ากองกำลังความมั่นคงยึดศพไป แต่พวกเขายังต้องการจัดงานศพให้ผู้เสียชีวิตตามประเพณี
ขณะเดียวกัน ประชาชนในเมืองต่างๆ ยังคงออกไปชุมนุมบนถนนเพื่อต่อต้านการยึดอำนาจและเรียกร้องให้ปล่อยตัวซูจี และมีรายงานว่า มีผู้ประท้วงคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตในเมืองก้อลิ่น ทางภาคกลางของประเทศ
ทางด้านหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลรายงานว่า ทางการควบคุมตัวเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของโอเพ่น โซไซตี้ เมียนมาร์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยได้รับความช่วยเหลือจากจอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีและนักลงทุนชื่อดัง และขณะนี้กำลังติดตามตัวพนักงานอีก 11 คนของมูลนิธินี้เนื่องจากสงสัยว่าจัดหาเงินสนับสนุนให้ผู้ประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร
หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวยังตีพิมพ์ภาพซูจีขณะพบกับโซรอสในปี 2016 ที่นิวยอร์ก แต่ไม่ได้เชื่อมโยงผู้นำพลเรือนเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพผู้นี้หรือมูลนิธิโอเพ่น โซไซตี้ของโซรอสกับการให้เงินสนับสนุนผู้ประท้วงโดยตรง
นอกจากนั้น โครงการอาหารโลกของยูเอ็น (ดับเบิลยูเอฟพี) ยังออกคำแถลงเตือนว่า วิกฤตการเมืองจากการยึดอำนาจที่นำไปสู่การประท้วงและการอารยะขัดขืน กำลังทำให้ระบบเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นอัมพาตและอาจบ่อนทำลายความสามารถของครอบครัวที่ยากจนในการหาเลี้ยงปากท้อง เนื่องจากต้องเผชิญราคาอาหารและเชื้อเพลิงพุ่งขึ้นทั่วประเทศ
ดับเบิลยูเอฟพีสำทับว่า ขณะนี้ราคาข้าวในหลายพื้นที่ทางตอนเหนือของพม่าแพงขึ้นถึง 35% และราคาน้ำมันสำหรับประกอบอาหารพุ่งขึ้นเช่นกัน ขณะที่ราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้น 15% นับจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์
นอกจากราคาอาหารและเชื้อเพลิงแพงขึ้นแล้ว องค์กรในสังกัดสหประชาชาติแห่งนี้ยังเตือนว่า คนพม่ายังต้องเผชิญปัญหาจากภาคการธนาคารที่ใกล้เป็นอัมพาต ความล่าช้าในการโอนเงินข้ามพรมแดน และปริมาณเงินสดหมุนเวียนที่มีจำกัด
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)