เด็กหญิงวัย 7 ขวบถูกลูกหลงเสียชีวิตภายในบ้านพัก หลังกองกำลังด้านความมั่นคงยิงใส่บิดาของเธอในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่สุดอันดับ 2 ของพม่าในวันอังคาร (23 มี.ค.) ส่งผลให้หนูน้อยกลายเป็นเหยื่ออายุน้อยที่สุดจนถึงตอนนี้ของปฏิบัติการปราบปรามผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารเมื่อเดือนที่แล้ว
คณะรัฐประหารกล่าวโทษพวกผู้ประท้วงฝักใฝ่ประชาธิปไตยต่อเหตุวางเพลิงและความรุนแรงในช่วงหลายสัปดาห์ของสถานการณ์ความไม่สงบ และบอกว่าพวกเขาจะใช้กำลังให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อสยบการประท้วงซึ่งเกิดขึ้นรายวัน
โฆษกของคณะรัฐประหารอ้างว่า มีผู้ประท้วงเสียชีวิตทั้งหมด 164 ราย และแสดงความเสียใจแก่ผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (AAPP) ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตในปฏิบัติการปราบปรามของกองกำลังด้านความมั่นคงแล้วอย่างน้อย 261 ราย
“พวกเขาก็เป็นพลเมืองของเราเช่นกัน” พลจัตวา ซอ มิน ตุน (Zaw Min Tun) โฆษกคณะรัฐประหารกล่าวระหว่างแถลงข่าวในกรุงเนปิดอว์ หนึ่งวันหลังจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมเล่นงานบุคคลและกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางอองซานซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
ผู้ให้บริการด้านงานศพแห่งหนึ่งในมัณฑะเลย์ เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เด็กหญิงวัย 7 ขวบเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนในเขตชานมยาทาซิในวันอังคาร (23 มี.ค.)
พี่สาวของหนูน้อยให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวเมียนมาร์นาว ว่าพวกทหารยิงใส่ผู้เป็นพ่อ แต่กระสุนโดนหนูน้อยที่นั่งอยู่บนตักของเขาภายในบ้านพัก ขณะที่สื่อแห่งนี้รายงานต่อว่ายังมีชายอีก 2 คนที่ถูกสังหารในเขตแห่งนี้
ขณะที่กองทัพยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
คณะรัฐประหารต้องเผชิญกับเสียงประณามจากนานาชาติต่อการเข้ายึดอำนาจที่ทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอันล่าช้าอยู่ก่อนแล้วของพม่าต้องสะดุดลง และต่อการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงถึงตายหลังจากนั้น
พวกเขาพยายามอ้างความชอบธรรมของการเข้ายึดอำนาจ โดยบอกว่าศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางซูจี ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย มีการโกงอย่างกว้างขวาง ข้อกล่าวหาที่ทางคณะกรรมการเลือกตั้งปฏิเสธ ทั้งนี้ พวกผู้นำกองทัพสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ไม่ได้กำหนดเวลาที่แน่ชัดและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ซอ มิน ตุน กล่าวโทษพวกผู้ประท้วงว่าเป็นต้นตอของเหตุนองเลือด และบอกว่ามีสมาชิกกองกำลังความมั่นคงเสียชีวิตไป 9 นายเช่นกัน “เราสามารถเรียกการประท้วงนี้ว่าเป็นการชุมนุมอย่างสันติได้หรือ?” เขากล่าว พร้อมกับเปิดวิดีโอฉากที่โรงงานต่างๆ ถูกจุดไฟเผา “มีประเทศไหนบ้างหรือองค์กรไหนบ้างที่มองว่าความรุนแรงนี้คือสันติ?”
นอกจากนี้แล้วเขายังกล่าวโทษไปยังเหตุผละงานประท้วงและการที่โรงพยาบาลต่างๆ ไม่ได้เปิดปฏิบัติการอย่างเต็มรูปแบบว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไข้หลายคน ในนั้นรวมถึงจากโควิด-19 พร้อมตำหนิบุคลากรทางแพทย์เหล่านั้นว่าขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่และไม่มีจรรยาบรรณ
โฆษกรายนี้ยังกล่าวหาสื่อมวลชน “เฟกนิวส์” โหมกระพือความไม่สงบ และเตือนว่าพวกผู้สื่อข่าวจะถูกดำเนินคดีหากว่าพวกเขาติดต่อกับคณะกรรมการผู้แทนสภาแห่งสหภาพ หรือ CRPH ซึ่งพยายามตั้งรัฐบาลคู่ขนานต่อต้านคณะรัฐประหาร ทั้งนี้ กองทัพประกาศให้ CRPH เป็นองค์กรนอกกฎหมาย และสมาชิกมีโทษถึงตาย
ในการแถลงข่าวนานกว่า 3 ชั่วโมง ซอ มิน ตุน ยังเล่าละเอียดยิบเกี่ยวกับวิธีการที่ฝ่ายทหารอ้างว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจีโกงเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยบอกว่ามีทั้งการทำบัตรเลือกตั้งปลอมหลายร้อยหรือกระทั่งหลายพันใบ รวมถึงในเขตเลือกตั้งของซูจีเอง พร้อมกับเปิดวิดีโอคำสารภาพของผู้ที่บอกว่าเคยได้รับเงินจากผู้แทนของเอ็นแอลดี
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยปฏฺิเสธว่าไม่เคยพยายามโกงเลือกตั้งใดๆ
การแถลงข่าวนี้ยังมีการเปิดวิดีโอที่ พิว มิ้น เต็ง อดีตมุขมนตรีนครย่างกุ้ง สารภาพว่าเคยเข้าพบซูจีหลายครั้งและมอบเงินให้ “ทุกเมื่อที่ต้องการ”
ขณะนี้ ซูจี ยังถูกทหารควบคุมตัว และถูกตั้งข้อกล่าวหาหลายกระทง
สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมในวันจันทร์ (22 มี.ค.) เล่นงานบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารและการปราบรามผู้ประท้วง ขณะที่เพื่อนบ้านของพม่าบางประเทศก็ได้ออกมาพูดถึงสถานการณ์ความรุนแรงเช่นกัน
“เราเชื่อว่าการใช้ความรุนแรงต่อพลเมืองที่ปราศจากอาวุธเป็นสิ่งที่อภัยให้ไม่ได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ระบุในกัวลาลัมเปอร์ หลังเข้าพบหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย พร้อมบอกว่าแม้พวกเขาไม่เชื่อถือในการแทรกแซงกิจการภายในประเทศจากภายนอก แต่ “เรายืนหยัดพร้อมทำให้ดีที่สุด เพื่อสนับสนุนประชาชนชาวพม่าซึ่งสมควรได้รับสิ่งที่ดีกว่านี้ในอนาคต”
สุดท้าย โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐของคณะปกครองทหารระบุว่า พม่ากำลังร่วมมือกับเพื่อนบ้าน 5 ประเทศที่มีพรมแดนติดกับพม่า ซึ่งได้แก่ บังกลาเทศ จีน อินเดีย ลาว และไทย และตระหนักถึงคุณค่าและเคารพคำพูดของประเทศเหล่านั้น รวมถึงประเทศที่เคารพเสถียรภาพของพม่า พร้อมย้ำว่าจีนเป็นมิตรของพม่า แต่ไม่ได้ระบุถึงเพื่อนบ้านอื่นๆ รวมถึงขอบเขตความร่วมมือ แต่ทิ้งท้ายว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและหัวหน้ารัฐบาลทหาร ยังต้องการเป็นมิตรกับนานาชาติต่อไป
(ที่มา : รอยเตอร์)