ความสัมพันธ์จีนกับโลกตะวันตก เริ่มทวีความตึงเครียด หลังจากที่สหรัฐฯ ผนึกกำลังกับสหภาพยุโรป (อียู), อังกฤษ และแคนาดา กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนหลายคนในสัปดาห์นี้ โดยอ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง นับเป็นความเคลื่อนไหวเล่นงานปักกิ่งร่วมกันของกลุ่มชาติตะวันตกครั้งแรกหลังจากที่ โจ ไบเดน ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะที่ปักกิ่งโต้กลับทันควันด้วยบทลงโทษที่พุ่งเป้าไปยังสมาชิกรัฐสภายุโรป, นักการทูตและครอบครัว รวมไปถึงสถาบันต่างๆ โดยห้ามมิให้ธุรกิจของบุคคลและองค์กรเหล่านี้ทำการค้ากับจีน
รัฐบาลตะวันตกต้องการบีบให้จีนแสดงความรับผิดชอบต่อการบีบบังคับกักกันชาวอุยกูร์ พร้อมยัดเยียดข้อครหาล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ซึ่งปักกิ่งยืนกรานปฏิเสธเรื่อยมา
บทลงโทษชนิดร่วมแรงร่วมใจนี้ดูเหมือนจะเป็นผลลัพธ์เบื้องต้นในความพยายามของ ไบเดน ที่ต้องการดึงพันธมิตรอเมริกาให้ร่วมกันต่อต้านจีน ขณะที่เจ้าหน้าที่อเมริกันก็ยอมรับว่ามีการติดต่อพูดคุยกับรัฐบาลยุโรปแบบรายวันในประเด็นที่เกี่ยวกับปักกิ่ง
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงก่อนจะร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศของอียูและนาโตในสัปดาห์นี้ว่า “ท่ามกลางเสียงประณามที่หนักหน่วงขึ้นจากนานาชาติ แต่จีนยังคงเดินหน้าล้างเผาพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในซินเจียง”
นักเคลื่อนไหวและผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น ระบุว่า มีชาวมุสลิมอุยกูร์อย่างน้อย 1 ล้านคน ถูกควบคุมตัวอยู่ตามค่ายกักกันหลายแห่งในซินเจียง ขณะที่นักเคลื่อนไหวและนักการเมืองตะวันตกบางคน เชื่อว่า จีนใช้การทรมาน, บังคับใช้แรงงาน และบังคับทำหมันกับคนเหล่านี้ด้วย
อย่างไรก็ดี จีนยืนยันว่า ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น และค่ายกักกันที่ตะวันตกอ้างถึงเป็นเพียง “ค่ายฝึกอาชีพ” เพื่อให้ชาวมุสลิมเหล่านี้ไม่หันไปฝักใฝ่ลัทธิหัวรุนแรง
อียูเป็นฝ่ายแรกที่ประกาศคว่ำบาตรจีนเมื่อวันจันทร์ (22 มี.ค.) โดยเจาะจงเล่นงานเจ้าหน้าที่จีน 4 คน และหน่วยงานแห่งหนึ่ง ก่อนที่อังกฤษและแคนาดาจะประกาศใช้บทลงโทษแบบเดียวกัน
บุคลากรจีนที่ตกเป็นเป้าหมายเล่นงานร่วมของอียู, แคนาดา, อังกฤษ และสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ได้แก่ เฉิน หมิงกั๋ว (Chen Mingguo) ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงสาธารณะซินเจียง, หวัง จวินเจิ้ง (Wang Junzheng) ประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายการเมืองและกฎหมายของซินเจียง, หวัง หมิงซาน (Wang Mingshan) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนในซินเจียง, จู ไห่หลุน (Zhu Hailun) อดีตรองเลขาธิการของพรรคคอมมิวนิสต์ในซินเจียง รวมไปถึงกองกำลังฝ่ายผลิตและก่อสร้างแห่งซินเจียง (Xinjiang Production and Construction Corps)
อียูกล่าวหา เฉิน หมิงกั๋ว ว่า เป็นผู้สั่งให้ควบคุมตัวโดยพลการ และปฏิบัติอย่างกดขี่สร้างความเจ็บปวดแก่ชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่นๆ ทั้งยังล่วงละเมิดอย่างเป็นระบบต่อสิทธิเสรีภาพทางศาสนาและหรือความเชื่อของพวกเขา
ปีที่แล้ว สหรัฐฯ ได้ประกาศคว่ำบาตร เฉิน ฉวนกั๋ว (Chen Quanguo) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนในซินเจียง ทว่าบุคคลผู้นี้ไม่ได้ตกเป็นเป้าหมายเล่นงานของพันธมิตรตะวันตกอื่นๆ ในวันจันทร์ (22) ซึ่งนักการทูตและผู้เชี่ยวชาญให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้ข้อพิพาททางการทูตลุกลามบานปลาย
กระทรวงการต่างประเทศแคนาดาและอังกฤษ ยังได้มีคำแถลงร่วมกับ บลิงเคน อีกฉบับ ระบุว่า ทั้ง 3 ประเทศเรียกร้องด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกันขอให้ปักกิ่ง “หยุดพฤติกรรมกดขี่” ชนกลุ่มน้อยในซินเจียง เนื่องจากมีหลักฐานยืนยันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายดาวเทียม, คำให้การของประจักษ์พยาน รวมถึงเอกสารต่างๆ ของรัฐบาลจีนเอง
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ก็ได้ออกคำแถลงร่วม แสดงความกังวลเกี่ยวกับ “รายงานที่เชื่อถือได้” เรื่องการละเมิดสิทธิชาวอุยกูร์และมุสลิมกลุ่มน้อยอื่นๆ ในซินเจียง พร้อมทั้งสนับสนุนบทลงโทษของแคนาดา, อียู, สหรัฐฯ และอังกฤษ
ที่ผ่านมา อียูพยายามเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปักกิ่งมาโดยตลอด และมาตรการคว่ำบาตรเมื่อวันจันทร์ (22) ถือเป็นบทลงโทษจีนอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรก นับตั้งแต่เหตุปราบปรามนองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989
ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ได้รับการยกย่องจากสหรัฐฯ โดย บลิงเคน ระบุว่า “การตอบโต้ด้วยความเป็นหนึ่งเดียวจากสองฟากฝั่งแอตแลนติก ได้ส่งสารอย่างแข็งกร้าวไปถึงผู้ที่ฝ่าฝืนหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”
‘จีน’ ตอบโต้ทันควัน
รัฐบาลจีนได้ประกาศมาตรการตอบโต้แบบถึงพริกถึงขิงเช่นกัน โดยสั่งคว่ำบาตรสมาชิกรัฐสภายุโรป, คณะกรรมการด้านการเมืองและความมั่นคง (Political and Security Committee) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายต่างประเทศของอียู รวมถึงสถาบันยุโรปอีก 2 แห่ง
จีนยังได้เรียก นิโคลาส์ ชาปุยส์ เอกอัครราชทูตอียู และ แคโรไลน์ วิลสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษ เข้าพบเพื่อแสดงการประท้วงอย่างสงบ ขณะที่ หวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและมนตรีแห่งรัฐจีน ก็วิจารณ์คำสั่งแซงก์ชันของตะวันตก ว่า “มีพื้นฐานอยู่บนข้อมูลเท็จ” และเป็นสิ่งที่ “ไม่อาจรับได้”
ไรน์ฮาร์ด บูติโกเฟอร์ ประธานคณะผู้แทนรัฐสภายุโรปประจำประเทศจีน เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่อาวุโสสูงสุดที่โดนปักกิ่งสั่งแบน และอีกคนก็คือ เอเดรียน เซ็นซ์ นักวิชาการชาวเยอรมัน เจ้าของผลงานวิจัยที่ถูกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นำไปใช้อ้างอิงเพื่อประณามการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงเมื่อปีที่แล้ว
ปักกิ่งอ้างว่า เจ้าหน้าที่และองค์กรยุโรปที่โดนคว่ำบาตรและถูกห้ามไม่ให้เดินทางเข้าจีนหรือทำธุรกิจกับจีนนั้น มีส่วนในการบ่อนทำลายอธิปไตยของจีนเหนือภูมิภาคซินเจียง
ทั้งนี้ แม้รัฐบาลอียูทั้ง 27 ประเทศจะลงมติเห็นพ้องต้องกันในการใช้บทลงโทษต่อจีน แต่ปรากฏว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของฮังการีได้ออกมาวิจารณ์ท่าทีของอียูว่า “เป็นอันตราย” และ “ไร้ประโยชน์”
รัสเซียและจีนได้เรียกร้องให้มีการเปิดประชุมสุดยอดผู้นำประเทศสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อแก้ไขความตึงเครียดทางการเมือง และต่อมา เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ยังระบุในงานแถลงข่าวหลังพูดคุยกับ หวัง อี้ ด้วยว่า ทั้งปักกิ่งและมอสโกรู้สึกไม่สบายใจกับพฤติกรรมของสหรัฐฯ ซึ่งยังคงพยายามตั้งกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองและการทหารแบบสมัย “สงครามเย็น” อันเป็นการบั่นทอนโครงสร้างกฎหมายระหว่างประเทศที่ยูเอ็นเป็นศูนย์กลาง