xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรกของไบเดน! สหรัฐฯ จับมือพันธมิตรคว่ำบาตรจีน โทษฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนอุยกูร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพ) ผู้ประท้วงฮ่องกงถือธงอุยกูร์เตอร์กิสถานตะวันออก ระหว่างชุมนุมสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในซินเจียงอุยกูร์ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2019
สหรัฐฯ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และแคนาดา กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนเมื่อวันจันทร์ (22 มี.ค.) โทษฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง นับเป็นความเคลื่อนไหวเล่นงานปักกิ่งร่วมกันของตะวันตกเป็นครั้งแรก ภายใต้สมัยโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ

ปักกิ่งตอบโต้กลับในทันที ด้วยมาตรการลงโทษต่างๆ นานากับอียู ที่ดูเหมือนมีขอบเขตกว้างขวางกว่าเดิม ในนั้นรวมถึงบรรดาสมาชิกรัฐสภายุโรป ผู้แทนทูตและครอบครัว รวมถึงสถาบันต่างๆ โดยห้ามธุรกิจของบุคคลเหล่านี้ทำการค้ากับจีน

บรรดารัฐบาลชาติตะวันตกกำลังหาทางให้จีนรับผิดชอบต่อเหตุกักกันหมู่ชาวมุสลิมอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ดินแดนที่สหรัฐฯ บอกว่าจีนกำลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ทางปักกิ่งปฏิเสธข้อกล่าวหาล่วงละเมิดทั้งหมด

มาตรการลงโทษในครั้งนี้ดูเหมือนเป็นผลลัพธ์เบื้องต้นในความพยายามทางการทูตสหรัฐฯ ที่ผลักดันให้พันธมิตรร่วมกันเผชิญหน้ากับจีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในนโยบายเกี่ยวกับจีนของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ เผยว่าได้ติดต่อกับรัฐบาลต่างๆ ในยุโรปแบบรายวัน ในประเด็นเกี่ยวกับจีน บางอย่างที่พวกเขาเรียกว่า “ยุโรป โรดโชว์”

“ท่ามกลางเสียงประณามหนักหน่วงขึ้นจากนานาชาติ แต่จีนยังคงเดินหน้าฆ่าล้างเผาพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในซินเจียง” แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในถ้อยแถลง ก่อนมีกำหนดเข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศของอียูและนาโตในสัปดาห์นี้

กระทรวงการต่างประเทศแคนาดาระบุว่า “มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นที่ชี้ให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบและนำโดยภาครัฐ โดยเจ้าหน้าที่จีน”

พวกนักเคลื่อนไหวและผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ระบุว่า มีชาวมุสลิมอย่างน้อย 1 ล้านคนที่ถูกคุมตัวอยู่ที่ค่ายกักกันต่างๆ ในซินเจียง นอกจากนี้แล้วนักเคลื่อนไหวและนักการเมืองตะวันตกบางส่วน ยังกล่าวหาจีนทรมาน ใช้แรงงานบังคับและบังคับทำหมัน ในเป้าหมายลดประชากรในเขตปกครองตนเองซินเจียง

อย่างไรก็ตาม จีนปฏิเสธว่าไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง และบอกว่าค่ายต่างๆ เหล่านั้นมอบการฝึกฝนอาชีพ และมีความจำเป็นเพื่อต่อสู้กับพวกหัวรุนแรง

สภาพยุโรปเป็นฝ่ายแรกที่กำหนดมาตรการคว่ำบาตรในวันจันทร์ (22 มี.ค.) โดยเล็งเป้าเล่นงานเจ้าหน้าที่จีน 4 คน ในนั้นรวมถึงผู้อำนวยการด้านความมั่นคงระดับสูงรายหนึ่งและหน่วยงานแห่งหนึ่ง ก่อนที่สหราชอาณาจักรและแคนาดา จะเคลื่อนไหวแบบเดียวกัน หลังจากนั้นในวันเดียวกัน

เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯ ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตร เฉิน ฉวนกั๋ว (Chen Quanguo) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนในซินเจียง แต่เขาไม่ได้ตกเป็นเป้าหมายเล่นงานของพันธมิตรตะวันตกอื่นๆ ในวันจันทร์ (22 มี.ค.) เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ข้อพิพาททางการทูตลุกลามบานปลาย ตามความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญและเหล่านักการทูต

ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายเล่นงานร่วมของอียู แคนาดา สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ในครั้งนี้ รวมถึง เฉิน หมิงกัว (Chen Mingguo) ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงสาธารณะซินเจียง และหวัง จวินเจิ้ง (Wang Junzheng) เจ้าหน้าที่ระดับสูงบอีกคนในมณฑลดังกล่าว

กระทรวงการต่างประเทศแคนาดา และสหราชอาณาจักร ยังได้ถ้อยแถลงร่วมกับบลินเคน อีกฉบับ ระบุว่าทั้ง 3 ประเทศ เรียกร้องด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกัน ขอให้ปักกิ่งหยุดพฤติกรรมกดขี่ต่างๆ นานาในซินเจียง

พวกเขาระบุว่ามีหลักฐานอย่างท่วมท้นเกี่ยวกับการล่วงละเมิดต่างๆนานา ในนั้นรวมถึงภาพถ่ายดาวเทียม คำให้การประจักษ์พยานและเอกสารต่างๆ ของรัฐบาลจีนเอง

อียูกล่าวหา เฉิน หมิงกัว ควบคุมตัวโดยพลการและปฏิบัติอย่างเลวทรามสร้างความเจ็บปวดแก่ชาวอุยกูร์ และชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่นๆ เช่นเดียวกับล่วงละเมิดอย่างเป็นระบบต่อสิทธิเสรีภาพทางศาสนาหรือความเชื่อของพวกเขา

คนอื่นๆ ที่ถูกแบนด้านการเดินทางและอายึดทรัพย์สิน ก็มี หวัง หมิงชาน เจ้าหน้าที่รระดับสูงของจีน จูไห่หลุน (Zhu Hailun) อดีตรองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ในซินเจียง รวมถึงกองกำลังผลิตและก่อสร้างซินเจียง (Xinjiang Production and Construction Corps)

อียูนั้นต่างจากสหรัฐฯ พวกเขาหลีกเลี่ยงเผชิญหน้ากับปักกิ่งมาตลอด แต่มาตรการคว่ำบาตรเมื่อวันจันทร์ (22 มี.ค.) ถือเป็นมาตรการที่มีนัยสำคัญครั้งแรกนับตั้งแต่เหตุปราบปรามนองเลือดจัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 แม้ก่อนหน้านี้ทางอียูเคยเล่นงานมือแฮคเกอร์คอมพิวเตอร์ 2 ราย และบริษัทเทคโนโลยีแห่งหนึ่งในปี 2020 ส่วนหนึ่งในมาตรการคว่ำบาตรทางไซเบอร์อย่างกว้างขวางมาแล้ว

ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ได้รับการยกย่องจากสหรัฐฯ โดยทาง บลินเคน ระบุว่า “การตอบโต้ด้วยความเป็นหนึ่งเดียวจากสองฟากฝั่งแอตแลนติก ได้ส่งสารอย่างแข็งกร้าวไปถึงผู้ที่ฝ่าฝืนหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”

แม้มาตรการคว่ำบาตรของอียู ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นในเชิงสัญลักษณ์ แต่มันสะท้อนถึงจุดยืนที่แข็งกร้าวขึ้นในนโยบายต่างๆ ที่มีต่อจีน ประเทศที่อียูเคยมองว่าเป็นพันธมิตรการค้าที่ใจดี แต่ตอนนี้พวกเขามองในฐานะเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเป็นระบบ

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น