ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ประณามการเหยียดเชื้อชาติและลัทธิคลั่งผิวขาวเป็นใหญ่ ว่า เปรียบเสมือน “ยาพิษร้ายแรง” ที่บ่อนทำลายสังคมอเมริกันมาอย่างยาวนาน พร้อมประกาศจะแก้ไขกฎหมายบางฉบับที่เอื้อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ
ผู้นำสายเดโมแครต วัย 78 ปี ยอมรับว่า กระแสเหยียดผิว, เกลียดกลัวคนต่างชาติ (xenophobia) และ ชาติภูมินิยม (nativism) เป็นปัญหาเรื้อรังของสหรัฐอเมริกา
ท่าทีของ ไบเดน สอดคล้องกับคำแถลงของรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส ซึ่งเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (19) ได้ไปเยือนเมืองแอตแลนตา และกล่าวแจกแจงประวัติศาสตร์การเหยียดผิวคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย
“ลัทธิเหยียดเชื้อชาติเป็นความจริงในอเมริกา และเกิดขึ้นจริงมาโดยตลอด” แฮร์ริส ซึ่งเป็นรองประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ที่เป็นสตรี, ผิวสี และเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ระบุ “การเกลียดกลัวคนต่างชาติก็เป็นความจริงมาโดยตลอด รวมถึงลัทธิเหยียดเพศด้วย”
คำแถลงของ ไบเดน มีขึ้นเนื่องในวันขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติสากล (International Day for the Elimination of Racial Discrimination) ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้มีขึ้นเมื่อช่วงทศวรรษ 1970 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และมีที่มาจากเหตุการณ์สังหารหมู่ในแอฟริกาใต้เมื่อปี 1960
“ความเกลียดชังจะต้องไม่มีที่ยืนในอเมริกา และไม่สมควรจะมีอยู่ ณ ที่ใดๆ เลยในโลก เราจะต้องร่วมมือกันเพื่อหยุดยั้งมัน” ไบเดน กล่าว
ผู้นำสหรัฐฯ ยืนยันว่า รัฐบาลของตนจะเป็นกระบอกเสียงต่อสู้การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติระดับโลก ซึ่งรวมถึงการกดขี่ข่มเหงชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่า และชาวอุยกูร์ในจีน
“ค่านิยมและความเชื่ออันเป็นแก่นกลางที่จะช่วยหลอมรวมชาวอเมริกันให้เป็นหนึ่งเดียว ก็คือ การปฏิเสธความเกลียดชังและลัทธิเหยียดเชื้อชาติ แม้เราจะรู้ดีว่าการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบและลัทธิคลั่งผิวขาวเป็นใหญ่คือยาพิษร้ายแรงที่บ่อนทำลายสหรัฐอเมริกามานมนานแล้วก็ตาม” ไบเดน ระบุ
“เราจะต้องแก้กฎหมายที่เอื้อให้เกิดการเลือกปฏิบัติในประเทศนี้ และจะต้องเปลี่ยนที่ใจเราเองด้วย”
จากกรณีที่ โรเบิร์ต แอรอน ลอง ชายผิวขาววัย 21 ปี ลงมือกราดยิงสปา 2 แห่ง ในเมืองแอตแลนตา และร้านนวดอีกแห่งในเทศมณฑลเชอโรกี จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน ซึ่ง 6 คนเป็นผู้หญิงเอเชีย เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ทำให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายสหรัฐฯ ถูกสังคมกดดันให้ต้องสอบสวนคดีนี้ในฐานะที่เป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (hate crime)
ที่มา : รอยเตอร์