xs
xsm
sm
md
lg

WHO ยืนยันปลอดภัย-แนะใช้วัคซีนแอสตร้าฯ ต่อ ด้าน “ไบเดน” บอกไม่หวังพึ่ง “ทรัมป์” ชักชวนรีพับลิกันยอมฉีดป้องกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) นัดประชุมวันอังคาร (16 มี.ค.) เรื่องวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” ที่ถูกระงับใช้ในหลายประเทศในยุโรปจากความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน อย่างไรก็ดี WHO แนะนำประเทศต่างๆ ไม่ควรตื่นตระหนกแต่ควรใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ตัวนี้ต่อไป ขณะที่ในสหรัฐฯ คณะบริหารของไบเดนบอกว่าไม่คิดหวังพึ่งทรัมป์ เชื่อพวกผู้นำชุมชนช่วยโน้มน้าวประชาชนยอมฉีดวัคซีนได้

ซุมยา สวามินาทาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเมื่อวันจันทร์ (15) ว่า WHOไม่ต้องการให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก และยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตัวนี้ ซึ่งพัฒนาโดยแอสตร้าเซนเนก้า/มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกันต่อไป

คำแนะนำนี้มีขึ้นขณะที่ 3 ประเทศใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป ได้แก่ เยอรมนี อิตาลี และฝรั่งเศส ตามรอยประเทศอื่นๆ ในการระงับการฉีดวัคซีนตัวนี้เอาไว้ก่อน เนื่องจากกังวลกับความเสี่ยงทำให้เกิดลิ่มเลือด ถึงแม้ทั้ง WHO แอสตร้าเซนเนก้า และองค์การยาแห่งยุโรป (อีเอ็มเอ) ยืนยันว่า ไม่พบหลักฐานเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนกับอาการลิ่มเลือดอุดตันที่มีการรายงานกันก็ตาม

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญของWHO และอีเอ็มเอ จะแยกกันพิจารณาข้อมูลวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าในวันอังคาร และอีเอ็มเอจะจัดประชุมพิเศษในวันพฤหัสฯ (18) เพื่อพิจารณามาตรการเพิ่มเติม

วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหนึ่งในวัคซีนที่มีราคาต่ำที่สุดและเก็บรักษาง่าย จึงถือเป็นทางเลือกสำหรับประเทศยากจน

ไม่เพียงชาติยุโรป อินโดนีเซียก็ได้ตัดสินใจชะลอการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเมื่อวันจันทร์ และเวเนซุเอลาประกาศจะไม่อนุญาตให้ใช้วัคซีนของบริษัทนี้เนื่องจากกลัวเกิดอาการแทรกซ้อน

จนถึงขณะนี้มีการฉีดวัคซีนตัวไปแล้วกว่า 11 ล้านโดสโดยไม่มีรายงานว่าเกิดปัญหารุนแรงใดๆ

สวามินาทานย้ำว่า ไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันกับวัคซีน เนื่องจากอัตราการพบผู้มีภาวะดังกล่าวในกลุ่มผู้รับวัคซีนแท้จริงแล้วต่ำกว่าที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในประชากรทั่วไปในช่วงเวลาเดียวกัน

การระงับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงการฉีดวัคซีนทั่วโลกที่ผู้เชี่ยวชาญหวังว่า จะช่วยปิดฉากวิกฤตโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 2.6 ล้านคน และทำลายเศรษฐกิจทั่วโลก

สำหรับที่สหรัฐฯ คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังเผชิญอุปสรรคในเรื่องวัคซีนเช่นเดียวกัน เนื่องจากผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันจำนวนมากยังไม่ยินยอมฉีดวัคซีนโควิด-19

ทั้งนี้ ผลสำรวจของพีบีเอส นิวส์อาวร์/เอ็นพีอาร์/มาริสต์ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วพบว่า ผู้ชายที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันราว 50% ไม่มีแผนฉีดวัคซีนโควิด ขณะที่ผู้สนับสนุนพรรคนี้ 81% บอกว่า อาจเชื่อคำแนะนำจากแพทย์ประจำตัวเกี่ยวกับวัคซีน

ในวันจันทร์ ประธานาธิบดีไบเดนแสดงความไม่แน่ใจเมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับบทบาทการมีส่วนร่วมของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการโน้มน้าวให้พวกผู้สนับสนุนเขาที่ยังลังเลอยู่ ยอมฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ดี ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวกับนักข่าวในทำเนียบขาวว่า จากการหารือกับทีมงานพบว่า แพทย์ ผู้นำทางศาสนา และคนในชุมชนน่าจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในเรื่องนี้มากกว่าทรัมป์

ด้านเจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว เสริมว่า ทำเนียบขาวยินดีที่จะสนับสนุน หากทรัมป์ต้องการช่วยเผยแพร่ข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน

ซากีสำทับว่า ทรัมป์ไม่ควรรอคำเชิญเข้าร่วมแคมเปญส่งเสริมการฉีดวัคซีน และตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้อดีตประธานาธิบดีทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งรวมถึงบารัค โอบามา และบิลล์ คลินตัน จากพรรคเดโมแครต และจอร์จ ดับเบิลยู. บุช จากพรรครีพับลิกัน ล้วนเข้าร่วมรณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีน

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น