เยอรมนี ฝรั่งเศส และ อิตาลี ในวันจันทร์ (15 มี.ค.) เผยจะระงับใช้วัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า หลังมีหลายประเทศรายงานเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของผลข้างเคียงรุนแรง แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) เน้นย้ำว่าไม่มีข้อพิสูจน์ว่ามันมีความเชื่อมโยงกัน และผู้คนไม่ควรตื่นตระหนก
กระนั้นก็ตาม การตัดสินใจของ 3 ชาติยักษ์ใหญ่สุดของสหภาพยุโรป ที่ระงับการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ได้ฉุดให้โครงการฉีดวัคซีนที่มีปัญหาอยู่ก่อนแล้วของอียู ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 27 ชาติ เข้าสู่ความอลหม่านยิ่งขึ้นไปอีก
นอกเหนือจาก เยอรมนี ฝรั่งเศส และ อิตาลี แล้ว ในวันเดียวกัน โปรตุเกส ไซปรัส และ สโลเวเนีย ก็ระงับใช้วัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเช่นกัน ท่ามกลางความกังวลด้านความปลอดภัย
ก่อนหน้านี้ เดนมาร์ก และ นอร์เวย์ ได้หยุดวัคซีนไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังมีรายงานเดียวกับเคสเลือดออกในสมอง ลิ่มเลือดอุดตัน และภาวะเกล็ดเลือดต่ำ จากนั้นตามด้วย ไอซ์แลนด์ และ บัลแกเรีย ก่อนที่ ไอร์แลนด์ กับ เนเธอร์แลนด์ จะประกาศระงับใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าในวันอาทิตย์ (14 มี.ค.)
สถานีวิทยุคาเดนา เซอร์ อ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อ ระบุว่า สเปนก็จะหยุดใช้วัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเวลาอย่างน้อยๆ 15 วัน
ความเคลื่อนไหวของบรรดาชาติในยุโรป มีขึ้นแม้ว่านักวิทยาศาสตร์ระดับอาวุโสขององค์การอนามัยโลกออกมาเน้นย้ำอีกครั้งในวันจันทร์ (15 มี.ค.) ไม่มีหลักฐานความเชื่อมโยงเหตุเสียชีวิตกับวัคซีนโควิด-19
โสมญา สวามินาธาน (Soumya Swaminathan) รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ระบุระหว่างแถลงข่าวทางไกลว่า “เราไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก” พร้อมบอกว่า จนถึงตอนนี้ ไม่พบความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างเคสภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ได้รับรายงานในบางประเทศ กับวัคซีนโควิด-19
เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ระบุว่า คณะที่ปรึกษาชุดหนึ่งด้านวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะประชุมกันในวันอังคาร (16 มี.ค.) ส่วนสำนักงานยาแห่งยุโรป (EMA) จะประชุมกันในสัปดาห์นี้เช่นเดียวกัน เพื่อประเมินข้อมูลที่รวบรวมมาได้ ว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในบรรดาผู้ได้รับวัคซีนหรือไม่
ความเคลื่อนไหวของเหล่าประเทศใหญ่ที่สุดของยุโรปบางชาติและบรรดาประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในยุโรป จะก่อความกังวลยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความล่าช้าของโครงการฉีดวัคซีนในภูมิภาค ซึ่งก่อนหน้านี้ ประสบปัญหากับภาวะอุปทานขาดแคลนอยู่ก่อนแล้ว สืบเนื่องจากปัญหาด้านการผลิตวัคซีน ในนั้นรวมถึงวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าด้วย
เยอรมนีเตือนเมื่อสัปดาห์ก่อน ว่า พวกเขากำลังเผชิญระลอกที่ 3 ของการแพร่ระบาด อิตาลียกระดับล็อกดาวน์เข้มข้นขึ้น และโรงพยาบาลต่างๆ ในภูมิภาคปารีสของฝรั่งเศส ใกล้ถึงขีดจำกัดแล้ว
เยนส์ สปาห์น รัฐมนตรีสาธารณสุขเยอรมนี บอกว่า แม้ความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ “มันเป็นการตัดสินใจโดยมืออาชีพ ไม่ได้เป็นการตัดสินใจทางการเมือง” เขากล่าว พร้อมระบุว่า การตัดสินใจครั้งนี้เป็นไปตามคำแนะนำของสถาบันพอล เอห์ลิก (Paul Ehrlich Institute--PEI) ผู้ควบคุมกฎระเบียบด้านวัคซีนของเยอรมนี
ฝรั่งเศสบอกว่าจะระงับใช้วัคซีนระหว่างรอผลการประเมินของสำนักงานยาแห่งยุโรป “เราตัดสินใจระงับใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนหนึ่งในมาตรการป้องกันไว้ก่อน หวังว่า เราจะสามารถกลับมาฉีดวัคซีนโดยเร็ว หากได้รับอนุญาตตามคำแนะนำของสำนักงานยาแห่งยุโรป
อิตาลีบอกว่าพวกเขาระงับฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ในมาตรการป้องกันไว้ก่อนและเป็นมาตรการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของทางสำนักงานยาแห่งยุโรป “EMA จะประชุมกันเร็วๆ นี้ เพื่อคลี่คลายความสงสัยใดๆ เพื่อที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะสามารถกลับมาพร้อมกับความปลอดภัยในโครงการฉีดวัคซีน เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” จิอันนี เรซซา ผู้อำนวยการทั่วไปของศูนย์ป้องกันโรคแห่งกระทรวงสาธารณสุขอิตาลี ระบุ
ออสเตรียและสเปน หยุดใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าบางล็อต ส่วนคณะอัยการในแคว้นปีเยมอนเต ทางเหนือของอิตาลี ก่อนหน้านี้สั่งอายัดวัคซีน 393,600 โดส หลังมีชายคนหนึ่งเสียชีวิตไม่กี่ชั่วโมงหลังฉัดวัคซีน โดยแคว้นแห่งนี้ถือเป็นแคว้นที่ 2 ที่อายัดวัคซีน ต่อจากแคว้นซิซิลี ดินแดนที่พบผู้เสียชีวิต 2 ราย ไม่นานหลังจากเข้ารับวัคซีน
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง สหราชอาณาจักรบอกว่า ไม่มีความกังวล ส่วนโปแลนด์ ระบุพวกเขาเชื่อว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงทั้งหลาย
สำนักงานยาแห่งยุโรป ระบุว่า จนถึงวันที่ 10 มีนาคม ได้รับรายงานเคสลิ่มเลือดอุดตันทั้งหมด 30 เคส จากบรรดาประชาชนเกือบ 5 ล้านคนที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในเขตเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งมีสมาชิก 30 ชาติ
(ที่มา: รอยเตอร์)