xs
xsm
sm
md
lg

ยุคไบเดน! US ควง EU เผชิญหน้ารัสเซีย คว่ำบาตรตอบโต้วางยาพิษ-คุมขังคู่ปรับปูติน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯในวันอังคาร (2 มี.ค.) กำหนดมาตรการคว่ำบาตรลงโทษรัสเซีย ต่อสิ่งที่พวกเขาอ้างว่ามอสโกพยายามวางยาพิษ อเล็กเซ นาวาลนี แกนนำฝ่ายต่อต้านประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ด้วยสารทำลายระบบประสาทเมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นการท้าทายครั้งโดยตรงที่สุดของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่มีต่อเครมลิน

มาตรการคว่ำบาตรที่กำหนดเล่นงานเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย 7 คน ในนั้นรวมถึงหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคง FSB และองค์กรต่างๆ 14 แห่ง ถือเป็นแนวทางที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งลังเลที่จะเผชิญหน้ากับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน

นาวาลนี วัย 44 ปี ล้มฟุบบนเที่ยวบินในไซบีเรียในเดือนสิงหาคมปีก่อน และถูกลำเลียงทางอากาศส่งตัวไปรักษายังเยอรมนี คณะแพทย์สรุปว่า เขาถูกวางยาพิษด้วยสารทำลายระบบประสาท แต่ทางเครมลินปฏิเสธความเกี่ยวข้องใดๆ กับอาการป่วยของเขา และบอกว่าไม่เห็นจะมีข้อพิสูจน์เลยว่าเขาโดนวางยาพิษ

ทั้งนี้ นาวาลนี ถูกจับกุมตัวในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระหว่างเดินทางกลับมาจากเยอรมนี หลังใช้เวลาพักใหญ่รักษาตัวจากการถูกวางยาพิษ ที่ทางบรรดาชาติตะวันตกระบุว่า เป็นสารทำลายระบบประสาทเกรดทหาร ต่อมา นาวาลนี ถูกคุมขังในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โทษฐานละเมิดทัณฑ์บน ซึ่งเขาอ้างว่าข้อกล่าวหาต่างๆ นั้น มีแรงจูงใจทางการเมือง และถูกส่งตัวไปยังทัณฑนิคมแห่งหนึ่งเมื่อวันจันทร์ (1 มี.ค.)

“ประชาคมข่าวกรองของสหรัฐฯประเมินด้วยความมั่นใจอย่างสูงว่า บรรดาเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงกลางแห่งรัสเซีย (FSB) ใช้สารทำลายระบบประสาทวางยา อเล็กเซ นาวาลนี แกนนำฝ่ายต่อต้าน” เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวระบุ

ในบรรดาผู้ถูกขึ้นบัญชีดำโดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯนั้น ได้แก่ อเล็กซานเอร์ บอร์ทนิคอฟ ผู้อำนวยการ FSB อันเดร ยาริน หัวหน้าคณะกรรมการบริหารนโยบายภายในประเทศของเครมลิน และ อเล็กเซ คริโวรุชโก กับ ปาเวล โปปอฟ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ

นอกจากนี้แล้ว กระทรวงการคลังสหรัฐฯยังขึ้นบัญชีดำ เซอร์เก คิริเยนโก อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งตอนนี้เป็นรองหัวหน้าคณะทำงานหมายเลข 1 ของปูติน รวมถึง อเล็กซานเดอร์ คาลาชนิคอฟ ผู้อำนวยการทัณฑสถานรัฐบาลกลางรัสเซีย และ อิกอร์ คราสนอฟ อัยการสูงสุด

ผลก็คือจะอายัดทรัพย์สินทั้งหมดของทั้ง 7 คน ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจศาลของสหรัฐฯ และพลเมืองอเมริกาจะถูกห้ามทำธุรกรรมกับพวกเขา นอกจากนี้แล้ว บุคคลหรือองค์กรต่างชาติใดๆที่รู้เห็นอำนวยความสะดวกแก่พวกเขาในการทำธุรกรรมต่างๆ ก็เสี่ยงถูกคว่ำบาตรเช่นกัน

ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ทั้ง 7 คนมีทรัพย์สินอยู่ในสหรัฐฯหรือไม่ ส่งผลให้เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่ามาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การดำเนินการเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น “เรายังเน้นย้ำข้อเรียกร้องของเรา ขอให้รัฐบาลรัสเซียปล่อยตัวนาวาลนี” โฆษกระบุ


ขณะเดียวกัน ซากี ยังได้ปกป้องการตัดสินใจไม่คว่ำบาตร ปูติน หรือ เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯเชื่อว่าเป็นผู้อนุมัติปฏิบัติการจับกุม หรือฆาตกรรมนักข่าววอชิงตันโพสต์ จามาล คาช็อกกี ปี 2018 ระบุมันสะท้อนความจำเป็นที่ต้องคงความสัมพันธ์ให้ก้าวไปข้างหน้า

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯบอกกับผู้สื่อข่าวระหว่างแถลงข่าวทางไกล ว่า การเล็งเป้าเล่นงาน นาวาลนี ผู้ซึ่งตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชันในรัสเซีย เป็นตัวอย่างล่าสุดในความพยายามปิดปากผู้เห็นต่างของรัสเซีย

นอกจากบุคคลที่กล่าวมา สหรัฐฯยังได้คว่ำบาตรองค์กรต่างๆ 14 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสารเคมีและชีวภาพของรัสเซีย ในนั้นประกอบด้วยสถาบันวิจัยของรัฐบาล 1 แห่ง และองค์กรคู่สัญญาการค้า 13 แห่ง ซึ่งอยู่ในรัสเซีย 9 แห่ง ในเยอรมนี 3 แห่งและสวิตเซอร์แลนด์ 1 แห่ง

มาตรการของสหรัฐฯสอดคล้องกับสหภาพยุโรป ซึ่งในวันอังคาร (2 มี.ค.) กำหนดมาตรการคว่ำบาตรในเชิงสัญลักษณ์เป็นส่วนใหญ่ ต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย 4 คน ที่มีความใกล้ชิดกับปูติน ความเคลื่อนไหวที่คณะรัฐมนตรีอียูเห็นพ้องกันตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ในแนวทางตอบโต้กรณีมอสโกจำคุกนาวาลนี

ในมาตรการคว่ำบาตรของอียู ประกอบด้วย อเล็กซานเดอร์ บาสทรายกิน คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งมีหน้าที่สืบสวนคดีอาชญากรรมสำคัญๆ พร้อมรายงานตรงต่อปูติน และ วิคตอร์ โซโลตอฟ หัวหน้ากองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิของรัสเซีย ที่เคยคู่ใช้ความรุนแรงกับนาวาลนีในปี 2018 เช่นเดียวกับ คราสนอฟ และ คาลาชนิคอฟ

อย่างไรก็ตาม มาตรการคว่ำบาตรของอียูไม่เป็นไปตามเสียงเรียกร้องของบรรดาผู้สนับสนุนนาวาลนี ที่ต้องการให้ลงโทษบรรดานักธุรกิจมั่งมีทั้งหลายรอบๆตัวของปูติน ที่รู้จักกันในฐานะกลุ่มคนชนชั้นปกครอง ซึ่งเดินทางเข้าออกอียูเป็นประจำ

ต่างจากมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกที่เคยกำหนดเล่นงานเศรษฐกิจรัสเซียในปี 2014 ตอบโต้กรณีมอสโกผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน พวกผู้เชี่ยวชาญมองว่ามาตรการคว่ำบาตรการเดินทางและอายึดทรัพย์สินในครั้งนี้ดูจะส่งผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหลายเหล่านั้นของเครมลิน ไม่มีเงินทุนอยู่ในธนาคารทั้งหลายของอียู หรือไม่ค่อยเดินทางมายังอียู

กระนั้นก็ดี ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของสหรัฐฯ เป็นการส่งสัญญาณว่า ไบเดน ใช้แนวทางที่เข้มข้นกับปูตินมากกว่าทรัมป์ “เราคาดหมายว่า ความสัมพันธ์นี้ยังคงเป็นความท้าทาย” เจ้าหน้าที่อเมริการายหนึ่งกล่าว พร้อมระบุว่าวอชิงตันจะทำงานกับมอสโก ก็ต่อเมื่อมันเป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ

ก่อนหน้าที่สหรัฐฯแถลงมาตรการคว่ำบาตร เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียบอกว่า มอสโกจะตอบโต้อย่างสมน้ำสมเนื้อกับมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ใดๆของทางสหรัฐฯ ในประเด็นเกี่ยวกับนาวาลนี

(ที่มา: รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น