xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน-รัสเซีย-อาเซียน’เน้นท่าทีไม่แทรกแซง ขณะ‘สหรัฐฯ’หวังระดม‘พันธมิตร’กดดันหนักฝ่ายทหารพม่า พร้อมชู‘หลักการสูงส่ง’ลบภาพแย่ๆ ยุค‘ทรัมป์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร


พวกผู้ประท้วงต่อต้านฝ่ายทหารทำรัฐประหารยึดอำนาจและเรียกร้องให้ปล่อยตัวอองซานซูจี ชุมนุมกันในเมืองย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 9 ก.พ.
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Myanmar coup infused with geopolitical intrigue
by MK Bhadrakumar
09/02/2021

อินเดียเข้าข้างสหรัฐฯในการประณามการก่อรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายทหารพม่า ทว่าแดนภารตะจะสามารถรักษาผลประโยชน์ของตนเองได้ดีกว่ามาก ถ้าหากอยู่เคียงข้างจีนและรัสเซียในการแสดงท่าทีที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย

รัฐบาลอินเดียได้ออกมาเรียกร้องอย่างห้าวเป้งเมื่อวันที่ 1 กุมภพันธ์ ว่า “หลักนิติธรรมและกระบวนการทางประชาธิปไตยจักต้องได้รับการเคารพยึดมั่นเอาไว้” ในพม่า (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.mea.gov.in/press-releases.htm?dtl/33434/Press_Statement_on_developments_in_Myanmar)

คำแถลงนี้ ที่ออกมาภายหลังได้รับแรงกระตุ้นปลุกใจจากวอชิงตัน คือการเข้าก้าวก่ายแทรกแซงอย่างไม่มีความขวยเขิน และก็ช่างย้อนแย้งอย่างยิ่ง เนื่องจากมองข้ามโดยสิ้นเชิงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เรื่องสิทธิมนุษยชน, หลักนิติธรรม, แนวคิดยอมรับพหุนิยมทางประชาธิปไตย, ตลอดจนหลักการอื่นๆ ทำนองเดียวกันนี้ คือค่านิยมสากลซึ่งอินเดียเองก็สามารถ (และสมควร) ที่จะถูกไล่เรียงให้แสดงความยอมรับความผิดพลาดด้วยเช่นกัน

ความกระตือรือร้นที่จะประกาศใช้ใบสั่งยาแบบลัทธิอนุรักษนิยมใหม่ (neo-conservative) เช่นนี้จากวอชิงตัน อาจจะไม่ได้เป็นการเอื้อเฟื้อแก่ผลประโยชน์ของอินเดียโดยภาพรวมแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้เป็นการเอื้อเฟื้อแก่ผลประโยชน์ของอินเดียในพม่า

รัฐบาลอินเดียล้มเหลวไม่เป็นท่าในการวัดหยั่งให้ทราบตระหนักถึงแรงจูงใจต่างๆ ของสหรัฐฯ สำหรับการที่พวกเขากระโจนเข้าขี่ม้าขาวสูงตระหง่านแห่งประชาธิปไตยอย่างรวดเร็วเหลือเกินภายหลังเกิดเหตุการณ์จลาจลที่อาคารแคปิตอลแห่งรัฐสภาอเมริกันในกรุงวอชิงตัน ดีซี. เมื่อเดือนมกราคมนี้เอง ประเด็นต่างๆ ทางสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ใช้สอยคล่องแคล่วสำหรับสหรัฐฯในการเรียกร้องระดมเหล่าพันธมิตร ณ ช่วงจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อที่ความเป็นผู้นำของพวกเขาในกลุ่มพันธมิตรแห่งสองฟากฝั่งแอตแลนติกกำลังง่อนแง่นคลอนแคลน และเหล่ามหาอำนาจยุโรปรายใหญ่ๆ ไม่ได้อยู่ในภาวะเห็นดีเห็นงามชนิดมองตาก็รู้ใจกับประดายุทธศาสตร์ระดับโลกของวอชิงตันในเรื่องรัสเซียและจีน รวมทั้งเยาะหยันคำขวัญที่แฝงฝังไว้ด้วยอารมณ์หวนย้อนอดีตของวอชิงตันที่ว่า “อเมริกากลับมาแล้ว” (America is back)

อนิจจา! รัฐบาลอินเดียยังล้มเหลวไม่ได้ปรึกษาหารือกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทั้งๆ ที่นิวเดลีชอบท่องซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ตนเองเป็นส่วนประกอบที่เป็น “ส่วนแกนกลาง” ของกลุ่มประเทศดังกล่าว คำแถลงของประธานกลุ่มอาเซียนที่ออกมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์เช่นกันนั้น มีเนื้อหาเตือนให้ระลึกถึง “จุดประสงค์และหลักการต่างๆ ที่ระบุเอาไว้ในกฎบัตรอาเซียน ซึ่งก็รวมถึงการเคารพในหลักการแห่งอธิปไตย, ความเสมอภาค, บูรณภาพแห่งดินแดน, การไม่เข้าก้าวก่ายแทรกแซง, การมีฉันทามติ, และเอกภาพความสามัคคีในความแตกต่างหลากหลาย”

พูดโดยสรุปก็คือ อินเดียเลือกที่จะเข้าร่วมในขบวนกองเกวียนของสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, และออสเตรเลีย ในขณะที่ อาเซียน และ จีน ใช้จุดยืนที่มีความแตกต่างออกไปอย่างชัดเจน เรื่องของภูมิรัฐศาสตร์มีบทบาทอย่างสำคัญสำหรับการณ์นี้ ทว่าสหรัฐฯก็เกิดความตระหนักรู้ตัวขึ้นมาถึงความโง่เขลานี้แล้ว และที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ เจค ซุลลิแวน (Jake Sullivan) ก็ได้เร่งรีบสาละวนติดต่อกับเหล่าเอกอัครราชทูตของชาติอาเซียนในกรุงวอชิงตัน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2021/02/04/statement-by-nsc-spokesperson-emily-horne-on-national-security-advisor-jake-sullivans-call-with-asean-ambassadors/)

นิวเดลีพลาดพลั้งอย่างงี่เง่าเช่นนี้ได้ยังไง? ปัจจัยสำคัญที่สุดเหนืออื่นใดเลย ก็คือเป็นเพราะอินเดียมีความเข้าใจที่ผิดพลาดเกี่ยวกับสถานการณ์พม่า

พวกนักวิเคราะห์ชาวอินเดีย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://theprint.in/diplomacy/india-plans-to-steer-myanmar-away-from-china-amid-democratic-transition-after-suu-kyi-win/543705/) มีทัศนะความคิดเห็นต่อพัฒนาการต่างๆ ของโลกโดยเอาแต่มองผ่าน “เลนส์จีน” ของพวกเขากันมากขึ้นทุกที และได้เริ่มต้นฝันเฟื่องกันว่า ชัยชนะอย่างมโหฬารของอองซานซูจีในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว คือการอำนวยโอกาสให้แก่อินเดียที่จะ “ขึ้นเกียร์สูงเพื่อประกาศใช้ยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากกับพม่า ภายใต้นโยบาย ‘เพื่อนบ้านต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก’ (Neighborhood First) ของนิวเดลี ... เพื่อนำเอาพม่าเข้ามาอยู่ภายใต้โครงสร้างอินโด-แปซิฟิก” เพื่อที่จะนำเอาประเทศนั้น (พม่า) เข้าผูกพันธมิตรกับ “ประเทศต่างๆ ‘ซึ่งมีความคิดอย่างเดียวกัน’ ให้มากขึ้น ... ในการยืนหยัดอย่างมั่นคงเพื่อต่อต้านคัดค้านจีน ... เพื่อทำให้พม่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายอินโด-แปซิฟิก ... (และ) นำพาพม่าให้ออกมาจากอุ้มมือของจีน”

ทัศนะความคิดเห็นทำนองนี้เปิดโปงแพร่งพรายให้เห็นความคิดจิตใจแบบใครชนะกวาดเดิมพันไปหมดแต่ผู้เดียว (zero-sum mindset) ซึ่งงอกเงยออกมาจากความคิดหวาดกลัวจีนอย่างมืดบอด อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงๆ ต่างๆ ในภาคสนามเป็นสิ่งที่มีความสลับซับซ้อนมากมายกว่านี้นักหนา จุดสำคัญก็คือว่า ปักกิ่งประสบความสำเร็จอย่างชาญฉลาดมาเป็นเวลาหลายๆ ปีแล้วในการสร้างความสัมพันธ์ที่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกันและความเคารพซึ่งกันและกันกับซูจี คู่ขนานไปกับการบ่มเพาะการติดต่อเชื่อมโยงระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy หรือ NLD) ของเธอ

ไม่เหมือนกับวาทกรรมของฝ่ายตะวันตกที่เรียก ซูจี ว่าเป็น ไอคอนแห่งประชาธิปไตยของพม่า ปักกิ่งถือว่าเธอเป็นนักการเมืองผู้มุ่งผลในทางปฏิบัติ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://en.people.cn/n3/2016/0817/c90000-9101109.html) ซึ่งไม่เคยเลยที่จะพูดจาแสดงความเห็นอันจะเป็นอันตรายต่อสายสัมพันธ์จีน-พม่า อีกทั้งเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นอย่างชัดแจ้งในการธำรงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศทั้งสองเอาไว้ รวมทั้งใช้จุดยืนที่อ่อนโยนมาโดยตลอดในประเด็นว่าด้วยทะเลจีนใต้

ปักกิ่งมีความประทับใจอย่างใหญ่หลวงว่า ถึงแม้ ซูจี ต้องการความสนับสนุนจากฝ่ายตะวันตก แต่เธอก็มีความแน่วแน่ยืนกรานในเรื่องอธิปไตยแห่งชาติ สามารถกล่าวได้ว่ามันเป็นคุณสมบัติที่สอดคล้องต้องกันกับที่จีนปรารถนาจะให้เหล่าเพื่อนบ้านของตนยึดถือปฏิบัติ (ดูเพิ่มได้ที่ https://news.cgtn.com/news/2020-01-17/In-The-Spotlight-Aung-San-Suu-Kyi-from-idealism-to-pragmatism-NkoXdk1I40/index.html) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้พบปะต้อนรับ ซูจี ถึง 7 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา

หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ได้ไปเยือนพม่าเมื่อวันที่ 12 มกราคม โดยได้พบหารือกับ ซูจี และแสดงความสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อรัฐบาลของเธอ รวมทั้งถ่ายทอดแสดงออกถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่ว่าจีนต้องการทำงานร่วมกับเธอในระหว่างวาระสมัยที่สองของเธอ นอกจากนั้นทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงเห็นชอบที่จะผลักดันเดินหน้าโครงการต่างๆ ตามแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ตลอดจนยึดมั่นในข้อตกลงระยะ 5 ปีว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและทางเศรษฐกิจ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.china.org.cn/world/2021-01/12/content_77108641.htm)

เป็นที่ชัดเจนว่า ลู่ทางอนาคตสำหรับ “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า” ภายใต้แผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ในเวลานี้ได้ตกเข้าสู่ความไม่แน่นอนมากขึ้นด้วยซ้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 1 เดือนก่อน

อันที่จริงแล้ว มีรายงานทางสื่อจีนหลายชิ้นส่งเสียงออกมาด้วยถ้อยคำเตือนให้ระมัดระวังตัว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.globaltimes.cn/page/202102/1215029.shtml) โดยบอกว่า “พวกบริษัทจีนที่กำลังดำเนินกิจการอยู่ในพม่า จำเป็นที่จะต้องเฝ้าติดตามความเสี่ยงต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับข้อผูกพันตามสัญญา และที่เกี่ยวข้องกับการผิดนัดชำระหนี้ ท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองในปัจจุบัน ...

“การผิดนัดชำระหนี้ของภาครัฐบาลคือความเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพวกโครงการใหญ่ๆ และมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในภาคต่างๆ รวมทั้ง การคมนาคมขนส่งและพลังงาน ... แต่บรรดาบริษัทจีนสามารถที่จะแสวงหาการตัดสินแก้ไขข้อพิพาทระดับระหว่างประเทศได้ ถ้าหากพวกเขาเผชิญกับการริบทรัพย์สินของพวกเขาอย่างผิดกฎหมาย”

มันไม่ใช่ความลับอะไรเลยที่ว่ากองทัพพม่านั้นมุ่งมั่นตั้งใจที่จะวางระยะห่างออกมาจากจีนในระดับหนึ่ง สามารถที่จะกล่าวได้ว่า พัฒนาการต่างๆ ในพม่าถือเป็นกรณีศึกษาอย่างโดดเด่นทีเดียวสำหรับการที่ปักกิ่งรู้สึกเสียใจอย่างเงียบๆ จากการที่ระบอบประชาธิปไตยสไตล์ตะวันตกในประเทศเพื่อนบ้านรายหนึ่งได้ถูกบดบังมืดมิดลงอย่างฉับพลัน

แน่นอนทีเดียว การรัฐประหารยึดอำนาจในพม่าคราวนี้ ก่อให้เกิดภาระทางการเมืองแก่จีนในแง่มุมที่ว่า ปักกิ่งไม่สามารถ (และก็จะไม่) ใช้จุดยืนที่คัดค้านฝ่ายทหารของพม่า แต่พร้อมกันนั้นก็ตกอยู่ใต้การถูกบีบบังคับให้ต้องคอยระวังป้องกันและให้ความปกป้องคุ้มครองระดับระหว่างประเทศแก่ฝ่ายทหารของพม่า

มองกันโดยภาพรวมแล้ว สถานการณ์นี้กลายเป็นภาระหน้าที่ใหญ่ในเชิงลบทั้งทางการเมืองและทางการทูตสำหรับปักกิ่ง และไม่สามารถนำมาซึ่งข่าวดีใดๆ เลย ด้วยเหตุนี้เอง จีนจึงให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ แก่การที่ฝ่ายต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องของพม่าจะหาทางแก้ไขความแตกต่างระหว่างกันของพวกเขา โดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและภายในกรอบโครงทางระเบียบกฎหมาย เวลาเดียวกันนั้นก็ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพ ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจีนนั้น อาชีพทางการเมืองของ ซูจี ตกอยู่ในอันตรายเป็นอย่างยิ่ง

แน่นอนทีเดียว ซูจี ได้ทำความผิดพลาดที่ร้ายแรงยิ่งบางประการอยู่เหมือนกัน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaienquirer.com/23687/suu-kyi-is-not-blameless-in-mondays-military-takeover-of-myanmar/) เธอพึ่งพาอาศัยผู้คนที่จงรักภักดีต่อเธอเป็นการส่วนตัวอย่างมากมายเหลือเกิน โดยที่ไม่สนใจใยดีเกี่ยวกับความสามารถหรือความซื่อสัตย์ของพวกเขา นี่ไม่ใช่แค่การทุจริตคอร์รัปชั่นอันบานเบิกเท่านั้น หากแต่ยังนำไปสู่ความล้มเหลวของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ได้ให้สัญญาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการสร้างงาน

สไตล์ในการเป็นผู้นำของเธอนั้นบ่อยครั้งทีเดียวมีลักษณะเป็นเผด็จการ เธอได้หันไปใช้พวกกฎหมายเข้มงวดรุนแรงต่างๆ มาใช้ปิดปากหรือคุมขังพวกนักวิพากษ์วิจารณ์

ซูจี ยังไม่ได้มีอำนาจควบคุมเหนือบางภาคส่วนที่สำคัญของเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งก็รวมไปถึงบริษัท เมียนมาร์ อีโคโนมิก โฮลดิ้งส์ จำกัด (Myanmar Economic Holdings Ltd) และบริษัท เมียนมาร์ อีโคโนมิก คอร์เปอเรชั่น (Myanmar Economic Corporation) ตลอดจนเครือข่ายของวิสาหกิจธุรกิจภาคเอกชนภายในประเทศ ซึ่งเป็นที่รู้จักเรียกขานกันว่า “บรรดาบริษัทพวกพ้อง” (crony companies) ที่คอยสร้างรายรับมาให้แก่ฝ่ายทหารและเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ความเป็นอิสระอยู่ได้ด้วยตนเองของกองทัพ

ความผิดพลาดข้อใหญ่ที่สุดของ ซูจี คือการที่เธอเชื่อว่า โดยผ่านแบรนด์ลัทธิชาตินิยมในแบบของเธอ เธอสามารถที่จะไม่สนใจใยดีกับข้อกล่าวหาต่างๆ ในเรื่องการล้างเผ่าพันธุ์
ที่ถูกนำมาใช้เล่นงานชาวโรฮิงญาโดยตรง แต่จากกระบวนการในเรื่องนี้เอง เธอได้สูญเสียความสนับสนุนที่เคยได้รับจากฝ่ายตะวันตก (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/commentisfree/2017/sep/05/rohingya-aung-san-suu-kyi-nobel-peace-prize-rohingya-myanmar) พิจารณาจากจุดนี้ กล่าวได้ว่าเธอกำลังมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่ขอหยิบขอยืมมา โดยที่ฝ่ายทหารแทบไม่ได้ปกปิดซ่อนเร้นความรังเกียจไม่พอใจที่มีต่อเธอเลย

แน่นอนอยู่แล้วว่า ฝ่ายทหารพม่านั้นคาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าถึงผลกระทบและปฏิกิริยาจากประชาคมระหว่างประเทศ รวมทั้งขบคิดพิจารณาว่าคณะบริหารใหม่ของสหรัฐฯนั้นกำลังมีภาระวุ่นวายอยู่กับประเด็นปัญหาต่างๆ ภายในประเทศของตนเอง พม่าไม่ได้เป็นแม้กระทั่งเรื่องที่มีความสำคัญระดับท็อปเทนของนโยบายการต่างประเทศของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ด้วยซ้ำไป

แต่ว่ารัฐสภาสหรัฐฯนั้นกำลังแสดงให้เห็นว่าจะไม่ยอมอดทนอดกลั้นต่อการทำรัฐประหารล้มล้างการปกครองในพม่า และจะออกแรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อคณะบริหารไบเดน ให้ดำเนินการลงโทษฝ่ายทหาร ด้วยการใช้มาตรการแซงก์ชั่นต่างๆ , ตัดความช่วยเหลือ, หรือพุ่งเป้าเล่นงานเหล่านายพลของพม่าตลอดจนบริษัทต่างๆ ของพวกเขา

อย่างไรก็ดี การเข้ายึดครองอำนาจของฝ่ายทหารพม่านั้นไม่ได้เป็นที่คาดหวังว่าจะมีการเลี้ยวกลับย้อนคืน และความน่าจะเป็นก็คือว่าวอชิงตันจะสูญเสียอำนาจต่อรองเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามทีซึ่งตนเองเคยมีอยู่ในกรุงเนปิดอ เวลานี้วอชิงตันกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาทางเลือกทางนโยบายต่างๆ อยู่ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/article/us-myanmar-politics-usa-options-analysis/analysis-biden-threatened-myanmar-sanctions-what-are-his-options-idUSKBN2A20ES?rpc=401&)

แต่มันอาจจะมี แผน บี ได้เหมือนกัน อันที่จริงแล้ว บิลล์ ริชาร์ดสัน (Bill Richardson) อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติ ผู้ซึ่งไม่ได้เป็นคนแปลกหน้าเลยสำหรับพม่า ได้ส่งเสียงแสดงความคิดเห็นเอาไว้ตั้งแต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ถึงเวลาแล้วสำหรับฝ่ายตะวันตกที่จะต้องมองข้ามเลยไปจาก ซูจี เพื่อหาหน้าใหม่ๆ ในหมู่ฝ่ายค้านของพม่า หนทางหนึ่งก็คือการหล่อหลอมคณะผู้นำที่จะเป็นเพื่อนมิตรกับสหรัฐฯขึ้นมา

มีสัญญาณหลายๆ ประการซึ่งแสดงให้เห็นว่า พวกหน่วยงานของฝ่ายตะวันตกกำลังยุยงเยาวชนในพม่าให้ก่อการประท้วงขึ้น ทำนองเดียวกับที่ได้เกิดขึ้นในฮ่องกงและไทย ฝ่ายทหารพม่าก็ได้จัดแจงบีบคั้นเข้มงวดการใช้เฟซบุ๊กและอินเทอร์เน็ต หรือว่านี่กำลังจะเกิดการปฏิวัติสี (color revolution) ขึ้นมาอีกสีหนึ่ง?

ตรงนี้เป็นจุดที่บทบาทของรัสเซียสมควรได้รับความใส่ใจนำมาพิจารณากัน การต่อสู้เพื่ออิทธิพลในพม่านั้นมีมิติทางภูมิรัฐศาสตร์ ด้วยเหตุผลต่างๆ อันชัดเจนอยู่แล้ว ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ภายหลังรัสเซียกับพม่าได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางทหารระหว่างกัน การปรากฎตัวของหมีขาวในแดนหม่องก็ได้เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ และที่สำคัญมากก็คือ มันเกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่เงาแห่งการปรากฏตัวของรัสเซียในมหาสมุทรอินเดียก็กำลังทอดตัวยาวออกไปมากขึ้นทุกทีเช่นกัน

รัสเซียได้ปรากฏตัวขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้เองในฐานะเป็นพันธมิตรทางทหารรายใหญ่ของพม่า แดนหมีขาวเปิดศูนย์ให้บริการแห่งหนึ่งขึ้นในประเทศนี้ อเล็กซานเดอร์ ฟอมิน (Alexander Fomin) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซียบอกกับสื่อมวลชนเมื่อเดือนที่แล้วว่า พม่านั้นแสดง “บทบาทอันสำคัญในการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคแถบนี้”

เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์แบบอยู่แล้วว่า รัสเซีย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญอย่างเอกอุในเรื่องการต่อสู้ตอบโต้กับการปฏิวัติสี จะมีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันข่าวกรองกับฝ่ายทหารพม่า ปัจจุบันมีนายทหารจากพม่ามากกว่า 600 คนกำลังศึกษาอยู่ตามสถาบันทางการทหารแห่งต่างๆ ของรัสเซีย มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า ก็เคยไปเยือนรัสเซีย 6 ครั้งในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ มากกว่าที่เขาไปเยือนประเทศอื่นๆ ไม่ว่าที่ไหน

ระหว่างที่รัฐมนตรีกลาโหม เซียเก ชอยกู (Sergei Shoigu) ของรัสเซียไปเยือนกรุงเนปิดอเมื่อเดือนที่แล้ว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/defense/1247857) สื่อมวลชนของรัสเซียได้อ้างอิง มิน อ่อง หล่าย ว่าได้พูดเอาไว้ว่า “เหมือนกับเพื่อนมิตรผู้ซื่อสัตย์ รัสเซียได้สนับสนุนพม่าเสมอมาในยามที่เกิดความยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 4 ปีหลังมานี้” นอกจากนั้นทั้งสองฝ่ายยังได้ลงนามกันในข้อตกลงฉบับหนึ่งที่รัสเซียจะจัดส่งระบบจรวดและปืนใหญ่ป้องกันภัยทางอากาศแบบปานซีร์-เอส 1 (Pantsir-S1 missile and artillery air defense systems) ให้แก่พม่า

สำนักข่าวทาสส์ (Tass) ของรัสเซียรายงานว่า “กองบัญชาการของกองทัพพม่าได้แสดงความสนใจในระบบอาวุธก้าวหน้าทันสมัยอย่างอื่นๆ ที่ผลิตจากโรงงานของรัสเซียด้วย” นอกจากนั้นยังมีข่าวว่า ชอยกูได้แสดงความสนใจที่จะทำความตกลงกันเพื่อให้เรือรบรัสเซียเดินทางมาเยือนท่าเรือแห่งต่างๆ ของพม่า

เมื่อนำสิ่งต่างๆ ทั้งหมดมาพินิจพิจารณา เราอาจจะคาดหมายได้ว่าจีนกับรัสเซียน่าที่จะทำตัวเป็น ไฟร์วอลล์ คอยปกป้องพม่าจากการก้าวก่ายแทรกแซงของฝ่ายตะวันตก (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://sputniknews.com/interviews/202102011081945325-myanmar-military-govt-will-try-to-put-some-order-in-social-and-political-life-analyst-says/) ทำนองเดียวกันกับสิ่งซึ่งกำลังเกิดขึ้นในเอเชียกลาง (คำแถลงของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งซึ่งกำลังเกิดขึ้นในพม่า ปรากฏว่ามีการต่อรองประนีประนอม จนกระทั่งหลีกเลี่ยงไม่ได้มีการอ้างอิงใดๆ เกี่ยวกับฝ่ายทหารของพม่าหรือการทำรัฐประหารยึดอำนาจในพม่าเลย และไปย้ำเน้นเรื่องการปรองดองแห่งชาติ ตลอดจนมีการเอ่ยอ้างอย่างเจาะจงเรื่องให้ปล่อยตัวอองซานซูจี ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.un.org/press/en/2021/sc14430.doc.htm) ทั้งนี้ รัสเซียเห็นด้วยกับความรับรู้ความเข้าใจของจีนที่ว่า กลุ่มคว็อด (Quad) คือปัจจัยหนึ่งที่บ่อนทำลายเสถียรภาพในความมั่นคงของภูมิภาค

เป็นที่ชัดเจนว่า อินเดียจำเป็นที่จะต้องพยายามยึดมั่นอยู่กับภาพโดยรวม มันจะไม่เป็นความได้เปรียบอะไรสำหรับอินเดียขึ้นมาหรอก ในการสร้างความรับรู้ความเข้าใจอันผิดพลาดที่ว่า อินเดียกำลังเข้าร่วมกับขบวนกองเกวียนในโปรเจ็กต์บางอย่างของพวกอนุรักษนิยมใหม่อังกฤษ-อเมริกัน เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองขึ้นในพม่า ในเรื่องเกี่ยวกับเสถียรภาพของพม่านั้น อินเดียเองก็เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสำคัญรายหนึ่ง และจะมีจุดบรรจบแห่งผลประโยชน์กับรัสเซียและจีน

ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับ Globetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์

เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน (ขวา) จับมือกับ อองซานซูจี ผู้นำในทางพฤตินัยของพม่าในเวลานั้น (ซ้าย) ในพิธีต้อนรับซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงเนปิดอ เมืองหลวงของพม่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2020

 (ภาพจากแฟ้มเผยแพร่ทางทวิตเตอร์) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กับ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า ซึ่งเวลานี้กลายเป็นผู้นำการรัฐประหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น