xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’คือ ‘ผู้ชนะในทางภูมิรัฐศาสตร์’ ของการรัฐประหารยึดอำนาจที่พม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เบอร์ทิล ลินต์เนอร์


พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่า ผู้นำการรัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 1 ก.พ. 2021 (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 19 ก.ค. 2018)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

China the geopolitical winner of Myanmar’s coup
by Bertil Lintner
04/02/2021

ถึงแม้จีนมีความสัมพันธ์ที่สบายอกสบายใจกับรัฐบาลพรรค NLD ของอองซานซูจี ขณะที่ มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดซึ่งเป็นผู้นำการรัฐประหารในพม่าคราวนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่ามีความระแวงระวังไม่ไว้วางใจปักกิ่ง แต่จากการที่สหรัฐฯและฝ่ายตะวันตกประณามเล่นงานการยึดอำนาจครั้งนี้อย่างรุนแรง ส่วนจีนก็แสดงตนเข้าปกป้องพม่าแล้ว ดังนั้นปักกิ่งน่าที่จะได้เห็นผลประโยชน์ของตนงอกเงยเพิ่มพูนขึ้นในพม่าภายใต้ยุคใหม่แห่งการปกครองของฝ่ายทหาร

เชียงใหม่ - เมื่อฝุ่นปลิวฟุ้งตลบในเหตุการณ์ฝ่ายทหารพม่าก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ค่อยสงบทุเลาลง มันก็เป็นที่กระจ่างแจ่มแจ้งเรียบร้อยแล้วว่า มหาอำนาจต่างประเทศรายสำคัญที่สุดซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการหยุดชะงักของประชาธิปไตยในพม่าก็คือ จีน

ขณะที่คณะบริหารประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ รีบออกมาข่มขู่จะใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อพวกผู้ก่อรัฐประหารของพม่า กระทรวงการต่างประเทศจีนกลับใช้เวลายาวนานกว่าโดยเปรียบเทียบ ก่อนที่จะออกความเห็นแสดงท่าทีของตน

ในการแถลงข่าวตามปกติของกระทรวงเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเหล่าสมาชิกของรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งของพม่าถูกควบคุมตัว โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน หวัง เหวินปิน (Wang Wenbin) บอกว่า ปักกิ่ง “รับทราบสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในพม่า และกำลังอยู่ในกระบวนการของการทำความเข้าใจสถานการณ์ให้มากขึ้น”

จากนั้นเขาก็กล่าวต่อไปว่า “ทุกๆ ฝ่ายในพม่า” ควร “รับมือจัดการกับความแตกต่างของพวกเขาอย่างถูกต้องเหมาะสม ภายใต้รัฐธรรมนูญและกรอบโครงทางกฎหมาย” เพื่อที่จะได้สามารถ “ธำรงรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและทางสังคมเอาไว้”

ในทางตรงกันข้าม สหรัฐฯ “ขอประณาม (การรัฐประหารครั้งนี้) ด้วยถ้อยคำอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้” และวิพากษ์โจมตีพวกผู้นำทหารของพม่าที่ปฏิเสธไม่ยอมรับ “เจตนารมณ์ของประชาชน” โฆษกผู้หนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯกล่าวว่า การประเมินเหตุการณ์ภายหลังการรัฐประหารนี้คราวนี้ จะจุดชนวนให้มี “การจำกัดในด้านต่างๆ อย่างแน่นอน” ต่อรัฐบาลพม่า

เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯให้เงินแก่พม่า 135 ล้านดอลลาร์ ทว่าในทางเป็นจริงแล้วแทบไม่มีอะไรจากเม็ดเงินเหล่านี้ที่จะได้รับความกระทบกระเทือน เนื่องจากเกือบทั้งหมดถูกส่งผ่านไปทางพวกองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรภาคประชาสังคม ดังนั้นความช่วยเหลือเหล่านี้จึงน่าที่จะคงเอาไว้ต่อไป

จากการที่ไบเดนประกาศซ้ำแล้วซ้ำอีกที่จะเน้นหนักดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบมุ่งโปรโมตส่งเสริมประชาธิปไตย ดังนั้นเขาก็จะถูกบีบคั้นบังคับจนยากลำบากที่จะมีปฏิสัมพันธ์เกี่ยวข้องใดๆ กับพวกคณะก่อรัฐประหาร เพื่อให้ได้แต้มบวกขึ้นมาในการเดินเกมช่วงชิงผลประโยชน์ทางการเมืองกับจีน

แต่ทางฝ่ายปักกิ่งนั้นก็คงจะยังวางตัวแบบเดิม เหมือนคราวที่เกิดกระแสโกรธเกรี้ยวเกี่ยวกับพม่าครั้งก่อนๆ รวมทั้งวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาซึ่งมีเสียงก่นประณามอย่างรุนแรงมากในโลกตะวันตก นั่นคือจีนไม่น่าที่จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐบาลทหารชุดใหม่ของพม่า แม้กระทั่งในกรณีที่ทิศทางและนโยบายใหม่ๆ ของพวกเขาอาจกัดเซาะบั่นทอนบรรดาผลประโยชน์และโครงการต่างๆ ที่กำลังเดินหน้ากันอยู่ของแดนมังกรในแดนหม่องไปบางส่วนบางระดับ

ทั้งนี้ พวกนักธุรกิจจีนอาจจะกลุ้มอกกลุ้มใจเกี่ยวกับอนาคตของคำมั่นสัญญาต่างๆ ที่ให้กันเอาไว้ ตลอดจนดีลทั้งหลายซึ่งได้ตกลงกับคณะรัฐบาลพรรคสันติภาพแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy หรือ NLD) ของนางอองซานซูจี ที่เวลานี้ถูกโค่นล้มไปแล้ว

ในช่วงก่อนเกิดรัฐประหารคราวนี้ ปักกิ่งมีความสัมพันธ์แบบสบายใจเป็นกันเองกับอองซานซูจีตลอดจนพรรคของเธอ เพราะเหล่าผู้วางนโยบายและกลุ่มธุรกิจต่างๆ ของจีนค้นพบว่า การดีลกับพวกเขานั้นสะดวกง่ายดายกว่ากับติดต่อกับกองทัพพม่า ซึ่งรู้จักเรียกขานกันในนาม “ทัดมาดอ” (Tatmadaw) ที่มีความเป็นชาตินิยมอย่างแรงกล้าเหลือเกิน

ระบอบปกครองทหารของพม่าชุดก่อน ได้ริเริ่มดำเนินการปฏิรูปบางอย่างบางประการด้วยจุดมุ่งหมายที่จะให้ประเทศเปิดกว้างมากขึ้น –และสามารถดึงดูดการลงทุนจากโลกตะวันตกได้ดีขึ้นด้วย— ภายหลังดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเริ่มตั้งแต่การจัดการเลือกตั้งในปี 2010 ทั้งนี้ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะลดทอนการที่ประเทศชาติต้องพึ่งพาอาศัยจีน

แต่หลังจากฝ่ายตะวันตกหันหลังให้แก่รัฐบาลพม่า ภายหลังวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในช่วงปี 2016-2017 ซูจี ซึ่งเป็นนักการเมืองผู้จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อทำตามคำมั่นสัญญาในการรณรงค์หาเสียงของเธอที่จะสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ จึงแทบไม่มีหรือกระทั่งไม่มีทางเลือกเลยนอกจากหันไปหาปักกิ่ง

พม่าได้เข้าร่วมแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ของจีนอย่างเป็นทางการ ตอนที่ ซูจี เข้าร่วมเวทีประชุมเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้ในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2017

จากนั้นประเทศทั้งสองได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับหนึ่งในเรื่องการร่วมมือกันสร้าง “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า” (China-Myanmar Economic Corridor หรือ CMEC) เมื่อปี 2018 ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือทวิภาคีภายในกรอบของ BRI ให้กว้างขวางขึ้นอีก

ในบรรดาโครงการใหญ่ๆ ที่วางแบอยู่บนโต๊ะก่อนหน้าการรัฐประหาร ก็มีอาทิเช่น เส้นทางรถไฟสายใหม่เชื่อมระหว่าง รุ่ยลี่ (Ruili) เมืองของจีนที่อยู่ติดชายแดนพม่า กับ เมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของพม่า และท่าเรือน้ำลึกซึ่งจีนให้เงินทุนสนับสนุนที่เมืองเจาะพยู (Kyaukpyu) ในอ่าวเบงกอล โดยที่นี่ยังทำหน้าที่เป็นสถานีต้นทางสำหรับสายท่อส่งน้ำมันและแก๊สซึ่งแผ่ออกไปทั่วพม่า และไหลเข้าสู่มณฑลอิ๋ว์นหนาน (ยูนนาน) ทางภาคใต้ของจีน

ด้วยเหตุนี้ ปักกิ่งจึงไม่น่าที่จะเสี่ยงภัยแม้กระทั่งแค่ทำให้เกิดอาการสะอึกอย่างเบาบางที่สุดในความสัมพันธ์ที่พวกเขามีอยู่กับพม่าที่ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ในฐานะเป็นชาติเพื่อนบ้านเพียงรายเดียวเท่านั้น ซึ่ง (โดยผ่านโครงการ CMEC) มีความพรักพร้อมอยู่แล้วที่จะช่วยให้จีนสามารถเข้าถึงมหาสมุทรอินเดียเพื่อทำการค้า อีกทั้งเป็นเส้นทางที่อาจเลือกใช้ได้อีกสายหนึ่งสำหรับการขนส่งเชื้อเพลิงซึ่งแดนมังกรสั่งซื้อจากตะวันออกกลาง โดยไม่ต้องพึ่งพาเส้นทางหลักซึ่งคือผ่านไปตามช่องแคบมะละกาที่เต็มไปด้วยอันตรายในทางยุทธศาสตร์

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่า ซึ่งเวลานี้กลายเป็นผู้นำแห่งชาติภายใต้การปกครองในภาวะฉุกเฉินนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่ามีความระแวงระวังเกี่ยวกับการวางตัวเป็นเจ้าใหญ่นายโตของจีนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ดังเห็นได้ว่าช่วงหลังๆ มานี้ “ทัดมาดอ” ได้กระจายแหล่งที่มาของอาวุธที่ตนเองจัดซื้อจัดหาให้อยู่ในลักษณะพึ่งพาอาศัยจีนน้อยลง หลังจากที่เมื่อช่วงทศวรรษ 1990 และต้นทศวรรษ 2000 แดนมังกรคือซัปพลายเออร์รายหลักของพม่าทั้งในเรื่องอาวุธและยุทธภัณฑ์ทางทหารอื่นๆ ซึ่งกองทัพพม่าใช้อยู่ในการสู้รบทำศึกกับพวกกลุ่มกบฎชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ โดยที่บางส่วนของสงครามเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

กระทั่งเร็วๆ นี้เอง นั่นคือช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหมของรัสเซีย เซียเก ชอยกู (Sergey Shoigu) ได้เดินทางมาเยือนพม่าเพื่อร่วมลงนามในข้อตกลงขายอาวุธหลายชนิดของรัสเซีย ตั้งแต่ ระบบจรวดและปืนต่อสู้อากาศยาน ปานต์ซีร์-เอส 1 (Pantsir-S1 anti-aircraft missile and gun systems), โดรนตรวจการณ์ ออร์ลัน-10 อี (Orlan-10E surveillance drone) และเรดาร์ ก่อนหน้านี้ พม่าก็ได้ซื้อเครื่องบินขับไล่ไอพ่น มิก-29 ทำในรัสเซีย รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์, ระบบจรวดป้องกันภัยทางอากาศ, เรดาร์, และปืนใหญ่ จากแดนหมีขาวมาแล้ว

ดีลเหล่านี้เกิดขึ้นมาขณะที่ฝ่ายทหารพม่าได้ร้องเรียนว่า มีกลุ่มกบฎชาติพันธุ์บางกลุ่มซึ่งไม่รู้ว่าใช้วิธีไหนแต่ก็ได้รับอาวุธทำในจีนมาใช้งาน และพวกเขาใช้อาวุธเหล่านี้แหละในการสู้รบกับทัดมาดอ

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายอันมีทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งอย่างสลับซับซ้อนซึ่งจีนนำมาใช้กับพม่า ในด้านที่เป็นไม้อ่อนนั้น จีนซึ่งเคียงข้างโดยรัสเซีย ได้คอยสกัดกั้นอย่างไม่ลดละเมื่อมีความพยายามที่จะหยิบยกประเด็นปัญหาอันเกี่ยวข้องโยงใยกับพม่าขึ้นมาอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์กัน เป็นต้นว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ณ เวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งทั้งสองประเทศต่างมีอำนาจยับยั้งวีโต้ที่จะทำให้ญัตติเหล่านั้นต้องตกไป

ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง จีนได้สกัดขัดขวางคำแถลงที่ร่างขึ้นโดยอังกฤษซึ่งมีเนื้อหาประณามการทำรัฐประหารยึดอำนาจในพม่า นับเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนครั้งแรกที่ว่าปักกิ่งมุ่งหมายที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคณะผู้ปกครองทหารชุดใหม่

ขณะที่ มิน อ่อง หล่าย อาจจะมีความไม่ไว้วางใจจีนโดยสัญชาตญาณ จากบทบาทของแดนมังกรในการสนับสนุนพวกกบฎชาติพันธุ์หลายๆ กลุ่ม รวมทั้งในเวลานี้มีความสัมพันธ์อย่างดีเลิศกับรัสเซีย แต่เขาก็พร้อมที่จะยอมรับว่า จีนเป็นมหาอำนาจต่างประเทศระดับท็อปเพียงรายเดียวเท่านั้นที่เขาสามารถพึ่งพาอาศัยได้ภายหลังเข้าทำรัฐประหารยึดอำนาจ ทั้งนี้เป็นปากคำของบุคคลวงในพม่าหลายๆ ราย

เครื่องบ่งชี้อันชัดเจนประการหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาตั้งใจที่จะขยับเข้าไปใกล้ชิดกับจีนมากยิ่งขึ้น ได้แก่การที่เขาแต่งตั้ง วุนนา หม่อง ลวิน (Wunna Maung Lwin) ให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่

วุนนา หม่อง ลวิน เป็นอดีตทหารที่เคยมีส่วนร่วมในการรุกโจมตีปราบปรามพวกกบฎชาติพันธุ์กะเหรี่ยง รวมทั้งเป็นผู้กำกับดูแลการเข้ายึดกองบัญชาการใหญ่ของ
กบฎเหล่านี้ที่มาเนอร์พลอ (Manerplaw) ในปี 1995 เขาเข้าทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งแรกระหว่างปี 2011 ถึง 2016 ในยุคของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง อดีตนายพลผู้หันมาเป็นนักการเมือง ซึ่งได้นำพาประเทศชาติค่อยๆ แง้มประตูสู่ภายนอกอย่างช้าๆ

เขาเคยเดินทางไปเยือนจีนหลายต่อครั้งครั้งในช่วงเวลานั้น และเป็นคนแรกที่รับรองเห็นชอบต่อการสร้าง “ระเบียงเศรษฐกิจ” ของจีนซึ่งตัดผ่านพื้นที่ทั่วพม่า ระหว่างการไปจีนเมื่อเดือนสิงหาคม 2015 (ก่อนที่พรรค NLD ของอองซานซูจี ชนะการเลือกตั้งครั้งแรกของตนในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้น) เอกสารข่าวของกระทรวงการต่างประเทศจีนอ้างอิงคำพูดของเขาที่กล่าวว่า “พม่าขอขอบคุณจีน” สำหรับความสนับสนุนทางมนุษยธรรม และ “พม่าถือว่าจีนเป็นเพื่อนในยามยาก”

เขายังยกย่องบทบาทของจีนใน “การเป็นคนกลาง” ในสงครามต่างๆ ระหว่าง ทัดมาดอ กับพวกองค์การติดอาวุธของชาวชาติพันธุ์ต่างๆ อันหลากหลายของประเทศ ซึ่งดูเป็นคำแถลงที่จงใจมองข้ามบทบาทแบบตีสองหน้าของจีนในการสู้รบขัดแย้งเหล่านี้

ขณะที่คำแถลงทำนองนี้อาจจัดประเภทให้อยู่ในจำพวกคำหวานเสนาะหูทางการทูต แต่ วุนนา หม่อง ลวิน น่าที่จะหมายความว่าอย่างนั้นจริงๆ อันที่จริงแล้วเป็นที่ทราบกันว่าเขามีจุดยืนต่อต้านตะวันตกและนิยมจีน คนวงในหลายรายเล่าว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งเขากระทั่งบอกกับ เต็ง เส่ง ว่า อย่าไปพบหารือกับ บารัค โอบามา ซึ่งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯในเวลานั้น

แต่แน่หละ ถึงยังไง เต็ง เส่ง ก็ยังคงเดินทางไปพบหารือกับโอบามา ในความพยายามที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์กับฝ่ายตะวันตก โดยที่การพบปะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่ วุนนา หม่อง ลวิน อยู่ที่สำนักงานยูเอ็นในนครเจนีวา เพื่อทำหน้าที่ปกป้องประวัติด้านสิทธิมนุษยชนอันเลวร้ายเหลือเกินของ ทัดมาดอ

ตอนนี้ วุนนา หม่อง ลวิน กลับมาแล้ว และความสัมพันธ์อย่างมีมิตรไมตรีของเขากับพวกเจ้าหน้าที่จีน น่าที่จะได้รับการพิสูจน์ว่ามีความสำคัญยิ่งในเวลาที่ฝ่ายตะวันตกไตร่ตรองพิจารณาที่จะแซงก์ชั่นครั้งใหม่ตลอดจนใช้มาตรการลงโทษอย่างอื่นๆ เพื่อเล่นงานพวกทำรัฐประหารคราวนี้ นี่เป็นอีกครั้งที่จีนตั้งท่าวางตัวเป็น “เพื่อนในยามยาก” อย่างที่ได้กระทำอยู่เสมอในเวลาแห่งวิกฤตสำหรับ ทัดมาดอ

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน (ขวา) จับมือกับ อองซานซูจี ผู้นำในทางพฤตินัยของพม่า (ซ้าย) ในพิธีต้อนรับซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงเนปิดอ เมืองหลวงของพม่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2020

นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน (ขวา) พบปะกับ วุนนา หม่อง ลวิน ซึ่งเวลานั้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของพม่า ณ มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2013  ทั้งนี้  เวลานี้ วุนนา หม่อง ลวิน กลับมานั่งตำแหน่งเดิมอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น