(เก็บความจากเอเชียไทมส์
WWW.asiatimes.com)
Is a US-China war a real possibility?
by Francesco Sisci
15/01/2021
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนเกี่ยวข้องกับพลังต่างๆ จำนวนมากอย่างสลับซับซ้อน และความเข้าใจผิดตลอดจนความสำคัญผิดที่มีอย่างดาษดื่นก็อาจผลักดันให้อภิมหาอำนาจทั้งสองเคลื่อนเข้าสู่การขัดแย้งกันด้วยกำลังอาวุธ
เมื่อดูจากทัศนะมุมมองของจีนแล้ว ปีหนูทอง --ซึ่งเริ่มต้นด้วยการต้องใช้มาตรการอันไม่ต่างอะไรกับภาวะถูกศัตรูปิดล้อม ภายหลังประกาศการปะทุขึ้นมาของโรคระบาดใหญ่ที่สามารถสร้างความวิบัติหายนะอย่างมโหฬารกว้างขวางครั้งแรกของโลกยุคสมัยใหม่ --กำลังจะผ่านพ้นยุติลงด้วยดี
ปักกิ่งสามารถมองไปยังชัยชนะต่างๆ ของตนซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นชุด และความสับสนอลหม่านของสหรัฐอเมริกา ผู้เป็นศัตรูและคู่แข่งขันรายหลัก
จีนลงแรงใช้ควาพยายามจนทำให้ควบคุมโรคระบาดใหญ่โควิด-19 เอาไว้ได้ และเริ่มเดินเครื่องเศรษฐกิจของตนขึ้นมาใหม่ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ของโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ มีผลงานการต่อสู้กับโรคร้ายคราวนี้อย่างย่ำแย่ สร้างความเสียหายให้แก่การผลิตของพวกเขา และยังคงกำลังอยู่ในอาการโซซัดโซเซ
ยิ่งไปกว่านั้น ภายหลังจากเมื่อ 4 ปีก่อน สหรัฐฯได้โยนทิ้งพวกข้อตกลงการค้าเสรีที่เจรจาทำเอาไว้กับเอเชียและกับยุโรป ซึ่งในทางเป็นจริงแล้วจะส่งผลให้กลายเป็นการโดดเดี่ยวจีน แต่ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ปักกิ่งกลับเป็นฝ่ายที่สามารถบรรลุดีลด้านการค้าและการลงทุนซึ่งทรงความสำคัญมากในทางการเมืองกับทั้งเอเชียและยุโรป
เหล่านี้เองกำลังทำให้วอชิงตันตกอยู่ในฐานะแสนจะงุ่มง่ามเก้อเขินอยู่ในเวลานี้ นอกจากนั้นแล้ว เมื่อปี 2018 สหรัฐฯยังประสบความล้มเหลวในการบรรลุสนธิสัญญาการค้าทวิภาคีฉบับใหญ่มหึมากับจีน อีกทั้งวอชิงตันยังใช้เวลาถึงเกือบๆ 2 ปีกว่าจะย้อนกลับมาให้ความสำคัญกับแนวความคิดว่าด้วยยุทธศาสตร์พหุภาคี
ในท้ายที่สุด ปีหนูทองยังกำลังยุติลงโดยดูเหมือนกับสหรัฐฯได้หล่นถลำลงสู่อาการบ้าคลั่ง และกำลังเผชิญความท้าทายต่างๆ อย่างชนิดไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อนในประวัติศาสตร์ ด้วยการเกิดเหตุก่อกบฎยึดอำนาจซึ่งบ่มเพาะหล่อเลี้ยงขึ้นมาโดยประธานาธิบดีผู้ที่กำลังจะหมดวาระอันชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งของตน และผู้ซึ่งกำลังถูกรัฐสภาฟ้องร้องถอดถอนเป็นครั้งที่ 2 ประเทศชาติกำลังอยู่ในภาวะแตกแยกแบ่งขั้วกันอย่างขมขื่นโดยมองไม่เห็นความชัดเจนใดๆ ว่าจะเดินต่อไปข้างหน้ากันอย่างไร
ประเทศที่เลอะเทอะเฟอะฟะถึงขนาดนี้นะรึ จะสามารถท้าทายจีนอย่างจริงๆ จังๆ ได้? อาจจะไปได้ไม่กี่น้ำหรอกบางคนบางฝ่ายในปักกิ่งอาจจะคิดเช่นนี้ สิ่งซึ่งเกิดขึ้นในสหรัฐฯเวลานี้ไม่ใช่เป็นเพียงความบกพร่องผิดพลาดผิวๆ เผินๆ เลย หากมีต้นตอจากความขัดแย้งและรอยแตกร้าวต่างๆ อันล้ำลึกที่ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขคลี่คลาย ย้อนถอยหลังกลับไปไกลจนถึงช่วงสมัย “สงครามกลางเมือง” (Civil War) เมื่อ 150 ปีก่อน
รอยแตกร้าวเหล่านี้ในปัจจุบันได้ถูกกระตุ้นให้แผ่ขยายลุกลามออกไป จากส่วนผสมทางวัฒนธรรมอย่างใหม่ซึ่งกำลังเกิดขึ้นภายในสหรัฐฯ กล่าวคือ กลุ่ม “คนผิวขาวเชื้อสายแองโกล-แซกซอนที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์” (White Anglo-Saxon Protestant เรียกกันย่อๆ ว่าWASP) ที่เคยเป็นกระดูกสันหลังของประเทศนี้มาแต่ก่อน กำลังกลายสภาพเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งไปเสียแล้ว เวลาเดียวกันนั้น สหรัฐฯขณะนี้มียาเสพติดเยอะแยะมากมายจนเกินไป และมีอาวุธปืนเยอะแยะมากมายจนเกินไป ขณะที่มีระบบโรงเรียนภาครัฐที่คุณภาพย่ำแย่ และมีระบบการดูแลสุขภาพผู้คนวงกว้างที่ย่ำแย่ มิหนำซ้ำพวกโครงสร้างพื้นฐานก็เก่าโทรมหมดสภาพ โดยไม่มีแผนการใดๆ ที่จะแก้ไขปรับปรุงสิ่งเหล่านี้ให้ดีขึ้นและยกระดับให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น จากการที่จีนมีโครงการยักษ์ใหญ่ระดับนานาชาติอันห้าวหาญ ซึ่งก็คือ แผนการริเริ่มนานาชาติหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ขณะที่ไอเดียของอเมริกันว่าด้วยโลกาภิวัตน์ (globalization) กลับกำลังสะดุดติดขัด สหรัฐฯเวลานี้จึงไม่ได้มีแผนการใดๆ เลยที่จะช่วยเหลือการพัฒนาของทวีปอเมริกา, แอฟริกา, หรือ ยูเรเชีย
หลักการต่างๆ อุดมการณ์ต่างๆ ของอเมริกัน เป็นต้นว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ยุติธรรม, การให้ความเคารพคนอื่นๆ ฝ่ายอื่นๆ, อิสรภาพ, โอกาสที่สร้างความมั่งคั่งร่ำรวย เหล่านี้ล้วนแต่ดูเหมือนแตกละเอียดป่นปี้ไปเสียแล้วจากเหตุการณ์บุกโจมตีรัฐสภาสหรัฐฯ ขณะที่การตอบโต้รับมือซึ่งมาถึงเวลานี้ ยังดูอยู่ในลักษณะโอ้อวดหยิ่งทะนงเหลือเกิน คุณจะทำยังไงต่อไปล่ะ หรือจะไม่ทำอะไรเลย ถ้าหากมันเป็นการทรยศชาติซึ่งกระทำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และพวกสาวกของเขา?
มันไม่สามารถปล่อยไปเฉยๆ มันจะต้องมีผลสืบเนื่องติดตามมาสิ ทว่านั่นจะทำให้ประเทศชาติเกิดการแบ่งแยกกันมากยิ่งขึ้นไปอีก แต่ถ้าหากไม่มีผลสืบเนื่องใดๆ ติดตามมาเลย แล้วจะอยู่กันยังไงต่อไป? มันไม่มีคำตอบง่ายๆ เอาเลยไม่ว่าจะเลือกหนทางไหน หลายๆ คน หลายๆ ฝ่ายเรียกร้องความสามัคคคีและต้องการให้ประเทศชาติได้รับการบำบัดเยียวยา ทว่าช่องว่างที่กำลังถ่างกว้างเหลือเกินระหว่างพรรคเดโมแครตกับพรรครีพับลิกัน ดูไม่น่าที่จะกระเตื้องดีขึ้นมาได้ในเร็วๆ นี้หรอก
ชาวจีนนั้นสามารถที่จะหวนกลับมาพินิจพิจารณาประเทศชาติของพวกเขาเอง และมองเห็นว่ามันช่างอยู่ในสภาพเป็นตรงกันข้ามเหมือนขาวกับดำเสียจริงๆ ไม่ว่าเรื่องระบบโรงเรียนและระบบการดูแลสุขภาพที่กำลังปรับปรุงยกระดับดีขึ้นเรื่อยๆ, พวกโครงสร้างพื้นฐานที่มีการสร้างใหม่อย่างล้ำสมัยเปล่งประกายแวววับ, ไม่มีอาวุธปืน และแทบไม่มียาเสพติด, พร้อมกันนั้นก็มีความสำนึกเกาะเกี่ยวหลอมรวมกันมากขึ้นซึ่งเพิ่มพูนความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศชาติ โดยที่มี “ความฝันของชาวจีน”เกี่ยวกับชีวิตที่ดีสำหรับชาวจีนทุกๆ คนและสำหรับชาวต่างประเทศทุกๆ คนผู้ซึ่งปรารถนาที่จะร่วมสร้างความฝันเช่นนี้ด้วยกัน
มีอะไรที่จะต้องหวาดกลัวกันอีกหรือในปักกิ่ง ขณะที่พวกเขาเฝ้ารอคอย โจเซฟ ไบเดน ประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ ที่จะต้องปรับเปลี่ยนหันมาใช้กระบวนวิธีการใหม่ในความสัมพันธ์กับจีน? แต่ก็นั่นแหละ บางทีมันก็สมควรขบคิดพิจารณาถึงวิธีการต่างๆ ซึ่งมีการประเมินสถานการณ์อย่างชนิดที่ผิดแผกแตกต่างออกไปจากทัศนะมุมมองของจีนด้วย
สงครามเย็นนั้นสิ้นสุดลง โดยที่มีทฤษฎีใหญ่เกี่ยวกับสิ่งที่เราควรคาดหวังสำหรับโลกในอนาคตอยู่ 2 ทฤษฎี ซึ่งต่างมีฐานะเหนือล้ำได้รับความสนใจเชื่อถือมากกว่าความคิดความเชื่ออื่นๆ แต่ขณะเดียวกันทั้ง 2 ทฤษฎีนี้ก็มีส่วนที่เหลื่อมซ้อนกันและขัดแย้งกันอยู่ด้วย ทฤษฎีหนึ่งพูดถึงเรื่องการปะทะกันระหว่างอารยธรรมต่างๆ ส่วนอีกทฤษฎีนั้นกล่าวถึงเรื่องจุดจบของประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เป็นการสกัดออกมาจากหนังสือทรงอิทธิพลยิ่งซึ่งเขียนโดย ซามูเอล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) และ ฟรานซิส ฟูกูยามา (Francis Fukuyama) ตามลำดับ
ทฤษฎีหนึ่ง นั่นคือ จุดจบแห่งประวัติศาสตร์ของฟูกูยามา ระบุว่าเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง การต่อสู้ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์และระบอบปกครองเผด็จการเบ็ดเสร็จต่างๆ ได้จบสิ้นลงแล้ว ต่อจากนี้ประวัติศาสตร์จะพัฒนาคลี่คลายตัวอย่างราบรื่น ตามการพัฒนาอย่างเติบโตเจริญวัยเต็มที่ของลัทธิทุนนิยม, เศรษฐกิจแบบตลาด, และค่านิยมต่างๆ แบบเสรีนิยม
อีกทฤษฎีหนึ่ง ว่าด้วยอารยธรรมของฮันติงตัน ยืนยันว่าความขัดแย้งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต จะมาจากความเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างวัฒนธรรมและอารยธรรมทั้งหลายซึ่งมีความผิดแผกแตกต่างกันอยู่ และการต่อสู้ที่เป็นหลักเลย จะเป็นการต่อสู้คัดค้านอารยธรรมที่กำลังอยู่ในฐานะครอบงำ ซึ่งได้แก่อารยธรรมโปรเตสแตนต์แองโกล-แซกซอน
ความไม่ลงรอยกันในปัจจุบันระหว่างสหรัฐฯกับจีน สามารถที่จะยืนยันทฤษฎีทั้ง 2 ทฤษฎีนี้ กล่าวคือ จีนเป็นระบอบปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ เป็นทายาทในบางระดับของระบอบปกครองสหภาพโซเวียต และเป็นอารยธรรมที่ผิดแผกแตกต่างออกไปมาก เมื่อเปรียบเทียบกับอารยธรรมแบบคนผิวขาวเชื้อสายแองโกล-แซกซอน
อย่างไรก็ดี กรอบโครงเช่นนี้อาจกลายเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ถ้าจะนำมาใช้เป็นหนทางสำหรับอธิบายทำความเข้าอกเข้าใจกันจริงๆ ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับจีน ตลอดจนสิ่งที่บังเกิดขึ้นมาในรอบ 30 ปีมานี้
ในความเป็นจริง ประสบการณ์ของสงครามต่างๆ ที่สหรัฐฯทำอยู่ในเอเชียกลางและตะวันออกกลาง บอกให้เราทราบว่า แม้กระทั่งถ้าหากโมเดลของฮันติงตันและของฟูกูยามา เป็นสิ่งที่ถูกต้อง มันก็ไม่ได้ให้หนทางแก้ไขในทางบวกใดๆ แก่ความไม่ลงรอยกันในทางการเมืองในปัจจุบัน ความเป็นจริงนั้นมีอยู่ว่า โมเดลประชาธิปไตยแบบแองโกล-แซกซอน เป็นสิ่งที่ยากลำบากมากแก่การส่งออกไปต่างประเทศอย่างชนิดขายส่งเหมากันยกล็อต
ในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา กรณีของอัฟกานิสถาน และอิรัก(ช่วงที่คณะบริหารจอร์จ ดับเบิลยู บุช ยกกองทหารเข้าไปโจมตีรุกรานยึดครอง ด้วยความหวังที่จะปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยขึ้นใน 2 ประเทศนี้), หรือแม้กระทั่งที่อียิปต์ (ซึ่งกระแสการปฏิวัติภายในประเทศ ได้ตระเตรียมอารมณ์ความรู้สึกของการต่อต้านประชาธิปไตยขึ้นมา แต่ในที่สุดแล้วก็ได้รับการกอบกู้ช่วยเหลือโดยการทำรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายทหารที่นิยมตะวันตก)
ต่างเป็นข้อพิสูจน์สำหรับเรื่องนี้
ประชาธิปไตยไม่ได้เหมือนกับน้ำก็อกซึ่งไหลออกมาตามท่อที่ต่อเข้ากับบ่อน้ำ โดยคุณสามารถที่จะขุดบ่อและเปิดปิดก็อกได้ตามใจชอบ หากแต่ประชาธิปไตยต้องอิงอยู่กับทรัพย์สินต่างๆ ทั้งทางวัฒนธรรม, ทางสังคม, ทางระบบอันสลับซับซ้อนอย่างยิ่ง จึงจะทำให้มันมีความเป็นไปได้ขึ้นมา
ยิ่งไปกว่านั้น ความผิดแผกแตกต่างกันในวัฒนธรรมต่างๆ และอารยธรรมต่างๆ เป็นสิ่งที่พร่ามัวอย่างยิ่ง และยากที่จะระบุชี้ชัดออกมา ตัวอย่างเช่น ภาคใต้ของอิตาลีซึ่งเวลานี้ถูกมองกันอย่างหนักแน่นมั่นคงโดยทั่วไปว่าเป็นส่วนหนึ่งของโลกตะวันตกนั้น ครั้งหนึ่งได้เคยถูกจัดรวมกับกรีซ และถูกประทับเรียกขานว่าเป็น “ตะวันออกใกล้” (Near East) ความรู้สึกทางจิตใจเกี่ยวกับสถานที่เช่นนี้เอง ทำให้มีการมอบนาม “ตะวันออกกลาง” ให้แก่โลกอาหรับ ซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่ถ่างกว้างออกมาจนถึงโมร็อกโก ถึงแม้ว่าโมร็อกโกนั้นเห็นได้ชัดๆ ว่าในทางกายภาพแล้วตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะบริเตนใหญ่ (Great Britain)
กระนั้นก็ตามที ถ้าหากเราจะทำกันอย่างถูกต้องจริงๆ ในการขบคิดเกี่ยวกับวลีเหล่านี้แล้ว อิตาลีก็สมควรต้องเป็น “ตะวันออก” อยู่หรอก ทว่านี่จะช่วยเพิ่มเติมหรือช่วยลดทอนความเข้าอกเข้าใจเกี่ยวกับโลก ตลอดจนจะช่วยเพิ่มเติมหรือช่วยลดทอนความพยายามในการรอมชอมความผิดแผกแตกต่างกันอย่างสำคัญๆ ทั้งหลายกันตรงไหนล่ะ?
ยิ่งกว่านั้นแล้ว ถึงแม้คำว่าลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) อาจจะเป็นตราประทับที่มีความหมายในทางการอธิบายอย่างแท้จริงและใช้ประโยชน์กันได้จริงๆ ทว่าลงท้าย ซาอุดีอาระเบีย คือพันธมิตรที่เหนียวแน่นของอเมริกัน ถึงแม้มีความเป็นไปได้ที่ ซาอุดีอาระเบียนั้นเป็นเสรีนิยมน้อยกว่าและมีความเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าอิหร่านเสียอีกโดยที่อิหร่านมีการจัดการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรมอยู่เป็นระยะๆ รวมทั้งเป็นบ้านพำนักของวัฒนธรรมที่สีสันสดใสมีชีวิตชีวา
แต่แม้จะพูดเช่นนี้ มันก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเราทั้งหลายเสมือนกำลังอยู่ในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งวัวทุกๆ ตัวย่อมมีสีดำหมด ถึงอย่างไร ความผิดแผกแตกต่างอย่างสำคัญๆ นั้นก็เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จริงๆ และเป็นสาเหตุของประเด็นปัญหาต่างๆ อันใหญ่โตมหึมาซึ่งกำลังหมุนวนอยู่รอบๆ จีน
ประเด็นปัญหาที่แท้จริงดูเหมือนจะอยู่ตรงข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐฯนั้นในช่วงเวลาไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาได้หลงลืมเรื่องการเมืองไปเลย ถึงแม้คาร์ล ฟอน เคลาสวิตซ์ (Carl von Clausewitz) นักยุทธศาสตร์ระดับบรมครู ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า สงครามเป็นเพียงส่วนที่ต่อเนื่องของการเมือง โดยเป็นการเมืองแบบที่ดำเนินผ่านทางเครื่องมืออื่นๆ
คำพูดที่มีชื่อเสียงมากนี้ของ เคลาสวิตซ์ มุ่งเน้นย้ำให้เห็นว่า การเมืองคือองค์ประกอบที่สำคัญ โดยที่สงครามเป็น “ความแปรผัน” อย่างหนึ่งของการเมือง แท้ที่จริงแล้ว
มันก็ผ่านการเมืองนั่นแหละที่ทำให้สหรัฐฯเป็นผู้ชนะในสงครามเย็น ทั้งนี้ ในปี
1990 ไม่นานหลังจากกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) ถูกพังทลายลงไป ประธานาธิบดีจอร์จ บุช เข้าสู้รบในสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก (first Gulf War) กับอิรักที่เล็กนิดเดียว โดยที่สหรัฐฯได้จับมือร่วมกันกับกลุ่มพันธมิตรต่างๆ อย่างกว้างขวางชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนและไม่มีอะไรทัดเทียมได้ ซึ่งในทางเป็นจริงแล้วก็คือประกอบด้วยทุกๆ คนทุกๆ ฝ่ายนั่นเอง
ในกลุ่มพันธมิตรนี้ มีทั้งสหภาพโซเวียต, จีน, อิหร่าน, และแม้กระทั่งซีเรีย ประเทศทั้งหมดเหล่านี้อาจไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการเข้าสู้รบในสงครามที่เกิดขึ้นมาจริงๆ แต่มันเป็นพื้นฐานสำหรับการเริ่มต้นสร้างระเบียบใหม่ของโลกขึ้นมา
นี่ก็คือ บุชตระหนักเป็นอันดีว่า เฉกเช่นเดียวกับการสร้างความปราชัยให้แก่สหภาพโซเวียต ระเบียบใหม่ของโลกก็ต้องสร้างขึ้นมาบนเศษเถ้าถ่านของอดีต ด้วยการนำเอาทุกๆ คนทุกๆ ฝ่ายเข้ามาร่วมมือกัน รวมทั้งพวกศัตรูเก่าอย่างเช่นสหภาพโซเวียตและอิหร่าน มันก็เป็นอย่างเดียวกับที่สหรัฐฯได้เคยกระทำกับเยอรมนี, อิตาลี, และญี่ปุ่นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บุชกำลังนำเอาประสบการณ์นี้มาประยุกต์ใช้กับยุคสมัยภายหลังสงครามเย็น
แต่แล้วบทเรียนอันสำคัญนี้ในไม่ช้าไม่นานก็ถูกหลงลืมกันไป ภายหลังจากระยะเวลาสองสามปีที่เกิดความนิยมชมชื่นในความคิดง่ายๆ ผิวเผินตื้นเขินที่ว่า ตลาดและประชาธิปไตยจะเจริญงอกงามขึ้นมาได้ตามธรรมชาติ ในทันทีที่สร้างความปราชัยให้แก่ปีศาจร้ายแห่ง “เผด็จการ”
แนวความคิดแบบผิวเผินตื้นเขินนี้หลงลืมไปว่า ทุนนิยมตลาดเสรีสมัยใหม่กว่าจะก้าวผงาดขึ้นมาได้จริงๆ ก็เมื่อล่วงเลยมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ภายหลังผ่านระยะเวลานานปีของการพัฒนา รวมทั้งมันยังคงเป็นพืชพรรณที่อ่อนแอซึ่งจำเป็นต้องผ่านการรดน้ำพรวนดินดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ ไม่เช่นนั้นมันก็จะกลายเป็นพืชป่าไปเสียฉิบ
มองจีนด้วยทัศนะมุมมองที่กว้างไกล
กระนั้น เราอาจจะยังคงต้องการทัศนะมุมมองที่มองสิ่งต่างๆ อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นและขี้สงสัยมากขึ้น สำหรับตราประทับอย่างง่ายๆ หยาบๆ สองสามอันนั่น เราย่อมอาจพูดสรุปได้ว่าอารยธรรมต่างๆ สามารถอยู่แยกห่างจากกัน แต่ต้องเรียนรู้ที่จะพูดจากับกันและกัน และระบอบปกครองแบบเผด็จการนั้นสามารถที่จะกลายเป็นภัยอันตรายระดับโลกได้ เมื่อระบอบปกครองดังกล่าวเติบโตขึ้นด้วยขนาดในทางเศรษฐกิจและในทางการเมือง จนกระทั่งกลายเป็นตัวถ่วงตัวจำกัดระบบเสรีนิยมอื่นๆ
ด้วยความตระหนักในสิ่งเหล่านี้ เราอาจต้องการที่จะเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจถึงเหตุผลต่างๆ อันลึกซึ้งว่า แต่ละประเทศสามารถอยู่ได้ภายในระบบที่แน่นอนหนึ่งๆ กันอย่างไร โดยที่เราไม่ได้มีธุระกงการอะไรที่จะต้องพยายามสร้างสวรรค์บนดินขึ้นมา แบบที่พวกระบอบปกครองเผด็จการได้เคยคิดที่จะกระทำกันในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ถึงแม้ประเทศต่างๆ สามารถที่จะยังคงพูดจาด้วยภาษาของพวกเขาเองกันต่อไป แต่ภาษาเหล่านี้ก็จำเป็นต้องเป็นที่เข้าใจกันได้อย่างเต็มที่ของฝ่ายอื่นๆ ด้วย ไม่เช่นนั้นแล้ว ความเข้าใจผิดที่เกิดจากการติดต่อสื่อสาร รวมทั้งพฤติกรรมแบบป้องกันตัวเอง และแบบก้าวร้าวใส่คนอื่นก็จะเข้าแทนที่ทุกสิ่งทุกอย่าง
เมื่อมาถึงเรื่องเกี่ยวกับจีนแล้ว บางคนบางฝ่ายในเวลานี้อาจมีความสับสนนำเอาความปรารถนาของพวกเขาเองเข้ามาแทนที่การมุ่งมั่นอ่านสิ่งที่เป็นจริงด้วยความหนักแน่นมีเหตุผลก็เป็นได้ รัฐบาลจีนนั้นได้พิสูจน์ให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่ามีศักยภาพความสามารถในการแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างรวดเร็ว และมีความช่างคิดเฉลียวฉลาดอย่างมหาศาล ถึงแม้ปฏิกิริยาโต้ตอบของพวกเขาและความช่างคิดเฉลียวฉลาดของพวกเขาไม่ได้แสดงออกมา ในวิถีทางเดียวกันกับในสหรัฐฯหรือในยุโรปก็ตามที
เมื่อเกือบ 1 ปีมาแล้ว เราได้เขียนเอาไว้ว่า จีนควรใช้โอกาสที่เกิดโควิดคราวนี้ มาเริ่มต้นยุคเรอนาซองส์ (Renaissance) ของพวกเขาเอง ไม่เช่นนั้นพวกเขาอาจต้องพ่ายแพ้ต่อผลพวงสืบเนื่องต่างๆ ของโรคระบาดร้ายแรงนี้
มีหลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนได้กระทำสิ่งที่ว่านี้แหละ ในเวลาไม่กี่เดือน ปักกิ่งได้พยายามจนประสบความสำเร็จในการแปรเปลี่ยนความวิบัติหายนะครั้งมโหฬารคราวนี้ให้กลายเป็นชัยชนะทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างใหญ่โต โดยพื้นฐานแล้ว จีนพยายามจนประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคโควิด และเริ่มต้นเดินเครื่องเศรษฐกิจของตนเองอีกครั้ง ขณะที่ส่วนอื่นๆ ของโลก –รวมทั้งส่วนใหญ่ของโลกตะวันตก— ยังคงตกอยู่ในความทุกข์ยากลำบากจากโรคร้ายนี้
นี่ไม่ได้หมายความว่าระบบของจีนนั้นดีเลิศกว่าของฝ่ายตะวันตก หรือว่าระบบของฝ่ายตะวันตกดีเลิศกว่าของจีน หรือว่าเกมนี้ปิดฉากจบลงแล้ว แต่แน่นอนทีเดียวว่า มันควรที่จะบอกกล่าวให้สหรัฐฯและยุโรปได้ทราบว่า จีนมีความสลับซับซ้อนยิ่งกว่าเพียงแค่ตราประทับง่ายๆ สองสามอันมากมายนัก
ความสำเร็จครั้งนี้ยังบังเกิดขึ้นภายหลังจีนมีผลลัพธ์ที่ดีออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ในระยะเวลา 4 ทศวรรษดังกล่าวนี้จีนได้ก้าวจากการเป็นประเทศยากจนที่สุดรายหนึ่งของโลก กลายมาเป็นหนึ่งในประเทศร่ำรวยที่สุด จากประเทศซึ่งล้าหลังทางเทคโนโลยีที่สุดรายหนึ่ง กลายมาเป็นหนึ่งในประเทศเทคโนโลยีก้าวหน้าที่สุด
แน่นอนทีเดียวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าบังเกิดขึ้นมาได้โดยที่ปักกิ่งเป็นผู้ลงมือทำอะไรทั้งหมดด้วยตนเอง เรื่องนี้เกิดขึ้นมาได้ที่สำคัญทีเดียวยังเนื่องจากความช่วยเหลืออันมหาศาลของสหรัฐฯ ซึ่งตลอด 40 ปีที่ผ่านมาได้ยินยอมให้จีนได้รับอภิสิทธิ์อย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นต้นว่า การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯด้วยอัตราภาษีศุลกาการที่ต่ำมากๆ และความเป็นไปได้ของการถ่ายโอนเทคโนโลยีตะวันตกให้แก่จีน ยิ่งไปกว่านั้น จวบจนกระทั่งถึงเมื่อไม่นานมานี้เอง สหรัฐฯได้มอบบัตรผ่านเสรีให้แก่จีนซึ่งทำให้ปักกิ่งรอดพ้นจากการถูกตามจี้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากสื่อมวลชน ด้วยความคาดหวังโดยพื้นฐานว่าจีนกำลังมีวิวัฒนาการไปใน “ทิศทางที่ถูกต้อง”
สิ่งนี้ไม่ได้บังเกิดขึ้นมาโดยปราศจากการต่อสู้แข่งขันกัน โดยปลอดจากความยากลำบากต่างๆ ระยะฮันนีมูนของสหรัฐฯกับจีนได้สิ้นสุดลงด้วยเหตุการณ์ปราบปรามกวาดล้างขบวนการนักศึกษาในจัตุรัสเทียนอินเหมินเมื่อปี 1989 แต่ความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองยังคงเคลื่อนตัวต่อไปได้แม้อยู่ในลักษณะเก้งก้างงุ่มง่าม เมื่อมีการทำข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับจีนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization)
อย่างไรก็ตาม สักประมาณ 20 ปีที่แล้ว ในสหรัฐฯมีการจัดทำ “รายงานของค็อกซ์”(Cox report รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติและความกังวลสนใจด้านการทหาร/การพาณิชย์ของสหรัฐฯที่เกิดขึ้นจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมี ส.ส.คริสโตเฟอร์ ค็อกซ์ เป็นประธาน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Cox_Report -หมายเหตุผู้แปล) นี่คือการที่สหรัฐฯส่งเสียงแสดงความไม่สบายใจเกี่ยวกับจีน รายงานนี้ได้กล่าวหาปักกิ่งโดยมีการแจกแจงรายละเอียดอย่างพิสดาร พูดถึงการที่พวกบริษัทจีนได้โจรกรรมสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ในช่วงทศวรรษที่ 1990 ความไม่สบายใจเช่นนี้ยังได้เติบโตขยายตัวกลายเป็นความไม่ลงรอยกันอย่างมโหฬารในช่วงเริ่มต้นวาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช
มันมาถึงจุดสูงสุดในกรณี อีพี3 (EP3 incident) เมื่อเครื่องบินสอดแนมแบบ “อีพี 3”ลำหนึ่งของอเมริกันได้เกิดชนปะทะกับเครื่องบินขับไล่ลำหนึ่งของจีน แล้วจากนั้นก็ร่อนลงจอดแบบกระแทกพื้นอย่างรุนแรง ที่เกาะไห่หนาน (ไหหลำ) ของจีน หลังจากนั้นมา สหรัฐฯกับจีนก็ดูราวกับว่าพวกเขาถูกขีดให้อยู่บนเส้นทางของการต้องปะทะประสานงากัน
อย่างไรก็ดี เมื่อถึงนาทีสุดท้าย ทั้งหมดกลับพลิกผันเปลี่ยนไปเป็นคนละเรื่อง โดยหลังจากวันที่ 11 กันยายน 2001 ส่วนใหญ่แล้วอเมริกาก็ได้ทำให้ตนเองเชื่อมั่นขึ้นมาว่า ศัตรูสำคัญที่สุดของตนคือพวกหัวรุนแรงสุดโต่งในโลกมุสลิม ไม่ใช่จีนแต่อย่างใด
จากการนี้ ตั้งแต่ 9/11 เป็นต้นมา จีนก็มีช่วงระยะอันปลอดโปร่งอยู่สองสามปีเพื่อการปรับตัวและเตรียมพร้อมสำหรับรับมือเมื่อถึงเวลาที่สหรัฐฯจะหวนกลับมาเคาะประตูของปักกิ่งเพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงต่างๆ กันอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าจีนได้เพิกเฉยละเลยและหลงลืมเกี่ยวกับการเฉียดใกล้ที่จะเกิดการปะทะกันเป็นอย่างยิ่งนี้ ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อปี 2002 เจียง เจ๋อหมิน เลขาธิการใหญ่ของพรรคในตอนนั้นสมควรที่จะก้าวลงจากอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ โดยที่พวกผู้นำรุ่นเก่าทั้งหมดก็ควรลงจากเวทีไปพร้อมๆ กับเขาด้วย
พวกเขาควรที่จะส่งมอบอำนาจแบบเต็มที่ให้แก่ หู จิ่นเทา และ หู ควรเริ่มต้นดำเนินการปฏิรูปแบบเสรีนิยมทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมือง ซึ่งจะค่อยๆ นำเอาจีนเข้าสู่เส้นทางเดียวกันกับโลกตะวันตก และลดระดับความเสียดทานที่มีอยู่กับสหรัฐฯ ที่เป็นมหาอำนาจผู้สามารถครอบงำโลกอยู่ในเวลานั้น ทว่าจีนก็ไม่ได้ทำ โดยที่ให้ความสนใจจดจ่ออย่างหมดสิ้นกับพลวัตภายในของตนเอง ตลอดจนตรรกะแห่งการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจภายในของตนเอง
เจียง เจ๋อหมิน ยังคงยึดกุมอำนาจเอาไว้ต่อไป การปฏิรูปทางเสรีนิยมต่างๆ ถูกผลักดันให้ดำเนินไปด้วยฝีก้าวซึ่งอืดอาดกว่าที่ความจำเป็นกำลังเรียกร้องต้องการ และระบบการตัดสินใจทางการเมืองแบบอุ้ยอ้ายเชื่องช้าก็หยั่งรากปักหลักอย่างมั่นคงขึ้นมา โดยที่ผู้คนจากยุคของ หู จิ่นเทา และผู้คนจากยุคของ เจียง เจ๋อหมิน อยู่ร่วมกันไปบนหนทางที่มืดมัวอึมครึมด้วยการแบ่งปันอำนาจกันและสูญเสียการติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งพากันหลงลืมภาพใหญ่
ความเข้าใจผิดๆ ของสหรัฐฯ
ในเวลาเดียวกันนั้น สหรัฐฯก็ไม่สมควรที่จะคิดไปว่าจีนเป็นเพียงโคลน (clone) ตัวหนึ่งของสหภาพโซเวียตเก่า ตลอดจนไม่สมควรคิดไปว่าจีนได้หยุดนิ่งงันอยู่ตรงช่วงบิดเบี้ยวของกาลเวลาเมื่อตอนต้นทศวรรษ 1990 ความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่า ประชาชน 1,400 ล้านคนในจีนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของแดนมังกร ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็มีสมาชิกเป็นจำนวนถึงราว 90 ล้านคน –นั่นคือ ในทางปฏิบัติแล้วเท่ากับประชาชนทุกๆ 15 คนจะเป็นสมาชิกพรรค 1 คน
เรื่องนี้ทำให้พรรคหลอมรวมเข้ากับประชาชนได้อย่างเต็มที่ ในสมัยราชวงศ์ชิง (Qing) ซึ่งจีนมีประชากรประมาณ 300 ล้านคนนั้น ปรากฏว่ามีข้าราชการอยู่ราวๆ 100,000 คน ถ้าหากเราคูณจำนวนนี้ด้วย 10 โดยถือว่านับรวมเอาพวกบริวารและผู้ติดตามทั้งหมดของข้าราชการเหล่านี้เข้าไปด้วย เราก็จะได้ตัวเลขผู้คนจำนวน 1 ล้านคน และกระทั่งเราคูณจำนวนนี้ด้วย 10 อีกครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนที่เหลือเชื่อมาก โดยถือว่ารวมเอาพวกครอบครัวและคนที่พึ่งพาอาศัยพวกเขาเข้าไปอีก เราก็ยังม าถึงตัวเลข 10 ล้านคนเท่านั้น
นี่ยังคงเท่ากับทุก 1 ใน 30 หรือเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของอัตราส่วนความหนาแน่นของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ต่อประชาชนจีนทั้งหมดในปัจจุบัน มิหนำซ้ำในเวลานี้พรรคคอมมิวนิสต์ยังมีอำนาจที่จะใช้เทคโนโลยีอย่างชนิดไม่มีใครเทียบเทียมได้ ในการเข้าถึงปัจเจกบุคคลชาวจีนทุกๆ คน อันเป็นอะไรที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในประวัติศาสตร์จีน
สิ่งนี้บังเกิดขึ้นมาท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างใหญ่โตมโหฬารยิ่ง ประชาชนจีนเวลานี้ต่างอ่านออกเขียนได้ต่างรู้หนังสือกันอย่างกว้างขวางยิ่ง และเป็นครั้งแรกที่พวกเขาร่วมส่วนกันในภาษาพูดด้วย ไม่ใช่เฉพาะในภาษาเขียนเท่านั้น
ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ กำลังมีประชาชนคนสามัญธรรมดาแห่กันเข้าศึกษาเล่าเรียน โดยที่แต่ละปีมีนักเรียนมัธยมปลายจำนวนเป็นล้านๆ ลงสอบแข่งขันระดับชาติเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย หรือที่เรียกกันเป็นภาษาจีนว่า “เกาเข่า” (gaokao) มหาวิทยาลัยต่างๆ ของจีนกำลังปรับปรุงยกระดับสูงขึ้นในด้านคุณภาพ สำหรับประชาชนคนสามัญชาวจีนแล้ว การได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยคืออภิสิทธิ์อย่างหนึ่ง และพวกเขาต่างรู้สึกว่ามีโชคดีมากที่ได้โอกาสร่ำเรียนเช่นนี้
เวลานี้มีชาวจีนจำนวนเป็นล้านๆ คนศึกษาดนตรีคลาสสิกตะวันตก และเรียนภาษาต่างประเทศภาษาต่างๆ ระบบการดูแลรักษาสุขภาพของพวกเขาอาจจะยังอยู่ในระดับย่ำแย่แต่ก็กำลังกระเตื้องดีขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับระบบบำนาญของพวกเขา พรรคคอมมิวนิสต์จีนให้สัญญาที่จะทำให้ประชาชนจำนวน 1,000 ล้านคนได้รับการดูแลรักษาสุขภาพในระดับพื้นฐานและได้รับสวัสดิการเกษียณอายุระดับพื้นฐานภายในระยะเวลา 10-15 ปีข้างหน้า และเมื่อพิจารณาจากประวัติผลงานที่ผ่านมาของพรรคแล้ว ประชาชนมีความเชื่อถือว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นมาจริงๆ
ในอเมริกาหรือในยุโรปนั้นไม่มีอะไรแบบนี้กำลังเกิดขึ้นมาให้เห็นกัน ตรงกันข้าม ในอเมริกาและในยุโรป คุณภาพของพวกโรงเรียนระดับพื้นฐานกำลังย่ำแย่ทรุดโทรมลงเช่นเดียวกับการลงทุนทางด้านการศึกษา ขณะที่ระบบการดูแลรักษาสุขภาพและระบบบำนาญ สองเสาหลักที่ทำให้โลกตะวันตกมั่นใจว่าลัทธิทุนนิยมสามารถดูแลตอบสนองความจำเป็นต่างๆ ทางสังคมได้ดีกว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ ต่างกำลังพังทลายลงมา โดยที่วิกฤตการณ์โควิดยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความยากลำบากเหล่านี้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก
แน่นอนทีเดียว นี่ยังสืบเนื่องมาจากการพัฒนาอีกด้วย จีนนั้นกำลังมีการพัฒนามีอัตราการเติบโตขยายตัวที่สูง ในเวลาเดียวกับที่อเมริกาและยุโรปโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ในช่วงแห่งการมีอัตราเติบโตขยายตัวเพียงเล็กน้อยหรือไม่เติบโตขยายตัวเอาเลย มิหนำซ้ำพวกเขายังมีประเด็นปัญหาต่างๆ ในเรื่องที่ว่าจากตรงนี้จะเดินต่อไปทางไหน จีนมีปัญหาแบบนี้น้อยกว่า เนื่องจากยังคงง่ายดายกว่ามากมายนักที่จะเดินไปตามแบบแผนของประสบการณ์ต่างๆ ในอดีตที่ผ่านมาของโลกตะวันตก
ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนจีนจัดอยู่ในพวกนักประหยัดอดออมรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยกำลังประหยัดอดออมรายรับของพวกเขาเอาไว้ราว 50% พวกเขาใส่เงินของพวกเขาเข้าไปในธนาคารต่างๆ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ และทางธนาคารก็จัดเก็บภาษีทางอ้อมจากประชาชนเหล่านี้ด้วยการให้ผลตอบแทนแก่เงินที่ประหยัดอดออมพวกนี้ด้วยอัตราดอกเบี้ยซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ อาจจะอยู่ในระดับ 1 หรือ 2% จากนั้นพวกเขาก็นำเงินเหล่านี้แหละไปปล่อยกู้ในตลาดด้วยอัตราที่สูงกว่ามาก
ด้วยเงินประหยัดอดออมของประชาชน, ตลอดจนความแตกต่างในเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้, การได้เปรียบดุลการค้า, และกำแพงด้านการบริหารที่กีดกันการค้าเสรี รวมทั้งกีดกันไม่ให้เงินเหรินหมินปี้สามารถแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินตราต่างประเทศได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ เหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจจีนมีหมอนกันกระแทกขนาดใหญ่มหึมา นี่ทำให้เป็นไปได้ที่ปักกิ่งจะสร้างหนี้สินสะสมภายในประเทศก้อนมหึมาในช่วงระยะเวลา 12 ถึง 13 ปีมานี้ ซึ่งตัวเลขเต็มๆ มีความเป็นไปได้ว่าจะเกินกว่า 40 ล้านล้านดอลลาร์ทีเดียว โดยที่ไม่เป็นสาเหตุทำให้เกิดวิกฤตทางการเงิน
ระบบการเงินของจีนในทางพฤตินัยมีลักษณะแยกขาดจากโลก และได้รับความสนับสนุนทางการเงินจากการได้เปรียบดุลการค้าที่เน้นการส่งออก และการประหยัดมัธยัสถ์ของประชาชนซึ่งทำให้รัฐแทบหรือกระทั่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย ขณะนี้ระบบเช่นนี้ไม่ได้ตกอยู่ในภัยอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น
วิกฤตการณ์โควิดได้ทำให้เศรษฐกิจจีนแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ยอดการส่งออกเติบโตใหญ่โตมากขึ้น ขณะที่เงินออมไม่ได้มีการไหลออกไปในลักษณะแบบการหลบหนีไปหาที่หลบภัยของพวกเงินทุน ทั้งนี้ถ้าหากระเบียบกฎเกณฑ์ทางการบริหารที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันยังมีช่องโหว่ทำให้การหลบหลีกเช่นนี้เกิดขึ้นมาได้
ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดระบบซึ่งสามารถบังคับใช้การตัดสินใจต่างๆ ชนิดสั่งการจากข้างบนลงไปข้างล่าง ขณะเดียวกันก็เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงฉันทามติที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับอยู่ในช่วงหลายๆ ทศวรรษที่ผ่านมา เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถประเมินให้ต่ำกว่าความเป็นจริง และแท้ที่จริงแล้ววิกฤตการณ์โควิด –การเกิดเหตุการณ์ที่พลิกผันอย่างฉับพลัน แล้วยังติดตามมาด้วยปฏิกิริยาตอบโต้อย่างฉับพลัน— เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงสมรรถนะอันเพียบพร้อมของระบบนี้ ในการรวบรวมความสนับสนุนของประชาชนในเวลาที่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากภายนอก
นี่ไม่ได้หมายความว่าโครงสร้างของจีนอยู่ในสภาพที่ใครๆ ก็ไม่อาจพิชิตเอาชนะได้ หรือปราศจากความผิดพลาดเอาเลย ข้อเท็จจริงที่ว่าพรรคคอมมิวนิสต์เองก็รู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องบังคับใช้อำนาจควบคุมอย่างเข้มงวดกวดขัน คือสัญญาณแสดงให้เห็นถึงความหวาดกลัวและความอ่อนแอของพรรค ทว่ามันไม่ได้เป็นอำนาจแบบที่พรรคทำอะไรได้ตามใจชอบไปเสียทั้งหมดหรอก มันมีความสลับซับซ้อนซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าระบบนี้มีความหยุ่นตัวอย่างมากมายยิ่งกว่าการโฆษณาชวนเชื่อจากต่างประเทศแบบง่ายๆ ตื้นๆบางอันอาจจะยอมรับ
ถ้าเช่นนั้นแล้ว ฝ่ายที่ต้องการสู้รบกับจีนเมื่อตอนปลายทศวรรษ 1990 ก็เป็นฝ่ายที่ถูกต้องใช่ไหม และสหรัฐฯได้สูญเสียเวลาไปมากมายเกินไปแล้วใช่หรือไม่? บางที มันจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นหรอก เมื่อ 20 ปีก่อน ชาวจีนมีความเป็นอยู่ยากจนกว่าในปัจจุบันประมาณ 10 เท่าตัว พวกเขาแทบไม่มีอะไรสูญเสียหรือกระทั่งไม่มีอะไรสูญเสียเลยนอกจากความยากจนของพวกเขา การตายในสงครามน่าจะไม่ใช่เรื่องลำบากยากเย็นอะไรจนเกินไป
ในเวลานี้ ด้วยการมีรายได้ที่คิดเป็นตัวเลขเท่ากับประมาณครึ่งหนึ่งของผู้คนในโลกพัฒนาแล้ว ขณะที่รายได้นี้เมื่อคำนวณตามค่าเสมอภาคที่กำหนดโดยกำลังซื้อ (purchasing power parity) ก็จะเท่ากับของสหรัฐฯทีเดียว ชาวจีนจำนวนมากจึงกลับมีความรู้สึกหวาดกลัวว่าจะต้องสูญเสียความอยู่ดีกินดีที่พวกเขาต้องต่อสู้ให้ได้มาอย่างยากลำบาก นั่นก็คือ ถ้ารัฐบาลไม่สามารถรักษาคำมั่นสัญญาที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเกิดการปรับปรุงยกระดับดีขึ้นไปอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็จะต้องสูญเสียความถูกต้องชอบธรรม และชีวิตของรัฐบาลนั้นๆ ก็จะยากลำบากเพิ่มมากขึ้น โดยที่ถ้าเป็นเมื่อ 20 ปีก่อน นี่จะเป็นคำข่มขู่คุกคามที่ไม่มีความหมายอะไรเลย
ยิ่งกว่านั้น ครอบครัวทั้งหลายอาจจะมีความลังเลใจอย่างสุดๆ หากต้องเสียสละลูกหลานจำนวนน้อยที่พวกตนมีกันอยู่ --พวกลูกหลานซึ่งเสมือนกับจักรพรรดิ์องค์น้อยๆ ของพวกเขา เพื่อพลีสังเวยบนแท่นบูชาความรุ่งโรจน์ของประเทศชาติ เป็นการตอบแทนสำหรับการได้รับสวัสดิการดังกล่าวเหล่านี้ ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้มากกว่าที่พวกเขาจะหันมาประณามกล่าวโทษรัฐบาลซึ่งนำพาพวกเขาเข้าสู่การขัดแย้งสู้รบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที
เตรียมตัวเพื่อรับมือสิ่งเลวร้ายที่สุด
ชาวจีนเวลานี้กำลังเตรียมตัวเพื่อรับมือ หากว่าในท้ายที่สุดแล้วจะต้องถูกหย่าร้างแยกขาดจากส่วนอื่นๆ ของโลก
อย่างที่ได้บอกกล่าวเอาไว้ ณ การประชุม(เต็มคณะ) ของคณะกรรมการกลาง (พรรคคอมมิวนิสต์จีน) ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา (เดือนตุลาคม 2020) แนวความคิดว่าด้วย “ระบบหมุนเวียนภายในและระบบหมุนเวียนภายนอกคู่ขนานกัน” (dual circulation) คือการที่จีนจะดำเนินการส่งออกและดำเนินการค้ากับโลกไปตราบเท่าที่โลกยังมีความปรารถนาที่จะทำเช่นนั้น
แต่เวลาเดียวกันจีนก็กำลังเตรียมตัวแล้วที่จะขยายดีมานด์ความต้องการภายในประเทศของตน เผื่อรับมือกับการหย่าร้างแยกขาดซึ่งเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นมา อย่างที่ เดวิด โกลด์แมน (David Goldman) ของเอเชียไทมส์ ได้เขียนเอาไว้ครั้งแล้วครั้งเล่านั่นแหละ ในเรื่องอเมริกาและสังคมตะวันตกเข้าเผชิญหน้ากับจีนนั้น ความท้าทายอันแท้จริงอยู่ที่ฝ่ายตะวันตกจะต้องสามารถเสนอระบบการพัฒนาอย่างใหม่ออกมา เป็นระบบการพัฒนาใหม่ซึ่งมีการเรียนรู้จากจุดแข็งต่างๆ ของจีน
โลกตะวันตกต้องมีระบบดูแลรักษาสุขภาพที่ดีขึ้นกว่านี้ และมีประชาชนที่ได้รับการศึกษาดีขึ้นกว่านี้ในอนาคตข้างหน้า เพราะนี่แหละคือพื้นฐานสำหรับการเจริญเติบโตในระยะยาว และพื้นฐานสำหรับเรื่องทุนมนุษย์ ถ้าหากพวกเด็กๆ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยไม่หยุดหย่อนและต้องเข้าโรงเรียนเลวๆ กันอยู่ อนาคตของประเทศนั้นย่อมถูกกำหนดเอาไว้เรียบร้อยแล้วว่าจะต้องเผชิญกับความมืดมน
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง ยังมีประเด็นปัญหาที่จีนจำเป็นต้องพิจารณาเหมือนกันว่าเป็นปัญหาของตนเอง ทั้งนี้ ถ้าหากจีนกลายเป็นสังคมที่เปิดกว้างมากกว่านี้ มีระบบที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและโปร่งใสยิ่งขึ้น และถ้าหากจีนไม่ได้ต้องมีประเด็นปัญหาเรื่องพรมแดนกับพวกเพื่อนบ้านอย่างมากมายถึงขนาดนี้แล้ว ปัญหาต่างๆ ของจีนก็จะไม่ได้มีความเร่งด่วนเหมือนกับที่มันเป็นอยู่ในเวลานี้
แน่นอนทีเดียว มีความวิตกกังวลอย่างหนึ่งวนเวียนอยู่รอบๆ จีน เป็นความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผงาดขึ้นมาของจีนและความแตกต่างออกไปของ “อารยธรรม” จีน เรื่องนี้ยิ่งเพิ่มพูนทบทวีขึ้นอีก จากการที่จีนมีระบบการเมืองที่แตกต่างออกไป และจากการที่จีนแข็งกร้าวยืนกรานในเรื่องเกี่ยวกับพรมแดนของตน
ในแง่หนึ่ง มันเหมือนกับจีนสร้างขั้นตอนวิธีอันสลับซับซ้อนอย่างหนึ่งขึ้นมา ซึ่งกำลังทำให้ตนเองดูเป็นภัยคุกคามเพิ่มมากขึ้น สืบเนื่องจากประสบความสำเร็จและมีความสามารถในด้านการหยุ่นตัว ทว่ายังรักษาความผิดแผกแตกต่างและความแข็งกร้าวยืนกรานเรื่องพรมแดนเอาไว้ ถ้าหากจีนประสบความสำเร็จน้อยลงกว่านี้ในเรื่องระบบของตนเองแล้ว มันก็จะไม่ดูมีอันตรายเท่านี้ก็ได้ แต่เมื่อสิ่งต่างๆ ดำเนินไปอย่างที่มันเป็นอยู่ นโยบายการต่างประเทศที่แข็งกร้าวยืนกรานของจีน, ระบบการเมืองที่เป็นเผด็จการรวบอำนาจของจีน, และความสำเร็จของจีนในการควบคุมโควิด จึงกำลังสร้างความหวาดกลัวให้แก่โลกมากขึ้นไปอีก
จีนดูไม่ได้ตระหนักถึงผลของสิ่งเหล่านี้ที่จะก่อให้เกิดแก่โลกตะวันตก และบางครั้งกระทั่งอวดโอ่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ด้วยซ้ำไป ซึ่งได้ผลอยู่หรอกสำหรับตอบสนองวัตถุประสงค์ต่างๆ ภายในประเทศและสำหรับการโฆษณาชวนเชื่อ ทว่ามันกลายเป็นการซ้ำเติมใส่ฝ่ายตะวันตก เฉกเช่นการโรยเกลือใส่บาดแผลของฝ่ายตะวันตก
เหมือนที่สหรัฐฯกับยุโรปอาจจะไม่ได้เข้าอกเข้าใจอย่างเต็มที่เกี่ยวกับกลไกต่างๆ, ความสลับซับซ้อนทั้งหลาย, และความมีประสิทธิภาพของจีน ฝ่ายจีนเองก็ดูไม่ได้เข้าอกเข้าใจถึงผลที่ตนเองก่อให้เกิดขึ้นแก่โลก
ส่วนผสมเช่นนี้คือสูตรอย่างหนึ่งสำหรับการนำไปสู่ความวิบัติหายนะ เสียงเรียกร้องในโลกตะวันตกช่วงไม่นานมานี้ ให้พวกนักการเมืองใช้ความสุขุมรอบคอบและก้าวออกมาจากเส้นทางที่กำลังมุ่งไปสู่การปะทะชนกันกับจีนโครมใหญ่นั้น อันที่จริงแล้วเป็นการบอกกล่าวให้เห็นถึงสิ่งที่ตรงกันข้ามโดยแท้ เสียงเรียกร้องเหล่านี้คือการเน้นย้ำข้อเท็จจริงที่ว่า ชาวอเมริกันและชาวยุโรปส่วนใหญ่นั้นเชื่ออย่างหนักแน่นว่า การปะทะชนโครมกับจีนเป็นสิ่งที่แทบไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เสียแล้ว ถ้าหากไม่จัดแจงแตะเบรกกันก่อน
ที่จริง กระทั่งถ้าหากสหรัฐฯกับจีนสามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากัน โดยไม่มีการแตะต้องระบบการเมืองของจีนและการแข็งกร้าวยืนกรานของจีนในเรื่องพรมแดนของตนเองแล้ว มันก็ยังอาจจะก่อให้เกิดสถานการณ์ซึ่งการชนปะทะกันด้วยวิธีการทางทหารน่าจะเกิดขึ้นมามากกว่าที่จะไม่เกิดอยู่ดี
เพราะว่าประเด็นปัญหาด้านความผิดแผกแตกต่างกันทางการเมือง, ความแข็งกร้าวยืนกรานทางการทหาร, และเรื่องอารยธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ทรงความสำคัญสูงสุดในการตัดสินชี้ขาดว่าจะเกิดสันติภาพหรือสงคราม ช่วงก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น ยุโรปอยู่ในสภาพที่รัฐต่างๆ ซึ่งผิดแผกแตกต่างกันบนทวีปของตนมีการบูรณาการกันอย่างแน่นหนายิ่งกว่าที่จีนมีการบูรณาการกับส่วนอื่นๆ ของโลกในเวลานี้มากมายนัก โดยที่บรรดากษัตริย์และขุนนางชั้นสูงของรัฐต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วมีความเกี่ยวข้องโยงใยกันอย่างใกล้ชิด แต่กระนั้นยุโรปก็ยังคงเกิดการสู้รบกันอย่างข่มขื่นในสงครามครั้งต่างๆ อย่างไม่รู้จักจบสิ้น
ข้อตกลงด้านการค้าทั้งหลายมันก็มีประโยชน์อยู่หรอก ทว่ามันไม่ใช่วัคซีนสำหรับใช้ป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะกันทางการทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวไปด้วยปัจจัยต่างๆ ของมันเอง ในทางตรงกันข้าม จีนกลับดูเหมือนเชื่อว่าการทำข้อตกลงการค้ากับยุโรปหรืออเมริกา สามารถที่จะใช้เป็นยาแก้พิษร้ายแห่งสงคราม และเมื่อมียาแก้พิษตัวนี้แล้ว จีนก็สามารถที่จะเดินหน้าระบบการเมืองของตนเองต่อไปและแสดงพฤติกรรมแข็งกร้าวยืนกรานกับพวกเพื่อนบ้านของตนต่อไปได้ ทว่านี่อาจจะเป็นการประเมินที่ผิดพลาดเป็นอย่างยิ่ง
ในอีกทางหนึ่ง อเมริกาอาจเฝ้ารอคอยให้เกิดการล่มสลายของจีนภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ "ที่แสนจะน่าชิงชัง” และด้วยเหตุนี้เอง ก็จะพลาดพลั้งมองไม่เห็นความเข้มแข็งและความหนักแน่นมั่นคงของระบบของจีนในปัจจุบัน
ถ้าหากสหรัฐฯต้องการที่จะหลีกเลี่ยงสงครามและเป็นผู้ชนะในการเผชิญหน้าอย่างรอบด้านกับจีนแล้ว สหรัฐฯก็จะต้องดำเนินความริเริ่มต่างๆ ที่ผิดแผกแตกต่างออกไปจากเดิม และดำเนินการปฏิรูปตนเองอย่างลึกซึ้งเพื่อให้ทัดเทียมและแซงหน้าความสำเร็จทั้งหลายของจีน แต่เมื่อขาดไร้ความริเริ่มทั้ง 2 ด้านนี้ซึ่งจะสามารถทำหน้าที่เป็นตัวลัดวงจรของพลวัตอันสลับซับซ้อนเหล่านี้ได้ เส้นทางสู่การปะทะกันทางทหารก็อาจขยับใกล้เข้ามาเรื่อยๆ
อันที่จริงแล้ว บางคนบางฝ่ายในจีนและในสหรัฐฯอาจจะคิดว่า การปะทะกันทางทหารระหว่าง 2 ประเทศนี้ หากเกิดขึ้นมาเสียตั้งแต่ตอนนี้น่าจะดีกว่าไปเกิดขึ้นในเวลาต่อไปข้างหน้า
จากมุมมองของฝ่ายจีน อาจมีผู้คนที่ขบคิดว่าการปะทะกับสหรัฐฯเสียเดี๋ยวนี้ ก่อนที่สหรัฐฯจะสามารถสร้างกลุ่มพันธมิตรทางทหารขึ้นมาได้สำเร็จนั้น อาจจะเป็นการดีกว่า เนื่องจากมันจะสร้างความหวาดหวั่นให้แก่พวกเพื่อนบ้านบางรายจนหันกลับมาหาจีนในลักษณะร่วมมือเป็นพันธมิตรกัน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ก็วางตัวเป็นกลาง ส่วนในอเมริกา อาจมีผู้คนที่ขบคิดว่าการปะทะกันในตอนนี้เสียเลย น่าจะดีกว่ารอให้จีนเติบโตต่อไปจนใหญ่โตเกินไปและมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากเกินไป
ในทั้งสองประเทศ อาจมีผู้คนที่คิดผิดแผกแตกต่างไปจากนี้อยู่เช่นกัน และถือหางให้ชะลอการปะทะกันทางทหารออกไปก่อน ในจีนนั้น บางคนอาจต้องการที่จะเติบโตขยายตัวเพิ่มความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้มากขึ้นไปอีก ในสหรัฐฯ บางคนอาจต้องการเวลาสำหรับการสร้างกลุ่มพันธมิตรระดับโลกขึ้นมา
ในทั้ง 2 กรณี การมีความคิดเช่นนี้คือเครื่องพิสูจน์ว่าทางเลือกในทางการทหารเป็นสิ่งที่ดำรงคงอยู่อย่างเป็นจริงเป็นจังเอามากๆ ในความคิดของพวกผู้วางนโยบาย และลองเมื่อพวกเขามีการพิจารณาทางเลือกทางนี้ด้วย พวกเขาก็อาจจะต้องการหยิบมันขึ้นมาใช้ก็เป็นได้
ด้วยเหตุนี้จึงควรที่จะดำเนินขั้นตอนซึ่งรุนแรงถึงรากถึงโคน เพื่อตัดทิ้งทางเลือกทางทหารนี้ออกไปเสีย และบูรณาการจีนเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับโลก เรื่องประการหลังนี้จะสามารถเกิดขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อจีนขบคิดทบทวนเกี่ยวกับอดีตของตนในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และบังเกิดความตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องทำตัวให้เหมือนกับส่วนอื่นๆ ของโลกให้มากขึ้น
ประชาธิปไตยนั้นสามารถเจริญเติบโตได้ในจีน เพราะชาวจีนนั้นกำลังมีความชื่นชมยินดีกับสันติภาพและความมั่งคั่งร่ำรวยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ไม่เหมือนกับอิรักและอัฟกานิสถาน ที่สงครามทำให้บ้านแตกสาแหลกขาด และไม่เหมือนกับอียิปต์ที่มวลชนอยู่ในความยากจนและไม่รู้หนังสือ) รวมทั้ง“อารยธรรม” ของพวกเขาก็มีความอ่อนโยนซึ่งสามารถดัดให้เข้ากับประชาธิปไตยตะวันตกได้ (ดังตัวอย่างในเกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, และไต้หวัน ได้พิสูจน์ยืนยันให้เห็นแล้ว)
จะเดินไปจนถึงตรงนั้นได้อย่างไรนั้น คือประเด็นปัญหาประการหนึ่ง รวมทั้งมีความเสี่ยงต่างๆ อย่างใหญ่โตมโหฬาร ทว่าเป็นไปได้ทีเดียวว่ามันไม่มีหนทางเลือกอย่างอื่นๆ จะให้เลือกหรอก ขณะเดียวกัน พัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาล่าสุดในสหรัฐฯ อาจกลายป็นตัวหมุนปั่นให้การมีปฏิสัมพันธ์กับจีนในอนาคตหันเหไปยังทิศทางอื่นๆ ที่ผิดแผกแตกต่างออกไปจากเดิม
ทั้งนี้อเมริกากำลังค้นพบวัตถุประสงค์อย่างใหม่ในการขีดเส้นแบ่งชัดไม่เอาด้วยกับการใช้อำนาจอย่างมิชอบของทรัมป์ แล้วถ้าหากสหรัฐอเมริกาต่อสู้กับสิ่งที่มองเห็นกันว่าเป็นเผด็จการภายในบ้านของตนเองได้เช่นนี้ สหรัฐอเมริกาก็ย่อมจะต่อสู้กับสิ่งที่มองเห็นกันว่าเป็นเผด็จการซึ่งอยู่นอกประเทศได้เช่นกัน
ข้อเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรกสุดทางเว็บไซต์ข่าวSettimana News (ดูได้ที่ http://www.settimananews.it/informazione-internazionale/us-china-war-real-possibility/)