xs
xsm
sm
md
lg

‘ไบเดน’แต่งตั้งมือดีด้านเอเชีย เป็นผู้คุมนโยบาย‘อินโด-แปซิฟิก’ ส่งสัญญาณมุ่งสร้างพันธมิตร ลดเผชิญหน้าแต่ยังคงแข็งกร้าวกับ‘จีน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด ฮุตต์


(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 17 มกราคม 2013) เคิร์ต แคมป์เบลล์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก  ทั้งนี้ว่าที่ประธานาบดีโจ ไบเดน กำลังดึงให้ แคมป์เบลล์ มาเป็น “ผู้ประสานงานกิจการอินโด-แปซิฟิก” ในสภาความมั่นคงแห่งชาติของเขา
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Campbell poised to ‘pivot’ US policy in Asia
By DAVID HUTT
14/01/2021

ว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ดึงเอา เคิร์ต แคมป์เบลล์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดคนหนึ่งของอเมริกา มาเป็น “ซาร์” ผู้ดูแลรับผิดชอบนโยบายด้านอินโด-แปซิฟิก โดยเป็นที่คาดมหายกันว่าเขาจะผลักดันให้สหรัฐฯเน้นหนักสร้างพันธมิตรในภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น และใช้กระบวนวิธีมุ่งเผชิญหน้าจีนให้น้อยลง ถึงแม้ว่ายังคงมีจุดยืนแข็งกร้าวกับแดนมังกร

ผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยเอเชียซึ่งได้รับความเคารพนับถือมากที่สุดคนหนึ่งของอเมริกา ได้รับการติดต่อทาบทานจากว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้เข้ารับหน้าที่เป็น “ซาร์ด้านอินโด-แปซิฟิก” (Indo-Pacific czar) หนึ่งในสัญญาณที่ส่งออกมาว่าคณะบริหารสหรัฐฯชุดที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่งในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ น่าที่จะคงจุดยืนอันแข็งกร้าวต่อจีนเอาไว้ ขณะเดียวกับที่แสวงหาหนทางสร้างกลุ่มพันธมิตรต่างๆ ที่ยั่งยืนและยืนยาวถาวรยิ่งขึ้นกับภูมิภาคนี้

เคิร์ต แคมป์เบลล์ (Kurt Campbell) ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ในคณะบริหารบารัค โอบามา รวมทั้งถูกมองว่าคือสถาปนิกในทางสติปัญญาเบื้องหลังนโยบาย “ปักหลักให้ความสำคัญที่เอเชีย” (pivot to Asia) เมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2010 จะเข้าทำหน้าที่เป็น “ผู้ประสานงานกิจการด้านอินโด-แปซิฟิก” (coordinator for Indo-Pacific affairs) ของไบเดน

แคมป์เบลล์มีเส้นสายความสัมพันธ์กับฝ่ายต่างๆ เป็นอย่างดี โดยที่ภูมิหลังของเขาก็ผ่านงานมาทั้งด้านธุรกิจและทางวิชาการ เขาน่าที่จะกลายเป็นอาคันตุกะผู้เดินทางมาเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างสม่ำเสมอในช่วงเวลา 4 ปีข้างหน้า การที่เขาเคยรับหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตลอดจนเคยผ่านงานในกลุ่มคลังสมองเน้นหนักเอเชียมาแล้วหลายต่อหลายแห่ง ย่อมหมายความว่าเวลานี้เขามีรายชื่อคนมักคุ้นคนเคยติดต่อด้วยซึ่งเป็นพวกนักการเมืองและผู้สร้างประชามติทรงอิทธิพลที่สุดของภูมิภาคนี้อย่างยาวเหยียด เป็นผู้คนที่อาจจะมีประโยชน์ต่อเขาในเวลาต่อไป

เมื่อปี 2007 เขาจับมือกับ มิเชล เฟลอร์นอย (Michele Flournoy) ก่อตั้ง “ศูนย์กลางเพื่อความมั่นคงใหม่ของอเมริกัน” (Center for a New American Security) ขึ้นมา ทั้งนี้ เฟลอร์นอย ผู้เคยเป็นรองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯฝ่ายยุทธศาสตร์ในคณะบริหารบิลล์ คลินตัน และปลัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯฝ่ายนโยบายในยุคโอบามา เป็นคนที่มีแนวความคิดให้ใช้แนวทางแข็งกร้าวกับจีน หรือที่เรียกกันว่า “เหยี่ยวจีน” (China hawk) ก่อนหน้านี้ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากเห็นกันว่า เธอผู้นี้มีกำลังภายในเพียงพอที่จะขึ้นเป็นรัฐมนตรีกลาโหมของไบเดน ก่อนที่เขาจะตัดสินใจหันไปติดต่อทาบทาม พลเอก ลอยด์ ออสติน

สำหรับตัวแคมป์เบลล์เองนั้น ในเวลาต่อมา เขาได้ก่อตั้ง “เอเชียกรุ๊ป” (Asia Group) กิจการให้คำปรึกษาทางด้านยุทธศาสตร์และการบริหารจัดการเงินทุน โดยที่ตัวเขาเองเข้ารับตำแหน่งประธาน

บทบาทของแคมป์เบลล์ในคณะบริหารไบเดน จะไม่ใช่อยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ หากนั่งอยู่ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ คาดหมายกันว่าเขาจะทำงานอย่างใกล้ชิดเคียงข้าง เจค ซุลลิแวน (Jake Sullivan) ผู้ที่ไบเดนทาบทามให้มาเป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของเขา อันที่จริง แคมป์เบลล์ได้เคยเขียนบทความร่วมกับซุลลิแวนอยู่หลายชิ้นในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ บ่งชี้ให้เห็นว่าทั้งคู่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันเกี่ยวกับนโยบายของสหรัฐฯในเอเชีย

ข้อเขียนที่ทั้งสองคนเขียนร่วมกันชิ้นหนึ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อปลายปี 2019 ในวารสาร “ฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ส” (Foreign Affairs) ใช้ชื่อเรื่องว่า “Competition Without Catastrophe: How America Can Both Challenge and Coexist With China” (แข่งขันกันโดยไม่ก่อให้เกิดหายนะ: อเมริกาต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถทั้งท้าทายและทั้งอยู่ร่วมกันกับจีน) มีเนื้อหาเสนอทัศนะว่า คณะบริหารทรัมป์ทำถูกต้องแล้วที่เปลี่ยนแปลงทัศนะของอเมริกาที่มีต่อจีน โดยให้ถือว่าจีนเป็น “คู่แข่งขันทางยุทธศาสตร์” รายหนึ่ง แต่ผู้เขียนทั้งสองเรียกร้องให้ใช้กระบวนวิธีที่มุ่งเผชิญหน้าให้น้อยลง และส่งสารส่งข้อความออกมาอย่างเสมอต้นเสมอปลายยิ่งขึ้น

พวกเขาเขียนว่า การอยู่ร่วมกัน “หมายความถึงการยอมรับว่า การแข่งขันเป็นเงื่อนไขที่จะเอามาบริหารจัดการกัน แทนที่จะถือว่าเป็นปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไขคลี่คลาย”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แคมป์เบลล์ยังได้ร่วมเขียนบทความอีกชิ้นหนึ่งใน ฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ส ซึ่งมีเนื้อหาเสนอแนะว่า คณะบริหารไบเดนจะต้องขยายกลุ่มพันธมิตรต่างๆ ในเอเชีย เพื่อที่จะสามารถร่วมมือกันในการต้านทานผลักไสให้การรุกรานก้าวร้าวของจีนต้องถอยกลับไป

ในข้อเขียนชิ้นนี้ แคมป์เบลล์เสนอแนะให้สหรัฐฯกลับเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ในเอเชียอย่างลึกซึ้ง ด้วยความมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนพวกแนวร่วมเฉพาะกิจต่างๆ ของตนให้กลายเป็นกลุ่มพันธมิตรซึ่งมีความรอบด้านและเป็นระบบมากขึ้น ในการคัดค้านต่อต้านสิ่งซึ่งดูเหมือนกับเป็นความพยายามของจีน ในการจัดระเบียบการเมืองของภูมิภาคนี้และของโลกเสียใหม่

ขณะที่คณะบริหารทรัมป์ได้สับสวิตช์ปรับเปลี่ยนนโยบายของวอชิงตันไปสู่แนวทางรับมือกับการกระทำต่างๆ ของจีนอย่างแข็งกร้าวยิ่งขึ้น ทว่าความสัมพันธ์ของสหรัฐฯกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับอยู่อาการอาการบูดบึ้งนับตั้งแต่ปี 2019 เมื่อทรัมป์หยุดส่งเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสมาเข้าร่วมการประชุมซัมมิตประจำปีของภูมิภาคนี้

ผู้นำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายต่อหลายคนทีเดียว ได้ตอบโต้เอาคืนด้วยการไม่เข้าร่วมการหารือต่างๆ ที่นำโดยสหรัฐฯ ณ การประชุมข้างเคียงของซัมมิตภูมิภาคเหล่านี้ ในเมื่อคณะผู้แทนของสหรัฐฯที่ทรัมป์ส่งมานั้น นำโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นแค่ระดับจูเนียร์

ยังมีรัฐบาลอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ เที่ยวบ่นว่าตำหนิคณะบริหารทรัมป์ในประเด็นที่ว่า มัวพะวงสนใจอยู่ที่เรื่องเกี่ยวกับจีนมากมายเกินไป เลยบกพร่องล้มเหลวไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้ในประเด็นปัญหาอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับแดนมังกร

แคมป์เบลล์สามารถที่อุดช่องโหว่ตรงนี้ ด้วยการก้าวเข้ามาอย่างรวดเร็วเพื่อแสดงตัวเป็นผู้ดำเนินนโยบายของคณะบริหารไบเดนในอินโด-แปซิฟิก

นี่น่าจะหมายถึงการผสมผสานระหว่างการใช้นโยบายแข็งกร้าวต่อจีน กับความร่วมมือกับพวกหุ้นส่วนในเอเชียของอเมริกาในระดับที่สามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ โดยที่ผ่านมาหุ้นส่วนเหล่านี้จำนวนมากค้นพบด้วยความไม่สบายใจว่า นโยบายของคณะบริหารทรัมป์นั้นช่างอึมครึมเข้าใจยาก อีกทั้งเปลี่ยนแปลงกันได้อย่างรวดเร็วเหลือเกิน โดยขึ้นอยู่กับความคิดประหลาดๆ ของตัวประธานาธิบดีเอง ตลอดจนของคณะรัฐมนตรีของเขาซึ่งมักเอาแน่เอานอนไม่ค่อยจะได้

ในหนังสือของเขาเรื่อง “The Pivot” (ตัวแกนหลัก) ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 2016 แคมป์เบลล์เสนอแนะว่า สหรัฐฯต้องเร่งรีบขยายกลุ่มพันธมิตรต่างๆ ของตน โดยเน้นหนักเจาะจงไปที่อินเดียกับอินโดนีเซีย

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอินโดนีเซียได้กระเตื้องขึ้นมามากในสมัยโอบามา ผู้ซึ่งเคยพำนักอาศัยอยู่ในกรุงจาการ์ตาเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก หลังจากที่สายสัมพันธ์นี้อยู่ในลักษณะเมินเฉยต่อกันมาเป็นเวลาเกือบ 1 ทศวรรษ ทั้งนี้การที่คณะบริหารจอร์จ ดับเบิลยู บุช เข้าแทรกแซงก้าวก่ายในตะวันออกกลาง เป็นสิ่งซึ่งถูกคัดค้านอย่างแข็งขันในอินโดนเซียที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ถึงแม้ทั้งสองฝ่ายได้มีการร่วมมือกันในประเด็นปัญหาด้านการต่อต้านการก่อการร้ายก็ตามที

สามารถกล่าวได้เช่นกันว่าอินโดนีเซียก็ถูกมองข้ามจากค่ายทรัมป์ที่กำลังจะพ้นตำแหน่ง โดยที่เห็นได้ชัดว่าพวกเขาให้ความสำคัญมากกว่ากับเรื่องการกระชับความสัมพันธ์กับสิงคโปร์และเวียดนาม

ทั้งสองประเทศยังเป็นสถานที่เชิงสัญลักษณ์ซึ่งจัดการเจรจาหารือสันติภาพระหว่างทรัมป์กับจอมเผด็จการเกาหลีเหนือ คิม จองอึน เวลาเดียวกันเวียดนามยังเป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างสำคัญในทางพฤตินัยจากสงครามการค้าที่ทรัมป์ทำกับจีน โดยที่พวกบริษัทนานาชาติต่างโยกย้ายบรรดาโรงงานทั้งหลายไปที่นั่น เพื่อหลบเลี่ยงหากจะมีรายการขึ้นภาษีศุลกากรครั้งใหม่ๆ กับเอาสินค้าประทับตรา “เมดอินไชน่า” กันอีก

แคมป์เบลล์ได้พูดเอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า วอชิงตันต้องแสดงให้เห็นว่าตนสนับสนุน “ระบบการค้าแบบเปิดกว้างและมองโลกแง่ดี” ซึ่งอาจจะหมายถึงยุติการมุ่งโฟกัสไปที่การขาดดุลการค้าของอเมริกา อันเป็นผีร้ายน่าหวาดผวาตัวฉกาจสำหรับคณะบริหารทรัมป์

นี่ก็อาจกลายเป็นผลดีสำหรับเวียดนามก็เป็นได้ หลังจากที่ในเดือนธันวาคม ฮานอยได้ถูกกระทรวงการคลังสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำว่าเป็ผู้ปั่นค่าเงินตราแบบเต็มๆ โดยในเวลาเดียวกันนั้น ไทยก็ถูกเพิ่มเข้าไปใน “รายชื่อผู้ต้องถูกจับตามอง” ของบัญชีดำนี้ด้วย หลังจากที่มาเลเซียและสิงคโปร์โดนมาแล้วตั้งแต่ปีก่อนๆ

เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเช่นกัน แคมป์เบลล์ยังได้กล่าวยืนยันว่า การปรากฏตัวทางทหารของสหรัฐฯในเอเชีย คือ “การถือตั๋วสำหรับเกมใหญ่ๆ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำหรับการดำเนินการเพื่อป้องปรามอำนาจแข็งกร้าวของจีน

เขาน่าที่จะเสนอแนะด้วยว่า คณะบริหารไบเดนจำเป็นที่จะต้องรักษาการเจรจาหารือกับมะนิลา ในเรื่องข้อตกลงว่าด้วยกองทหารที่มาแวะเยือน (Visiting Forces Agreement) ซึ่งเปิดทางให้กองทหารสหรัฐฯสามารถเข้าไปใช้พวกฐานทัพทางทหารของฟิลิปปินส์ และดำเนินการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกำลังทหารอเมริกันที่อยู่ในฟิลิปปินส์

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของแดนตากาล็อก ถูกจับตามองว่า เป็นพันธมิตรระดับท็อปรายหนึ่งของจีนในภูมิภาค ถึงแม้ฟิลิปปินส์มีความผูกพันตามสนธิสัญญาเพื่อการป้องกันร่วมกันอยู่กับสหรัฐฯก็ตามที โดยที่ดูเตอร์เตข่มขู่คุกคามอยู่บ่อยครั้งที่จะยกเลิกข้อตกลงที่สองประเทศทำกันไว้ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อนฉบับนี้ เหตุผลของเขาก็รวมไปถึงการมุ่งตอบโต้แก้เผ็ดจากการที่ถูกสหรัฐฯวิพากษ์วิจารณ์ประวัติการเคารพสิทธิมนุษยชนที่สุดแสนเลวร้ายของคณะบริหารของเขา

ถ้าหากฐานะแห่งการมีอำนาจสูงสุดในทางทหารเหนือใครๆ ของอเมริกาในอินโด-แปซิฟิก ยังคงต้องถือเป็นความกังวลสนใจอันดับแรกๆ ของสหรัฐฯ อย่างที่ข้อเขียนในอดีตของแคมป์เบลล์ก็บ่งชี้ว่าเขาจะเน้นย้ำในเรื่องนี้แล้ว คณะบริหารไบเดนย่อมน่าที่จะออกแรงบีบคั้นกดดันรัฐบาลกัมพูชาต่อไปอีก เพื่อไม่ให้พนมเปญอนุญาตให้กองทหารจีนเข้าไปตั้งประจำอยู่ตามฐานทัพต่างๆ ในประเทศนั้น

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นว่า วอชิงตันได้คอยกระพือข้อกล่าวหาทั้งโดยผ่านหน่วยงานภาครัฐและทางภาคเอกชนอย่างสม่ำเสมอว่า พนมเปญซึ่งเวลานี้กลายเป็นหุ้นส่วนใกล้ชิดที่สุดของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะอนุญาตให้กองทัพจีนส่งทหารไปประจำที่ฐานทัพเรือเมืองเรียม (Ream Naval Base) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอ่าวไทย ถึงแม้รัฐบาลกัมพูชาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ครั้งแล้วครั้งเล่า

หากจีนมีกองทหารและทรัพย์สินทางนาวีอยู่ในกัมพูชาแล้ว ก็จะทำให้แดนมังกรได้แนวรบด้านใหม่ขึ้นมาอีกด้านหนึ่ง ตรงบริเวณปีกทางใต้ของทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ทะเลจีนใต้เป็นพื้นที่ซึ่งจีนมีข้อพิพาททางดินแดนกับหลายๆ รัฐของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสหรัฐฯภายใต้ทรัมป์ได้ประกาศกร้าวที่จะรักษาท้องน้ำแห่งนี้ให้เปิดกว้างสำหรับการเดินเรือระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม บางทีจุดที่สำคัญที่สุดอาจจะอยู่ที่ว่า แคมป์เบลล์ดูเหมือนมีความเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดีว่า สิ่งที่รัฐบาลส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความหวาดกลัวอย่างที่สุด ได้แก่การถูกบีบบังคับให้ต้องเลือกว่าจะอยู่กับสหรัฐฯหรืออยู่กับจีน อันเป็นการแบ่งขั้วเลือกข้างซึ่งบางคนบางฝ่ายระบุว่าเป็นสิ่งที่คณะบริหารทรัมป์ พยายามกดดันให้กระทำ

นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ ซึ่งถูกมองกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นโฆษกของภูมิภาคในประเด็นปัญหานี้ ได้กล่าวเอาไว้เมื่อปลายปี 2019 ว่า “ถ้าคุณเรียกร้องให้พวกเขาต้องเลือกและต้องพูดว่า ‘ดังนั้น ผมจำเป็นต้องตัดความเชื่อมโยงต่างๆ ที่ผมมีอยู่กับคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของผม’ แล้วล่ะก้อ ผมคิดว่าคุณจะทำให้พวกเขาต้องตกอยู่ในฐานะที่ยากลำบากเอามากๆ”

แคมป์เบลล์ชี้เอาไว้ในบทความทาง ฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ส ชิ้นซึ่งเผยแพร่ในเดือนนี้ว่า “ถึงแม้บรรดารัฐในอินโด-แปซิฟิกเสาะแสวงหาความช่วยเหลือของสหรัฐฯในการสงวนรักษาไว้ซึ่งการปกครองตนเองของพวกเขาเมื่อเผชิญหน้ากับการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน แต่พวกเขาก็ตระหนักเป็นอันดีว่า การกีดกันปักกิ่งออกไปจากอนาคตอันมีชีวิตชีวาของเอเชียนั้น เป็นสิ่งที่ทั้งไม่สามารถปฏิบัติได้และทั้งไม่ก่อเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา ไม่มีรัฐใดในภูมิภาคนี้เช่นกันที่ต้องการถูกบีบบังคับให้ต้อง “เลือก” ระหว่างอภิมหาอำนาจสองรายนี้”

ข้อเขียนของเขาบอกต่อไปว่า “หนทางออกที่ดีกว่านั้นย่อมจะเป็นการที่สหรัฐฯและพวกพันธมิตรของสหรัฐฯ โน้มน้าวชักชวนจีนว่า เป็นสิ่งมีประโยชน์ที่จะมีภูมิภาคซึ่งมีการแข่งขันกันทว่าดำเนินไปอย่างสันติ”

หลังจากระยะเวลา 4 ปีของการเขียนถึงธีมนี้ ตอนนี้สถาปนิกคนดั้งเดิมของนโยบาย “ปักหลัก” ให้ความสำคัญที่เอเชีย ก็มีอำนาจที่จะนำเอาสิ่งที่เขาครุ่นคิดรำพึงรำพันไว้ มาทำให้บังเกิดผลในทางนโยบาย

เดวิด ฮุตต์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ด้านการเมือง ซึ่งเคยพำนักอยู่ในกัมพูชาระหว่างปี 2014-2019 ปัจจุบันอยู่สลับไปมาระหว่างสาธารณรัฐเช็กกับฝรั่งเศส เขาเป็นคอลัมนิสต์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของวารสาร “ดิโพลแมต” และเป็นผู้สื่อข่าวให้เอเชียไทมส์
กำลังโหลดความคิดเห็น