สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ โหวตรับรองญัตติถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งเมื่อวันพุธ (13 ม.ค.) จากกรณีการปราศรัยปลุกปั่นให้ผู้สนับสนุนบุกเข้าไปก่อจลาจลในอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์อเมริกันที่ถูกลงมติถอดถอนถึง 2 ครั้งตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง ด้าน ทรัมป์ ยังไม่มีท่าทีสำนึกผิด และยืนยันว่าสิ่งที่ตนปราศรัยในวันที่ 6 ม.ค.นั้นเหมาะสมทุกประการ ขณะที่บรรดาผู้นำกองทัพสหรัฐฯ ออกเอกสารประณามการบุกรุกรัฐสภาว่าเข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญ
การอภิปรายพิจารณาถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ มีขึ้นท่ามกลางกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิที่ติดอาวุธไรเฟิลประจำการอยู่ทั้งภายในและนอกอาคารรัฐสภาเพื่อรักษาความปลอดภัย หลังจากเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ในที่ประชุมสภาแห่งเดียวกันนี้ บรรดาสมาชิกสภาต้องเข้าไปมุดหลบอยู่ใต้เก้าอี้และสวมหน้ากากป้องกันแก๊ส ระหว่างที่พวกก่อจลาจลปะทะกับตำรวจบริเวณด้านนอกประตู
สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งเดโมแครตครองเสียงข้างมากลงมติ 232 ต่อ 197 เสียง สนับสนุนญัตติถอดถอนทรัมป์เมื่อวันพุธ (13 ม.ค.) โดยมีสมาชิกรีพับลิกันถึง 10 คน ที่หันไปเข้าร่วมกับพรรคเดโมแครตในการยกมือสนับสนุนการปลด ทรัมป์ พ้นจากเก้าอี้ประธานาธิบดี
ทรัมป์ เคยถูกสภาผู้แทนราษฎรลงมติถอดถอนมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2019 ในข้อหาใช้อำนาจโดยมิชอบและขัดขวางการทำงานของสภาคองเกรส โดยเกี่ยวข้องกับกรณีที่เขาพยายามล็อบบี้ยูเครนให้ขุดคุ้ยความผิดของ โจ ไบเดน และบุตรชาย “ฮันเตอร์ ไบเดน” ก่อนจะถึงศึกเลือกตั้ง ซึ่งฝ่ายเดโมแครตมองว่าเป็นการยุยงให้ต่างชาติเข้าแทรกแซงเพื่อทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการเมือง ทว่าหลังจากนั้นวุฒิสภาซึ่งรีพับลิกันครองเสียงข้างมากได้ทำการไต่สวนและประกาศในเดือน ก.พ.ปี 2020 ว่า ทรัมป์ ไม่มีความผิดในทั้ง 2 ข้อกล่าวหา
สำหรับญัตติถอดถอนในครั้งที่ 2 นี้ระบุว่า ทรัมป์ มีความผิดฐาน “ยุยงให้เกิดการกบฏ” เนื่องจากผู้นำสหรัฐฯ วัย 74 ปี ได้ขึ้นเวทีปราศรัยปลุกเร้าผู้สนับสนุนหลายพันคนที่จัตุรัสเนชันแนลมอลล์ในวันที่ 6 ม.ค. โดยย้ำว่าตนเองถูกโกงเลือกตั้ง พร้อมทั้งเรียกร้องให้คนเหล่านั้น “หยุดยั้งการขโมย”, “โชว์ความแข็งแกร่ง” และ “ต่อสู้ให้เต็มที่ยิ่งขึ้นไปอีก” ก่อนที่มวลชนจะเคลื่อนขบวนเข้าปิดล้อมรัฐสภา และเกิดเหตุการณ์ชุลมุนจนทำให้ทั้งตำรวจและผู้ชุมนุมเสียชีวิตไปถึง 6 ราย
ญัตติถอดถอนยังอ้างถึงการที่ ทรัมป์ โทรศัพท์ไปกดดันเจ้าหน้าที่รัฐจอร์เจียคนหนึ่งให้ “หา” คะแนนเสียงมาเพิ่มให้เขา เพื่อคว่ำชัยชนะของ ไบเดน ในรัฐดังกล่าว
“ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยุยงให้เกิดการก่อกบฏในครั้งนี้ กลุ่มกบฏติดอาวุธพวกนี้ต่อต้านประเทศที่เราอยู่ร่วมกัน” แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครต กล่าวในห้องประชุมก่อนการลงมติ “เขาต้องไป เขาเป็นตัวอันตรายอย่างชัดแจ้งต่อประเทศแห่งนี้ที่เราทุกคนรัก”
เป็นที่น่าสังเกตว่า คราวนี้แกนนำพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้เรียกร้องให้สมาชิกพรรคต้องคัดค้านญัตติถอดถอน โดยยกให้เป็นเรื่องของมโนธรรมส่วนบุคคล ซึ่งผิดไปจากธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านๆ มา
ขณะเดียวกันมีสัญญาณว่า ทรัมป์ เริ่มที่จะคุมเสียงคนในพรรครีพับลิกันไม่อยู่ โดยมี ส.ส.รีพับลิกันหลายคนที่ประกาศล่วงหน้าว่าจะโหวตหนุนญัตติถอดถอน หนึ่งในนั้นคือ ส.ส. ลิซ เชนีย์ ผู้นำเบอร์ 3 ของรีพับลิกันในสภาผู้แทนฯ ซึ่งกล่าวว่า “ไม่เคยมีครั้งไหนที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะทรยศต่อหน้าที่ และผิดคำสาบานที่ให้ไว้ต่อรัฐธรรมนูญมากเท่านี้มาก่อน”
“ฉันไม่ได้เลือกข้าง แต่ฉันเลือกความจริง” เจมี เฮอร์เรรา บัตเลอร์ ส.ส.รีพับลิกัน กล่าวหลังประกาศสนับสนุนญัตติถอดถอน ทรัมป์ ท่ามกลางเสียงปรบมือสนับสนุนจากเพื่อนสมาชิกเดโมแครต “นี่คือทางเดียวที่เราจะเอาชนะความกลัว”
อย่างไรก็ตาม คนในพรรครีพับลิกันบางส่วนมองว่าการผลักดันถอดถอน ทรัมป์ ถูกกระทำอย่างเร่งรีบเกินไป และข้ามขั้นตอนที่ละเอียดรอบคอบต่างๆ อย่างเช่นการรับฟังข้อคิดเห็น (hearings)
จิม จอร์แดน ส.ส.รีพับลิกันจากโอไฮโอ พันธมิตรใกล้ชิดของทรัมป์ ถึงขั้นกล่าวหาสมาชิกพรรคเดโมแครตว่าดำเนินการอย่างไม่ยั้งคิดเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเองล้วนๆ
ทั้งนี้ ยังไม่เคยมีประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใดที่ถูกปลดพ้นจากตำแหน่งผ่านกระบวนการถอดถอนโดยรัฐสภามาก่อน โดยญัตติถอดถอน 3 หนก่อนหน้านี้ตกเป็นของ ทรัมป์ ในปี 2019, บิล คลินตัน ในปี 1998 และ แอนดรูว์ จอห์นสัน ในปี 1868 ทว่าสุดท้ายแล้ววุฒิสภาก็ลงมติให้ประธานาธิบดีทั้ง 3 พ้นผิดจากทุกข้อกล่าวหา
มติของสภาผู้แทนราษฎรมีขึ้นหลังจากที่รองประธานาธิบดี เพนซ์ ได้ประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 (25th Amendment) ปลดผู้นำสหรัฐฯ ก่อนหมดวาระ
“ผมไม่คิดว่าวิธีนี้จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อชาติบ้านเมือง หรือสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของเรา” เพนซ์ ระบุในจดหมายที่ส่งถึง แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 12 ม.ค. พร้อมทั้งขอร้องให้สมาชิกสภาคองเกรสหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะสร้างความแตกแยกและเติมเชื้อไฟให้กับสถานการณ์ในตอนนี้
อนึ่ง การใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 ปลดประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกจากตำแหน่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อรองประธานาธิบดีได้ประกาศใช้อำนาจดังกล่าว โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่
ด้าน ทรัมป์ ซึ่งออกมาจากทำเนียบขาวเป็นครั้งแรกนับแต่ปราศรัยยุยงให้กองเชียร์บุกรัฐสภา ได้ให้สัมภาษณ์สื่อขณะเดินทางไปยังเมืองอลาโม รัฐเทกซัส ในวันอังคาร (12) โดยปฏิเสธไม่ขอรับผิดชอบใดๆ ต่อเหตุการณ์รุนแรงซึ่งหลายคนเรียกว่าเป็นการยั่วยุให้เกิดการกบฏยึดอำนาจ
“ถ้าคุณได้อ่านสุนทรพจน์ของผม สิ่งที่ผมพูดมันถูกต้องเหมาะสมทุกประการ” ทรัมป์ บอกกับผู้สื่อข่าว “พวกเขาได้ตรวจทานสุนทรพจน์ รวมถึงถ้อยคำต่าง ๆ จนถึงย่อหน้าและประโยคสุดท้าย ซึ่งทุกคนก็เห็นว่ามันเหมาะสมดีแล้ว”
นอกจากไม่มีท่าทีสำนึกผิด ทรัมป์ ยังกล่าวหาว่าความพยายามของ ส.ส. เดโมแครตในการถอดถอนตนเป็นการล่าแม่มดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมือง ซึ่งทำให้อเมริกา “ตกอยู่ในอันตรายใหญ่หลวง”
ทั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ยอมตอบคำถามของนักข่าวคนหนึ่งที่ตะโกนถามว่า เขาคิดว่าตัวเองมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อเหตุรุนแรงที่รัฐสภาซึ่งมีคนตายไป 6 ศพหรือไม่
ทรัมป์ ยังระบุอีกด้วยว่า ไม่กังวลกับบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 ซึ่งเปิดทางให้รองประธานาธิบดีและคณะบริหารถอดถอนเขาพ้นจากตำแหน่ง
“บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 ไม่ได้ก่อความเสี่ยงอะไรกับผมเลย” ทรัมป์ กล่าวต่อหน้าส่วนหนึ่งของกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโกในรัฐเทกซัส อันเป็นสัญลักษณ์ของนโยบายคนเข้าเมืองอันเข้มงวด ที่เขาผลักดันมาตลอด 4 ปีของการดำรงตำแหน่ง
ขั้นตอนต่อไปของกระบวนการถอดถอนได้แก่วุฒิสภาจะต้องเปิดการพิจารณาไต่สวนความผิดของทรัมป์ แต่คาดว่าจะไม่สามารถปลดเขาลงจากเก้าอี้ก่อนหมดวาระ 4 ปีได้ เนื่องจาก มิตซ์ แม็กคอนเนลล์ แกนนำ ส.ว.รีพับลิกันเสียงข้างมาก ยืนยันว่าวุฒิสภาจะเริ่มไต่สวนญัตติถอดถอนประธานาธิบดีหลังเปิดประชุมสมัยสามัญอีกครั้งในวันที่ 19 ม.ค. หรือเพียง 1 วันก่อนพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของ โจ ไบเดน
อย่างไรก็ดี การไต่สวนโดยวุฒิสภาจะเดินหน้าต่อไป แม้หลังจากที่ ทรัมป์ หมดวาระการดำรงตำแหน่งแล้วก็ตาม
รัฐธรรมนูญอเมริกันกำหนดไว้ว่าการถอดถอดประธานาธิบดีต้องใช้เสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาถึง 2 ใน 3 ซึ่งแปลว่าจะต้องมี ส.ว.รีพับลิกันอย่างน้อย 17 คนที่ยอมหันไปร่วมมือกับเดโมแครตโหวตให้ ทรัมป์ มีความผิดจริง
หลังจากนั้น วุฒิสภาสหรัฐฯ ยังอาจจัดการลงมติแยกต่างหากเพื่อประกาศให้ ทรัมป์ เป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติสำหรับการดำรงตำแหน่งทางการเมืองอนาคต ซึ่งกระบวนการนี้เพียงแค่อาศัยเสียงข้างมาก ไม่จำเป็นต้องถึง 2 ใน 3 ของสภา แต่ยังมีข้อถกเถียงในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอยู่ว่าจำเป็นหรือไม่ที่วุฒิสภาจะต้องลงมติว่า ทรัมป์ มีความผิดจริงตามที่ถูกยื่นถอดถอน ก่อนจะนำไปสู่ขั้นตอนการตัดสิทธิ์ทางการเมือง
ชัค ชูเมอร์ ซึ่งจะกลายเป็นผู้นำ ส.ว.เดโมแครตเสียงข้างมากในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ออกมาแถลงยืนยันแล้วว่า วุฒิสภา “จะเดินหน้าไต่สวนถอดถอนประธานาธิบดีฐานก่อคดีอาญาและประพฤติมิชอบอย่างร้ายแรง และหากประธานาธิบดีถูกตัดสินว่าผิดจริง ก็จะมีการโหวตเพื่อห้ามไม่ให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก”
ขณะเดียวกัน เมื่อวันอังคาร (12) สมาชิกทั้ง 8 คนของคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ นำโดย พล.อ.มาร์ก มิลลีย์ ได้ลงชื่อในบันทึกความเข้าใจที่มีเนื้อหาประณามการบุกรัฐสภาโดยผู้สนับสนุน ทรัมป์ ว่าเป็นการโจมตีกระบวนการรัฐธรรมนูญอย่างผิดกฎหมาย
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เตรียมส่งกองกำลังเนชันแนลการ์ด 15,000 นายไปรักษาความปลอดภัยพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของ โจ ไบเดน ที่จะมีขึ้นในวันพุธหน้า (20) ท่ามกลางคำเตือนจากสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ว่ากลุ่มกองเชียร์ติดอาวุธของ ทรัมป์ อาจลุกขึ้นมาก่อกวนพิธีดังกล่าวทั้งในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และตามเมืองเอกของทั้ง 50 รัฐทั่วประเทศ