xs
xsm
sm
md
lg

‘เดโมแครต’ เมิน ‘เพนซ์’ ใช้ท่าทีวางเฉย เร่งลุยญัตติถอดถอน ‘ทรัมป์’ ไม่สำนึกแก้ตัวพัลวันไม่เกี่ยวม็อบโจมตีสภา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เดินขึ้นเฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่ง “มารีนวัน” ออกจากทำเนียบขาวเมื่อวันอังคาร (12 ม.ค.) นับเป็นการออกมาจากทำเนียบขาวครั้งแรกภายหลังเขากล่าวปราศรัยยุยงกองเชียร์ลุยรัฐสภาในวันพุธ (6) ที่แล้ว
“ทรัมป์” ไม่สำนึก ยันไม่ได้ปราศรัยปลุกม็อบบุกสภา ขณะที่เหล่านายทหารใหญ่ร่อนเอกสารประณามเหตุการณ์ดังกล่าวละเมิดรัฐธรรมนูญ ด้าน “เดโมแครต” เดินหน้ากระบวนการถอดถอนทรัมป์ในสภาล่างเต็มสูบ หลัง “เพนซ์” ไม่เห็นด้วยในการใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 ปลดประธานาธิบดีที่กำลังถูกรุมโจมตีจากทุกภาคส่วน รวมถึงภายในพรรครีพับลิกันเองที่มีสมาชิกระดับแกนนำบางคนออกปากว่า ความผิดครั้งนี้ร้ายแรงถึงขั้นถอดถอน

ในวันอังคาร (12) ม.ค. รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ต่อเวลาให้โดนัลด์ ทรัมป์ โดยยืนยันในจดหมายที่ส่งถึงแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาจากพรรคเดโมแคต ว่า เขาไม่เชื่อว่า การใช้อำนาจตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 เพื่อปลดทรัมป์จากตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับอเมริกา

อย่างไรก็ตาม สภาล่างที่เดโมแครตครองเสียงข้างมากยืนกรานจัดการทรัมป์ที่กำลังจะพ้นตำแหน่งต้นสัปดาห์หน้า ด้วยการลงมติเกือบเป็นเอกฉันท์ในญัตติเรียกร้องเพนซ์ให้ใช้อำนาจดังกล่าวปลดทรัมป์

แม้ไม่สามารถโน้มน้าวเพนซ์ได้ แต่เปโลซีประกาศขั้นตอนต่อไปทันที โดยกำหนดเอาช่วงบ่ายวันพุธ (13) ให้สภาผู้แทนราษฎรโหวตเริ่มดำเนินกระบวนการถอดถอนทรัมป์ ด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นให้มีการก่อกบฏ จากกรณีที่ทรัมป์ปราศรัยกับผู้สนับสนุนเมื่อวันที่ 6 ที่ผ่านมาโดยอ้างว่า ตนคือผู้ชนะตัวจริงในการเลือกตั้งประธานาธิบดี และเร่งเร้าให้คนเหล่านั้นเดินขบวนไปยังรัฐสภาเพื่อ “ต่อสู้”

ทางด้านทรัมป์ที่ออกมาจากทำเนียบขาวเป็นครั้งแรกนับแต่กล่าวปราศรัยยุยงกองเชียร์ลุยรัฐสภา ได้ตอบคำถามพวกผู้สื่อข่าวขณะเดินทางไปเมืองอลาโม รัฐเทกซัส ในวันอังคาร (12) โดยปฏิเสธไม่ขอรับผิดชอบใดๆ ต่อเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าวซึ่งหลายคนเรียกว่าเป็นการยั่วยุให้เกิดการกบฎยึดอำนาจ ทั้งนี้ผู้ประท้วงเหล่านี้ได้ต่อสู้กับตำรวจและทำให้ตำรวจสภานายหนึ่งเสียชีวิต ทำลายและปล้นทรัพย์สินของรัฐ รวมทั้งกดดันสมาชิกรัฐสภาซึ่งรวมถึงเพนซ์ ในฐานะประธานของวุฒิสภา จนต้องระงับการประชุมเพื่อรับรองชัยชนะในการเลือกตั้งของโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ไปช่วงหนึ่ง

ทรัมป์ยืนกรานว่า “ทุกคน” คิดว่า คำปราศรัยของตนในวันนั้น “เหมาะสมอย่างแท้จริง” และนอกจากไม่มีท่าทีสำนึกผิดแล้ว เขายังกล่าวหาว่า ความพยายามของเดโมแครตในการถอดถอนตนเป็นการล่าแม่มดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมือง ซึ่งทำให้อเมริกา “ตกอยู่ในอันตรายใหญ่หลวง”

อย่างไรก็ตาม เดโมแครตยังคงมั่นใจเต็มที่ว่า สภาล่างจะรับรองญัตติถอดถอนทรัมป์ ถึงแม้ขั้นตอนต่อไปของกระบวนการถอดถอน ซึ่งได้แก่วุฒิสภาต้องเปิดการพิจารณาไต่สวนความผิดของทรัมป์นั้น ยังคงมีอุปสรรคอยู่มาก เนื่องจากพวกรีพับลิกันที่จะครองเสียงข้างมากในสภาสูงไปจนถึงวันที่ 20 เดือนนี้ ไม่มีแนวโน้มจะขอเรียกประชุมฉุกเฉินเพื่อเปิดไต่สวนก่อนที่ทรัมป์จะหมดวาระการเป็นประธานาธิบดีในวันดังกล่าว

กระนั้น สมาชิกสำคัญๆ ของรีพับลิกันหลายคนเริ่มแสดงท่าทีหันหลังให้ทรัมป์ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า มิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำของรีพับลิกันในสภาสูง แสดงความเห็นส่วนตัวว่า เขาเชื่อว่าทรัมป์กระทำความผิดร้ายแรงถึงขั้นที่สามารถถอดถอนจากตำแหน่งได้

ส่วนในสภาผู้แทนราษฎรนั้น ลิซ เชนีย์ ผู้นำอันดับ 3 ของรีพับลิกัน ประกาศจะโหวตสนับสนุนการถอดถอน และวิจารณ์ว่า การกระทำของทรัมป์เป็นการทรยศต่อตำแหน่งหน้าที่

ก่อนหน้านั้น เควิน แม็กคาร์ธี ผู้นำรีพับลิกันในสภาล่าง เผยว่า จะไม่เรียกร้องให้สมาชิกโหวตค้านญัตติถอดถอนทรัมป์ แต่ปล่อยให้เป็นดุลพินิจของแต่ละคน และล่าสุดมีสมาชิกรีพับลิกันในสภาผู้แทนฯ 4 คนที่ประกาศว่า จะโหวตสนับสนุนการถอดถอน ขณะที่สมาชิกโดยรวมของรีพับลิกันแตกออกเป็นสองฝ่ายคือ พวกที่ยังจงรักภักดีกับทรัมป์สุดขีด กับพวกที่มองว่าทรัมป์กำลังกลายเป็นภาระทางการเมือง

ขณะเดียวกัน เมื่อวันอังคาร สมาชิกทั้ง 8 คนของคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ นำโดยพลเอก มาร์ก มิลลีย์ ลงชื่อในบันทึกความเข้าใจที่มีเนื้อหาประณามการบุกอาคารแคปิตอลของเหล่ากองเชียร์ทรัมป์ว่า เป็นการโจมตีกระบวนการรัฐธรรมนูญอย่างผิดกฎหมาย

เวลานี้กระทรวงกลาโหมกำลังจัดส่งทหารจากกองกำลังป้องกันชาติ (เนชั่นแนลการ์ด) 15,000 นายไปรักษาความปลอดภัยพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของไบเดนที่จะมีขึ้นในวันพุธหน้า (20) ท่ามกลางคำเตือนจากสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ว่า กลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนทรัมป์อาจก่อกวนพิธีดังกล่าวทั้งในกรุงวอชิงตันและตามเมืองหลวงต่างๆ ของทั้ง 50 รัฐทั่วประเทศ

นอกจากนี้ยังมีข่าวจากสำนักงานอัยการกรุงวอชิงตันว่า ได้เริ่มการสอบสวนคดีอาญากับผู้ต้องหากว่า 170 คนที่บุกสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และเตรียมตั้งข้อหาหนักกับบางคนคือ สมรู้ร่วมคิดปลุกระดมและก่อความรุนแรง พร้อมคาดว่า จะมีการตั้งข้อหาเพิ่มกับผู้ก่อเหตุอีกหลายร้อยคน

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)

พวกเจ้าหน้าที่รัฐสภาเดินผ่านเครื่องตรวจจับโลหะ รวมทั้งถูกตรวจสอบด้านความมั่นคงปลอดภัย ขณะผ่านเข้าไปยังห้องประชุมของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันอังคาร (12 ม.ค.)  ทั้งนี้มีการใช้มาตรการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นหลังจากม็อบกองเชียร์ทรัมป์บุกถล่มรัฐสภา


กำลังโหลดความคิดเห็น