“ทรัมป์” กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ที่ถูกยื่นถอดถอน 2 ครั้งซ้อน หลังสภาล่างโหวตให้สอบสวนอดีตพิธีกรเรียลิตีโชว์ผู้นี้กรณียุยงปลุกปั่นให้กองเชียร์บุกถล่มรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมี ส.ส.รีพับลิกัน 10 คนแตกแถวมาลงคะแนนให้ ด้านผู้นำอเมริกาที่กำลังจะพ้นตำแหน่งผู้นี้เผยแพร่คลิปเรียกร้องให้คนอเมริกันสามัคคีกันและละเว้นความรุนแรง โดยไม่พาดพิงกระบวนการถอดถอนหรือการโกงการเลือกตั้งแต่อย่างใด
สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติในวันพุธ (13 ม.ค.) ด้วยคะแนน 232-197 เสียง ให้เริ่มกระบวนการถอดถอนโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ฐานยุยงปลุกปั่นให้มีการก่อกบฏ โดยมี ส.ส.สังกัดพรรครีพับลิกันแตกแถวไปร่วมสนับสนุนญัตตินี้ 10 คน ซึ่งรวมถึงลิซ เชนีย์ ผู้นำอันดับ 3 ในสภาล่างของพรรคนี้
ภายหลังการโหวต แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสังกัดพรรคเดโมแครต ประกาศว่า สภาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่มีใคร แม้กระทั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถอยู่เหนือกฎหมาย และสำทับว่า ทรัมป์เป็นอันตรายเฉพาะหน้าที่ชัดเจนสำหรับอเมริกา
ด้าน ชัค ชูเมอร์ ผู้นำของเดโมแครตในวุฒิสภา ขานรับว่า ทรัมป์สมควรแล้วที่จะเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกาที่ถูกยื่นถอดถอนสองครั้ง และเสริมว่า วุฒิสภาต้องรับไม้ต่อและเร่งกระบวนการไต่สวนทรัมป์
อย่างไรก็ตาม เควิน แม็กคาร์ธี ผู้นำรีพับลิกันในสภาล่าง และเป็นผู้ที่สนับสนุนใกล้ชิดทรัมป์เรื่อยมา กล่าวว่า แม้ทรัมป์สมควรถูกติเตียน แต่การรีบร้อนถอดถอนจะทำให้ประเทศยิ่งแตกแยก
ขณะ มิตช์ แม็กคอนเนลล์ ผู้นำในวุฒิสภาของรีพับลิกัน แถลงยืนยันว่า จะไม่รีบเรียกประชุมสภาสูงเพื่อรับลูกพิจารณาญัตติถอดถอนของสภาล่างนี้ ก่อนที่ทรัมป์จะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม และเมื่อถึงตอนนั้นตัวเขาเองก็พร้อมรับฟังข้อโต้แย้งทางการกฎหมายในระหว่างการไต่สวนของสภา
ทั้งนี้ แม้แม็กคอนเนลล์ยืนอยู่ข้างเดียวกับทรัมป์เรื่อยมา แต่นิวยอร์กไทมส์รายงานในวันอังคาร (12) ว่า ผู้นำรีพับลิกันในสภาสูงผู้นี้ส่งสัญญาณว่า โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่า ทรัมป์ทำผิดร้ายแรงถึงขั้นที่ถอดถอนได้
ท่าทีเช่นนี้ของแม็กคอนเนลล์เท่ากับว่า ทรัมป์จะได้อยู่ในทำเนียบขาวจนครบวาระ อย่างไรก็ดี การไต่สวนเขาน่าจะดำเนินต่อไปภายหลังจากนั้น และถ้าวุฒิสภาลงมติด้วยเสียงถึง 2 ใน 3 ยืนยันว่าเขามีความผิดจริง ก็อาจจะตามมาด้วยการลงมติในญัตติซึ่งจะลงโทษทำให้เขาไม่สามารถรับตำแหน่งใดๆ ของสหรัฐฯ ได้อีก รวมถึงจะไม่สามารถลงเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2024 ตามที่เขาตั้งความหวังไว้
สำหรับไบเดนนั้น ได้แถลงแสดงความยินดีกับมติคราวนี้ของสภาล่าง แต่ก็เรียกร้องให้วุฒิสภาจัดการภารกิจสำคัญเร่งด่วน คือ การพิจารณารับรองการเสนอชื่อคณะรัฐมนตรีของเขา ควบคู่กับการไต่สวนทรัมป์ซึ่งเป็นความรับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญ
ทรัมป์เคยรอดกระบวนการถอดถอนมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2019 ในกรณีบีบให้ยูเครนสอบสวนไบเดน โดยคราวนั้นวุฒิสภาซึ่งอยู่ในการควบคุมของรีพับลิกันได้ลงมติให้เขาพ้นข้อกล่าวหาทั้งหมด
แต่สำหรับครั้งนี้ กระบวนการถอดถอดมีชนวนจากการปราศรัยของทรัมป์ในวันที่ 6 ที่ย้ำว่า ไบเดนปล้นชัยชนะและกระตุ้นให้พวกผู้สนับสนุนเขาเดินขบวนไปยังรัฐสภาเพื่อ “ต่อสู้” และสุดท้ายจบลงด้วยคนเหล่านั้นบุกเข้าไปทำลายและขโมยทรัพย์สินของรัฐบาล ต่อสู้กับตำรวจสภา และมีผู้เสียชีวิตรวม 5 คน จนกลายเป็นสาเหตุทำให้สมาชิกรีพับลิกันจำนวนมากขึ้นเลิกสนับสนุนทรัมป์
ทางด้านทรัมป์ที่เก็บตัวอยู่ในทำเนียบขาวได้เผยแพร่คลิปเมื่อวันพุธ ซึ่งเนื้อหาไม่มีการพาดพิงถึงการถอดถอนตนเอง ตลอดจนไม่พยายามโน้มน้าวให้ชาวอเมริกันครึ่งค่อนประเทศเชื่อว่าชัยชนะของไบเดนมาจากการโกงการเลือกตั้ง แต่มุ่งเรียกร้องให้ประชาชนสามัคคีกัน หลีกเลี่ยงความรุนแรง และเอาชนะอารมณ์เฉพาะหน้า และย้ำว่า ไม่มีข้ออ้างใดๆ ทั้งสิ้นสำหรับความรุนแรง
แม้ทรัมป์ประณามการก่อความรุนแรง ภายหลังเหตุการณ์ที่ผู้สนับสนุนตนเองบุกอาคารรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อขัดขวางกระบวนการรับรองชัยชนะของไบเดน แต่ยังมีความกังวลอย่างมากว่า จะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นมาอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเมื่อไม่กี่วันมานี้ สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) เตือนว่า กลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนทรัมป์เตรียมป่วนพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของไบเดนในวันพุธหน้า (20) ทั้งในกรุงวอชิงตันและทั่วประเทศ
ด้วยเหตุนี้ กระทรวงกลาโหมจึงระดมกองกำลังป้องกันชาติ (เนชั่นแนลการ์ด) ราว 20,000 คนเข้าดูแลความสงบเรียบร้อยทั่วกรุงวอชิงตัน โดยเฉพาะในอาคารรัฐสภาซึ่งเป็นสถานที่จัดพิธีสาบานตนของไบเดน ขณะที่รัฐต่างๆ ก็ยกระดับการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะรัฐสมรภูมิที่ไบเดนเฉือนเอาชนะทรัมป์หวุดหวิดในการเลือกตั้งวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)