xs
xsm
sm
md
lg

รอง ปธน. ‘ไมค์ เพนซ์’ ลั่นไม่เห็นด้วยกับการถอดถอน ‘ทรัมป์’ ยันไม่ใช่ทางออกที่ดี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ แห่งสหรัฐฯ บอกกับ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ วานนี้ (12 ม.ค.) ว่าตน “ไม่เห็นด้วย” กับการใช้อำนาจตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 (25th Amendment) ปลดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่ง หลังจากที่ม็อบเชียร์ผู้นำสหรัฐฯ บุกเข้าไปก่อจลาจลในอาคารรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

“ผมไม่คิดว่าวิธีนี้จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อชาติบ้านเมือง หรือสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของเรา” เพนซ์ ระบุในจดหมายซึ่งเผยแพร่โดยสำนักงานของเขา ก่อนที่สภาผู้แทนฯ จะลงมติแบบไม่มีผลผูกพันให้ เพนซ์ ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญปลด ทรัมป์ ลงจากเก้าอี้ก่อนหมดวาระ

ล่าสุด มี ส.ส.รีพับลิกันอย่างน้อย 3 คนที่ประกาศตัวแล้วว่าจะโหวตสนับสนุนกระบวนการถอดถอน (impeachment) ผู้นำสหรัฐฯ เพื่อให้ ทรัมป์ ต้องรับผิดชอบกับการที่เขายุยงให้ผู้สนับสนุนเดินขบวนมาปิดล้อมรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. และยังเรียกร้องให้คนเหล่านั้น “ต่อสู้” ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ชุลมุนจนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 5 ราย

เพนซ์ บอกกับ เพโลซี ว่า รัฐบาลต้องการให้การถ่ายโอนอำนาจเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย และขอร้องให้เธอรวมถึงสมาชิกสภาคองเกรสคนอื่นๆ หลีกเลี่ยงการกระทำ “ที่จะสร้างความแตกแยก ละเติมเชื้อไฟให้กับสถานการณ์ในตอนนี้”

“ขอจงร่วมมือกับเราเพื่อลดอุณหภูมิความขัดแย้ง และทำให้คนในชาติกลับมาสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน ในขณะที่เราเตรียมความพร้อมสำหรับพิธีสาบานตนของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งจะเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนถัดไป” เพนซ์ ระบุ

เพนซ์ และ ทรัมป์ ได้จับเข่าพูดคุยกันเป็นครั้งแรกที่ทำเนียบขาวในช่วงเย็นวันจันทร์ (11) หลังเกิดเหตุม็อบบุกสภา และหลังจากที่ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาประณาม เพนซ์ ว่าไม่ช่วยขัดขวางกระบวนการรับรองชัยชนะของ ไบเดน ในสภาคองเกรส

ทรัมป์ ซึ่งไม่ยอมรับว่าตัวเองแพ้เลือกตั้งพยายามกดดัน เพนซ์ ให้แทรกแซงขั้นตอนดังกล่าว และถึงขั้นมีผู้สนับสนุน ทรัมป์ บางคนขู่จะ “ลอบสังหาร” เพนซ์ โทษฐานเป็น “ผู้ทรยศ”

จดหมายของเพนซ์ ได้อ้างถึงแรงกดดันต่างๆ ที่เขาต้องเผชิญอยู่ในตอนนี้

“สัปดาห์ที่แล้ว ผมไม่ยอมทำตามแรงกดดันให้ใช้อำนาจเกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนดแทรกแซงผลเลือกตั้ง และวันนี้ผมก็จะไม่อ่อนข้อให้กับความพยายามของสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องการเล่นเกมการเมือง ในช่วงเวลาที่ประเทศชาติอยู่ในสถานการณ์ร้ายแรง”

เพนซ์ ระบุด้วยว่า การใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 เป็นเครื่องมือ “ลงโทษหรือยึดอำนาจ” จะเป็นการสร้างตัวอย่างที่ไม่ดี

การใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 ปลดประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกจากตำแหน่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อรองประธานาธิบดีได้ประกาศใช้อำนาจดังกล่าว และได้รับเสียงสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่

ที่มา : รอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น