ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ตัดความเป็นไปได้ในความพยายามใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 25 (25th Amendment) และต้องการสำรองหนทางนี้ไว้เป็นทางเลือกในกรณีที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อารมณ์แปรปรวนเอาแน่เอานอนไม่ได้ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดกับรองประธานาธิบดี
แหล่งข่าวเปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า มีความกังวลภายในคณะทำงานของเพนซ์ ว่า มีความเสี่ยงที่อาจต้องใช้บัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 25 หรือแม้กระทั่งใช้กระบวนการถอดถอน ในขณะที่ ทรัมป์ อาจเคลื่อนไหวหุนหันพลันแล่นบางอย่าง ที่นำให้ประเทศตกอยู่ในความเสี่ยง
จนถึงช่วงเย็นวันเสาร์ (9 ม.ค.) ทรัมป์และเพนซ์ ยังคงไม่พูดคุยกัน นับตั้งแต่เกิดเหตุจู่โจมอาคารรัฐสภาเมื่อวันพุธ (6 ม.ค.) คร่าชีวิต 5 ศพ ในนั้นรวมถึงตำรวจประจำรัฐสภา แหล่งข่าวอีกคนบอกกับซีเอ็นเอ็น นอกจากนี้แล้ว ประธานาธิบดียังไม่ได้ออกมาประณามต่อสาธารณะใดๆ ต่อคำขู่เอาชีวิต เพนซ์ ที่โพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์
ซีเอ็นเอ็นอ้างแหล่งข่าว 2 คนใกล้ชิดกัประเด็นนี้ บอกว่า ทรัมป์ โกรธ เพนซ์ มาก ส่วน ทรัมป์ ก็ทำให้ เพนซ์ ผิดหวังและเสียใจ
ทรัมป์ ผลัก เพนซ์ ไปอยู่ในจุดที่ยากลำบาก ด้วยการขอให้เขาล้มผลการเลือกตั้งระหว่างการประชุมร่วมของสภาคองเกรสเมื่อวันพุธ (6 ม.ค.) พอ เพนซ์ อธิบายว่าไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ และส่งหนังสือถึงสมาชิกรัฐสภาว่าเขาจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ทรัมป์ใช้เวทีชุมนุมในวันพุธ (6 ม.ค.) กระตุ้นฝูงชน ยุให้พวกเขาเดินขบวนไปยังอาคารรัฐสภา และฝากถึงรองประธานาธบดีของเขาว่า “ไมค์ เพนซ์ ผมหวังว่าคุณจะยืนหยัดเพื่อรัฐธรรมนูญของเราตลอดไป และเพื่อประเทศของเราตลอดไป และหากคุณไม่ทำ ผมจะผิดหวังในตัวคุณอย่างมาก”
ก่อนหน้านี้ ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า บรรดาผู้ช่วยของรองประธานาธิบดี รู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมาก ต่อกรณีที่ ทรัมป์ ไม่ได้โทรศัพท์มาไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ เพนซ์ เลยในวันพุธ (6 ม.ค.) ในขณะที่ เพนซ์ และ ครอบครัว ต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุนจากฝูงม็อบที่บุกจู่โจมรัฐสภา
รอยร้าวครั้งนี้ถือเป็นหนแรกที่ เพนซ์ ไม่ลงรอยกับ ทรัมป์ อย่างเปิดเผย หลังจากก่อนหน้านี้ เพนซ์ เป็นหนึ่งในผู้ปกป้องคนสำคัญที่สุดของทรัมป์ บ่อยครั้งออกมาลดสุ้มเสียงโวหารเกรี้ยวกราดของเขาให้ดูเบาลง ล็อบบี้ลำดับความสำคัญต่างๆ อย่างเงียบๆ และอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหลายในรัฐสภา พร้อมกับส่งเสียงสนับสนุนประธานาธิบดีอย่างหนักแน่น ตามเวทีต่างๆ ตลอดช่วงเวลาของการหาเสียงเลือกตั้ง
สำหรับตอนนี้ แหล่งข่าวใกล้ชิดกับรองประธานาธิบดี บอกว่า เพนซ์และคณะที่ปรึกษาของเขา หวังเป็นสะพานเชื่อมคณะรัฐบาลชุดถัดไป และทำทุกอย่างเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อช่วยเหลือคณทำงานของว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ในการเตรียมพร้อมจัดการกับโรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
แหล่งข่าวระบุว่า มันมีความชัดเจนมากขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า มันมีความจำเป็นที่ต้องคงบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 ไว้เป็นทางเลือกบนโต๊ะ จากพื้นฐานพฤติกรรมต่างๆ นานาของทรัมป์
ทั้งนี้ การร่างบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 มีเจตนาชัดเจนให้ใช้เมื่อประธานาธิบดีไร้ความสามารถจากการเจ็บป่วยทางกายหรือทางใจ ขณะที่นักวิชาการบางคนโต้แย้งว่า อาจนำไปใช้ในกรณีที่ประธานาธิบดีไม่เหมาะสมต่อการทำหน้าที่เป็นอย่างยิ่งด้วย
บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 จำเป็นต้องใช้ เพนซ์ และเสียงข้างมากของรัฐสภาโหวตถอดถอน ทรัมป์ พ้นจากอำนาจและหน้าที่ สืบเนื่องจากเขาไร้ความสามารถ ก้าวย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ
ทรัมป์ อาจโต้แย้งความเคลื่อนไหวของพวกเขา ผ่านหนังสือที่ส่งถึงสภาคองเกรส จากนั้น เพนซ์ และคณะรัฐมนตรี จะมีเวลา 4 วันเพื่อแย้งกลับ ตามด้วยการลงมติของสภาคองเกรส ซึ่งจำเป็นต้องได้คะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือก็คือสมาชิกวุฒิสภาอย่างน้อย 67 เสียงและสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรอย่างน้อย 209 ในการถอดถอน ทรัมป์ อย่างถาวร
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันพฤหัสบดี (7 ม.ค.) แหล่งข่าวใกล้ชิดกับรองประธานาธิบดี เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ เพนซ์ จะไม่พยายามใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 ด้วยที่ความพยายามดังกล่าวท้ายที่สุดแล้วจะไม่ประสบความสำเร็จ พร้อมเผยว่า เพนซ์ ยังไม่ได้หารือกับคณะรัฐมนตรีรายใด เกี่ยวกับการใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25
(ที่มา: ซีเอ็นเอ็น)