xs
xsm
sm
md
lg

ประธานาธิบดีโบลโซนาโรของบราซิล รีบเปลี่ยนจุดยืนที่จะแบน 5จี หัวเว่ย หลังพันธมิตร ‘ทรัมป์’ ของเขาต้องเก็บของอำลาทำเนียบขาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดฟ มาคิชุค



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Brazil’s Bolsonaro backtracks on Huawei 5G stance
by Dave Makichuk
18/01/2021

จากการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งถือเป็นพันธมิตรสนิทสนมแนวคิดเดียวกันกับเขา ต้องอำลาจากทำเนียบขาว รวมทั้งสหรัฐฯล้มเหลวไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญาในการจัดหาวัคซีนซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างเหลือเกินให้แก่บราซิล ทำให้ ฌาอีร์ โบลโซนาโร ประธานาธิบดีขวาจัดของบราซิล รีบเปลี่ยนท่าทีโดยเลิกแบน หัวเว่ย เข้าร่วมการประมูลเครือข่าย 5 จีแดนแซมบ้า

ค่าใช้จ่ายทางการเงินที่รวมๆ แล้วอยู่ในระดับหลายพันล้านดอลลาร์ และการพ้นตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของ โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังกลายเป็นแรงบีบบังคับให้ประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนาโร แห่งบราซิล ผู้ซึ่งเคยต่อต้าน หัวเว่ย ด้วยข้อกล่าวหาที่ไม่ได้มีหลักฐานพิสูจน์ชัดเจน ต้องยอมถอยหลังและถอนการที่เขาเคยคัดค้านไม่ให้หัวเว่ยเข้าร่วมในการประมูลที่แดนแซมบ้า ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/article/us-brazil-huawei-tech/brazils-bolsonaro-to-allow-chinas-huawei-in-5g-auctions-newspaper-idUSKBN29L0JM) โดยอ้างอิงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เอสตาโด เด เอส.เปาลู (Estado de S. Paulo https://www.estadao.com.br/)

บราซิลจะไม่หาทางห้ามปรามไม่ให้ยักษ์ใหญ่สื่อสารโทรคมนาคมของจีนรายนี้ ได้เข้าร่วมการประมูลสร้างเครือข่าย 5จี ปี 2021 ของแดนแซมบ้าในเดือนมิถุนายนนี้แล้ว หนังสือพิมพ์บราซิลฉบับนี้รายงาน

ขณะที่พวกนักวิเคราะห์ชาวจีนมองว่า ความเคลื่อนไหวตามที่รายงานกันนี้ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากทำให้บราซิลกลายเป็นประเทศแรกซึ่งยืนขึ้นมาต่อต้านสหรัฐฯในเรื่องหัวเว่ย ภายหลังทรัมป์พ่ายแพ้การเลือกตั้ง

ฟู่ เหลียง (Fu Liang) ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมเทเลคอมซึ่งตั้งฐานอยู่ในปักกิ่ง บอกกับ โกลบอลไทมส์ (https://www.globaltimes.cn/) สื่อแทบลอยด์ในเครือของ เหรินหมินรึเป้า (People’s Daily) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อวันอาทิตย์ (17 ม.ค.) ว่า จากการที่ทรัมป์ต้องอำลาจากทำเนียบขาว และสหรัฐฯล้มเหลวไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญาในการจัดหาวัคซีนซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างเหลือเกินให้แก่บราซิล ที่ถูกไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เล่นงานอย่างหนัก จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จุดยืนโปรสหรัฐฯตามที่บราซิลให้คำมั่นเอาไว้ ไม่สามารถจะเดินหน้าให้เป็นจริงได้

ทางด้าน รองประธานาธิบดี แอมิลตัน มูเรา (Hamilton Mourao) ของบราซิลบอกกับ เอสตาโด เด เอส.เปาลู ว่า บริษัทใดก็ตามที่เข้าร่วมในการประมูล จะต้องทำตามกฎหมายปกป้องคุ้มครองข้อมูลของแดนแซมบ้า รวมทั้งต้องเคารพอธิปไตยของบราซิล

หนึ่งในข้อโต้แย้งซึ่งคณะบริหารสหรัฐฯชุดที่กำลังจะพ้นอำนาจเสนอออกมาก็คือ หัวเว่ยมีความเชื่อมโยงอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน และด้วยเหตุนี้ข้อมูลต่างๆ จึงไม่มีความปลอดภัยถ้าหากอนุญาตให้ หัวเว่ย เข้าสู่ เครือข่ายสื่อสาร 5 จีด้วย เว็บไซต์นิโอวินดอทเนต (https://www.neowin.net/) รายงานเอาไว้เช่นนี้

อย่างไรก็ดี ไม่เคยมีการนำเอาหลักฐานข้อพิสูจน์ซึ่งยืนยันข้อกล่าวหานี้ ออกมาให้สาธารณชนรับทราบเลย ถึงแม้กลุ่ม “ไฟฟ์อายส์” (Five Eyes) ซึ่งประกอบด้วย 5 ชาติตะวันตกเชื้อสายแองโกล-แซกซอน และใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ อันได้แก่ สหรัฐฯ, อังกฤษ, แคนาดา, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์ ก็กำลังกล่าวหาหัวเว่ยว่ามีศักยภาพที่จะทำเช่นนี้ได้

ขณะที่การจากไปของทรัมป์อาจจะช่วยสงวนรักษาลู่ทางโอกาสของ หัวเว่ย ในบราซิล ทว่าดูเหมือนมันจะสายเกินไปสำหรับอนาคตของบริษัทในอีกหลายๆ ประเทศ อย่างเช่น โปแลนด์ และสหราชอาณาจักร ซึ่งได้เคลื่อนไหวสั่งห้าม หัวเว่ย ไม่ให้เข้าร่วมในเครือข่าย 5จี ของพวกเขาไปก่อนแล้ว รวมทั้งสั่งให้โยกย้ายถอดถอนสิ่งที่บริษัทติดตั้งเอาไว้เรียบร้อยแล้วอีกด้วย

บราซิลนั้นมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯเท่านั้น และรัฐบาลของประเทศนั้ก็กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักในเรื่องดำเนินกระบวนการฉีดวัคซีนป้องกันให้แก่ประชาชนอย่างอืดอาดล่าช้า

ความเคลื่อนไหวของบราซิลตามที่รายงานกันนี้ ในการอนุญาตให้ หัวเว่ย เข้าร่วมการประมูล 5 จี ถือเป็นความพ่ายแพ้ของแผนอุบายที่ใช้ชื่อว่า “เครือข่ายสะอาด” (Clean Network) ของคณะบริหารทรัมป์ หลังจากที่พวกเขาได้ทุ่มเทลงแรงอย่างหนักในการล็อบบี้ทั่วโลก ทั้งใช้ไม้แข็งบีบบังคับและทั้งใช้ไม้อ่อนล่อใจประเทศต่างๆ ให้หลีกหนีอย่ายุ่งเกี่ยวกับพวกบริษัทไฮเทคจีนทั้งหลาย

“เมื่อไม่มีกระบวนวิธีแบบใช้ทั้งไม้อ่อนไม้แข็งของคณะบริหารทรัมป์อีกต่อไปแล้ว ประเทศต่างๆ จำนวนมากขึ้นจะหวนกลับมาสู่จุดยืนเป็นกลาง หลังจากที่พวกเขาได้เสี่ยงเคลื่อนไหวไปในทางต่อต้าน หัวเว่ย” ฟู่ บอก

ฟู่ ทำนายด้วยว่าจะมีประเทศอื่นๆ มากขึ้นอีกที่อาจหันมาใช้วิธีการเดียวกันกับบราซิล ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นการกล้ายืนหยัดอย่างห้าวหาญในเรื่องอำนาจอธิปไตยของตนเอง เขาบอกด้วยว่า แผนอุบายที่เรียกว่า “เครือข่ายสะอาด” น่าที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในยุคของ โจ ไบเดน

นอกจากนั้น มันยังอาจจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนความพยายามอย่างเช่นของ บอร์เย เอคโฮล์ม (Börje Ekholm) ซีอีโอของอีริคสัน ซึ่งเรียกร้องต้องการให้สวีเดนถอนการตัดสินใจในการแบนหัวเว่ย

“ลูกค้าจีนคิดแล้วเท่ากับ 8% ของรายรับของเรา สำหรับเราแล้วมันเป็นประเด็นสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่เราจะต้องปรากฏตัวอยู่ในจีน” เอคโฮล์มบอกกับสื่อมวลชนท้องถิ่น ถึงเหตุผลที่อีริคสันไม่เห็นด้วยกับการกีดกันยักษ์ใหญ่เทเลคอมจีน

สำหรับที่แคนาดา ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ โกลบแอนด์เมล (Globe and Mail https://www.theglobeandmail.com/) ระบุว่า ฝ่ายทหารของประเทศกำลังรบเร้านายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ให้สั่งห้าม หัวเว่ย ไม่ให้เข้ามีส่วนในเครือข่ายไร้สายของแดนใบเมเปิล โดยหยิบยกเหตุผลความกังวลด้านความมั่นคง

ขณะที่ ทรูโด ซึ่งถูกมองกันมานานแล้วว่ามีดีเฉพาะตรงที่รูปหล่อทว่าขาดความกล้าหาญมุ่งมั่น เป็นที่คาดหมายกันว่าจะยินยอมทำตามแรงบีบคั้นของ ไฟฟ์อายส์

แต่การประกาศแบนอย่างสิ้นเชิง อาจบังคับให้พวกบริษัทให้บริการโทรคมนาคมอย่าง บีซีอี (BCE) และ เทลุส (Telus) ต้องถอนอุปกรณ์หัวเว่ยที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ซัปพลายเออร์รายใหม่ ซึ่งเป็นหนทางการลงทุนที่แพงลิ่ว โกลบแอนด์เมลรายงาน

ถึงแม้ถูกสหรัฐฯตามรังควาญทำลายล้าง แต่ หัวเว่ย ยังคงสามารถยึดตำแหน่งอันดับ 1 ในด้านกิจการผู้จัดหาเครื่องมืออุปกรณ์เทเลคอมของโลกเอาไว้ได้ โดยมีส่วนแบ่งตลาด 30% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2020 ทั้งนี้ตามข้อมูลจากบริษัทการตลาด เดลล์โอโร (Dell’Oro)

ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นในบราซิลนี้ ปรากฏออกมาตามหลังรายงานข่าวที่ว่า คณะบริหารทรัมป์ได้สร้างความเสียหายแก่พวกธุรกิจของจีนเพิ่มมากขึ้นอีก โดยรายหนึ่งที่ถูกเล่นงานในคราวนี้คือ บริษัทผู้ผลิตสมาร์ตโฟน เสียวหมี่ (Xiaomi) ขณะเหลือเวลาอีกไม่กี่วันก่อนว่าที่ประธานาธิบดีไบเดนจะเข้ารับตำแหน่ง

ตามรายงานของโทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็น กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯได้เพิ่มชื่อบริษัทจีน 9 แห่ง ซึ่งรายหนึ่งได้แก่ เสียวหมี่ เข้าไปในบัญชีรายชื่อบริษัทที่กระทรวงอ้างว่ามีฝ่ายทหารของจีนเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ควบคุม ธุรกิจต่างๆ ในรายชื่อนี้จะถูกเล่นงานด้วยมาตรการจำกัดควบคุมต่างๆ รวมทั้งห้ามอเมริกันเข้าไปลงทุน

การถูกเพิ่มชื่อในบัญชีดำเช่นนี้ ถือเป็นข่าวที่น่าวิตกสำหรับเสียวหมี่ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้เองเพิ่งสามารถแซงหน้า แอปเปิล ขึ้นเป็นผู้ผลิตสมาร์ตโฟนรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น