องค์การอนามัยโลก (WHO) ในวันเสาร์ (30 ม.ค.) วิพากษ์วิจารณ์คำแถลงอียูที่ประกาศควบคุมการส่งออกวัคซีนที่ผลิตภายในกลุ่ม ระบุมาตรการดังกล่าวเสี่ยงทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดใหญ่ยืดเยื้อกว่าเดิมและส่งผลกระทบเลวร้ายต่อประเทศยากจนทั้งหลาย
ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบของอียูเมื่อวันศุกร์ (29 ม.ค.) อนุมัติใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกากับวัยผู้ใหญ่ทุกช่วงอายุ โดยเชื่อว่ามันมีความปลอดภัยแก่คนสูงวัยด้วยเช่นกัน
คำแถลงของเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกยังมีขึ้นหลังจากคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า พวกเขาเห็นพ้องกับแผนการหนึ่งสำหรับควบคุมการส่งออกวัคซีนจากสหภาพยุโรป ในนั้นรวมถึงสหราชอาณาจักร โดยอ้างว่ามีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการเช่นนี้เพื่อรับประกันว่าจะมีอุปทานเพียงพอสำหรับคนของตนเอง
มาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนต้านโควิด-19 ไปนอกกลุ่มอียู มีขึ้นหลังจากอียูมีปัญหาถกเถียงกับแอสตราเซเนกาที่แจ้งกับทางอียูว่าทางบริษัทฯ จะส่งวัคซีนโควิด-19 ให้อียูได้น้อยกว่าที่ทำข้อตกลงกันไว้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากทางแอสตราเซเนกามีปัญหาการผลิตที่โรงงานที่ตั้งอยู่ในเบลเยียมซึ่งเป็นชาติสมาชิกของอียู
อียูซึ่งบรรดารัฐสมาชิกล้าหลังประเทศต่างๆ อย่าง อิสราเอล สหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ เป็นอย่างมากในการแจกจ่ายวัคซีน กำลังดิ้นรนเพื่อให้ได้อุปทานวัคซีนเพิ่มเติม หลังบรรดาผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ของตะวันตกส่งมอบให้ทางกลุ่มล่าช้าเนื่องจากตัดขัดปัญหาด้านการผลิต
“หากเรากักตุนวัคซีนและไม่แบ่งปัน จะมีปัญหาใหญ่ๆ 3 อย่าง อย่างแรกคือมันจะเป็นความล้มเหลวทางศีลธรรรมขั้นหายนะ อย่างที่ 2 คือมันจะทำให้โรคระบาดใหญ่โหมกระพือต่อไป และสุดท้ายเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวช้ามากๆ” เทดรอส แอดฮานอม เกรเบเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวระหว่างแถลงข่าวทางไกล
“เมื่อมันเป็นการเลือกของเรา ผมหวังว่าเราจะเลือกสิ่งที่ถูกต้อง” เขากล่าว เกือบ 1 ปี หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับการปรากฏตัวขึ้นของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ในการแถลงข่าวครั้งนี้มีพยาบาลผดุงครรภ์รายหนึ่งจากยูกันดา และพยาบาลอีกคนจากปากีสถานเข้าร่วมด้วย และทางไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายโครงการฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก ชี้ว่าผู้คนจำเป็นต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญต่อผู้ปฏิบัติหน้าที่ในแถวหน้าอย่างเช่นพวกเธอด้วย
เขาคร่ำครวญว่าประเทศต่างๆ “กำลังต่อสูู้เพื่อแย่งชิ้นเค้ก” ในขณะที่บรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแถวหน้าในประเทศยากจนทั้งหลาย “ไม่มีโอกาสแม้กระทั่งเข้าถึงเศษเล็กเศษน้อย”
องค์การอนามัยโลกระบุว่า โลกจำเป็นต้องกระจายห่วงโซ่อุปทานสำหรับผลิตวัคซีนโควิด-19 และทางองค์การอนามัยโลกกำลังมองหาซัปพลายเออร์รายอื่นๆ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว องค์การอนามัยโลกบรรลุข้อตกลงกับไฟเซอร์ และไบโอเอ็นเทค ในการจัดซื้อวัคซีน 40 ล้านโดส และน่าจะสามารถเริ่มส่งมอบวัคซีนแก่ประเทศยากจนและมีรายได้ในระดับต่ำถึงกลางในเดือนหน้า ภายใต้โครงการ COVAX
โซเมีย สวามีนาทัน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก แสดงความหวังว่าจะอนุมัติใช้วัคซีนที่ผลิตโดยแอสตราเซเนกา และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในกรณีฉุกเฉิน ภายใน 2 สัปดาห์
ขณะเดียวกัน มารีแองเจลา ซีเมา ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ด้านการเข้าถึงยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ บอกกับผู้สื่อข่าวเช่นกันว่า องค์การอนามัยโลกมีคณะทำงานชุดหนึ่งในจีนที่กำลังตรวจสอบโรงงานวัคซีนต่างๆ พร้อมเผยว่าทางอนามัยโลกได้พบปะกับบรรดาผู้ผลิตวัคซีนของรัสเซียเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว และมีกำหนดพบปะพูดคุยกันอีกระหว่างรอข้อมูลเพิ่มเติม
(ที่มา : รอยเตอร์)