xs
xsm
sm
md
lg

หนักกว่าข่าวลือ! บราซิลแถลงยืนยัน “วัคซีนจีน” ที่ไทยสั่งซื้อด้วย มีประสิทธิภาพแค่ 50.4%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาโดย “ซิโนวัค ไบโอเทค” บริษัทสัญชาติจีน มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการแค่ 50.4% ในการทดลองในบราซิล จากการแถลงยืนยันของคณะวิจัยในวันอังคาร (12 ม.ค.) เพียงพอสำหรับได้รับอนุมัติจากคณะควบคุมกฎระเบียบแบบฉิวเฉียด ต่ำกว่าเคยประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าข่าวลือที่สื่อมวลชนรายงานหนึ่งวันก่อนหน้านี้

ผลล่าสุดถือเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่สำหรับบราซิล เนื่องจากวัคซีนของจีนตัวนี้ คือ 1 ใน 2 ตัวที่ทางรัฐบาลกลางบราซิลเตรียมเริ่มฉีดให้ประชาชน ท่ามกลางการแพร่ระบาดระลอกสองของโควิด-19 ในชาติที่มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ

คำแถลงนี้มีขึ้นหนึ่งวันหลังจากเว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่งของบราซิลอ้างแหล่งข่าว 2 คนที่พบเห็นผลการทดลอง ระบุวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาโดยซิโนวัค ไบโอเอ็นเทค มีประสิทธิภาพโดยทั่วไปไม่ถึง 60% ในการทดลองขั้นสุดท้ายในบราซิล กระตุ้นให้ทางศูนย์การแพทย์ของเมืองเซาเปาลูซึ่งร่วมในการทดลองและผลิตวัคซีนตัวนี้ออกมาปฏิเสธข่าว โดยระบุว่าเป็นการคาดเดาล้วนๆ

พวกนักวิทยาศาสตร์และนักสังเกตการณ์หลายคนตำหนิศูนย์ชีวการแพทย์บูตันตันของเมืองเซาเปาลู ต่อกรณีที่เผยแพร่ข้อมูลแค่เพียงบางส่วนไม่กี่วันก่อน ซึ่งก่อการคาดเดาไปต่างๆ นานา ความสับสนดังกล่าวยิ่งอาจซ้ำเติมความเคลือบแคลงใจต่อวัคซีนของจีนในบราซิล เนื่องจากประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู ดูแคลนวัคซีนของจีนมาตลอด

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พวกนักวิจัยบราซิลพากันฉลองผลทดลองที่แสดงให้เห็นว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ 78% สำหรับเคสผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการหนัก อัตราที่ต่อมาพวกเขาให้คำจำกัดความว่าเป็น “ประสิทธิภาพทางคลินิก”

อย่างไรก็ตาม พวกเขาเน้นว่าประสิทธิภาพ 78% ที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อน คำนวณจากกลุ่มผู้ติดเชื้ออาการ เล็กน้อย, ปานกลาง และหนัก และเมื่อรวมผู้ติดเชื้ออาการเล็กน้อยมากเข้าไปด้วย ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนที่ออกมาจึงเหลือเพียง 50.38%

ริคาร์โด ปาลาซิออส ผู้อำนวยการการแพทย์ด้านวิจัยทางคลินิกของบูตันตัน ยืนยันว่า การพบประสิทธิภาพวัคซีนที่ต่ำลงนั้น รวมถึงข้อมูลของเคสผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยมากๆ ด้วย

การที่ผลการศึกษาวิจัยวัคซีนโคโรนาวัคค่อยๆ เปิดเผยทีละเล็กละน้อย ก่อความกังวลว่าบรรดาวัคซีนที่พัฒนาโดยเหล่าผู้ผลิตสัญชาติจีน อาจไม่ได้ถูกตรวจสอบอย่างละเอียดจากภายนอก ดังเช่นวัคซีนอื่นๆ ของสหรัฐฯและยุโรป

กระนั้น ปาลาซิออสและบรรดาเจ้าหน้าทีในรัฐบาลรัฐเซาเปาลู ซึ่งเป็นผู้มอบทุนสนับนุนสถาบันบูตันตัน เน้นย้ำข่าวดีว่าไม่มีอาสาสมัครรายใดที่ฉีดวัคซีนโคโรนาวัค จำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จากอาการป่วยทั้งหลายของโควิด-19

ก่อนหน้านี้ เหล่านักวิจัยจากสถาบันบูตันตัน เลื่อนแถลงผลการทดลองมาแล้ว 3 รอบ โดยอ้างเหตุผลหนึ่งซึ่งเป็นความลับ ในสัญญาที่ทำไว้กับซิโนวัค

ในระหว่างนั้น พวกนักวิจัยตุรกีเปิดเผยเมื่อเดือนที่แล้ว วัคซีนโคโรนาวัคมีประสิทธิภาพถึง 91.25% บนพื้นฐานการทดลองในเบื้องต้น ส่วนอินโดนีเซีย เมื่อวันจันทร์ (11 ม.ค.) อนุมัติใช้วัคซีนตัวนี้ในกรณีฉุกเฉิน ตามข้อมูลขั้นต้นที่แสดงให้เห็นว่ามันมีประสิทธิภาพ 65%

เจ้าหน้าที่บูตันตันระบุว่า การออกแบบการศึกษาวิจัยในบราซิล มุ่งหน้นไปที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแนวหน้าระหว่างการแพร่ระบาดรุนแรงในบราซิล และยังรวมถึงอาสาสมัครสูงวัยด้วย ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะเปรียบเทียบผลการทดลองโดยตรงกับการทดลองอื่นๆหรือวัคซีนตัวอื่นๆ

กระนั้นวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์อิงก์ กับไบโอเอ็นเทค รวมถึงวัคซีนของโมเดอร์นา อิงก์ พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพราวๆ 95% ในการป้องกันการติดเชื้อในการทดลองขั้นสุดท้ายที่มีความสำคัญยิ่ง

ข้อมูลที่น่าผิดหวังของโคโรนาวัค คือ ตัวกัดเซาะล่าสุดในความพยายามฉีดวัคซีนแก่ประชาชนของบราซิล ดินแดนที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้วมากกว่า 200,000 ราย นับตั้งแต่โรคระบาดใหญ่เริ่มต้นขึ้น

เวลานี้โครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศของบราซิล พึ่งพิงวัคซีนโคโรนาวัคและวัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดกับแอสตราเซเนกา แต่ยังไม่มีวัคซีนตัวใดที่ได้รับอนุมติจากผู้ควบคุมกฎระเบียบในบราซิล

หน่วยงานอันวิซา คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบบราซิล กำหนดอัตราประสิทธิภาพของวัคซีนไว้ขั้นต่ำอย่างน้อย 50% ในโรคระบาดใหญ่นี้ ได้กดดันให้ทางสถาบันบูตันตัน มอบรายละเอียดการศึกษาวิจัยเพิ่มเม หลังจากพวกเขายื่นขออนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว

ทั้งนี้ คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบเผยว่าจะประชุมกันในวันอาทิตย์ (17 ม.ค.) เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับคำร้องขอใช้วัคซีนโคโรนาวัคและวัคซีนของอังกฤษในกรณีฉุกเฉิน

ข่าวคราวเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนโคโรนาวัค ถูกนำเสนออกมาไม่นานหลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ไทยจะจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งพัฒนาโดยซิโนวัค ไบโอเทค บริษัทเภสัชภัณฑ์ของจีน จำนวน 2 ล้านโดส

องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขของไทยคาดการณ์ว่าวัคซีนชุดแรก 200,000 โดส จะขนส่งถึงไทยช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ชุดสอง 800,000 โดส ช่วงสิ้นเดือนมีนาคม และอีก 1 ล้านโดส ช่วงสิ้นเดือนเมษายน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ประเมินว่า ไทยจะมีวัคซีนอีก 26 ล้านโดส ซึ่งใช้สูตรยาและเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด-แอสตราเซเนกา (Oxford University-AstraZeneca) รวมถึงผลิตในประเทศโดยสยาม ไบโอไซเอนซ์ (Siam Bioscience) ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น