xs
xsm
sm
md
lg

‘ไบเดน’ ย้ำขวางจีนรุกทะเลจีนใต้-ตะวันออก ทูตปักกิ่งโวยอย่ามองมังกรเป็น ‘ศัตรูทางยุทธศาสตร์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ไบเดน” ส่งสัญญาณชัดเจนขวางปักกิ่งแผ่ขยายดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก ย้ำการสนับสนุนพันธมิตรในภูมิภาคดังกล่าวและส่งเสริม “อินโด-แปซิฟิก” ที่เสรีและเปิดกว้าง ขณะที่ทูตจีนประจำวอชิงตันเตือนการมองปักกิ่งเป็นศัตรูทางยุทธศาสตร์เป็นการตัดสินใจที่ไม่เป็นธรรม และอาจนำไปสู่ความผิดพลาดร้ายแรง

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของอเมริกา ให้ความมั่นใจกับนายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ แห่งญี่ปุ่น ระหว่างการหารือทางโทรศัพท์เมื่อวันพุธ (27 ม.ค.) ว่า คณะบริหารของเขา ยังคงมุ่งมั่นปกป้องญี่ปุ่น โดยรวมถึงหมู่เกาะเซงกากุ หรือที่จีนเรียกว่า หมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ ซึ่งทั้งโตเกียวและปักกิ่งต่างอ้างกรรมสิทธิ์

จุดยืนเช่นนี้เป็นการตอกย้ำคำพูดของ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ ที่กล่าวระหว่างพูดโทรศัพท์กับโนบูโอะ คิชิ รัฐมนตรีกลาโหมของญี่ปุ่นเมื่อวันเสาร์ (23) ที่ผ่านมา ว่า น่านน้ำดังกล่าวอยู่ภายใต้สนธิสัญญาความมั่นคงอเมริกา-ญี่ปุ่น และย้ำว่า วอชิงตันคัดค้านความพยายามฝ่ายเดียวในการเปลี่ยนสถานะเดิมในทะเลจีนตะวันออก

นอกจากนั้น เมื่อวันพุธ (27) แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังกล่าวกับรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ ว่า อเมริกาจะปกป้องฟิลิปปินส์จากการโจมตีในแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงทะเลจีนใต้ที่หลายประเทศมีข้อพิพาทแย่งชิงสิทธิ์กับจีน และเป็นสิ่งที่คณะบริหารของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ไม่เคยระบุเฉพาะเจาะจง

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ตอกย้ำว่า คณะบริหารของไบเดนจะไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนด้านความมั่นคงที่แข็งกร้าวกับจีน ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากคณะบริหารชุดที่แล้วของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

นอกจากญี่ปุ่นแล้ว ออสตินยังได้หารือทางโทรศัพท์กับรัฐมนตรีกลาโหมของออสเตรเลีย และอินเดีย พร้อมเน้นย้ำนโยบายอินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้างบนพื้นฐานของกฎหมายและบรรทัดฐานสากล

เพื่อย้ำจุดยืนเดิมของอเมริกาต่อเอเชีย วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (24) หรือ 4 วันหลังจากไบเดนเข้ารับตำแหน่ง เพนตากอนได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ปฏิบัติภารกิจ “เสรีภาพในการเดินเรือ” ด้วยการแล่นเข้าสู่หรือเฉียดเข้าใกล้น่านน้ำที่จีนอ้างสิทธิ์ เพื่อยืนยันว่า วอชิงตันคัดค้านการกล่าวอ้างดังกล่าว

นอกจากนั้น ยังคาดกันว่า จุดหมายปลายทางแรกในการเดินทางเยือนต่างประเทศของออสติน จะเป็นเอเชีย แม้เป้าหมายเบื้องต้นของเขาสำหรับเพนตากอน ยังคงเป็นการต่อสู้กับวิกฤตไวรัสก็ตาม

ทางด้านจีนนั้น ชุย เทียนข่าย เอกอัครราชทูตประจำวอชิงตัน กล่าวผ่านฟอรัมออนไลน์เมื่อวันพุธ (27) โดยย้ำว่า จีนมีจุดยืนมายาวนานในการอยู่ร่วมกับอเมริกาอย่างสันติ แต่เตือนว่า การที่อเมริกามองจีนเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์และศัตรูในจินตนาการ เป็นการตัดสินที่ไม่ยุติธรรมและอาจนำมาซึ่งความผิดพลาดร้ายแรง

ชุยย้ำว่า ปักกิ่งต้องการร่วมมือ ไม่ใช่เผชิญหน้า และเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาเพื่อแก้ไขจุดยืนที่ไม่ตรงกัน แต่ย้ำว่า จีนจะไม่ยอมอ่อนข้อในด้านอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน และหวังว่า อเมริกาจะเคารพผลประโยชน์หลักของจีนและไม่ล้ำเส้น

ทั้งนี้ ในสมัยทรัมป์นั้น ฮ่องกง ซินเจียง ทะเลจีนใต้ และไต้หวัน เป็นประเด็นร้อนที่ทำให้สัมพันธ์จีน-อเมริการ้าวลึก

สำหรับคณะบริหารของไบเดนที่คาดว่า จะใช้แนวทางพหุภาคีรับมือจีนนั้น ชุยเตือนว่า แนวร่วมพันธมิตรต่อต้านจีนอาจทำให้เกิด “ความไม่สมดุลใหม่”

อย่างไรก็ตาม เอกอัครราชทูตจีนแสดงความยินดีต่อการตัดสินใจของไบเดนในการกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีสและองค์การอนามัยโลก (ฮู) และเสริมว่า จีนหวังที่จะได้ร่วมมือกับอเมริกาเพื่อต่อสู้กับโรคระบาด รวมทั้งประสานนโยบายระดับโลกเพื่อรับมือความเสี่ยงทางการเงินและเศรษฐกิจ
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น