สหรัฐฯ ยุคไบเดนประกาศกร้าวในคืนวันเสาร์ (23 ม.ค.) ยืนยันคำสัญญาผูกพันต่างๆ ที่ตนมีอยู่กับไต้หวัน ยังคง “หนักแน่นมั่นคง” พร้อมกับเตือนจีนว่า “ความพยายามในการขู่ขวัญ” ไทเป คือภัยคุกคามสันติภาพของภูมิภาค นอกจากนั้นวอชิงตันยังส่งหมู่เรือบรรทุกเครื่องบิน เคลื่อนเข้าสู่ทะเลจีนใต้ ขณะที่ไต้หวันรายงานว่า เครื่องบินทหารของปักกิ่ง 13 ลำ ได้บินล่วงล้ำน่านฟ้าของตนอย่าง “ผิดปกติ”ทั้งเสาร์ (23) ทั้งอาทิตย์ (24)
การประกาศซึ่งอยู่ในรูปคำแถลงจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ คราวนี้ ถือเป็นการแสดงท่าทีครั้งแรกจากวอชิงตันในเรื่องความสัมพันธ์กับไต้หวัน ตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน สาบานตัวเข้ารับตำแหน่งในสัปดาห์ที่แล้ว และออกมาหลังจากในวันเดียวกันไทเปรายงานเรื่องการรุกล้ำของเครื่องบินทหารจำนวนมากของจีน
ทั้งนี้ คำแถลงของ เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน บอกว่า “รับทราบด้วยความเป็นห่วงเกี่ยวกับแบบแผนของความพยายามอย่างต่อเนื่องของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการขู่ขวัญบรรดาเพื่อนบ้านของตน ซึ่งก็รวมถึงไต้หวัน” พร้อมกับเรียกร้องปักกิ่งยุติการบีบคั้นไทเป ตลอดจนยืนยันพันธกรณีต่างๆ ที่วอชิงตันมีอยู่กับเกาะไต้หวัน และความปรารถนาที่จะมีความผูกพันกับไต้หวันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
“เรารบเร้าปักกิ่งให้ยุติการออกแรงบีบคั้นทั้งทางการทหาร, การทูต และทางศรษฐกิจต่อไต้หวัน และหันมาดำเนินการพูดจาอย่างมีความหมายกับคณะตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยของไต้หวัน” คำแถลงของโฆษกผู้นี้บอก รวมทั้งย้ำว่า “เราจะช่วยเหลือไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ในการธำรงรักษาสมรรถนะทางด้านการป้องกันตนเองให้มีความเพียงพอ”
ก่อนหน้านี้ในวันเดียว กระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ เอช-6เค ที่สามารถบรรทุกอาวุธนิวเคลียร์ได้จำนวน 8 ลำ เครื่องบินขับไล่ เจ-16 จำนวน 4 ลำของจีน และเครื่องบินต่อสู้เรือดำน้ำ วาย-8 อีก 1 ลำได้เข้าสู่มุมด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเขตพื้นที่แสดงตนเพื่อการป้องกันตัวทางอากาศของไต้หวันเมื่อวันเสาร์ (23) และกองทัพอากาศไต้หวันได้สั่งการเตรียมพร้อมเครื่องบินเพื่อการตอบโต้ รวมทั้งวิทยุแจ้งเตือนผู้รุกล้ำ และให้ระบบขีปนาวุธเพื่อการป้องกันคอย “ติดตาม” กิจกรรมนี้ของฝ่ายจีน
ไต้หวันบอกว่า การที่จีนส่งเครื่องบินทหารจำนวนมากเข้ามาครั้งนี้ถือได้ว่าผิดปกติ เพราะแม้ในช่วงสองสามเดือนหลังมานี้ มีอากาศยานแดนมังกรบินเข้ามาเหนือน่านน้ำบริเวณนี้ นั่นคือ ระหว่างส่วนใต้ของเกาะไต้หวันกับหมู่เกาะปราตัส ในทะเลจีนใต้ซึ่งไต้หวันควบคุมอยู่ อย่างเป็นประจำแทบทุกวัน แต่โดยทั่วไปแล้วจะประกอบด้วยเครื่องบินตรวจการณ์จำนวนแค่ 1 หรือ 2 ลำเท่านั้น
จากแผนที่ซึ่งเผยแพร่โดยกระทรวงกลาโหมไต้หวัน แสดงให้เห็นว่าเครื่องบินจีนเหล่านี้ได้บินเหนือบริเวณน่านน้ำดังกล่าวอีก อันเป็นพื้นที่ซึ่งยังไม่ถึงตัวเกาะหลักของไต้หวัน
ต่อมา กระทรวงกลาโหมไต้หวันรายงานว่า จีนส่งเครื่องบินเข้าสู่บริเวณน่านฟ้าเดียวกันนี้อีกในวันอาทิตย์ (24) โดยคราวนี้มี 15 ลำ เป็น เครื่องบินขับไล่เจ-10 จำนวน 6 ลำ, เจ-16 จำนวน 4 ลำ, ซู-30 จำนวน 2 ลำ แล้วยังมีเครื่องบินตรวจการณ์สอดแนม วาย-8 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบินต่อต้านเรือดำน้ำ วาย-8 จำนวน 2 ลำ
ในอีกด้านหนึ่ง กองบัญชาการทหารภาคอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯออกคำแถลงว่า หมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี 1 หมู่ของตน นำโดยเรือบรรทุกเครื่องบินธีโอดอร์ รูสเวลต์ ได้แล่นเข้าทะเลจีนใต้เมื่อวันเสาร์ (23) เพื่อดำเนินปฏิบัติการต่างๆ ตามกิจวัตร “ในการรับประกันเสรีภาพของท้องทะเล, การสร้างความเป็นหุ้นส่วนต่างๆ ที่อุปถัมภ์ช่วยเหลือความมั่นคงในการเดินเรือทะเล”
คำแถลงระบุว่า นอกจากเรือบรรทุกเครื่องบินลำหลักแล้ว หมู่เรือโจมตีนี้ยังประกอบด้วย เรือบังเกอร์ฮิลล์ ที่เป็นเรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธนำวิถีชั้นติคอนเดโรกา, และเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถีชั้นอาร์ลีจ์เบิร์ก 2 ลำ ได้แก่ เรือรัสเซลล์ และเรือจอห์นฟินน์
ในช่วงท้ายแห่งวาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐฯได้เพิ่มสายสัมพันธ์กับเกาะที่ปักกิ่งถือเป็นมณฑลกบฎของตนแห่งนี้ ขณะที่แสดงความเป็นปฏิปักษ์กับจีนในประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น การค้า และความมั่นคงแห่งชาติ มาโดยตลอด
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่คนสำคัญๆ ของไบเดน เป็นต้นว่า แอนโธนี บลิงเคน ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และ เจเน็ต เยลเลน ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีคลัง ต่างแสดงท่าทีจะเดินนโยบายแข็งกร้าวต่อจีนต่อไป ระหว่างที่พวกเขาไปให้ปากคำเพื่อขออนุมัติรับรองเข้าดำรงตำแหน่งจากวุฒิสภาสหรัฐฯ นอกจากนั้น ผู้แทนของไต้หวัน ซึ่งคือเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐฯในทางพฤตินัยของเกาะแห่งนี้ ก็ได้รับเชิญอย่างเป็นทางการให้เข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของไบเดนในวันพุธ (20)
แต่ในการแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (21) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ยังคงเรียกร้องต้องการให้รีเซตความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯกันใหม่ในเมื่อสหรัฐฯเข้าสู่ยุคไบเดนแล้ว ถึงแม้เตือนสหรัฐฯด้วยว่า ให้ “จัดการกับประเด็นปัญหาไต้หวันด้วยความระมัดระวังและถูกต้องเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน”
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)