xs
xsm
sm
md
lg

‘ไบเดน’ ส่งสัญญาณใช้ไม้แข็งกับรัสเซีย ด้าน ‘ลูกน้อง’ ยันจับมือพันธมิตรสู้มอสโก-ปักกิ่ง-อิหร่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 10 มี.ค.2011) โจ ไบเดน (ซ้าย) ซึ่งเวลานั้นเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ จับมือกับ วลาดิมีร์ ปูติน ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ในการพบปะกันที่กรุงมอสโก  ทั้งนี้ผู้นำทั้งสองได้คุยโทรศัพท์กันในวันอังคาร (26 ม.ค.) ซึ่งเป็นครั้งแรกหลังไบเดนขึ้นเป็นประธานาธิบดีอเมริกัน
เอเจนซีส์ - “ไบเดน” ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายแข็งกร้าวกับรัสเซียระหว่างหารือทางโทรศัพท์ครั้งแรกกับ “ปูติน” ขณะที่ทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ที่เพิ่งได้รับการรับรองจากวุฒิสภา และว่าที่เจ้ากระทรวงพาณิชย์ต่างยืนยันจะร่วมมือกับชาติพันธมิตรเพื่อจัดการความท้าทายจากรัสเซีย จีน รวมถึงอิหร่าน

เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า ระหว่างที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต่อโทรศัพท์ไปหารือเป็นครั้งแรกกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เมื่อวันอังคาร (26 ม.ค.) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้เร่งหารือเพื่อขยายข้อตกลงควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ “นิว สตาร์ท” ต่อไปอีก 5 ปี โดยให้ลุล่วงภายในวันที่ 5 เดือนหน้าซึ่งข้อตกลงปัจจุบันจะหมดอายุ

ข้อตกลงฉบับนี้มีเนื้อหากำหนดให้อเมริกาและรัสเซียติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ฝ่ายละไม่เกิน 1,550 หัวรบ ก่อนหน้านี้ในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐฯ ตั้งเงื่อนไขในการยืดอายุสัญญานี้ โดยเรียกร้องให้จีนต้องเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งไม่เป็นผล

ซากีเสริมว่า นอกจากข้อตกลงนิวสตาร์ทแล้ว ประเด็นที่ไบเดนหารือทางโทรศัพท์กับปูติน ยังรวมถึงการที่ไบเดนแสดงความกังวลอย่างตรงไปตรงมา เกี่ยวกับการที่แดนหมีขาวรุกรานยูเครน สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในรัสเซีย รวมถึงกรณีการลอบวางยาพิษ อเล็กเซ นาวัลนี และจับกุมผู้นำฝ่ายค้านของรัสเซียผู้นี้ หลังจากเขาเดินทางกลับจากการรักษาตัวแรมเดือนที่เยอรมนีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ไบเดนยังแสดงความกังวลเรื่องที่มอสโกแทรกแซงการเลือกตั้งของอเมริกาในปี 2020 ตลอดจนการเจาะระบบคอมพิวเตอร์ของทางการและภาคเอกชนสหรัฐฯครั้งใหญ่ผ่านผลิตภัณฑ์จัดการเครือข่ายของบริษัทโซลาร์ วินด์ส รวมทั้งรายงานข่าวที่ว่า รัสเซียเสนอค่าหัวทหารอเมริกันในอัฟกานิสถาน

การหารือทางโทรศัพท์ครั้งแรกระหว่างไบเดนกับปูตินเกิดขึ้นขณะที่ผู้นำใหม่ของสหรัฐฯ กำลังปรับมาใช้นโยบายที่แข็งกร้าวขึ้นต่อรัสเซีย หลังจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ปฏิเสธที่จะวิพากษ์วิจารณ์ปูตินโดยตรง

ขณะเดียวกัน ไบเดนยังพยายามเยียวยาความสัมพันธ์กับยุโรป โดยเน้นย้ำระหว่างหารือทางโทรศัพท์กับ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ว่า วอชิงตันจะปฏิบัติตามพันธกรณีทางทหารที่ระบุในสนธิสัญญานาโต และเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความมั่นคงภาคพื้นแอตแลนติก

ในอีกด้านหนึ่ง วุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติเมื่อวันอังคาร ด้วยคะแนน 78-22 รับรองแอนโทนี บลิงเคน ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่

บลิงเคนเป็นที่ปรึกษาคนสนิทของไบเดนมายาวนาน และเคยได้รับการรับรองจากวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศในคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งมีไบเดนเป็นรองประธานาธิบดี

ในการแถลงต่อคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บลิงเคนให้สัญญาว่า จะร่วมมือใกล้ชิดกับพวกชาติพันธมิตรของอเมริกา ที่ก่อนหน้านี้แตกกระเจิงจาก นโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์

บลิงเคนยังบอกอีกว่า จะฟื้นสถานะการทูตของอเมริกาและสร้างแนวร่วมเพื่อเผชิญความท้าทายจากรัสเซีย จีน และอิหร่าน และสำทับว่า เห็นด้วยกับทรัมป์ในการดำเนินนโยบายแข็งกร้าวกับจีน รวมทั้งจะไม่ล้มล้างการตัดสินใจของอดีตประธานาธิบดีจากรีพับลิกันผู้นั้นในการย้ายสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำอิสราเอล ไปยังเยรูซาเลม

วันเดียวกันนั้น จีนา ไรมอนโด ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ ของไบเดน ยืนยันในการให้ปากคำเพื่อขอการรับรองให้เข้าดำรงตำแหน่งจากสภาสูงว่า เธอพร้อมใช้มาตรการที่แข็งกร้าวมากๆ เพื่อช่วยให้บริษัทอเมริกันสามารถแข่งขันในจีนซึ่งมีแนวทางปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

ไรมอนโด ผู้ว่าการหญิงคนแรกของรัฐโรดไอส์แลนด์ เสริมว่า จีนมีพฤติกรรมที่ต่อต้านการแข่งขัน ทุ่มตลาดอเมริกาด้วยเหล็กกล้าและอลูมิเนียมราคาถูกที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานอเมริกันและความสามารถในการแข่งขันของบริษัทอเมริกัน

ว่าที่รัฐมนตรีพาณิชย์ผู้นี้ยังบอกอีกว่า สนับสนุนจุดยืนของไบเดนในการหารือกับชาติพันธมิตรเพื่อร่วมกันกดดันให้จีนยอมดำเนินการทางการค้าที่เป็นธรรม

ไรมอนโดไม่ได้รับปากว่า จะสืบต่อมาตรการของคณะบริหารทรัมป์ ในการขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยหรือบริษัทอื่นๆ ของจีน ภายใต้ข้อกล่าวหาสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกา แต่ให้สัญญาว่าจะใช้อำนาจของกระทรวงพาณิชย์ปกป้องบริษัทและเครือข่ายของอเมริกาจากการแทรกแซงของจีน

แอนโทนี บลิงเคน ซึ่งเพิ่งได้รับการรับรองจากวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรฐฯ กล่าวปราศรัยในพิธีต้อนรับเขาที่กระทรวง ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันพุธ (27 ม.ค.)
กำลังโหลดความคิดเห็น