xs
xsm
sm
md
lg

‘สี’ คือผู้ชนะ ส่วน ‘ทรัมป์’ คือผู้พ่ายแพ้ ในขณะที่ ‘ไบเดน’ ก้าวลงสู่สนาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: วิลเลียม เพเซก และ แอนดรูว์ แซลมอน *-*



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Xi wins, Trump loses as Biden takes the field
by William Pesek and Andrew Salmon
12/01/2021

จีนในเวลานี้กำลังอยู่บนเส้นทางอันหนักแน่นที่จะเข้าท้าทายสหรัฐฯ ในฐานะของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาฐานะความเป็นโรงงานผลิตของพื้นพิภพเอาไว้

ข่าวคราวเรื่องการคิดบัญชีเอากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กำลังกลายเป็นข่าวพาดหัวครอบงำสื่อต่างๆ อยู่ในเวลานี้ การจลาจลรุนแรงถึงขั้นมีผู้บาดเจ็บล้มตายที่อาคารรัฐสภาอเมริกัน ซึ่งตั้งอยู่ในย่านแคปิตอลฮิลล์ (Capitol Hill) ของกรุงวอชิงตัน โดยที่ตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯ เองเป็นผู้หมักบ่มกระตุ้นจุดชนวนขึ้นมา ทำให้เขาต้องต่อสู้ฝ่าฟันเพื่อรักษาชีวิตทางการเมืองของตัวเองเอาไว้ให้ได้ ในขณะเหลือเวลาอีกไม่กี่วันก่อนที่ โจ ไบเดน จะเข้ามาครองทำเนียบขาวแทนที่ตัวเขา

อย่างไรก็ดี ยังมีผู้บาดเจ็บล้มตายอีกรายหนึ่งจากยุคสมัยของทรัมป์ ซึ่งอาจกลายเป็นพาดหัวนำของแวดวงข่าวทั่วโลกในเร็วๆ นี้ นั่นก็คือ ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ที่เครดิตความน่าเชื่อถือของมันอาจจะกำลังถูกทรัมป์ทอดทิ้งเอาไว้ให้รอความตาย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/article/us-global-forex/dollar-extends-rebound-as-u-s-yields-rise-idUSKBN29G02T)

ไม่ต้องมองอะไรให้ไกลเกินกว่าเรื่องที่ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯ แบบอายุไถ่ถอน 10 ปี กำลังไต่สูงขึ้นในวันศุกร์ที่ 8 มกราคม หลังจากรายงานข่าวอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ อยู่ในภาวะอ่อนปวกเปียกอย่างน่าเซอร์ไพรส์ การที่มีจำนวนผู้ตกงานในเดือนธันวาคมมากขึ้น 140,000 คน คือสัญญาณชัดเจนที่สุดเท่าที่มีอยู่ในตอนนี้ แสดงให้เห็นว่าประเทศเจ้าของระบบเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดของโลกประเทศนี้กำลังชนกระแทกโครมใส่กำแพงโควิด-19 ครั้งใหม่อีกครั้งหนึ่ง

แล้วนี่มันหมายความว่ายังไงน่ะหรือ? มันก็คือไม่มีทางเป็นจริงไปได้หรอก ความหวังที่จะได้เห็นเศรษฐกิจกลับฟื้นตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วแบบ “รูปตัว V”, ไม่มีหรอก อัตราเงินเฟ้อ และไม่มีหรอก แม้กระทั่งเรื่องจะมีความเสี่ยงน้อยลงสำหรับการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve เรียกกันย่อๆ ว่า Fed เฟด) จะลดขนาดการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ด้วยเหตุนี้เองคำสั่งขายจึงกำลังปลิวว่อนไปทั่ว

เพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมา ไม่ต้องมองไปไหนไกลๆ เกินกว่าคำรำพึงคำพันเมื่อเร็วๆ นี้ของ เรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bridgewater.com/people/ray-dalio) ในเรื่องเกี่ยวกับจีน และเมื่อขยายความกันให้กว้างออกไป ก็ย่อมครอบคลุมไปถึงเรื่องสถานการณ์หายนะทางการเงินซึ่งทรัมป์ทอดทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง

ในโพสต์ที่เผยแพร่ทางบล็อกและในการให้สัมภาษณ์อย่างต่อเนื่องกันเป็นชุดเมื่อไม่นานมานี้ ผู้ก่อตั้ง บริดจ์วอเตอร์ แอสโซซิเอตส์ (Bridgewater Associates) ผู้นี้ กำลังไฮไลต์ให้เห็นกันว่า จีนได้ใช้ระยะแวลา 4 ปีที่ผ่านมาแห่งความปั่นป่วนวุ่นวายแบบยุคทรัมป์กันอย่างไร จึงได้บังเกิดผลอันยิ่งใหญ่ในการทำให้ตนเองกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก

เขาเสนอความเห็นหลายๆ จุดซึ่งหนักแน่นมากทีเดียว

“จีนได้กลายเป็นตลาดทุนซึ่งใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกไปเรียบร้อยแล้ว และผมคิดว่าในที่สุดพวกเขาจะเข้าแข่งขันเพื่อให้มีศูนย์กลางทางการเงินของโลก (ขึ้นในจีน)” ดาลิโอ หนึ่งในผู้บริหารจัดการเงินรายใหญ่ที่สุดของโลกกล่าวเตือน “ตลอดทั้งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พวกประเทศทำการค้ารายใหญ่ที่สุดต่างค่อยๆ วิวัฒนาการจนมีศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก และมีสกุลเงินตราที่เป็นทุนสำรองระดับโลก”

ในปี 2020 เงินหยวนมีการก้าวยาวๆ อย่างบิ๊กบึ้มทีเดียวเพื่อให้กลายเป็นแบบที่ว่ามานี่แหละ –และโดยที่ได้ตัวช่วยอย่างมหึมาจากสงครามการค้าแบบบุกออกไปหลายๆ แนวรบพร้อมๆ กันของทรัมป์ รวมตลอดระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา เงินหยวนไม่เพียงมีค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์เท่านั้น แต่ยังแข็งขึ้นบนพื้นฐานของการคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักทางการค้า (trade-weighted basis) อีกด้วย โดยขึ้นไปเกือบๆ 10% ทั้งนี้ การที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรคลังสหรัฐฯ พุ่งสูงเมื่อเร็วๆ นี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลของการที่ความไว้วางใจในดอลลาร์กำลังจางคลายลงไปนั่นเอง

เรื่องที่หนี้สินภาคสาธารณะของสหรัฐฯ ภายใต้การดูแลของทรัมป์ ได้พุ่งพรวดขึ้นไปสู่หลัก 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.forbes.com/sites/johnmauldin/2020/04/02/federal-budget-deficits-to-30t-and-beyond/?sh=7fde8caf5508) ถือเป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่ทำให้ตลาดเกิดความหดหู่ใจ เช่นเดียวกับเรื่องที่เฟดเคลื่อนไหวผ่อนคลายทางการเงินอย่างใหญ่โตมโหฬารมาหลายขยักนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2017 เป็นต้นมา ตอนที่ทรัมป์เสนอชื่อ เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) ให้เป็นประธานเฟด

แล้วเรื่องสูญเสียความไว้วางใจในอเมริกาก็มีผลเช่นเดียวกัน มันก็เข้าทำนองคำพังเพยที่ว่ามีคนที่โตเป็นผู้ใหญ่คนเดียวอยู่ในห้องในแวดวงทางเศรษฐกิจระดับโลก ขณะคนอื่นๆ ยังไม่ยอมโตนั่นแหละ

สงครามการค้าที่ถูกชักนำให้เดินไปผิดทางของทรัมป์

นี่เป็นสิ่งที่ สตีเฟน โรช (Stephen Roach) นักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเยล แสดงความวิตกกังวลเอาไว้ว่า การล้มครืนของเงินดอลลาร์อาจจะ “มาถึงเร็วกว่าที่คาดหมายกันไว้มาก” และแผ่ลามไป “ด้วยอัตราความเร็วของแสง” ในขณะที่มีเสียงเตือนภัยดังขึ้นเรื่ยอๆ เกี่ยวกับสถานะเบื้องลึกลงไปของระบบการเงินของสหรัฐฯ

ทรัมป์ได้เริ่มต้นสละฐานะการเป็นสกุลเงินตราเพื่อการสำรองของเงินดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการโยนทิ้งการมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อให้มี “ดอลลาร์แข็ง” ซึ่งสหรัฐฯ ได้พยายามทำกันมาเป็นเวลา 23 ปีแล้ว มันเป็นการส่งสัญญาณว่าสหรัฐฯได้หันไปยอมรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบพาณิชย์นิยม (mercantilist) เหมือนๆ กับพวกชาติกำลังพัฒนาเสียแล้ว

ทว่าสิ่งที่เป็นการสบประมาทอย่างใหญ่โตยิ่งกว่านั้นเสียอีก น่าจะได้แก่สงครามการค้าอันมหึมาที่จบลงด้วยการที่รัฐบาลทรัมป์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และพ่ายแพ้อย่างน่าตื่นเต้นเสียด้วย ตั้งแต่หลายทศวรรษก่อนที่เขาจะได้รับการเลือกตั้งแบบสุดช็อกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 ทรัมป์ซึ่งตอนนั้นมีฐานะเป็นนักธุรกิจ ก็ได้ตำหนิด่าว่าเรื่องที่สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับเอเชีย

เมื่อทศวรรษ 1980 นั้น มันคือญี่ปุ่นซึ่งถูกทรัมป์ร้องเรียนว่า “กำลังสูบเลือดออกไปจากอเมริกาอย่างเป็นระบบ” และ “หลบหนีไปได้ภายหลังทำฆาตกรรม” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://money.cnn.com/2016/10/19/news/economy/trump-reagan-japan-trade-1989/index.html) แต่ต่อจากนั้นมา ปักกิ่งก็ได้เข้าแทนที่โตเกียวในการทำหน้าที่เป็นผีสำหรับเอาไว้ขู่เด็กๆ ของทรัมป์ ในปี 2018 เมื่อทรัมป์อยู่ในฐานะเป็นประธานาธิบดี เขาก็เริ่มต้นขึ้นภาษีศุลกากรเอากับสินค้าจากจีนมูลค่าเกือบๆ 400,000 ล้านดอลลาร์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/tag/us-china-trade-war/)

ผลที่ออกมาปรากฏว่า สงครามการค้าที่อลหม่านวุ่นวายของทรัมป์นั่นแหละ เป็นตัวดูดเลือดออกไปจากเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ ซึ่ง บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อนหน้าเป็นผู้ส่งมอบให้แก่ตัวเขา

ทรัมป์ซึ่งไม่ได้มีความเป็นนักศึกษาร่ำเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ แม้กระทั่งคอร์สพื้นฐานที่สุดอย่าง เศรษฐศาสตร์ 101 ได้เพิกเฉยไม่แยแสคำเตือนครั้งแล้วครั้งเล่าจากพวกนักวิเคราะห์ตลอดแวดวงทางการเมืองและทางอุดมการณ์สำนักต่างๆ ที่พยายามชี้ให้เขาเห็นว่า การขาดดุลกับปักกิ่งนั้นไม่ใช่ปัญหาเลย ความเสียเปรียบนี้แท้ที่จริงแล้วเป็น (และก็เป็นเช่นนี้เสมอมา) อาการหนึ่งของความสัมพันธ์ทางโครงสร้างเชิงพาณิชย์ระหว่าง 2 ระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก

หนึ่งในผลพลอยได้ของการวินิจฉัยปัญหานี้อย่างผิดพลาดของทรัมป์ก็คือว่า แท้จริงแล้วตัวทรัมป์นั่นแหละได้ทำให้เรื่องการขาดดุลการค้ากับจีนกลายเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยในช่วง 11 เดือนนับถึงเดือนพฤศจิกายน 2020 ตัวเลขนี้อยู่ที่ 287,000 ล้านดอลลาร์ สูงขึ้น 33,000 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 2016 (ถ้าหากคำนวณกันตลอดทั้งปี 2020 ตัวเลขขาดดุลการค้านี้ก็จะกลายเป็น 316,900 ล้านดอลลาร์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://mgronline.com/around/detail/9640000004080)

แม้กระทั่งในตอนที่การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ต่อจีน มีการส่งสัญญาณว่ากำลังหดแคบลงจริงๆ มันก็กลับกลายเป็นเพียงการสะท้อนให้เห็นว่า พวกบริษัทนานาชาติกำลังโยกย้ายตำแหน่งออกมาจกจีน ทว่าไม่ได้กลับมาไว้ที่อเมริกาหรอก แต่ไปที่เวียดนามต่างหาก

ทรัมป์พ่ายแพ้ สีชนะ

ทรัมป์ถูกประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ตะล่อมให้สาละวนอยู่กับการเจรจาต่อรองทำข้อตกลงการค้า “เฟสหนึ่ง”

อีก 12 เดือนต่อมา รัฐบาลของสีก็ตกลงยินยอมจริงๆ ที่จะเริ่มต้นซื้อสินค้าสหรัฐฯเป็นมูลค่ากว่า 170,000 ล้านดอลลาร์ ทว่า สี สามารถที่จะหลบฉากไปได้โดยที่ไม่ต้องตกลงยินยอมลดพวกกำแพงกีดกั้นการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรให้ลดต่ำลง ตลอดจนไม่ต้องตกลงยินยอมยุติการอุดหนุนพวกกิจการรัฐวิสาหกิจต่างๆ

ขณะเดียวกัน พฤติกรรมที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ของทรัมป์ในปี 2020 ก็ทำให้รัฐบาลของสีมีช่องทางเปิดวาล์วเพื่อกลับเพิ่มยอดนำเข้าสินค้าสู่สหรัฐฯ

ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน จีนได้ซื้อสินค้าอเมริกันไปแล้วเพียงแค่เกิน 50% นิดๆ ของจำนวนซึ่งให้สัญญาไว้ และโดยที่ไม่ได้มีกรุ่นกลิ่นการประณามตำหนิอย่างที่ปกติแล้วต้องโชยออกมาจากแวดวงกลุ่ม จี7 นี่ก็เป็นเพราะทรัมป์ได้ใช้จ่ายไมตรีจิตมิตรภาพให้หมดเปลืองไปอย่างสุรุ่ยสุร่ายด้วยการโจมตีใส่เทคจีนอย่างกระจัดกระจายมากเกินไปแล้วนั่นเอง ในขณะที่หากใช้นโยบายการค้าที่แน่วแน่มั่นคงกว่านี้ก็อาจสามารถรวบรวมกำลังได้ดีกว่านี้

เมื่อพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างกันอย่างรอบด้านแล้ว หากดำเนินการการประเมินค่าด้วยระเบียบกฎเกณฑ์ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นมาจาก หัวเว่ย เทคโนโลยีส์, วีแชต ของเทนเซนต์, อาลีเพย์ ของอาลีบาบา, หรือ ติ๊กต็อก ของไบต์แดนซ์ จะเป็นวิธีการที่สุขุมรอบรอบและสร้างความเข้าอกเข้าใจขึ้นมาได้ ตรงกันข้าม มาตรการสั่งแบนกลับเกิดขึ้นอย่างสับสนอลหม่านและทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียว โดยกระทำผ่านการทวิตจากบัญชีทวิตเตอร์ @realDonaldTrump ซึ่งเวลานี้ถูกยกเลิกห้ามใช้ไปเสียแล้ว

พฤติการณ์แบบตัวตลกเหล่านี้กลายเป็นทำให้ความได้เปรียบตกอยู่ในมือของจีนไปเสียหมดสิ้นขณะที่ปี 2021 เริ่มต้นขึ้นมา นี่แหละเป็นปมสำคัญในทัศนะของกูรูกองทุนเฮดจ์ฟันด์อย่าง ดาลิโอ กล่าวคือขณะที่ทรัมป์เที่ยวโยนทิ้งความไว้เนื้อเชื่อใจในสถาบันต่างๆ ของสหรัฐฯลงถังขยะ - แถมยังดูเหมือนพยายามวางอุบายซึ่งมองกันตามลายลักษณ์อักษรแล้วคือการวางแผนอุบายก่อการรัฐประหารยึดอำนาจ - พวกคนของ สี กลับกำลังทำงานอย่างมั่นคงสม่ำสเมอเบื้องหลังฉาก เพื่อให้บังเกิดความแน่ใจว่า เซี่ยงไฮ้, เสิ่นเจิ้น และฮ่องกง จะสามารถแข่งขันกับนิวยอร์ก และลอนดอน ในการเป็นฮับทางการเงิน

เมื่อปี 2020 เขาบอกกับไฟแนนเชียลไทมส์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ft.com/content/1af5a599-53c5-4481-82d6-6f768e4b7146) ได้อย่างถูกต้องว่า มันจะเป็น “ปีแห่งการวางกรอบกำหนดขอบเขต” สำหรับพวกตลาดทุนของจีน เหตุผลประการหนึ่งก็คือ จีนกำลังสามารถก้าวผ่านเลยโรคระบาดใหญ่โควิด-19 และเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวขึ้นมาได้อย่างโดดเด่นเกินหน้าเกินตาชาวบ้าน

ขณะที่ฐานะของสหรัฐฯกลับกลายเป็นตรงกันข้ามสุดๆ โดยที่กำลังมีเคสผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมพุ่งสู่หลัก 22 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตวันละ 4,000 คน

ในเวลาที่สหรัฐฯต้องก้าวเดินอย่างกะโผลกกะเผลกอยู่นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าอัตราเติบโตของจีนจะอยู่ที่ 7.9% ในปี 2021 หลังจากทำได้ 1.9% ในปีที่แล้ว อันที่จริง จีตา โกปินาถ (Gita Gopinath) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟ บอกว่า จีนกำลังทำให้อัตราเติบโตโดยเฉลี่ยของโลกเกิดความเฉไฉสูงกว่าความเป็นจริงด้วยซ้ำไป

สหรัฐฯต้องเพิ่มงบช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจาก‘โควิด’มากขึ้นๆ

เธอชี้ว่า ถ้าหากไม่มีจีน “อัตราเติบโตโดยรวมของโลกสำหรับปี 2020 และปี 2021 จะเป็นตัวเลขติดลบ”

นี่เองจึงกำลังทำให้เกิดกระแสลงทุนอย่างบ้าระห่ำขึ้นมา เนื่องจากพวกนักลงทุนต่างประเทศพากันวิ่งเข้าใส่ตราสารหนี้ของจีน ในปี 2020 พวกนักเสี่ยงโชคจากต่างแดนสวาปามพวกตราสารหนี้และหุ้นของแผ่นดินใหญ่รวมแล้วเป็นมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านล้านหยวน (155,000 ล้านดอลลาร์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.ft.com/content/d9ac222d-90d8-4570-b89e-a99f1bd4829b) ผลตอบแทนจากจีนซึ่งสูงกว่า คือเสน่ห์จูงใจที่เห็นได้อย่างชัดเจนประการหนึ่ง อย่างเช่น อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลจีนอายุไถ่ถอน 10 ปี อยู่ที่ 3.1% เปรียบเทียบกับตราสารชนิดเดียวกันของสหรัฐฯซึ่งอยู่ที่ 1.2% (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.marketwatch.com/investing/bond/ambmkrm-10y?countrycode=bx)

นอกเหนือจากความโกลาหลอลหม่านอันเนื่องจากพวกกองเชียร์ทรัมป์แล้ว การที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯไต่สูงขึ้นในช่วงหลังๆ มานี้ ส่วนหนึ่งยังมาจากปรากฏการณ์โควิดอีกด้วยในเมื่อการแพร่ระบาดพุ่งพรวดขึ้น และการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯก็จางหายไป ทำให้เกิดความตระหนักกันขึ้นมาว่ารัฐสภาจำเป็นต้องโปรยความช่วยเหลือแก่ครัวเรือนต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอีก ซึ่งนี่ย่อมเป็นการเพิ่มภาระหนี้สินของอเมริกา

นอกเหนือจากโรคระบาดใหญ่แล้ว ครัวเรือนอเมริกันจำนวนมากยังกำลังรู้สึกถึงความเจ็บปวดซึ่งจริงๆ แล้วมาจากการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรของทรัมป์ นี่เป็นข้อสังเกตของผู้เชี่ยวชาญด้านการค้า วิลเลียม ไรน์ช (William Reinsch) แห่งศูนย์กลางเพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies) เขาบอกว่ามองกันโดยภาพรวม การขึ้นภาษีของทรมป์ “เป็นสาเหตุทำให้มีผู้ถูกลูกหลงเป็นจำนวนมากมายในสหรัฐฯ” ขณะที่พลวัตสหรัฐฯ-จีนกลับไม่ได้ถูกกระทบกระเทือนอะไร

การศึกษาชิ้นหนึ่งของ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Bureau of Economic Research หรือNBER) (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.nber.org/digest/may19/us-consumers-have-borne-brunt-current-trade-war) พบว่า การขึ้นภาษีศุลกากรของทรัมป์ทำให้ครัวเรือนของสหรัฐฯต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 16.8 ล้านล้านดอลลาร์เฉพาะในปี 2018 ปีเดียว คณะผู้เขียนรายงานนี้ คือ แมรี อมิติ (Mary Amiti) กับ สตีเฟน เรดดิ้ง (Stephen Redding) และ เดวิด ไวน์สไตน์ (David Weinstein) ชี้ด้วยว่า
“การดำเนินนโยบายขึ้นภาษีศุลกากรนี้ต่อไปอาจจะสร้างภาระหนักเป็นพิเศษสำหรับพวกบริษัทนานาชาติ ที่ได้ดำเนินการลงทุนแบบต้นทุนจมก้อนโตๆ เอาไว้ในสายโซ่อุปทาน (supply chains) ในประเทศอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ด้วยการพึ่งพาอาศัยโรงงานต่างๆ
ในจีน หรือพวกประเทศที่ได้รับผลกระทบรายอื่นๆ”

ทั้งนี้ การศึกษาของNBER ชิ้นนี้ประมาณการว่า การค้าคิดเป็นมูลค่าราว 165,000 ล้านดอลลาร์ได้มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางกันใหม่เรียบร้อยแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษีที่สูงขึ้นนี้ ขณะที่ปี 2021 ย่างกรายมาถึงข้อมูลก็ปรากฏให้เห็นกันมากขึ้นซึ่งแสดงว่าตำแหน่งงานที่ถูกโยกออกมาจากจีนเหล่านี้กำลังมุ่งหน้าไปยังเวียดนาม, บังกลาเทศ, และจุดเชื่อมต่ออื่นๆ
ในสายโซ่อุปทานเอเชีย แทนที่จะกลับมายังสหรัฐฯ

บรรดาหนทางวิธีการซี่งทรัมป์งัดเอามาใช้ ซึ่งกลายเป็นการโยนทิ้งความน่าเชื่อถือของวอชิงตันในแวดวงต่างๆ ในระดับโลก (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://asiatimes.com/2020/09/americas-global-prestige-on-life-support/) อาจจะเป็นเรื่องน่าปวดหัวใหญ่ที่สุดสำหรับไบเดน ในวันที่ 20 มกราคม ไบเดนจะได้เรียนรู้อย่างจะจะในสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ จู หมิน (Zhu Min) กำลังส่งเสียงเตือนอยู่ในแวดวงค้าเงินตรามาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2020 แล้ว

ทั้งนี้ จู ซึ่งเป็นอดีตรองกรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มีความวิตกกังวลว่า ขอให้มี “เหตุการณ์ที่เกิดการขยายตัวใหญ่โต” อย่างฉับพลันสักเพียงอย่างหนึ่งเท่านั้น มันก็อาจทำให้ค่าเงินดอลลาร์ไหลรูดจมดินกันเลย

ค่าเงินดอลลาร์จะสูงขึ้น หรือว่าจะดิ่งลง?

มีบางคนบางฝ่ายโต้แย้งว่า ความหวาดกลัวที่ว่าเงินดอลลาร์จะไหลรูดนั้นเป็นสิ่งที่โอเว่อร์เกินไป หนึ่งในฝ่ายนี้ได้แก่ มาร์ก ซอเบล (Mark Sobel) ประธานของฝ่ายสหรัฐฯ ณ
สำนักงานเวทีประชุมของบรรดาสถาบันเงินตราและการเงินทางการ (Official Monetary and Financial Institutions Forum หรือ OMFIF) ผู้ซึ่งกล่าวว่า “เงินดอลลาร์อาจจะตกลงมากันจริงๆ ในปีนี้ แต่วาทกรรมเชิงลบอย่างเกินเลยไปนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล”

ซอเบล บอกว่า อันที่จริงเงินดอลลาร์ “กำลังตกลงมาอย่างแรงเรียบร้อยแล้ว” โดยมูลค่าของมันหายไปประมาณ 13% แล้วเมื่อเทียบกับช่วงขึ้นไปสูงในเดือนมีนาคม ด้วยเหตุนี้ ซอเบลจึงไม่เห็นด้วยกับข้อโต้แย้งของฝ่ายซึ่งเห็นว่าดอลลาร์กำลังจะหล่นลงมาอย่างแรง เขาบอกว่า มีความเป็นไปได้มากกว่า ที่การตกลงมาใดๆ ของดอลลาร์จะเป็นไปด้วยความเชื่องช้าลงกว่าเดิมและมีระเบียบยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ทางด้าน เจสัน เฟอร์แมน (Jason Furman) นักเศรษฐศาสตร์ฮาร์วาร์ด บอกว่า เขาก็รู้สึก “พิศวงมึนงง กับความเชื่อมั่นของผู้ที่ทำนายว่าดอลลาร์กำลัง ตกต่ำ/ดิ่งแรง” เขาชี้ว่า ในทางกลับกัน ภาวะความไม่แน่นอนอย่างสุดขีดในปี 2021 อาจจะเป็นตัวช่วยทำให้เงินดอลลาร์มีเสถียรภาพก็ได้

เช่นเดียวกับปัจจัยของการที่ ไบเดน เดินทางมาเข้าฉากพอดี โดยในฐานะเป็นมือเก่าทางการเมือง ไบเดนนำเอาพวกบุคคลที่น่าเชื่อถือเข้ามาเป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรีแวดล้อมตัวเขาเป็นต้นว่า อดีตประธานเฟด เจเน็ต เยลเลน ผู้ได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีคลังของไบเดน
คือนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่มีความเป็นชาวทรัมป์เอาเลยอย่างสุดๆ เท่าที่คุณจะสามารถค้นหาเจอในกรุงวอชิงตัน

ขณะที่ แอนโทนี บลิงเคน ก็น่าเป็นผู้ที่เข้ามาสร้างกระทรวงการต่างประเทศขึ้นมาใหม่อย่างรวดเร็ว หลังจาก ไมค์ พอมเพโอ จากไปโดยละทิ้งให้มันอยู่ในสภาพฉีกขาดรุ่งริ่ง

กระนั้น มันก็อาจจะสายเกินไปเสียแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ นูรีล รูบินี (Nouriel Roubini)
แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ยืนยันให้ความเห็นในแนวทางนี้ เขาคาดหมายว่าปี 2021
จะเป็นปีที่เกิดการสู้รบขัดแย้งกัน และดอลลาร์/หยวนคือตัวแทนตัวหลักในการสู้รบกันนี้

จีนดูเหมือนมีการเตรียมตัวที่ดีกว่าสำหรับสิ่งที่กำลังจะมาถึง เมื่อพูดกันในแง่ทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลของ สี ได้ใช้ช่วงเวลาหลายปีแห่งการครองอำนาจของทรัมป์ ในการสร้างมัดกล้ามทางเศรษฐกิจขึ้นมา ขณะที่ทำเนียบขาวของทรัมป์หลงใหลได้ปลื้มอยู่แต่กับพวกยาชูกำลังและพวกสารสเตียรอยด์ในทางเศรษฐกิจ

แน่นอนทีเดียว ปักกิ่งไม่ได้ชื่นชมกับการที่ทรัมป์ขึ้นภาษีศุลกากร, สั่งแบนพวกบริษัทแชมเปี้ยนระดับชาติของจีน,การวางตัวเป็นแก๊งอันธพาลทางทวิตเตอร์ หรือการเที่ยวประณามโยนให้ปักกิ่งเป็นแพะรับบาปสำหรับการไร้ความสามารถของทำเนียบขาวในการตอบโต้รับมือโควิด-19 ทว่าขณะที่ทรัมป์เที่ยวออกแรงฟาดตีกระหน่ำอยู่ในวอชิงตันนั้นเอง
สี กลับกำลังยุ่งวุ่นวายอยู่กับการปรับเปลี่ยนแก้ไขโมเดลทางเศรษฐกิจของจีน ใน 2 ทางด้วยกัน

อย่างหนึ่งคือการเร่งกระบวนการทำให้เงินหยวนกลายเป็นสกุลเงินตราระหว่างประเทศ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่https://asiatimes.com/2020/07/dollars-pain-not-yet-the-yuans-gain/) ทั้งนี้ในปี 2020 จีนประสบความสำเร็จหลังจากใช้ความพยายามมานานโดยได้รับบรรจุเข้าสู่ดัชนีตราสารหนี้ระดับโลกตัวสำคัญอีกตัวหนึ่ง นั่นคือFTSE Russell benchmarkขณะเดียวกัน ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People’s Bank of China) ซึ่งเป็นแบงก์ชาติของจีน ก็ต้านทานไม่ยอมใช้มาตรการผ่อนคลายกันอย่างสุดๆ อัดฉีดสภาพคล่องกันอย่างสุดๆ แบบที่เฟดใช้อยู่

และขณะที่ปี 2020 กำลังจะปิดฉากอยู่แล้วนี่เอง ซาอุดี อารัมโก (Saudi Aramco) กิจการรัฐวิสาหกิจน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย ก็ส่งสัญญาณว่ากำลังดำเนินงานเพื่อที่จะออกตราสารหนี้สกุลเงินหยวน (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://asia.nikkei.com/Business/Markets/Saudi-Aramco-hints-at-future-yuan-bonds-in-potential-coup-for-China) นี่หมายถึงการหักหัวเลี้ยวกลับแบบ 180 องศาทีเดียวสำหรับอุตสาหกรรมแกนหลักสำคัญซึ่งเคยโปรดปรานยึดอยู่กับสกุลเงินดอลลาร์มาอย่างยาวนาน

และเมื่อคำนึงถึงการแข็งค่าขึ้นมาของเงินหยวนในปี 2020 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3116664/china-moves-curb-yuan-rally-pressure-due-hot-money-and-export) มันก็มองเห็นเหตุผลกันได้อย่างง่ายดายว่า ทำไมพวกนักลงทุนทรงความสำคัญอย่าง ดาลิโอ จึงมองเงินหยวนว่าเป็นสกุลเงินตราระดับโลกที่ต้องเฝ้าจับตา

อย่างที่สอง ได้แก่การที่จีนมีการปรับเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับพวกเครื่องจักรสร้างความเติบโตในหนทางซึ่งสหรัฐฯไม่ได้กระทำการลงทุนในจีนนั้นแน่นอนอยู่แล้วว่ามีทั้งความท้าทายและความเสี่ยง ไม่ต้องดูอื่นไกลเลยไปกว่าความสับสนที่เกิดขึ้นมากับกรณีแผนการเสนอขายหุ้นให้แก่สาธารณชนครั้งแรกของ แอนต์กรุ๊ป ของ แจ็ก หม่า

กระนั้น ดาลิโอกลับชี้ว่า เมื่อเวลาผ่านไป จีนอาจกลายเป็นสัดส่วน “ที่มีความหมายยิ่ง” ของธุรกิจของบริดจ์วอเตอร์ ด้วยการที่บริดจ์วอเตอร์มีสินทรัพย์จำนวน 151,000 ล้านดอลลาร์อยู่ในการบริหารจัดการอยู่แล้ว “เงินก้อนใหญ่” ย่อมไม่สามารถที่จะใหญ่โตขึ้นไปอีกมากมายนักแล้ว

แต่การมองโลกแง่ดีของ ดาลิโอ ส่วนหนึ่งมีต้นตอมาจากแผนการใหญ่ของ สี ที่จะสร้างเขตวิสาหกิจพิเศษที่มุ่งแข่งขันเอาชนะทั่วโลกขึ้นมาในบริเวณภาคใต้ของจีน ในชื่อซึ่งเรียกขานกันว่า “เกรตเทอร์เบย์แอเรีย” (Greater Bay Area ดูเพิ่มเติมได้ https://www.bayarea.gov.hk/en/about/overview.html) เขตพิเศษนี้รวมเอาทั้ง ฮ่องกง, มาเก๊า และเขตเทศบาลนครอื่นๆ อีก 9 แห่งเข้าไว้ด้วยกัน อันได้แก่ กว่างโจว, เซินเจิ้น, จูไห่, ฝอซาน, ฮุ่ยโจว, ตงกวน, จงซาน, เจียงเหมิน, และ เจ้าชิ่ง

กลุ่มคลัสเตอร์ของพวกมหานครไฮเทคนี้ มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการทำให้สามารถอวดโอ่ได้ว่า ภายในกลุ่มของตนนั้น มีฮับทางการเงินระดับแข่งขันกับ นิวยอร์ก, ลอนดอน, และโตเกียวได้ อย่างน้อยที่สุด 2 แห่ง –และกระทั่งน่าที่จะมีมากกว่านั้นอีกด้วยซ้ำ ในขณะที่พวกนักสร้างนวัตกรรมในเขตเบย์แอเรีย ผลิตพวกบริษัทยูนิคอร์นไฮเทคออกมาได้มากขึ้นๆ  พวกเขาก็จะมีตลาดหลักทรัพย์แผ่นดินใหญ่จำนวนมากให้เลือกสรรว่าจะไปทำ ไอพีโอ ที่ไหนดี (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://asiatimes.com/2020/10/chinas-economy-set-for-quantum-leap-forward/ หรือดูที่เก็บความเป็นภาษาไทย คือ เรื่อง‘เศรษฐกิจจีน’ตั้งท่าก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็วและไกลลิบแบบ‘ควอนตัม’https://mgronline.com/around/detail/9630000117827)

ความพ่ายแพ้ในสงครามเศรษฐกิจของ โดนัลด์ ทรัมป์

ตรงกันข้าม สงครามการค้าของทรัมป์ไม่ได้ทำอะไรขึ้นมาเลยในการสร้างมัดกล้ามทางเศรษฐกิจให้แก่สหรัฐฯ

การที่ทรัมป์ขึ้นภาษีเอากับสินค้าจีน หรือแบนพวกบริษัทต่างๆ ของจีน ไม่ได้ทำอะไรให้ภาคบริษัทอเมริกันมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น การสู้รบปรบมือชนิดแลกกันหมัดต่อหมัดกับ สี ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการเพิ่มนวัตกรรมของอเมริกันหรือผลิตภาพของอเมริกัน ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการปรับปรุงยกระดับระบบการศึกษาหรือโครงสร้างพื้นฐานซึ่งกำลังอยู่ในอาการง่อนแง่นโงนเงน หรือสกัดกั้นลดทอนภาระหนี้สินแห่งชาติซึ่งกำลังอยู่ในระดับไม่สามารถที่จะประคับประคองตัวได้

ไม่มีอะไรที่ทรัมป์ทำซึ่งทำให้ซิลิคอนแวลลีย์ของแคลิฟอร์เนียปรับเปลี่ยนแนวทางใหม่เพื่อมุ่งไปเผชิญหน้ากับภาวะดิสรัปชั่น แทนที่จะเอาแต่ค้นหาวิธีการดียิ่งขึ้นในการขายโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตแทนที่จะช่วยทำให้สหรัฐฯมีความได้เปรียบในกระแสเฟื่องฟูของพวกพลังงานหมุนเวียนทรัมป์กลับลิดรอนอนาคตของสหรัฐด้วยการนำเอาไปพึ่งพาอาศัยเศรษฐกิจของ สี

เวลาเดียวกับที่จีนได้ลงทุนจำนวนระดับหลายล้านล้านไปในอนาคตของแบตเตอรี, ยานยนต์พลังไฟฟ้า, เซมิคอนดักเตอร์, และแผงวงจรไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ทรัมป์กลับนำเอาถ่านหินกลับมา และบีบคั้นอุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกันให้ทำรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงย่ำแย่ลง

นี่แหละคือภูมิทัศน์ของการแข่งขันซึ่งไบเดนได้รับเป็นมรดกตกทอด ขณะที่ทรัมป์สะบัดก้นก้าวออกไปจากฉากมันเป็นระบบเศรษฐกิจที่ยับเยินเสียหายหนักจากโควิด, สภาพคล่องในท้องพระคลังที่ถูกใช้ออกไปจนแทบเกลี้ยงเกลา, ความโกรธเกรี้ยวของโลกเกี่ยวกับระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา, ตลาดพันธบัตรที่กำลังอยู่บนขอบเหว, และจีน ซึ่งทั้งๆ ที่เผชิญกับความเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงของตน กลับกำลังเตรียมเนื้อเตรียมตัวเพื่อเข้าครอบครองเวทีกลาง—และรอรับเงินลงทุนของ ดาลิโอ เพิ่มมากขึ้นอีก

ขอให้โชคดีครับ ว่าที่ประธานาธิบดีไบเดน
กำลังโหลดความคิดเห็น