การลงทุนในตลาดหุ้นไทยปี 2564 มีแนวโน้มสดใสกว่าปีก่อน เพราะความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจลดลง และอยู่ในช่วงผลการดำเนินงานฟื้นตัวต่อเนื่องถึงปี 2565 คาดกำไร บจ.จะฟื้นตัว 40% ขณะนักลงทุนให้ความสนใจหุ้นเติบโต (Growth) อีกครั้ง ประเมินระดับเหมาะสมของ SET Index ปีนี้ 1,450-1,500 แม้ตัวเลขจีดีพีร่วง เหตุโควิดรอบใหม่ระบาด ซ้ำเติมภาพรวมเศรษฐกิจที่เปราะบาง หวังการไหลเข้าเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดทุนฟื้น
ประเทศไทยเปิดรับปีใหม่ 2564 ด้วยการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เริ่มมาจากการตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่เกี่ยวโยงกับตลาดกลางกุ้งมหาชัย จ.สมุทรสาคร ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563ที่ผ่านมา หลังจากที่ประเทศไทยไม่พบการติดเชื้อในประเทศมายาวนานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งสิ่งที่น่ากังวล คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดในรอบนี้ มีแนวโน้มจะกระจายไปเป็นวงกว้างและจะควบคุมได้ยากเนื่องจากการแพร่ระบาดในสถานที่สุ่มเสี่ยง ทั้งตลาด สถานบันเทิง สถานที่เล่นการพนัน ที่ยากต่อการควบคุมและการติดตามผู้สัมผัสเชื้อ ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของภาครัฐที่เข้มข้นน้อยกว่าครั้งก่อน และจากพฤติกรรมของผู้คนเองที่มีการเดินทางและพบปะกันมากขึ้นในช่วงเทศกาล จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าการระบาดระลอกแรก และได้กระจายออกไปทั่วประเทศจนล่าสุดพบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 60 จังหวัด
อย่างไรก็ดีการระบาดระลอกใหม่นี้แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและธุรกิจต่าง ๆ ที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงกลางไตรมาส 4/2563ที่ผ่านมา ให้กลับทรุดลง หรือยืดระยะเวลาการฟื้นตัวออกไปจากที่เคยคาดการณ์ไว้ พร้อมกับยังมีความไม่แน่นอนและปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ยังคงต้องติดตามในการประเมินผลกระทบจากการระบาดของโควิดรอบนี้
คาดGDP ปี 64 ร่วงเหลือ 2.0%
เกียรตินาคินภัทร หรือ KKP ให้มุมมองต่อทิศทาง การเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศปีนี้ว่า อาจมีการปรับประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP สำหรับปี 2564 ลงอีกครั้งจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในประเทศ โดยมองว่าการระบาดรอบนี้ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญผ่าน 2 ช่องทางหลัก คือ ประการที่ 1 การประกาศปิดเมืองจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชะลอลงกว่าที่เคยประเมินไว้ ทำให้กระทบต่อการลงทุน การจ้างงาน รายได้และการบริโภค ขณะเดียวกันประการที่ 2 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะกลับมาได้ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ มีแนวโน้มล่าช้าออกไปกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าในกรณีเลวร้ายที่การแพร่ระบาดรุนแรงจนทำให้มาตรการปิดเมืองต้องมีความเข้มข้นขึ้น ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตลอดทั้งปี จะส่งผลให้ GDP อาจหดตัวได้ถึงติดลบ -1.2%
โควิดระลอกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจซบ
การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 รอบใหม่และมาตรการปิดเมืองบางส่วน ตลอดจนการงดทำกิจกรรมนอกบ้านจากความกังวลในการแพร่ระบาด และการฉีดวัคซีนในประเทศ ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในวงกว้างในช่วงครึ่งแรกของปี จะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญใน 2 ด้านคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจะสะดุดลงอีกครั้ง จากการระบาดและมาตรการที่มีแนวโน้มลากยาวกว่ารอบก่อน แม้ว่ามาตรการควบคุมการระบาดในครั้งนี้จะเน้นการควบคุมตามความเสี่ยงของพื้นที่ และธุรกิจ แต่สถานการณ์การระบาดที่มีแนวโน้มรุนแรงควบคุมได้ยากกว่ารอบที่แล้ว อาจทำให้รัฐต้องใช้มาตรการควบคุมการระบาดในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าครั้งที่ผ่านมา หรือสุดท้ายอาจต้องกลับมาใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ยิ่งไปกว่านั้น ในครั้งนี้จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูงเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับสูง โดยขนาดเศรษฐกิจโดยรวมของพื้นที่เสี่ยงสูง 28 จังหวัดคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของ GDP ทั้งประเทศ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คาดว่าแม้การปิดเมืองจะเข้มงวดน้อยลงแต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมจะยังคงรุนแรงใกล้เคียงกับรอบที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจในไตรมาส 1 จะหดตัวรุนแรง ก่อนจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในไตรมาสถัดไป โดยมองว่าการที่รัฐจะสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกันกับในไตรมาส 2 ปี 2563 โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวลงรุนแรงและจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ ส่งผลให้ GDP ในไตรมาสแรกปี 64 มีโอกาสโตติดลบถึง 6.1% และหากการระบาดจบลงตามคาด เศรษฐกิจจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้
ขณะที่ ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ให้มุมมองต่อภาพรวมทิศทางการลงทุนในตลาดทุนไทยว่า ประเมินดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน หรือ FETCO Investor Confidence Index ซึ่งได้มีการสำรวจในเดือนธันวาคม 2563 พบว่า ดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 130.63 ปรับตัวลดลง 19.1% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” มาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ซึ่งยังสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนเมื่อเทียบกับความเคลื่อนไหวของดัชนีตลอดทั้งปี โดยนักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน
สำหรับ ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การท่องเที่ยว รองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่ โดยนักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การท่องเที่ยว รองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่
“หากพิจารณาความสำคัญที่นักลงทุนรายกลุ่มให้ความสนใจ พบว่านักลงทุนสถาบันในประเทศมองว่าฟันด์โฟลว์ไหลเข้าเป็นปัจจัยบวกแรก กอรปด้วยนโยบายภาครัฐที่มองว่ารัฐบาลจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีกรอบ ซึ่งประเมินว่าหุ้นกลุ่มที่น่าสนใจลงทุนคือ กลุ่มแบงก์ พลังงาน ปิโตรเคมี โรงกลั่น หรือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ รวมทั้งหุ้นพื้นฐานดีที่ราคายังไม่ปรับตัวขึ้นมาก เมื่อเทียบกับตลาดในภาพรวมที่ปรับขึ้นมาร้อนแรง (Laggard) เช่น หุ้นในกลุ่ม ICT ส่วนหุ้นกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยง หรือยังมีความน่าเป็นห่วง คือกลุ่มท่องเที่ยว”
ขณะเดียวกันในส่วนของเป้าดัชนีหุ้นปีนี้ซึ่ง FETCO ประเมินไว้ที่ 1,600 จุด โดยคาดการณ์ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนปีนี้จะเติบโต 40% จากปีที่ผ่านมาที่มีฐานต่ำมาก และอาจทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้ ขณะเดียวกันมองว่าจะมีเงินทุนทั่วโลกไหลกลับเข้ามาลงทุนใน ตลาดเกิดใหม่ หรือEmerging Market เพิ่มมากขึ้น และนอกจากนี้เมื่อไทยมีความพร้อมในการผลิตวัคซีนโควิด-19 จะทำให้ประเทศเศรษฐกิจหรือตลาดเกิดใหม่ สามารถบริหารจัดการกับโควิด-19 ได้ดีขึ้น ประกอบการที่แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนกลับมาให้ความสนใจในตลาดเกิดใหม่มากขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนไทย (บจ.) มีผลประกอบการกลับมาเติบโตได้สูงถึง 40%
"มองว่าปีนี้จะยังมีหวังจากปัจจัยหนุนหลักๆ ที่จะมาผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการพัฒนาวัคซีนออกมา ตลอดจนถึงเงินทุนต่างชาติที่มีทิศทางไหลเข้าต่อเนื่อง จากสภาพคล่องที่ยังคงล้นตลาดอยู่ และประเทศไทยถือได้ว่าดัชนียังขึ้นมาไม่มากเมื่อเทียบกับหลายๆประเทศที่ทุบสถิติสูงสุดและสร้างสถิติใหม่ไปหลายครั้งแล้วในปีที่ผ่านมา"
ขณะที่ สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ให้มุมมองต่อการลงทุนว่า ในปี 2564 เป็นปีของความคาดหวังการฟื้นตัวของธุรกิจและเศรษฐกิจจาก COVID-19 หลังจากเริ่มมีการแจกจ่ายวัคซีน แต่อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนในวงกว้างอาจจะทำได้ไม่เร็ว ดังนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยังไม่กลับไปเป็นปกติดังเช่นก่อนเกิด COVID-19 ซึ่ง ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการฟื้นตัวหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเศรษฐกิจจีนและสหรัฐจะมีการฟื้นตัวเร็ว ส่วนยุโรป ญี่ปุ่น และไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่จะฟื้นตัวช้าเนื่องจากต้องพึ่งพาความต้องการจากต่างประเทศและการท่องเที่ยวสูง นอกจากนั้นนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัว
ด้านเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดการณ์ว่า GDP จะเติบโต 3% เทียบปีก่อน โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกเป็นสำคัญ หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปีที่ผ่านมา ได้เห็นการปรับตัวของหลายๆ อุตสาหกรรมในประเทศไทยและมองว่าอุตสาหกรรมที่จะเห็นการฟื้นตัวอย่างโดดเด่น ปี 2564 คือ กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี, ประกัน, อาหาร, บรรจุภัณฑ์, การแพทย์ และขนส่งทางบก สำหรับกลุ่มโรงแรมและสายการบินอาจจะเห็นการฟื้นตัวอย่างโดดเด่นเช่นกัน แต่ยังมองว่าผลประกอบการน่าจะยังขาดทุนต่อเนื่องจากปีก่อน สำหรับการระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ในปัจจุบัน เชื่อว่าทุกภาคส่วนมีความพร้อมในการรับมือมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงได้รับผลกระทบมากทำให้คาดว่าการฟื้นตัวจะเริ่มเห็นในไตรมา 4/64 เป็นต้นไป
ขณะที่แนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในปี 2564 มีแนวโน้มสดใสกว่าปี 2563 จากความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงของผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่องถึงปี 2565 โดยเฉพาะธุรกิจที่ขึ้นกับวัฏจักรเศรษฐกิจ (พลังงาน ปิโตรเคมี ธนาคาร การบริโภค และ การท่องเที่ยว เป็นต้น) โดยคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนจะฟื้นตัว 40% เทียบปีก่อนในปี 2564 และ 19% เทียบปีก่อน ในปี 2565
อย่างไรก็ตาม ความผันผวนจะยังอยู่จากระดับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นเร็วและความเสี่ยงภายนอกที่สูงขึ้น ประเมินระดับเหมาะสมของ SET Index ปี 2564 อยู่ที่ 1,450-1,500 จุด อ้างอิงจากปัจจัยพื้นฐาน ขณะเดียวกันคาดว่าดัชนี SET Index ในบางช่วงเวลามีโอกาสแกว่งตัวขึ้นไปเกินกว่าระดับดังกล่าว 5-10% จากปัจจัยหนุนของสภาพคล่องในตลาดการเงินที่สูง และเงินทุนต่างประเทศที่กลับเข้ามาลงทุน ไปจนถึงความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานที่ต่อเนื่องถึงปี 2565 โดย กลยุทธ์การลงทุนไตรมาสแรกปี 2564 จะเน้นเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฏจักรเศรษฐกิจมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงซื้อสะสมหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทรนด์ในอนาคต ได้แก่ พลังงานสะอาด การดูแลสุขภาพ และ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี
ขณะที่ ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด มองว่าทิศทางการลงทุนเดือน ม.ค. ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีในช่วงเดือนแรกของปีจะมีแนวต้านสำคัญที่ 1,500 จุด ซึ่งเป็นระดับดัชนีที่พอสามารถยืดไปถึงได้ หากกระแสเงินทุนยังไหลเข้า ในทางกลับกันมองแนวรับแรกที่ 1,400 จุด และแนวรับสำคัญที่ 1,360 จุด ซึ่งเป็นระดับดัชนีที่อิงกับ Forward PE ที่ 17.3 เท่า ถือเป็นระดับที่คำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ในช่วงถัดไปแล้ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลัง COVID -19 ในประเทศกลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนเดือน มกราคม2564 คาดว่า นักลงทุนจะกลับมาให้ความสนใจลงทุนหุ้นเติบโต (Growth) อีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเข้าใกล้ช่วงการประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 4 ปี 2563 เนื่องจากหุ้นเหล่านี้มีโอกาสกลับมาให้ผลตอบในด้านกำไรที่ดีได้ ซึ่งแตกต่างกับหุ้นกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) และหุ้นกลุ่มคุณค่า (Value) ที่ดีดตัวขึ้นแรงในช่วง 1-2 เดือนก่อนหน้านี้ แต่ในแง่ผลประกอบการนั้น อาจสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนได้ ดังนั้น ผู้ที่ถือครองหุ้นเหล่านี้อยู่อาจต้องระวังแรงขายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงก่อนประกาศงบการเงิน
ด้าน วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก หรือ GBS มองว่า ปัจจัยเชิงบวกที่จะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทย ได้แก่การที่ตลาดคาดหวังว่าสหรัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มเติมหลังจากการที่นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐเข้ารับตำแหน่ง ผนวกกับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังซาอุดีอาระเบียรับอาสาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือน ก.พ. และ มี.ค. 64 เพื่อชดเชยในส่วนของรัสเซียและคาซัคสถานที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตในการที่จะรักษาระดับราคาน้ำมันและรักษาสมดุลตลาดในช่วงที่ความต้องการใช้น้ำมันอ่อนแอจากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ
นอกจากนี้คาดว่ารัฐบาลจะออกมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ทั้งมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการพักหนี้และการออกสินเชื่อเพิ่มเติม
ขณะที่ภาพรวมของการลงทุนทองคำนั้น ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ราคาทองคำในปี 2564 จะยังคงผันผวนโดยมีปัจจัยหนุนจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ต่อเนื่องมาจากปี 2563 ส่งผลให้เฟดยังคงซื้อพันธบัตรตามมาตรการ (QE) ต่อเนื่องทำให้งบดุลของเฟดมีการขยายตัวต่อเนื่องสู่ 7.4 ล้านล้านดอลลาร์ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่คาดว่าจะกลับมารุนแรงขึ้นเนื่องจากสหรัฐต้องการปกป้องภาคการผลิตในประเทศ
อย่างไรก็ตาม จากการค้นพบวัคซีน COVID-19 จะเป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำเนื่องจากรัฐบาลทั่วโลกจะต้องถอนเม็ดเงินที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อซื้อวัคซีนมาฉีดให้แก่ประชาชนในประเทศ ส่งผลให้ปริมาณเงินในระบบลดลงและเป็นปัจจัยกดดันต่อทองคำ
ในด้านเทคนิคราคาทองคำโลกในปี 2563 มีการสร้างจุดสูงใหม่ (All time high) ที่ 2,074 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ซึ่งเป็นสัญญาณของการปรับตัวขึ้นรอบใหม่ อย่างไรก็ตาม จากการค้นพบวัคซีนทำให้ทองคำได้รับความสนใจในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยลดลง ซึ่งคาดว่ากรอบการเคลื่อนไหวของราคาทองคำโลกในปี 2564 อยู่ที่ 1,690-2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์
ขณะที่ อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด กล่าวถึงมุมมองการลงทุนในหุ้นไทยว่าจากผลกระทบ โควิด-19 ทำให้ตลาดหุ้นไทยปี 2563ปรับตัวลง 8% และเคลื่อนไหวแย่กว่าตลาดหุ้นโลก (MSCI World Index) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14%
คาด3 ปัจจัยบวกพลิกหุ้นไทยฟื้น
สำหรับมุมมองหุ้นไทยปีนี้ คาดว่าหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวจากปีที่แล้วจาก 3 ปัจจัยที่สำคัญคือ ประการแรก การฟื้นตัวของตัวเลขเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียน โดย บล.ทิสโก้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะกลับมาเติบโต 3.4% จากปี 64 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 6.3% ส่วนกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยในปี 2564 คาดว่าจะฟื้นตัวแรง 34% ขณะที่ปี 2563 คาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนไทยจะติดลบ 38% จากกำไรในกลุ่มพลังงาน และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของกำไรตลาดโดยรวมจะเติบโต 79% และ 25% ตามลำดับ ส่วนปี 65 คาดกำไรโดยรวมจะเติบโตอีก 16% อานิสงส์จากภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้เต็มที่หลังมีวัคซีน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
อีกทั้งนโยบายการเงินยังคงอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายมาก เมื่อเทียบกับในอดีตจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ได้ปรับเป้าหมายนโยบายการเงินไปใช้ “อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย” ที่ 2% ซึ่งจะทำให้ FED สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้นานกว่าในอดีต ทั้งการคงดอกเบี้ยในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง ทำให้จากการประเมิน คาดว่า FED จะอัดฉีดสภาพคล่องในปีนี้เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ
สุดท้ายตือนโยบายด้านเศรษฐกิจของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ที่มีแผนการใช้จ่ายเงินจำนวนมากจะกดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ให้มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวม นอกจากนี้การที่นโยบายต่างประเทศของไบเดน ที่ประนีประนอมกว่าทรัมป์ และสามารถประเมินความเป็นไปได้มากกว่านายโดนัล ทรัมป์ มองว่าน่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและช่วยลดความผันผวนของตลาดลงได้
“เราประเมินว่าดัชนีหุ้นไทยที่เหมาะสมในปี 2564 อยู่ในระดับที่ 1,450-1,590 จุด โดยในครึ่งปีหลังมีโอกาสสูงที่จะเหวี่ยงตัวขึ้นไปใกล้ๆ ระดับ 1,600 จุด หรือเทียบเท่าตอนสิ้นปี 2562 ก่อนที่โควิด-19 จะระบาด” อภิชาติกล่าว