xs
xsm
sm
md
lg

‘เศรษฐกิจจีน’ตั้งท่าก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็วและไกลลิบแบบ‘ควอนตัม’

เผยแพร่:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

China’s economy set for quantum leap forward
By DAVID P. GOLDMAN
30/10/2020

การประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นำเสนอภาพคร่าวๆ ของแผนการระยะ 5 ปีฉบับต่อไปของแดนมังกร ซึ่งมุ่งเน้นการพึ่งพาตนเองด้านไฮเทค และการปรับเปลี่ยนไปสู่การอาศัยตลาดภายในประเทศ

การประชุมของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น ไม่ได้มีการจัดทำแผนการ แต่พวกเขาเปิดเผยแผนการต่างๆ ที่ได้ใช้ระยะเวลาเพื่อให้เกิดความสุกงอมกันอยู่นาน การประชุมเต็มคณะเป็นเวลา 4 วันของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งสิ้นสุดลงในวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นเพียงการเสนอภาพคร่าวๆ ของแผนการระยะ 5 ปีซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่การพึ่งพาตนเองด้านไฮเทค และการปรับเปลี่ยนไปสู่การอาศัยตลาดภายในประเทศ

ทว่าจากรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจของประเทศจีนซึ่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว ก็เพียงพอที่จะปะติดปะต่อกันให้เห็นเป็นภาพของระบบเศรษฐกิจซึ่งกำลังเคลื่อนตัวไปตามลานบินเพื่อทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้า สามารถเรียกได้ว่าเป็นการก้าวกระโดดไปข้างหน้าอย่างไกลลิบและฉับพลันแบบควอมตัม

สิ่งที่แฝงฝังอยู่ในแผนระยะ 5 ปีฉบับนี้ คือโครงข่ายของเทคโนโลยีใหม่ๆ และการปฏิรูปทางการเงินต่างๆ ซึ่งออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการผลิตทางอุตสาหกรรม, การขนส่งคมนาคม, การดูแลสุขภาพ, และการเงิน โดยตัวที่จะเป็นผู้ให้พลังแก่สิ่งเหล่านี้คืออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ ซึ่งจะท้าทายฐานะครอบงำของอเมริกันในอุตสาหกรรมนี้ จีนนั้นได้เริ่มต้นเปิดตัวเข้าสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ ชุดหนึ่งเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ฝ่ายตะวันตกยังไม่ทันได้เริ่มต้นการจัดเตรียมนำมาใช้งาน

สิ่งเหล่านี้ มีอาทิ การตรวจจับสัญญาณที่สำคัญยิ่งยวดต่างๆ แบบระบบทางไกลเพื่อการควบคุมโรคติดต่อ, ชุดอัลกอรึธึมปัญญาประดิษฐ์สำหรับการคาดหมายพยากรณ์ เพื่อใช้ระบุเหตุการณ์หรือผลลัพธ์ซึ่งเป็นไปได้ที่จะกลายเป็น “ตัวแพร่เชื้อโรคติดต่อไปสู่ผู้คนจำนวนมาก” (superspreader), การชำระเงินระบบดิจิตอล (รวมทั้งการออกสกุลเงินตราดิจิตอลที่เป็นสกุลเงินตราทางการ) ซึ่งจะเข้าแทนที่ระบบการธนาคารแบบดั้งเดิม, และพวกหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการโปรแกรมตัวเอง โดยสามารถออกแบบกระบวนการทางการผลิตให้แก่พวกมันเองได้

แต่การที่จีนแซงหน้าฝ่ายตะวันตกได้เช่นนี้ ไม่ได้มาจากการมีเทคโนโลยีที่เลิศล้ำกว่า การทะยานขึ้นฟ้าทางเศรษฐกิจของจีนมีต้นตอมาจากสิ่งที่ เอดมุนด์ เฟลป์ส (Edmund Phelps) นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบล เรียกว่าเป็น “ความเจริญงอกงามของมวลชน” (mass flourishing) นั่นคือ–ความเต็มอกเต็มใจของประชากรทั้งมวลที่ยินดีต้อนรับนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งนี้แผนการของจีนจะผลักดันพวก disruptive new technologies (เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงขั้นทำให้สิ่งเดิมๆ ต้องพากันพังครืนลงไป) ให้เข้าสู่ระดับรากหญ้าของระบบเศรษฐกิจของตน และทำให้ชีวิตประจำวันเกิดการเปลี่ยนแปลงในหนทางต่างๆ อย่างมากหลาย

สิ่งที่ถือเป็นพาดหัวข่าวของการประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนคราวนี้ ได้แก่ ข้อกำหนดเรียกร้องให้จีนต้องสามารถพึ่งตนเองได้ในระดับชาติทางด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอุตสาหกรรมไฮเทคอื่นๆ อันเป็นการตอบโต้ความพยายามของวอชิงตันที่จะขัดขวางไม่ให้จีนสามารถเข้าถึงพวกชิปคอมพิวเตอร์ระดับละเอียดประณีตที่สุด ตลอดจนพวกเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับใช้ทำชิปเหล่านี้

แท้ที่จริง เรื่องนี้กลายเป็นการถ่วงรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมากกว่าที่จะเป็นการส่งเสริมสนับสนุน เนื่องจากจีนนั้นยินดีมากกว่าที่จะปล่อยให้ไต้หวันและเกาหลีใต้เป็นผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์แทบทั้งหมดที่ตนเองต้องการใช้ แต่หลังจากวอชิงตันยืนกรานใช้อำนาจอภิสิทธิ์สภาพนอกอาณาเขต มาบังคับเอากับชิปใดๆ ก็ตามที่ผลิตโดยมีอุปกรณ์หรือซอฟต์แวร์อเมริกันเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จีนจึงได้หันมาทุ่มเททรัพยากรต่างๆ เข้าไปในภาคส่วนนี้

ไม่เช่นนั้นแล้ว การที่สหรัฐฯบอยคอตต์ห้ามขายชิปให้จีนก็จะส่งผลกระทบแค่จิ๊บๆ ให้แก่แผนการต่างๆ ของแดนมังกรเท่านั้น ทั้งนี้เอเชียไทมส์เป็นเจ้าแรกๆ ซึ่งรายงานข่าวตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 กันยายนว่า หัวเว่ยไม่ได้ประสบความลำบากอะไรเลยในการซื้อพวกชิปรุ่นเก่ากว่า (ซึ่งมีขนาดความกว้างของ transistor gate อยู่ที่ 28 นาโนเมตร หรือมากกว่านี้) เพื่อนำมาใช้เป็นตัวให้พลังในสถานีฐาน 5จี ของตน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/09/huawei-sanctions-will-destroy-us-chip-industry/ หรือที่เก็บความเป็นภาษาไทยแล้วคือเรื่อง ยืนยันอีกครั้ง ‘การแซงก์ชั่นหัวเว่ย’จะกลายเป็นการทำลายอุตสาหกรรมชิปสหรัฐฯ https://mgronline.com/around/detail/9630000093120)

หลังจากนั้นมา พวกเจ้าหน้าที่หัวเว่ยได้ออกมาประกาศว่า พวกเขามีชิปอยู่ในมือเพียงพอที่จะตอบสนองคำสั่งซื้ออุปกรณ์ 5จี ของพวกเขาได้ทั้งหมดอย่างเต็มที่ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.caixinglobal.com/2020-09-24/huawei-has-enough-communications-gear-inventory-to-carry-on-101608883.html) ถึงแม้ว่าในอีกด้านหนึ่ง ธุรกิจโทรศัพท์มือถือระดับไฮเอนด์ของหัวเว่ยจะประสบความเสียหาย สืบเนื่องจากการที่อเมริกันเข้าควบคุมพวกชิปที่มีระดับความก้าวหน้ามากกว่าเหล่านี้ โดยที่ชิปพวกนี้ทางโรงงานผลิตชิปของไต้หวันเป็นผู้ผลิตขึ้นตามการออกแบบของหัวเว่ย แต่ต้องมีการใช้อุปกรณ์หรือซอฟต์แวร์ของอเมริกัน

กระนั้นก็ตาม พวกผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟนของจีนรายอื่นๆ เป็นต้นว่า เสี่ยวมี่ จะสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดของตนได้ และเมื่อเป็นเช่นนั้น ผลกระทบสุทธิที่จะมีต่อเศรษฐกิจจีนก็จะมีอยู่ในระดับเล็กน้อยเท่านั้น

มันไม่ใช่เรื่องสำคัญหรอกว่า จีนใช้ชิปขนาด 5 นาโนเมตร หรือ 28 นาโนเมตร แต่เรื่องสำคัญจริงๆ อยู่ที่ระดับความลึกซึ้งและความกว้างขวางของการยอมรับนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้งานต่างหาก ผลกระทบระดับใหญ่โตประการแรกของการสร้างบรอดแบนด์ 5จี ระดับชาติขึ้นมา จะได้แก่การขจัดปัญหาการจราจรแออัดติดขัดใน “เมืองอัจฉริยะทั้งหลาย” และการเพิ่มประสิทธิผลอย่างกว้างขวางในเรื่องการส่งของ

อี-คอมเมิร์ซมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 37% ยอดขายปลีกทั้งหมดในจีนเมื่อปี 2019 และคาดการณ์กันว่าจะไปสู่ระดับมากกว่า 64% ภายในปี 2023 ขณะที่อี-คอมเมิร์ซในสหรัฐฯคิดเป็นแค่ 16% ของยอดขายปลีกทั้งหมดเท่านั้น

ภายในปี 2024 จีนจะเสร็จสิ้นการก่อสร้างเครือข่ายบรอดแบนด์ไร้สาย 5จี ที่มีสถานีฐาน 6 ล้านแห่ง โดยสิ้นค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 170,000 ล้านดอลลาร์ ตัวเลขนี้คิดหยาบๆ แล้วเท่ากับราว 10 เท่าตัวของเงินทุนซึ่งคาดการณ์กันว่าพวกบริษัทเทเลคอมสหรัฐฯกำลังใช้จ่ายกันอยู่ในช่วง 3 ปีข้างหน้า และเท่ากับกว่าครึ่งหนึ่งของการลงทุนในเรื่อง 5 จีทั้งหมดของโลก

ภายในปี 2022 เทคโนโลยี “เมืองอัจฉริยะ” ที่พัฒนาโดย อาลีบาบา, หัวเว่ย, เทนเซนต์, ไป่ตู้, และยักษ์ใหญ่เทคจีนรายอื่นๆ จะเริ่มต้นการจับคู่ผู้โดยสารที่ต้องการเดินทาง ให้เข้ากับรถยนต์ (ซึ่งรวมไปถึงพวกยานขับเคลื่อนได้ด้วยตนเองในบางส่วนด้วย) และการจับคู่แพกเกจห่อของให้เข้ากับรถบรรทุกเพื่อการจัดส่ง โดยผ่านพวกเครื่องเซิร์ฟเวอร์ปัญญาประดิษฐ์

เทคโนโลยียานขับเคลื่อนได้โดยอัตโนมัติ นับเป็นหนึ่งในความผิดหวังซึ่งใหญ่ที่สุดในแวดวงการลงทุนด้านเวนเจอร์แคปิตอลสหรัฐฯ เนื่องจากเครือข่ายบรอดแบนด์และระบบคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ เกิดชนโครม (ในบางกรณีมีเหตุชนโครมเกิดขึ้นจริงๆ ตามตัวอักษรด้วยซ้ำ) เข้ากับโครงสร้างพื้นฐานเก่าๆ เดิมๆ ซึ่งจัดทำขึ้นแบบส่งเดชไร้การวางแผนของเมืองใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ ขณะที่พวกเมืองใหญ่ๆ ในจีนนั้นปัจจุบันพื้นที่จำนวนมากเป็นพื้นที่ใหม่ และมีการออกแบบสร้างถนนวงแหวนอันกว้างขวาง ซึ่งสามารถตอบสนองต่อยานขับเคลื่อนได้ด้วยตนเอง ที่สามารถติดต่อสื่อสารได้โดยผ่านเครือข่ายบรอดแบนด์ 5จี ทำให้สามารถใช้อัตราความเร็วได้สูงกว่ากันมาก อีกทั้งสามารถตอบสนองได้อย่างฉับไวเรียกได้ว่าแทบจะในฉับพลันทันที

การขายปลีกเป็นตัวสนับสนุนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อการจ้างงานจำนวนราว 42 ล้านตำแหน่ง ของกำลังแรงงานจำนวนเต็มๆ 165 ล้านคน หรือคิดเป็นประเมาณ 1ใน 4 ดังนั้น การขายปลีกที่กลายเป็นระบบอัตโนมัติ รวมทั้งการส่งของที่กลายเป็นระบบอัตโนมัติ จะสามารถประหยัดจำนวนแรงงานได้อย่างมหึมา โดยที่เรื่องแรงงานนี้กำลังกลายเป็นแหล่งที่มาอันสำคัญยิ่งยวดของประสิทธิภาพในประเทศจีน ทั้งนี้ กำลังแรงงานทั้งหมดของแดนมังกร ได้รับการคาดหมายว่าจะลดลงเหลือ 970 ล้านคนในปี 2025 จากที่มีอยู่ประมาณ 1,000 ล้านคนในปี 2020

กุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดความเจริญงอกงามของมวลชน เกิดการยินดีต้อนรับนวัตกรรมใหม่ๆ ในหมู่ประชาชนระดับรากหญ้า ได้แก่การนำเอาเงินทุนมาไว้ในมือของพวกผู้ประกอบการในระดับรากหญ้า ทั้งนี้เมื่อเร็วๆ นี้ มีเหตุการณ์ 2 เรื่องซึ่งเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนในโครงสร้างเงินทุนของจีน จากระบบที่ไม่สมส่วนโดยหนักอึ้งที่ส่วนหัวเนื่องจากถูกครอบงำจากพวกแบงก์ที่เป็นกิจการของรัฐ และพวกรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งมีอภิสิทธิ์สามารถเข้าถึงแบงก์รัฐเหล่านี้ได้ มาสู่โมเดลแบบผู้ประกอบการ

เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นสัปดาห์ที่แล้วจากการที่ คณะกรรมการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission) ร่วมกับธนาคารกลาง และกระทรวงของรัฐบาลกลาง 4 กระทรวง จัดทำมาตรการต่างๆ 38 มาตรการที่ประทับตราเรียกกันว่าเป็น “ห่อของขวัญห่อบิ๊กๆ” ซึ่งมุ่งให้เป็นการสนับสนุนด้านเงินทุนโดยตรงแก่อุตสาหกรรมภาคเอกชน

มาตรการเหล่านี้มีทั้ง การลดหย่อนภาษีทางภาคอุปทาน (supply-side tax cuts) และการลดค่าธรรมเนียมต่างๆ, ตลอดจนการทำให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงที่ดินอุตสาหกรรมภาคสาธารณะ, การชี้แนะให้พวกแบงก์พาณิชย์ปล่อยเงินเพิ่มมากขึ้นแก่อุตสาหกรรมการผลิตภาคเอกชน, การผ่อนปรนเงื่อนไขในเรื่องการค้ำประกันเงินกู้ของธุรกิจรายย่อย, การให้เวลาในการชำระเงินยาวนานขึ้นแก่พวกวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง, ตลอดจนช่องทางต่างๆในการให้ความสนับสนุนทางการเงินโดยตรงแก่วิสาหกิจเหล่านี้ ทั้งนี้ ตลาด STAR ที่เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งใหม่ของจีนซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเซี่ยงไฮ้นั้น สามารถระดมเงินทุน 22,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่พวกกิจการขนาดย่อมๆ ลงมา จากการนำเอาหุ้นของกิจการเหล่านี้เสนอขายให้แก่ประชาชน

เหตุการณ์ที่สอง ได้แก่การระงับการทำไอพีโอบริษัทแอนต์ ไฟแนนเชียล (Ant Financial) ของ แจ็ก หม่า ซึ่งเป็นกิจการยักษ์ใหญ่ด้านฟินเทคที่ทำท่าคุกคามจะกลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมอย่างใหญ่โตและสร้างความปราชัยย่อยยับให้แก่อุตสาหกรรมการธนาคารของโลก ด้วยจำนวนลูกค้าสูงลิ่วถึง 900 ล้านราย แอนต์ไฟแนนเชียลกำลังกลายเป็นผู้รวมเอาระบบการชำระเงินแบบดิจิตอล เข้ากับการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ทั้งที่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อธุรกิจรายย่อยในแบบแทบจะในฉับพลันทันที โดยที่ฐานข้อมูลอันใหญ่โตมโหฬารของบริษัท จะจัดทำคะแนนเครดิตความน่าเชื่อถือออกมาได้อย่างละเอียดและรวดเร็วยิ่งกว่าพวกบริษัทเครดิตเรตติ้งของตะวันตกเสียอีก

การรวมเอาระบบการชำระเงินแบบดิจิตอล เข้าด้วยกันกับคะแนนเครดิตความน่าเชื่อถือซึ่งมาจากข้อมูล “บิ๊กดาต้า” เช่นนี้ เป็นสิ่งบอกเหตุล่วงหน้าให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมหึมาในอุตสาหกรรมการเงิน ปัจจุบันบุคคลและธุรกิจต่างๆ เก็บรักษาเงินเอาไว้ราว 35 ล้านล้านดอลลาร์ทั้งในบัญชีธนาคารหรือถือเป็นเงินสด เพื่อเป็นการสำรองไว้เผื่อถูกเรียกให้ต้องชำระเงิน พวกแบงก์ต่างๆ คือผู้ที่ถือบัญชีเหล่านี้เอาไว้ และนำเงินออกมาปล่อยกู้ แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการเงินอย่างใหม่ๆ จะทำให้สามารถลดความจำเป็นในการสำรองลงไปได้อย่างมหาศาล นอกจากนั้นแล้วจีนยังกำลังกลายเป็นผู้ทดสอบตลาดในเรื่องการใช้สกุลเงินตราระบบดิจิตอลมาเป็นสิ่งที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

บางทีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญที่สุดซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ กำลังก่อให้เกิดขึ้น น่าจะได้แก่ในเรื่องสาธารณสุข ซึ่งโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ได้เปลี่ยนให้จีนกลายเป็นห้องแล็ประดับชาติขนาดใหญ่โตมหึมาสำหรับแอปพลิเคชั่นต่างๆ ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ ในข้อเขียนเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/10/covid-19-launches-the-fourth-industrial-revolution/) ผมรายงานเรื่องที่รัฐบาลจีนดำเนินการประเมินผลพวกกิจการสตาร์ทอัปด้านเอไอในระหว่างเกิดโรคระบาดใหญ่ จีนนั้นมีกิจการด้านปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ที่นำหน้าใครๆ มาหลายปีแล้ว แต่อย่างที่ เอมิลี ไวน์สไตน์ (Emily Weinstein) แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University) รายงานเอาไว้ ดังนี้:

การปรากฏขึ้นของโรคโควิด-19 ในเดือนธันวาคม 2019 ได้เพิ่มขยายความพยายามเหล่านี้ขึ้นมาอย่างมากมาย โดยที่พวกบริษัทจีนทุกๆ ขนาดตลอดทั่วทั้งภาคส่วนทั้งหลายซึ่งเกี่ยวข้องกับเอไอ ต่างพัฒนาและดัดแปลงปรับปรุงระบบเอไอสำหรับการควบคุมและการป้องกันโรคระบาด ในเอกสารสมุดปกขาวเมื่อเดือนมิถุนายน 2020 ของคณะรัฐมนตรี (State Council) จีน ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “ต่อสู้โควิด-19: การลงมือปฏิบัติการของจีน” (Fighting Covid-19: China in Action) เน้นย้ำว่า จีนนำเอาปัญญาประเดิษฐ์มา “ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่” ไม่ใช่เพียงเพื่อการวิจัย, วิเคราะห์, และทำนายแนวโน้มและพัฒนาการของโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังเพื่อติดตามบุคคลที่ติดเชื้อ, ระบุกลุ่มบุคคลที่อยู่ในความเสี่ยง, และอำนวยความสะดวกให้แก่การฟื้นฟูการดำเนินงานตามปกติของธุรกิจต่างๆ

ชาวจีนได้เรียนรู้ที่จะบันทึกสัญญาณชีพสำคัญๆ ของพวกเขาเอาไว้ในแอปต่างๆ ของสมาร์ตโฟน ซึ่งป้อนข้อมูลเหล่านี้เข้าไปในคลาวด์ ที่ซึ่งพวกเซิร์ฟเวอร์เอไอจะทำหน้าที่จัดเก็บและวิเคราะห์ ภายในชั่วเวลาสั้นๆ มันจะทำให้พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของจีนสามารถที่จะทราบพื้นที่บริเวณ และดำเนินการป้องกันก่อนที่จะเกิด “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” แพร่เชื้อโควิด-19 ทว่าเรื่องเช่นนี้มีนัยความสำคัญอย่างมากมายกว้างไกลยิ่งกว่านี้นักหนา

ด้วยฐานข้อมูลที่บรรจุเอาเรื่องลำดับดีเอ็นเอและประวัติสุขภาพระบบดิจิตอลของชาวจีนจำนวนหลายร้อยล้านคนเอาไว้ด้วย ปักกิ่งจึงกำลังบ่มเพาะฟูมฟักอุตสาหกรรมทางการแพทย์ประเภทใหม่ขึ้นมาทั้งอุตสาหกรรมทีเดียว รวมถึงสมรรถนะทางการวิจัยโดยอิงกับเอไอ ซึ่งสามารถที่จะเร่งความเร็วของการพัฒนายาเวชภัณฑ์ใหม่ๆ ได้อย่างมโหฬาร
กำลังโหลดความคิดเห็น