xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสหลังวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ปรินทร เดชศรี
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

ทราบหรือไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับการสับเปลี่ยนกลุ่มการลงทุน (Sector Rotation) มีผลต่อทิศทางการปรับตัวของหุ้นในแต่ละกลุ่มอย่างไรบ้าง ในวิกฤตเศรษฐกิจ 2 ครั้งที่ผ่านมา คือ Asian Financial Crisis ในปี 1997 และ Credit Crisis ในปี 2008 เป็นไปตามทฤษฎีที่อ้างอิงหรือไม่ แล้วเราสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากน้อยแค่ไหนจากสมมติฐานนี้ โดยการทำการสับเปลี่ยนกลุ่มการลงทุน (Sector Rotation)

จากสภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศดูเหมือนจะประสบปัญหา ซึ่งอาจจะนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจได้อีกครั้ง เป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้น การทำการสับเปลี่ยนกลุ่มการลงทุน หรือ Sector Rotation จะช่วยอะไรเราได้บ้าง เมื่อเศรษฐกิจเกิดการฟื้นตัว (Recovery) และการทำ Sector Rotation นี้สามารถสร้างความแตกต่างอะไรให้กับพอร์ตการลงทุนของเราได้บ้าง บทความนี้จะพานักลงทุนมารู้จักและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสับเปลี่ยนกลุ่มการลงทุน (Sector Rotation) เพื่อจะสามารถสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตการลงทุนของท่าน

หนึ่งในกลยุทธ์ที่นักลงทุนในตลาดหุ้นนำมาใช้เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน คือ กลยุทธ์การสับเปลี่ยนกลุ่มลงทุน หรือ Sector Rotation ที่มีความสัมพันธ์กับวงจรเศรษฐกิจ (Economic Cycle) นั้นจะแบ่งไปตามกลไกของหลักเศรษฐศาสตร์ที่ว่าในขณะนั้นสภาพเศรษฐกิจอยู่ในระดับไหน เช่น เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะขยายตัว (Expansion) หรืออยู่ในสภาวะถอย (Recession) เป็นต้น ซึ่งสภาพเศรษฐกิจแต่ละช่วงนั้นทำให้การปรับตัวของราคาหุ้นในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector) ขึ้นลงแตกต่างกัน จากปัจจัยต่างๆ ตามกลไกของหลักเศรษฐศาสตร์ และราคาหุ้นแต่ละกลุ่มก็ปรับตัวขึ้นลงแตกต่างกันจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกันของวิกฤตเศรษฐกิจ 2 ครั้งที่ผ่านมา เช่น การดำเนินนโยบายการเงินและการคลัง นอกจากนี้ กลยุทธ์การสับเปลี่ยนกลุ่มลงทุนยังเป็นสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนในตลาดพยายามที่จะนำมาใช้ เพราะตลาดก็พยายามจะคาดการณ์เศรษฐกิจล่วงหน้าอยู่ 3-6 เดือนเสมอ

เรากลับมาย้อนอดีตกันสักเล็กน้อย ที่ผ่านมาในปี 1997 หรือ Asian Financial Crisis ดัชนีตลาดหุ้นไทยเรา (SET INDEX) ปรับตัวลงจากระดับ 1,400 จุด ไปจบที่ประมาณ 214 จุด โดยใช้ระยะเวลาประมาณกว่า 2 ปี และจากการศึกษาของเราพบว่าจากจุดต่ำสุดของดัชนีฯ ตลาดได้เริ่มฟื้นตัวขึ้น (Recovery) โดยในช่วง 3 เดือนแรก ดัชนีตลาดฯ ปรับตัวขึ้นค่อนข้างแรงที่ประมาณ 70-80% นำโดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ วัสดุก่อสร้าง และปิโตรเคมี ที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าตลาด สำหรับกลุ่มอสังหาฯ ที่ปรับตัวขึ้นแรงเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นหนึ่งในสาเหตุของวิกฤตครั้งนั้นด้วย ราคาหุ้นจึงมีความผันผวนกว่ากลุ่มอื่น ส่วนในปี 2008 (Credit Crisis) ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงจากประมาณ 850 จุดและไปจบที่ประมาณ 400 จุด ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี หลังจากนั้น ตลาดเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดของดัชนีฯ ในช่วง 3 เดือนแรก ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากปี 1997 และปรับขึ้นแรงในช่วง 6 เดือนจากจุดต่ำสุดของดัชนีที่ประมาณกว่า 30% นำโดยกลุ่มปิโตรเคมี ธนาคารพาณิชย์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มขนส่ง จากวิกฤตทั้ง 2 ครั้งนั้น เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในอดีต พบว่าในการฟื้นตัวของตลาดหุ้นในระยะแรกของตลาด กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวโดดเด่นกว่าตลาด คือ กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเมื่อพิจารณาควบคู่กับวงจรธุรกิจ (Business Cycle) นั้นพบว่าทั้งสองกลุ่มธุรกิจดังกล่าวอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เหมือนกัน เราจึงมีข้อสรุปว่า ในอดีตที่ผ่านมาของทั้ง 2 วิกฤตเศรษฐกิจ กลุ่มที่ปรับตัวขึ้นได้สูงกว่าตลาดในช่วงแรก คือ กลุ่มปิโตรเคมี จากภาคการผลิตที่มีความต้องการสต๊อกสินค้าเพิ่ม (Restocking inventory) และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จากแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนจากขาลงเป็นขาขึ้น และการขยายตัวของสินเชื่อตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อีกกลุ่มที่น่าสนใจ คือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง (Building Materials) ซึ่งก็มีการปรับตัวขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงต้นของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กลุ่มอุตสาหกรรมนี้จึงได้รับประโยชน์จากการก่อสร้างที่กลับมาเพิ่มขึ้น กล่าวโดยสรุป ทฤษฏีการสับเปลี่ยนกลุ่มการลงทุน หรือ Sector Rotation จะมีความสัมพันธ์กับวงจรเศรษฐกิจ หรือ Economic Cycle (ข้อมูลตลาดจาก Bloomberg)

เมื่อกลับมาพิจารณากับการสภาวะในปัจจุบัน เราพบว่ามีการสับเปลี่ยนกลุ่มการลงทุนที่ชัดเจน คือ เมื่อปลายปี 2562 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงและมีการเติบโตอย่างโดดเด่น คือ กลุ่มโรงไฟฟ้า (Utility) และกลุ่มที่โดนเทขายอย่างหนักเป็นกลุ่มปิโตรเคมี และธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอาจจะตีความได้ว่า เมื่อกลุ่มโรงไฟฟ้าเติบโตอย่างโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมานั้น เราอาจจะเริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ก็ได้ และยังมีปัจจัยที่มาซ้ำเติมตลาดจากการระบาดของไวรัส COVID-19 และสงครามราคาน้ำมัน ยิ่งทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลงเมื่อปลายปีที่แล้วปรับตัวลงต่อเนื่อง เช่น กลุ่มปิโตรเคมี และธนาคารพาณิชย์ ซึ่งได้ปรับตัวลงต่ำมากในรอบเกือบ 10 ปี โดยเฉพาะเมื่อเทียบจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (Price to Book Value) เมื่อนำทฤษฎี Business Cycle มาปรับใช้กับการศึกษาในวิกฤตดังกล่าวนั้น เราเชื่อว่าหากผ่านพ้นจากวิกฤตครั้งนี้แล้ว กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะเริ่มปรับตัวขึ้นมาก่อนน่าจะเป็นกลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มธนาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงต้องติดตามปัจจัยพื้นฐานสำคัญของหุ้นในกลุ่มนั้นๆ ด้วย เพราะแต่ละวิกฤตก็จะมีปัจจัยที่เป็นสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป โดยปัจจัยที่ต้องติดตามของกลุ่มปิโตรเคมี คือ ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ยังคงผันผวนอยู่ในระดับต่ำและปัญหาในเรื่องของการผลิตที่เกินความต้องการจากทั่วโลก ส่วนกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเป็นเรื่อง NPL ที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากระบบเศรษฐกิจที่เปราะบาง และมีหลายๆ ธุรกิจมีการขาดทุนต่อเนื่อง

สุดท้ายนี้อยากจะเน้นย้ำว่า การเลือกลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม ให้ถูกที่ ถูกเวลา และถูกราคา เป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน เพราะในทุกๆ วิกฤตมักจะมีโอกาสและผู้ชนะอยู่เสมอ
กำลังโหลดความคิดเห็น