“สศค.” เผย มูลค่าส่งออกรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 63 กลับมาลดลง -4.5% เทียบจากเดือนก่อนห้าที่เคยขยายตัวได้ 3.3% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวที่ -4.3% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยในเดือน ก.พ. 63 เกินดุล 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลงอย่างหนักตามการลดลงของนักลงทุนจากจีนที่หดตัวถึง -84.9% ขณะที่นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ลดลง 72.6% ส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเที่ยวไทยลดลงเหลือ 2.06 ล้านคน หรือลดลงตัว -42.8% ตามผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึงรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ก.พ. 63 พบว่า ภาพรวมการบริโภคในภาคเอกชนมีสัญญาณทรงตัว สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ณ ราคาคงที่ ที่กลับมาขยายตัว 4.6% ต่อปี อย่างไรก็ดี การบริโภคในหมวดสินค้า คงทน จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ปรับตัวลดลง -15.4% และ -3.7% ต่อปี ตามลำดับ
ทั้งนี้ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ ระดับ 52.5 เป็นผลมาจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ด้านการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว ในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ชะลอตัว -10.2% และ -18.1% ต่อปี ขณะที่ในหมวดก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวชะลอลงที่ -1.9%ต่อปี เทียบจากเดือนก่อนที่ -5.0%
ขณะที่การจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ -18.8% ต่อปี และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัว -2.0% ต่อปี โดยมีสาเหตุมาจากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กปรับตัวลดลงเศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาลดลง -4.5% ต่อปี เทียบจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 3.3% ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับปัจจัยฐานสูงของอาวุธในการซ้อมรบในช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธ ยุทธปัจจัยออกแล้ว พบว่าการส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัว 1.5%
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทย อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังประเทศตะวันออกกลาง และอาเซียน 9 ประเทศ ยังคงขยายตัวที่ 16.4% และ 6.1% ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวที่ -4.3% ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ก.พ. 73 เกินดุล 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
รองผู้อำนวยการ สศค. ยังกล่าวเพิ่มเติมถึง ภาคการท่องเที่ยวในเดือน ก.พ. ชะลอตัวลงมาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีทั้งสิ้น 2.06 ล้านคน หรือลดลงตัว -42.8% จากการลดลงในกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่ลดลงถึง -84.9% และนักท่องเที่ยวประเทศอื่น ๆ อาทิ นักท่องเที่ยวประเทศเกาหลีใต้หดตัว -72.6% ฮ่องกงหดตัว -54.8% และมาเลเซียหดตัว -39.6 ต่อปี เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19
ในขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรชะลอตัวที่ -4.5 จากการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลง โดยสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัว -5.2% ต่อปี จากการลดลงของการผลิตในหมวดยานยนต์ น้ำตาล และเม็ดพลาสติก แต่อย่างไรก็ดี ผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค อาหารทะเลแช่แข็ง และอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เป็นต้น ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 90.2 ตามการลดลงในอุตสาหกรรมที่ผลิตเกี่ยวกับสินค้าในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.7% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.5% ต่อปี สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 41.3 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ โดยสะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.พ. 63 อยู่ในระดับสูงที่ 229.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ