สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ 99.90 ปรับตัวลดลง 5.19% เหตุได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และภัยแล้ง ขณะที่โควิด-19 ดันอุตสาหกรรมกลุ่มอาหาร เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคขยายตัวตามความต้องการที่สูงขึ้น
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ 99.90 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.19% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.33% ซึ่งเป็นอัตรากำลังการผลิตที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 68.5% ทั้งนี้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง
“เราคงยังไม่มีการปรับประมาณการการเติบโตของ GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 63 โดยยังคงไว้ว่าจะขยายตัว 1.5-2.5% และ MPI ปี 63 ขยายตัว 2-3% เนื่องจากจะต้องติดตามการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากภาครัฐก่อนเป็นสำคัญเพื่อให้สอดรับกัน” นายทองชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 แม้จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวม แต่อุตสาหกรรมบางกลุ่มกลับขยายตัวและมีการใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยดัชนีแรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 102.08 มาอยู่ที่ระดับ 102.63 เพิ่ม 1.88% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารเกือบทุกประเภทที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ยกเว้นอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และอุตสาหกรรมแป้งมันที่เกิดโรคระบาด จึงขาดวัตถุดิบในการผลิต ขณะเดียวกัน ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่ระดับ 95.05 ขึ้นมาที่ระดับ 99.80 ในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้สินค้าคงคลังปรับตัวลดลง โดยขณะนี้ผู้ผลิตบางส่วนมีการชะลอการผลิตเพื่อรอดูสถานการณ์ แต่ยังมีกำลังการผลิตเหลือมากพอรองรับความต้องการสินค้าหากมีเพิ่มขึ้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ จากผลกระทบสงครามการค้า และน้ำตาลจากภาวะภัยแล้ง สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลบวก ได้แก่ เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 40.37% จากผลิตภัณฑ์เกือบทุกรายการสินค้า (ยกเว้นยาผง) เนื่องจากผู้ผลิตบางรายขาดวัตถุดิบเพื่อผลิตในเดือนก่อนจึงเร่งผลิตและส่งมอบให้ลูกค้าในเดือนนี้แทน รวมถึงปัญหาเครื่องจักรชำรุดและปัญหาคุณภาพน้ำในปีก่อนที่ทำให้ผลิตได้น้อยกว่าปกติ
อาหารทะเลแช่แข็งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.55% ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์จากความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะปลาแช่แข็งและเนื้อปลาบด จากความกังวลโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการและสำรองสินค้าเพิ่มขึ้น ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.60% เนื่องจากตลาดโลกเริ่มมีความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นจากปีก่อน หลังจากผ่านช่วงตกต่ำของอุตสาหกรรมมาหลายปี โดยเฉพาะแผ่นวงจรพิมพ์ (PCBA/PWB) ซึ่งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น
เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.29% จากการเร่งผลิตเพื่อสต๊อกสินค้าไว้ตามแผนและเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากตัวแทนที่เข้ามามากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการบางรายเร่งผลิตสินค้าไว้ก่อนหากไม่สามารถผลิตได้ในอนาคต อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.35% เนื่องจากการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายของผู้ผลิต รวมทั้งมีการขยายฐานลูกค้าจากเกษตรกรรายย่อยจนถึงฟาร์มเลี้ยงขนาดใหญ่ รวมถึงขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น