บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ของจีนออกมาชี้แจงกรณีผลการทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในบราซิลมีประสิทธิภาพ 'คาบเส้น' ยันในอาสาสมัครกลุ่มย่อยที่รับวัคซีน 2 โดส แต่เว้นระยะห่างมากกว่าเดิม จะมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้เพิ่มขึ้นเกือบ 20%
โฆษกของซิโนแวคเปิดเผยว่า วัคซีนที่บริษัทคิดค้นขึ้นให้ผลในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สูงเกือบ 70% ในกลุ่มอาสาสมัคร 1,394 คนที่ได้รับวัคซีน 2 โดสห่างกัน 3 สัปดาห์
การเปิดเผยดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่ทีมนักวิจัยบราซิลออกมาแถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า วัคซีนโคโรนาแวคของจีนมีประสิทธิภาพเพียงแค่ 50.4% จากการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครกว่า 9,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน 2 โดสในระยะเวลาห่างกัน 14 วันตามข้อกำหนดของการทดลอง
โฆษกซิโนแวคระบุว่า มีอาสาสมัครกลุ่มเล็กได้รับวัคซีนโดสที่ 2 ช้ากว่าที่กำหนดด้วยเหตุผลต่างๆ กัน แต่ไม่ขอชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม โฆษกซิโนแวคย้ำว่า ผลการทดลองจากอาสาสมัครกลุ่มเล็กนี้มีความคงทนทางวิธี (robustness) ต่ำกว่าผลการทดลองประสิทธิภาพ 50.4% ซึ่งสรุปจากข้อมูลในอาสาสมัครกลุ่มใหญ่ที่มีทั้งผู้ที่ได้รับวัคซีนห่างกัน 2 และ 3 สัปดาห์
ก่อนหน้านี้ นักวิจัยของซิโนแวคได้ออกมาเผยผลการทดลองขั้นต้นซึ่งพบว่า การเว้นระยะฉีด 4 สัปดาห์สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าการฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์ ทว่านี่เป็นครั้งแรกที่บริษัทยอมเปิดเผยผลการทดลองเฟสที่ 3 ซึ่งมีการเว้นช่วงของวัคซีน 2 โดสแตกต่างไปจากข้อกำหนดเดิม
ระยะห่างในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ยังคงเป็นประเด็นที่นักวิทยาศาสตร์, ผู้คุมกฎ และรัฐบาลทั่วโลกถกเถียงกันอยู่
ทางการอังกฤษเปิดเผยว่า วัคซีนของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 มากขึ้นเมื่อเว้นระยะการฉีดโดสที่ 2 นานกว่าที่กำหนดไว้
รัฐบาลอังกฤษยังตัดสินใจอนุญาตให้เพิ่มระยะห่างในการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค แม้บริษัททั้งสองจะยืนยันว่าพวกเขามีผลการทดลองยืนยันประสิทธิภาพของวัคซีนเมื่อฉีด 2 โดสในระยะห่างที่สั้นกว่าเท่านั้น
แม้ซิโนแวคจะยังไม่เปิดเผยผลการทดลองเฟสที่ 3 อย่างสมบูรณ์ ทว่าวัคซีนของบริษัทก็ได้รับอนุมัติให้ใช้งานฉุกเฉินแล้วในหลายประเทศ เช่น บราซิล, อินโดนีเซีย และตุรกี
ที่มา: รอยเตอร์