สหราชอาณาจักรเริ่มล็อกดาวน์รอบสาม พร้อมเรียกร้องให้ใช้ความพยายามเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อควบคุมโรคระบาด และรอโครงการฉีดวัคซีนเข้ามาช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญหวั่นวัคซีนที่มีอยู่ขณะนี้อาจไม่สามารถจัดการไวรัสกลายพันธุ์ที่พบในแอฟริกาใต้ได้ สำหรับที่สหรัฐฯ เวลานี้กำลังเผชิญปัญหาความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีน กระทั่งบางรัฐเล็งลงโทษโรงพยาบาลที่ดำเนินการล่าช้า
นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร ประกาศเมื่อคืนวันจันทร์ (4 ม.ค.) ว่า ไวรัสกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร กำลังระบาดอย่างรวดเร็ว และเสี่ยงที่จะทำให้บริการสาธารณสุขแห่งชาติ (เอ็นเอชเอส) อยู่ในภาวะตึงเครียดอย่างหนักภายในเวลา 21 วัน
เฉพาะในเขตบริหารอังกฤษ (อิงแลนด์) มีผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวในโรงพยาบาล 27,000 คน มากกว่าในช่วงระบาดรอบแรกเดือนเมษายนถึง 40%
ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันอังคาร (5) และคาดว่า จะมีผลอย่างน้อยจนถึงกลางเดือนหน้า ก่อนที่จะค่อยๆ ผ่อนคลายข้อจำกัดลงนั้น โรงเรียนทุกแห่งต้องปิดทำการ ยกเว้นโรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความเสี่ยง หรือเด็กที่พ่อแม่เป็นพนักงาน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญทำให้ไม่สามารถทำงานจากบ้านได้
ธุรกิจบริการต้อนรับ ร้านค้าที่ไม่จำเป็น การแข่งขันกีฬาทั้งกลางแจ้งและในอาคารได้รับคำสั่งให้ปิดทั้งหมด ขณะที่ประชาชนต้องทำงานอยู่ที่บ้าน หากเป็นงานที่สามารถทำได้
มาตรการนี้อันที่จริงครอบคลุมเฉพาะอังกฤษ อย่างไรก็ดี ทั้ง สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ต่างประกาศมาตรการลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน โดยนับจากไวรัสโคโรนาเริ่มระบาด มีประชาชนกว่า 75,000 คน ในสหราชอาณาจักรที่เสียชีวิตภายในระยะเวลา 28 วัน หลังติดเชื้อ
จอห์นสัน เสริมว่า ช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้าจะเป็นช่วงเวลาที่สาหัสที่สุด แต่เขาเชื่อว่า สหราชอาณาจักรกำลังจะเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการต่อสู้แล้ว เนื่องจากการฉีดวัคซีนจะพลิกสถานการณ์โรคระบาดในแบบที่ส่งผลดีต่อประชาชน
ขณะนี้ ชาวสหราชอาณาจักร กว่า 1 ล้านคน ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดสแรกแล้ว โดยเป็นวัคซีนของไฟเซอร์-เอ็นไบโอเทค และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด-แอสตราเซเนกา โดยรัฐบาลตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ผู้สูงวัยทั้งหมด และผู้ดูแลในสถานพักฟื้นคนชรา ประชาชนที่อายุ 70 ปีขึ้นไป บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ รวมถึงทุกคนที่มีความเสี่ยงสูงด้านสุขภาพ ภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันจันทร์ (4) แมตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษ แสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ขณะที่ ไซมอน คลาร์ก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเรดดิ้ง กล่าวว่า แม้ไวรัสกลายพันธุ์ที่พบในสหราชอาณาจักร และในแอฟริกาใต้ จะมีลักษณะบางอย่างเหมือนกัน แต่ที่น่าวิตกคือสายพันธุ์แอฟริกาใต้มีลักษณะการกลายพันธุ์มากกว่า ซึ่งรวมถึงสไปก์โปรตีน (spike protein) ที่ใช้จับกับตัวรับบนเยื่อหุ้มเซลล์ของคนและสัตว์ โดยที่อาจทำให้ไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้มีความอ่อนแอน้อยกว่า เมื่อตอบสนองกับภูมิคุ้มกันที่ได้รับการกระตุ้นจากวัคซีน
นักวิจัยมากมาย ซึ่งรวมถึง อูกูร์ ซาฮิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของไบโอเอ็นเทค, จอห์น เบลล์ ศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กำลังทดสอบวัคซีนกับไวรัสกลายพันธุ์ และเชื่อว่า หากจำเป็นก็สามารถปรับเปลี่ยนวัคซีนให้ต่อสู้กับลักษณะใหม่ๆ ของไวรัสกลายพันธุ์ได้ภายในเวลา 6 สัปดาห์
เบลล์ที่ให้คำแนะนำทีมวัคซีนของรัฐบาลอังกฤษ กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (3) ว่า เขาเชื่อว่า วัคซีนอาจใช้ได้ผลกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษ แต่ไม่แน่ใจว่า จะป้องกันสายพันธุ์แอฟริกาใต้ได้หรือไม่
อย่างไรก็ดี หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษระบุว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า วัคซีนโควิด-19 ไม่สามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์
ปัจจุบันมีวัคซีนต่างๆ ทั่วโลกที่อยู่ระหว่างการทดลอง 60 ตัว ซึ่งรวมถึงวัคซีนที่เริ่มฉีดให้ประชาชนแล้วของแอสตราเซเนกา-ออกซ์ฟอร์ด, ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค, โมเดอร์นา, สปุตนิก ไฟฟ์ของรัสเซีย และซิโนฟาร์มของจีน
สำหรับที่สหรัฐฯซึ่งเริ่มโครงการแจกจ่ายฉีดวัคซีนตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ขณะนี้กำลังประสบปัญหาวัคซีนกว่า 2 ใน 3 จาก 15 ล้านโดส ที่จัดส่งทั่วประเทศ ยังไม่มีการฉีดให้ประชาชน
แอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ประกาศเมื่อวันจันทร์ว่า โรงพยาบาลต่างๆ ต้องฉีดวัคซีนที่ได้รับภายในหนึ่งสัปดาห์ ไม่เช่นนั้นอาจถูกปรับหรือลดปริมาณการจัดส่งวัคซีนให้ในอนาคต
เช่นเดียวกับที่รัฐฟลอริดา รอน ดีแซนทิส ผู้ว่าการรัฐ ประกาศจะจัดสรรวัคซีนเพิ่มให้โรงพยาบาลที่จัดการฉีดให้ประชาชนเร็วที่สุด
ล่าสุด ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 350,000 คน และผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 20 ล้านคน โดยอัตราการเสียชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่กว่า 2,600 คนต่อวัน
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)