xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ย้ำรัฐบาลเป็นเจ้าภาพบริหารจัดการวัคซีนโควิดเอง ขอให้วางใจมีความพร้อมจัดหา มีแผนฉีดให้ปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ ประชุมติดตามความคืบหน้าจัดหาวัคซีนโควิด-19 สั่งกระทรวงสาธารณสุขเร่งทำแผนการฉีด ชี้ การกระจายวัคซีนมีความสำคัญ จำเป็นต้องบริหารจัดการ “แบบรวมศูนย์” เพื่อให้เริ่มฉีดได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นที่สุด ขอให้มั่นใจไทยมีความพร้อมจัดหาและมีแผนฉีดวัคซีนให้ได้ผลและปลอดภัย กลับมาใช้ชีวิตปกติ เปิดประเทศโดยเร็วที่สุด


วันนี้ (15 ม.ค.) เมื่อเวลา 16.49 น. ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีการโพสต์ข้อความว่า “จากการประชุมอัปเดตเรื่องวัคซีนเมื่อสักครู่นี้ ขอเรียนให้พี่น้องประชาชนทราบว่า การระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลก บางประเทศเกิดขึ้นหลายระลอก เรื่องนี้เป็นสิ่งที่บอกว่าเราคงต้องปรับตัวและอยู่กับไวรัสโควิด-19 ให้ได้ เหมือนไข้หวัดที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ด้วยวัคซีนที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระดับบุคคลก็จะต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อให้มีภูมิคุ้มกัน
สำหรับในระดับประเทศ เมื่อเกิดการระบาด ก็ต้องมีการจำกัดการเคลื่อนย้าย การใช้พื้นที่ และงด/เลี่ยงกิจกรรมที่มีความเสี่ยง อย่างที่เราทำกันอยู่ในตอนนี้ ซึ่งแน่นอนว่า เรื่องนี้ย่อมจะสร้างผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และระบบเศรษฐกิจ

เรื่องการฉีดวัคซีนให้กัประชาชนได้มากที่สุดจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นบริหารจัดการต้นทุนในการป้องกันและควบคุมโรคที่ถูกที่สุด ถูกกว่าการระดมตรวจหาเชื้อด้วยซ้ำ และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชนในภาพรวม รวมทั้งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ


ตั้งแต่ปลายปี 2563 ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 32 ล้านโดส ในสหรัฐฯ ฉีดไปแล้ว ประมาณ 10.7 ล้านโดส จีนกว่า 9 ล้านโดส ยุโรป 3.7 ล้านโดส และอังกฤษ 3.1 ล้านโดส

สำหรับประเทศไทยนั้น ต้องทำความเข้าใจว่า เราควบคุมโควิด-19 ได้อยู่ในระดับที่ดี จึงมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยมาก เราไม่ได้เป็นพื้นที่ระบาดรุนแรง จึงไม่ถูกเลือกให้เป็นที่ทดลองประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน เพราะไม่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงพอ เหมือนในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งบางประเทศในอาเซียนที่มีข่าวว่าได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการวัคซีนของเรา ก็ได้ติดตามการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้านโควิดมาตั้งแต่หลังการระบาดใหม่ๆ รวมทั้งได้วางแผนการจัดหาและแผนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะนี้ ศูนย์ผลิตวัคซีนของบริษัท สยามไบโอไซนส์ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนของแอสตราเซเนกา จากประเทศอังกฤษ ได้เริ่มการผลิตวัคซีนมาตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี การผลิตวัคซีนแต่ละลอตนั้น ต้องใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ทั้งระยะเวลาในการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเร่งรัดข้ามขั้นตอนได้ เพราะจะมีผลต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องคำนึงถึง

หากเป็นไปตามแผน วัคซีนแอสตราเซเนกาลอตแรกจะพร้อมฉีดให้ประชาชนในเดือนมิถุนายนนี้ โดยที่รัฐบาลได้สั่งจองไปแล้ว จำนวน 26 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กลุ่มเสี่ยง 13 ล้านคนก่อน และได้เจรจาขอซื้อเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนให้มากขึ้น

สิ่งที่ผมอยากเรียนให้ทุกท่านทราบ ก็คือ การที่เราเป็นฐานการผลิตวัคซีนของแอสตราเซเนกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เป็นเหตุผลสำคัญที่จะทำให้เรามีโอกาสเข้าถึงวัคซีนที่ผลิตได้เร็วขึ้น

นอกจากนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขยังได้สั่งซื้อวัคซีนของซิโนแวค ประเทศจีน จำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งจะมาถึงประเทศไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ แม้ว่าตอนนี้จะมีข่าวว่าวัคซีนซิโนแวค ที่ทดลองในบราซิล มีประสิทธิผลเพียง 50 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้นก็ตาม แต่ผมก็อยากเรียนให้ทราบว่าในทางการแพทย์นั้น ประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้นอยู่กับการทดลองว่า ฉีดที่ไหน หรือฉีดให้ใครด้วย

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ มีผลการทดลองวัคซีนซิโนแวค ในตุรกี และอินโดนีเซีย ซึ่งฉีดให้กับประชาชนหลากหลายกลุ่ม ในช่วงอายุต่างๆ กัน มีประสิทธิผลถึง 90% ในขณะที่บราซิลนั้น ทดลองฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง จึงอาจทำให้ตัวเลขประสิทธิผลต่ำกว่าที่อื่น แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้สอบถามไปยังบริษัท ซิโนแวค แล้ว เพื่อขอความชัดเจนในเรื่องประสิทธิผลของวัคซีนเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนให้ได้ผลในการยับยั้งการระบาด ต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 50% ของจำนวนประชากร หรือจะให้ดีคือ 70% ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะฉีด 50% คือ 33 ล้านคน จะต้องฉีดถึง 66 ล้านโดส ถ้าเริ่มฉีดเดือนมิถุนายนจนถึงปลายปีนี้ จะต้องฉีดเดือนละ 9.4 ล้านโดส หรือวันละ 313,000 โดส ถ้าคิดว่าวันหนึ่งฉีดได้ 12 ชั่วโมง คือ ชั่วโมงละ 26,000 โดส

เพราะฉะนั้น การฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดภายในสิ้นปีนี้ เป็นงานที่ท้าทายระบบสาธารณสุขทั่วโลก จากสถิติอัตราการฉีดวัคซีนในช่วงที่ผ่านมา อิสราเอลทำได้ดีที่สุดในตอนนี้ คือ 2 ล้านโดส ใน 3 สัปดาห์ (หรือ 2.6 ล้านโดสต่อเดือน) ส่วนสหรัฐฯ ฉีดได้ 10 ล้านโดส ในเดือนแรก อังกฤษทำได้ 2 ล้านโดส เช่นกัน

ผมได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขเริ่มดำเนินการวางแผนงานการฉีดวัคซีนตั้งแต่ตอนนี้เป็นการเร่งด่วน เนื่องจากจำเป็นต้องมีการวางแผนการกระจาย การจัดส่งวัคซีน การรักษาความปลอดภัย ตลอดจนต้องตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน เตรียมอุปกรณ์บุคลากร คือหมอและพยาบาล มีการลงทะเบียน การสอบถามอาการหลังฉีด ต้องจัดเตรียมสถานที่ฉีด และพักหลังการฉีด 15-30 นาที รวมทั้งการประเมินผล ไปจนถึงการติดตามให้มาฉีดโดสที่สอง ยังมีการเก็บข้อมูลของคนที่ฉีด และชนิดของวัคซีน

จะเห็นว่า แผนการกระจายวัคซีนจึงมีความสำคัญมาก เป็นผลที่จะทำให้การฉีดวัคซีนได้ผลมากหรือน้อย และไม่เกิดความสูญเสียโดยไม่จำเป็น ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการ “แบบรวมศูนย์” เพื่อที่ว่า เมื่อได้วัคซีนมาจะได้เริ่มฉีดได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นที่สุด

สุดท้ายนี้ ผมขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการจัดหาวัคซีนและมีแผนฉีดวัคซีน ที่จะทำให้เกิดผลในการป้องกันการระบาดได้ โดยวัคซีนที่จะฉีดให้ประชาชน จะต้องได้ผลป้องกันโควิดได้ และปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งจะทำให้เราสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เปิดประเทศได้โดยเร็วที่สุด”


กำลังโหลดความคิดเห็น